ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงาน
ภาพปก: Baphoboy / ภาพประกอบ: SWY
แม้ในทางรูปแบบคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะยุติบทบาทการครองอำนาจเป็นระยะเวลา 5 ปี 1 เดือน 23 วัน หลังคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 แต่ในความเป็นจริงเครือข่ายอำนาจของ คสช. ไม่ได้สิ้นสุดบทบาทตาม แต่กลับสืบทอดอำนาจต่อไปได้สำเร็จ ทั้งยังออกแบบกลไกทางการเมือง รัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่างๆ เพื่อรองรับค้ำจุนการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารและเครือข่ายอีกด้วย รวมทั้งอำนาจทางการเมืองของกองทัพก็ยังคงดำรงอยู่ แผ่กว้าง และสืบทอดต่อมา
เช่นเดียวกับความสืบเนื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชน ยุค 5 ปี ภายใต้ คสช. นับเป็นยุคที่อำนาจรัฐละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนกว้างขวางที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การรัฐประหารของไทย โดยเฉพาะการละเมิดด้วยการใช้ “กฎหมาย” เป็นเครื่องมือ แม้ประเทศไทยมีการเลือกตั้ง และมีรัฐบาลใหม่ในปี 2562 แล้วก็ตาม แต่แนวโน้มและสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายประเด็นยังคงมีลักษณะสืบเนื่องจากยุค คสช.
การละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายประเด็นเกิดขึ้นต่อเนื่องหลายปี จนถูกทำให้กลายเป็นเรื่อง “ปกติ” และยังไม่มีทีท่าจะยุติลง ราวกับการใช้อำนาจแบบ คสช. ยังคงดำรงอยู่ต่อไป แม้ไม่มี คสช. แล้วก็ตาม ในโอกาสครบรอบ 6 ปี รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอเสนอรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในรอบเกือบ 1 ปี หลังยุค คสช. โดยเฉพาะประเด็นเสรีภาพการแสดงออกและเสรีภาพการชุมนุม ที่แม้ “รูปแบบ” บางอย่างเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่การปิดกั้นควบคุมยังคงดำรงอยู่และดำเนินไปอย่างเป็นระบบ
1. ประชาชนอย่างน้อย 191 ราย ยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐข่มขู่คุกคามและติดตามถึงบ้าน
การละเมิดสิทธิมนุษยชนรูปแบบหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นมาตลอดหลังรัฐประหาร 2557 นั่นคือเจ้าหน้าที่รัฐเดินทางไปพบผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง นักกิจกรรม นักศึกษา นักการเมือง ฯลฯ ถึงพื้นที่ส่วนบุคคล ทั้งบ้าน สถานศึกษา ที่ทำงาน รวมทั้งพยายามติดตามตัวผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อตรวจเช็คความเคลื่อนไหว ปฏิบัติการเหล่านี้ยังคงดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยุค 5 ปี ภายใต้ คสช. มีประชาชนอย่างน้อย 592 คน ถูกติดตามคุกคามถึงบ้านหรือถูกข่มขู่คุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ โดยบางรายมีเจ้าหน้าที่ไปพบและติดตามรวมหลายสิบครั้งตลอด 5 ปีที่ คสช. อยู่ในอำนาจ ขณะที่ในช่วง หลัง คสช. ยุติบทบาท คือตั้งแต่ 17 กรกฎาคม 2562 – 30 เมษายน 2563 มีประชาชนอย่างน้อย 191 ราย ถูกติดตามคุกคามถึงบ้าน หรือถูกเจ้าหน้าที่พยายามติดตามข่มขู่ผ่านช่องทางต่างๆ บางส่วนเป็นผู้เคยทำกิจกรรมเคลื่อนไหวและถูกติดตามมาตั้งแต่ยุค คสช. แต่บางส่วนไม่เคยถูกติดตามมาก่อนหน้านี้ เช่น นักศึกษาผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นครั้งแรก โดยที่แนวโน้มของหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ซึ่งเข้าติดตามตัวประชาชน ยังเปลี่ยนจากเจ้าหน้าที่ทหารมาเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำท้องที่มากขึ้น แต่ยังมีรายงานกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารไปพบ “บุคคลที่อยู่ในรายชื่อเฝ้าระวัง” ถึงที่บ้านเพื่อห้ามปรามไม่ให้เคลื่อนไหวอยู่เช่นกัน
การติดตามสอดส่องความเคลื่อนไหวหรือการติดตามถึงบ้านมักเกิดขึ้นในช่วงมีวาระสำคัญทางสังคม ซึ่งมักตามมาด้วยการจัดกิจกรรมหรือการเคลื่อนไหวชุมนุมของประชาชน เช่น ในปี 2562 ก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียนซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่รัฐได้เข้าติดตามสอบถามความเคลื่อนไหวผู้เคยร่วมการชุมนุมทางการเมืองถึงที่บ้านก่อนการประชุมในทุกระยะ เช่นเดียวกับช่วงจัดเตรียมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทั้งในเดือนพฤษภาคมและธันวาคม รวมทั้งช่วงก่อนสมัชชาคนจนจัดชุมนุมใหญ่ในเดือนตุลาคม แกนนำเครือข่ายชาวบ้านหลายสิบพื้นที่ได้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามถึงบ้านเช่นกัน
ต้นปี 2563 กระแสการจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” และ “แฟลชม็อบ” ปะทุขึ้น เป็นอีกช่วงที่ประชาชนโดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาถูกติดตามเป็นจำนวนมาก การจัดกิจกรรมในช่วงดังกล่าวเกิดขึ้นในหลายจังหวัดพร้อมๆ กัน ทำให้พบการติดตามของเจ้าหน้าที่ในต่างจังหวัดอย่างกว้างขวาง ในช่วงกิจกรรมวิ่งไล่ลุง มีรายงานเจ้าหน้าที่รัฐไปพบหรือติดตามตัวประชาชนในจังหวัดต่างๆ อย่างน้อย 62 ราย ขณะที่ในช่วงแฟลชม็อบ มีรายงานกรณีนักเรียน-นิสิตนักศึกษาถูกเจ้าหน้าที่ติดตามข่มขู่คุกคาม อย่างน้อย 22 ราย
นอกจากสิทธิเสรีภาพที่ถูกคุกคาม ประชาชนบางรายผู้ถูกเจ้าหน้าที่ติดตาม ยังได้รับผลกระทบในชีวิตอย่างหนักอีกด้วย เช่น กรณีอดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ จังหวัดลำปาง ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่เข้าติดตามถึงบ้านเพื่อสอบถามถึงกิจกรรมวิ่งไล่ลุงหลายครั้ง จนทำให้บิดาซึ่งอายุเกือบ 80 ปี และเป็นโรคเบาหวาน เครียดจนต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ทั้งตำรวจยังติดตามไปถึงโรงพยาบาลเพื่อสอบถามข้อมูลจากบิดาอีกด้วย หรือกรณีเจ้าหน้าที่วนเวียนติดตามตัว นักศึกษามหาวิทยาลัยพะเยา ผู้เตรียมจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง โดยเจ้าหน้าที่ข่มขู่เจ้าของหอพักที่นักศึกษาเช่าห้องอยู่ว่าจะขอหมายค้นเข้าตรวจค้นห้องพักดังกล่าว ทำให้เจ้าของหอพักขอให้นักศึกษารายดังกล่าวย้ายออกจากหอพักในที่สุด เป็นต้น
แม้เจ้าหน้าที่มักอ้างว่าการดำเนินการลักษณะนี้เป็นการไป “ติดตามข้อมูลตามหน้าที่” เพราะ “นาย” สั่งให้มาสอบถาม หรือกระทั่งบางครั้งเจ้าหน้าที่พูดคุยกับผู้ถูกติดตามด้วยดี หากแต่ลักษณะการรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ส่วนตัวและการแสดงออกถึงการจับตาสอดส่อง โดยไม่แน่ชัดว่าอาศัยอำนาจตามกฎหมายใด ส่งผลให้ประชาชนผู้ถูกติดตามเกิดความหวาดกลัว ได้รับผลกระทบในด้านต่างๆ หรือส่งผลทำให้ผู้ถูกคุกคามไม่กล้าแสดงออกทางการเมือง นับได้ว่าปฏิบัติการดังกล่าวเป็นการข่มขู่คุกคามโดยรัฐรูปแบบหนึ่ง และส่งผลต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน วิธีการคุกคามและละเมิดสิทธิลักษณะนี้ ยังถูกนำมาใช้จนแทบกลายเป็น “ปกติ” นับตั้งแต่หลังการรัฐประหารโดย คสช. เป็นต้นมา
