ฟ้องคดี 112 อดีตพระผู้เข้าร่วมชุมนุมหลังถูกจับตามหมายจับปี 59 เหตุโพสต์เฟซบุ๊กหลัง ร.9 สวรรคต

15 ธ.ค. 2563 เวลาประมาณ 9.00 น. ที่ศาลจังหวัดนครพนม อิศเรศ (สงวนนามสกุล) อายุ 45 ปี ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊ก ซึ่งถูกจับเมื่อเดือนกันยายน 2563 ตามหมายจับของศาลจังหวัดนครพนมที่ออกในปี 2559 มาศาลเพื่อรายงานตัวตามสัญญาประกันในชั้นสอบสวน เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งให้ทราบว่า พนักงานอัยการจังหวัดนครพนมได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้วเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2563 และให้อิศเรศพร้อมทนายความไปที่ศูนย์คุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา 

ศาลได้อธิบายคำฟ้อง และสิทธิของจำเลย จากนั้นได้ถามอิศเรศว่ามีทนายหรือยัง ประสงค์จะให้ศาลแต่งตั้งทนายว่าความให้หรือไม่ อิศเรศแถลงว่าได้แต่งตั้งทนายแล้ว ศาลจึงถามว่า เบื้องต้นจำเลยประสงค์จะให้การอย่างไร อิศเรศให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เนื่องจากการกระทำของตนไม่เป็นความผิดตามคำฟ้องของโจทก์ ศาลได้นัดอิศเรศมาศาลเพื่อถามคำให้การอีกครั้งในวันที่ 29 ธ.ค. 2563 เวลา 9.00 น.

ต่อมา ศาลพิจารณาคำร้องขอประกันตัวที่ทนายความได้ยื่นต่อศาล โดยใช้ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านและโฉนดที่ดินในวงเงินรวม 200,000 บาท วางเป็นหลักประกัน ซึ่งเป็นหลักประกันเดิมที่อิศเรศได้วางไว้ในการยื่นขอประกันตัวในชั้นสอบสวน ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันโดยใช้หลักประกันเดิม

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในวันนี้มีการประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 ธ.ค. ที่จะถึงนี้ ทำให้ผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นนายประกันให้อิศเรศเดินทางมาเซ็นสัญญาประกันได้ในช่วงบ่าย ระหว่างนั้นอิศเรศถูกควบคุมตัวอยู่ที่ห้องรอประกัน และได้รับการปล่อยตัวในเวลาประมาณ 13.30 น.

คำฟ้องที่พนักงานอัยการจังหวัดนครพนมเป็นโจทก์ยื่นฟ้องอิศเรศ ระบุพฤติการณ์แห่งคดีดังนี้

ขณะเกิดเหตุในคดีนี้และในปัจจุบันประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีเป็นประมุข โดยขณะเกิดเหตุคดีนี้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้สวรรคต ทำให้ตำแหน่งพระมหากษัตริย์ว่างลง มีพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และมีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารเป็นองค์รัชทายาท (ปัจจุบันเป็นในหลวงรัชกาลที่ 10) ซึ่งประกอบขึ้นเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนอย่างแท้จริง

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2559 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยได้พิมพ์ข้อความลงในเฟซบุ๊กชื่อ “ชาตินักรบ เสือสมิง” ซึ่งเป็นของจำเลย ด้วยข้อความว่า “ได้โปรดอย่าตอแหลอีกเลย…ครัช เปิดออกมาให้ประชาชนได้รับรู้ พวกมึงต่อรองอะไรกัน ผมฝากพวกโลกสวยหัวกล้วยทั้งหลายศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 23 และ 24 ให้หัวสมองโล่งหน่อยนะครับว่า ทำไมจึงยังไม่ประกาศ รัชกาลที่ 10.. การเมืองเป็นเรื่องของประชาชนทุกคนไม่เว้นแม้แต่คนเก็บขยะครับ อย่าบ้องตื้นหลาย… เกิน 24 ชม.ไม่แต่งตั้งกษัตริย์ก็คือศึกชิงบัลลังก์” ซึ่งข้อความดังกล่าวหมายถึงจะไม่มีรัชกาลที่ 10 เพราะตกลงกันไม่ได้และจะมีศึกชิงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ทำให้เสื่อมเสียต่อราชวงศ์จักรี อันเป็นการดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระราชินี รัชทายาท เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและอาจนำไปสู่การเสื่อมศรัทธาต่อราชวงศ์จักรีและสถาบันพระมหากษัตริย์และเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ จำเลยได้โพสต์ข้อความดังกล่าวในเฟซบุ๊กของจำเลยอันเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรไทย

การกระทำของจำเลยถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2560 มาตรา 14

การกระทำที่เป็นเหตุในการดำเนินคดีจนกระทั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลเกิดขึ้นในช่วงหลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 9  โดยอิศเรศถูกศาลจังหวัดนครพนมออกหมายจับในวันที่ 18 ต.ค. 2559 ซึ่งบรรยากาศในขณะนั้น นอกจากเต็มไปด้วยความความโศกเศร้าอาลัยของประชาชนแล้ว ยังตามมาด้วยความขัดแย้งระหว่างประชาชนด้วยกันเองในประเด็นการแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ จนเกิดการ “ล่าแม่มด” ตลอดจนการจับกุมดำเนินคดีประชาชนด้วยมาตรา 112 อย่างเข้มข้น ในช่วงเวลาราว 1 เดือน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แถลงข่าวว่า มีผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 จำนวน 27 คดี 

อย่างไรก็ตาม พบว่าคดีเหล่านี้บางคดีศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง บางคดีศาลเปลี่ยนไปลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 

อิศเรศถูกจับกุมอย่างเงียบๆ หลังเดินทางเข้าร่วมการชุมนุมที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563 เขาให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้เขาบวชเป็นพระอยู่หลายปี หลังจากสึกออกมาราวปลายปี 59 ก็ทำสวนยางและรับจ้างก่อสร้าง เพิ่งตัดสินใจเดินทางมาร่วมชุมนุมพร้อมเพื่อนที่กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก เขาถูกตํารวจรถไฟจับกุมขณะกำลังเดินทางกลับ โดยขณะรถไฟจอดที่นพวงศ์แถวสามเสน ตำรวจรถไฟได้ขึ้นมาตรวจบัตรประชาชนของทุกคน เมื่อมาถึงเขาและทราบว่าเขาชื่ออิศเรศ ตำรวจก็แสดงหมายจับของศาลจังหวัดนครพนม ข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และจับกุมนำไปควบคุมตัวที่ป้อมตำรวจ ก่อนประสานงานให้ตำรวจ สน.นพวงศ์ มารับตัวไป 

หลังตำรวจนำตัวไปทำบันทึกจับกุมและขังไว้ที่ สน.นพวงศ์ ได้ประสานไปที่ สภ.เมืองนครพนม ซึ่งเป็นท้องที่เกิดเหตุ ระหว่างนั้นตำรวจให้เขาใช้โทรศัพท์ของตำรวจติดต่อแจ้งญาติได้ เช้าวันต่อมา ตำรวจ สภ.เมืองนครพนม เดินทางมารับตัวอิศเรศที่ สน.นพวงศ์ ควบคุมตัวเดินทางด้วยรถยนต์ถึง สภ.เมืองนครพนม ในช่วงค่ำ ขังไว้ 1 คืน ก่อนนำตัวมาสอบปากคำในเช้าวันที่ 22 ก.ย. 2563 โดยมีแม่และพี่สาว พร้อมทั้งทนายความซึ่งตำรวจจัดไว้ให้เข้าร่วมการสอบสวน ในชั้นสอบสวนอิศเรศให้การรับสารภาพ ต่อมา เมื่อพนักงานสอบสวนนำตัวไปขออำนาจศาลจังหวัดนครพนมเพื่อฝากขัง และอิศเรศถูกนำตัวไปขังที่เรือนจำจังหวัดนครพนม 1 คืน เย็นวันต่อมาอิศเรศก็ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ หลังพี่สาวยื่นประกันตัว 

อิศเรศเปิดเผยภายหลังได้รับการปล่อยตัวว่า เขาคิดว่าที่อัยการฟ้องเพราะเป็นช่วงที่รัฐบาลกำชับให้ใช้มาตรา 112 แต่ก็ไม่เป็นไร เขาพร้อมสู้คดี

นับได้ว่า กรณีของอิศเรศเป็นกรณีแรกที่มีการจับกุมและฟ้องคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังจากไม่มีการดำเนินคดีในข้อหานี้มาเป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี โดยการจับกุมเกิดขึ้นก่อนที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2563 ประกาศบังคับใช้กฎหมาย ทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ดำเนินการต่อผู้ชุมนุมทางการเมือง ซึ่งนำมาสู่การนำมาตรา 112 มาใช้เป็นระลอกใหม่เพื่อดำเนินคดีแกนนำและผู้ชุมนุมอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่า การฟ้องคดีอิศเรศเป็นไปตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ ตามแถลงการณ์ดังกล่าว

X