2. สถานการณ์การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์: ใช้กฎหมายอื่นแทน ม.112 + มาตรการคุมตัวข่มขู่
การควบคุมปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ยังคงเป็นประเด็นซึ่งยังต้องจับตาในประเทศไทย โดยเฉพาะการใช้ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ดำเนินคดีต่อประชาชน หลังรัฐประหาร 2557 มีตัวเลขผู้ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหานี้อย่างน้อย 169 คน แบ่งเป็นผู้ถูกตั้งข้อหาจากการแสดงความคิดเห็นอย่างน้อย 106 คน และกรณีแอบอ้างสถาบันกษัตริย์เรียกรับผลประโยชน์อีกอย่างน้อย 63 คน
แม้ตั้งแต่ปี 2561 หลังการเปลี่ยนผ่านรัชสมัย จะพบแนวโน้มการบังคับใช้มาตรา 112 ลดน้อยลง แต่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าการดำเนินคดี และการคุกคามปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นในประเด็นสถาบันกษัตริย์ยังคงมีอยู่ โดยพบว่ามีการใช้ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มากล่าวหาดำเนินคดีกับกรณีดังกล่าวมากขึ้น อีกทั้งเมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มของคดีที่คงค้างอยู่ พบว่าศาลมักนำมาข้อหาอื่นๆ มาใช้พิพากษาลงโทษแทนมาตรา 112 อีกด้วย
ตัวอย่างของการใช้กฎหมายอื่นแทนที่มาตรา 112 เช่น คดีของกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ นักกิจกรรมทางการเมือง ผู้ถูกควบคุมตัวเมื่อ 7 ตุลาคม 2562 และถูกแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เพียงอย่างเดียว จากการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในต่างประเทศลงเฟซบุ๊ก หรือคดี “นิรนาม” ผู้ใช้ทวิตเตอร์วัย 20 ปี ซึ่งมีผู้ติดตามหลายแสนคน ถูกจับกุมตัวโดยไม่มีหมายจับเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2563 และถูกแจ้งข้อหาดังกล่าวเช่นกัน จากการทวิตภาพและข้อความที่เกี่ยวกับรัชกาลที่ 10
ในด้านการสั่งฟ้องคดีและการพิจารณาพิพากษาในชั้นศาล ทั้งอัยการและศาลต่างมีแนวโน้มหลีกเลี่ยงการฟ้องหรือลงโทษด้วยข้อหามาตรา 112 เช่นกัน ตัวอย่างเช่น คดีของนที ผู้ป่วยจิตเวช ได้ถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี ด้วยข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์ข้อความวิจารณ์พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 เดิมเขาถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 112 แต่อัยการเปลี่ยนมาฟ้องในข้อหาตามมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) แทน
อย่างไรก็ตาม คดีตามมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นในยุค 5 ปี ภายใต้ คสช. หลายคดียังดำเนินต่อไป โดยเฉพาะคดีที่จำเลยเลือกที่จะต่อสู้คดี เช่น คดีของสิรภพ กวีผู้ถูกคุมขังและไม่ได้ประกันตัวเกือบ 5 ปี, คดีของฐนกร กรณีโพสต์เสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง, คดีของพัฒน์นรี หรือ “แม่จ่านิว” จากกรณีแชท “จ้า”, คดีของอัญชัญ กรณีแชร์คลิปบรรพต 29 กรรม, คดีของ “แหวน ณัฏฐธิดา” พยานปากเอกในคดี 6 ศพวัดปทุมฯ, คดีของบัณฑิต อาร์ณีญาญ์ นักเขียนผู้ถูกกล่าวหาจากการแสดงความคิดเห็น 2 คดี, หรือกลุ่มคดีของผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 ปัจจุบันคดีเหล่านี้ได้ถูกโอนย้ายจากศาลทหารมาพิจารณาต่อในศาลพลเรือน ซึ่งยังเป็นคดีที่ต้องจับตาต่อไป
นอกจากการดำเนินคดี “ปฏิบัติการควบคุมตัวบุคคลโดยมิชอบด้วยกฎหมาย” และ “การข่มขู่คุกคาม” ผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เป็นอีกสองวิธีที่พบว่าเจ้าหน้าที่ใช้ป้องปรามและปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น กรณีสำคัญที่มีการเปิดเผยข้อมูล คือเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อบัญชีว่า @99CEREAL ถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้าควบคุมตัวจากมหาวิทยาลัยไปยัง สภ.คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โดยไม่มีหมายจับหรือหมายเรียก และไม่ได้ปรึกษาหรือมีทนายความ จากกรณีรีทวิตข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เจ้าหน้าที่ได้รุมซักถามความคิดเห็นทางการเมืองและประวัติส่วนตัวโดยถ่ายวีดิโอไว้ตลอดเวลา ทั้งยังถูกขอถ่ายภาพ IP โทรศัพท์มือถือ, ล็อกอินทวิตเตอร์, เบอร์โทร, อีเมล, ขอดูแชทต่างๆ และถูกกดดันให้ลงชื่อในบันทึกข้อตกลง (MOU) ซึ่งมีเนื้อหาถึงการจะไม่ทวิตข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อีก ก่อนปล่อยตัวโดยไม่มีการดำเนินคดี
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังพบว่ามีผู้ใช้สื่อออนไลน์ที่แสดงความคิดเห็นหรือแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ถูกดำเนินการในลักษณะดังกล่าวเป็นระยะ โดยตั้งแต่ตุลาคม 2562 – เมษายน 2563 มีรายงานผู้ถูกดำเนินการในลักษณะดังกล่าวอย่างน้อย 5 ราย แม้แต่ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ยังมีรายงานการควบคุมตัวบุคคลไปสอบถามความคิดเห็น ข่มขู่ และตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคล ผู้ถูกคุกคามยังถูกข่มขู่ไม่ให้เปิดเผยการคุกคามที่เกิดขึ้นกับพวกเขาอีกด้วย ทำให้กรณีลักษณะนี้แทบไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ ทั้งที่เป็นการใช้อำนาจรัฐโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างเป็นระบบ
การข่มขู่คุกคามต่อการแสดงความคิดเห็นในประเด็นสถาบันกษัตริย์ ยังรวมไปถึงกรณีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าติดตามสอดส่องปรากฏการณ์ไม่ยืนในโรงภาพยนตร์ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2562 โดยเข้าไปเรียกตัวบุคคลที่ไม่ยืนออกมาขอข้อมูลส่วนตัวและถ่ายรูปบัตรประชาชน
นอกจากนี้ยังมีการคุกคามในลักษณะการล่าแม่มด โดยสื่อออนไลน์บางแห่งได้นำข้อมูลส่วนตัวของผู้แสดงออกเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์มาเปิดเผยและโจมตีกล่าวร้าย เช่น กรณีผู้ร่วมแฟลชม็อบ “ไม่ถอยไม่ทน” เมื่อเดือนธันวาคม 2562 รายหนึ่ง ได้ถ่ายภาพการชูแผ่นป้ายประท้วง โดยมีฉากหลังของฝูงชนและแผ่นป้ายเป็นตึกที่สกรีนรูปของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ทำให้ถูกสื่อสังคมออนไลน์นำข้อมูลส่วนตัวมาเสียบประจาน จนได้รับผลกระทบถูกให้ออกจากงาน และถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามตัวอีกด้วย
3. การใช้ “กฎหมาย” และ “กระบวนการยุติธรรม” เป็นเครื่องมือทางการเมืองและฟ้องปิดปาก
การใช้ “กฎหมาย” และ “กระบวนการยุติธรรม” ปิดปากและปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง การมุ่งสร้างภาระทางคดีให้กับผู้ถูกกล่าวหา และสร้างความได้เปรียบทางการเมืองให้กับฝ่ายของตน ยังเป็นเครื่องมือในการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่สืบเนื่องมาจากยุค 5 ปีภายใต้ คสช. จนถึงปัจจุบัน
นักการเมืองจากพรรคเพื่อไทย เช่น วัฒนา เมืองสุข, พิชัย นริพทะพันธุ์, และจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นส่วนหนึ่งของนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับ คสช. ที่ถูกดำเนินคดีมาตั้งแต่ช่วงหลังรัฐประหาร 2557 รวมทั้งกรณีการดำเนินคดีกับแกนนำพรรคเพื่อไทย 8 ราย ซึ่งร่วมกันแถลงข่าวในช่วงครบรอบ 4 ปีรัฐประหาร เมื่อปี 2561
ปี 2562-2563 การกล่าวหาดำเนินคดีกับแกนนำพรรคการเมืองฝ่ายค้านยังคงเข้มข้น ทว่ามีแนวโน้มเปลี่ยนไปพุ่งเป้าในการดำเนินคดีกับพรรคอนาคตใหม่ นอกจากการถูกฟ้องคดีในศาลรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่คำวินิจฉัยยุบพรรคเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาแล้ว แกนนำของพรรคอนาคตใหม่ยังเผชิญกับข้อกล่าวหาในคดีอาญาที่เกิดจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออก รวมทั้งหมด 10 คดี (รวมผู้ถูกดำเนินคดีจำนวน 9 คน) อาทิ คดีของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกกล่าวหาย้อนหลังด้วยมาตรา 116 จากการเข้าร่วมกิจกรรมของนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เมื่อปี 2558, คดีของปิยบุตร แสงกนกกุล ถูกกล่าวหาฐานดูหมิ่นศาล และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีไลฟ์สดวิจารณ์คำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติของศาลรัฐธรรมนูญ, คดีของพรรณิการ์ วานิช ถูกกล่าวหาด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากโพสต์ข้อความตั้งแต่ปี 2556 ที่พูดถึงระบอบการปกครองของไทย, คดีแกนนำพรรคอนาคตใหม่ 5 คน ถูกกล่าวหาจากการจัดแฟลชม็อบ “ไม่ถอยไม่ทน” ที่สกายวอล์คปทุมวัน, คดีของรังสิมันต์ โรม ถูกมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด แจ้งความดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท เป็นต้น
ตัวเลขดังกล่าวยังไม่นับรวมคดีที่มีการแจ้งความกล่าวหาแกนนำพรรคไว้ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ได้เรียกมาแจ้งข้อกล่าวหา และกรณีผู้ประสานงานของพรรคในต่างจังหวัดถูกกล่าวหาและดำเนินคดีเรื่องการชุมนุมอีกด้วย
ตุลาคม 2562 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ยังพยายามกล่าวหาผู้ร่วมงานเสวนา “พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” รวม 12 ราย ประกอบด้วย นักวิชาการและแกนนำจาก 7 พรรคฝ่ายค้าน โดย กอ.รมน.แจ้งความกล่าวหาว่าทั้งหมดร่วมกันยุยงปลุกปั่นให้มีการล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามมาตรา 116 จากเนื้อหาการเสวนาที่กล่าวถึงการแก้ไขมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญ แต่กรณีนี้ยังไม่มีผู้ใดถูกตำรวจเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหา แนวโน้มการพุ่งเป้าดำเนินคดีดังกล่าว นอกจากสะท้อนความพยายาม “ปิดปาก” นักการเมืองฝ่ายค้าน ยังสะท้อนความพยายามทำลายระบบการถ่วงดุลตรวจสอบการทำงานของรัฐที่ควรเกิดขึ้นอย่างเป็นปกติในสังคมประชาธิปไตยอีกด้วย
4. มาตรา 116: ความผิดต่อ “ความมั่นคงของรัฐ” ยังถูกใช้คุ้มครอง “ความมั่นคงของรัฐบาล”
ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หรือข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” เป็นข้อหาหนึ่งในหมวดความผิดต่อ “ความมั่นคงของรัฐ” ที่ถูกนำมาตีความอย่างกว้างขวางเพื่อใช้เป็นเครื่องมือกล่าวหาดำเนินคดีต่อประชาชน ในยุค 5 ปี ภายใต้ คสช. มีผู้ถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 116 อย่างน้อย 124 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้แสดงความคิดเห็นหรือเผยแพร่ข้อมูลวิพากษ์วิจารณ์ คสช. หรือเป็นผู้นำปราศรัยในการชุมนุมต่างๆ
หลายคดีที่คงค้างอยู่ได้ถูกโอนย้ายจากศาลทหารและยังต้องต่อสู้คดีในศาลพลเรือนต่อไป อาทิ คดีของจาตุรนต์ ฉายแสง กรณีการแถลงข่าวปฏิเสธอำนาจคณะรัฐประหารในการเรียกรายงานตัว, คดีของสมบัติ บุญงามอนงค์ กรณีการโพสต์เชิญชวนแสดงออกต่อต้านรัฐประหาร, คดีของพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ กรณีทำกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” ไม่ยอมรับอำนาจการพิจารณาของศาลทหาร รวมทั้งคดีของธเนตร อนันตวงษ์ กรณีโพสต์วิจารณ์ คสช./ทหาร ซึ่งจำเลยยังคงถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างการพิจารณาคดีมาเกือบ 4 ปีแล้ว
ส่วนคดีซึ่งเกิดจากการแสดงออกทางการเมืองในยุค คสช. โดยมีข้อหามาตรา 116 เป็นข้อหาหลัก และถูกพิจารณาคดีในศาลพลเรือนมาตั้งแต่ต้น ก็ยังคงค้างอยู่ในชั้นศาลอีกหลายคดี โดยเฉพาะชุดคดีแกนนำ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” จากการชุมนุมในปี 2561 ได้แก่ คดี MBK39, คดี ARMY57, และคดี UN62 ล้วนยังอยู่ระหว่างรอการสืบพยาน
ในรอบปีที่ผ่านมา ศาลยังมีคำพิพากษาในคดีมาตรา 116 บางคดี โดยชี้ว่าคดีเหล่านี้ไม่ได้เข้าข่ายตามข้อกล่าวหาแต่อย่างใด เช่น ในคดี “การชุมนุมคนอยากเลือกตั้งที่ถนนราชดำเนิน” หรือ RDN50 ศาลอาญาได้มีคำพิพากษายกฟ้องแกนนำ เมื่อ 20 กันยายน 2562 โดยชี้ว่าการชุมนุมและคำปราศรัยต่างๆ ไม่ได้เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 116 แต่อย่างใด แต่เป็นการกระทำตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ การแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลตามหลักประชาธิปไตย รวมทั้งคดีส่งจดหมายวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเคยถูกพิจารณาในศาลทหาร เมื่อถูกโอนย้ายมาพิจารณาต่อในศาลพลเรือน เมื่อ 25 มีนาคม 2563 ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีทุกข้อหา รวมทั้งข้อหามาตรา 116 โดยเห็นว่าเนื้อหาในจดหมายเป็นแต่เพียงการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเท่านั้น ทั้งสองคดีนี้เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นการใช้มาตรา 116 ปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงออก ทำให้ผู้คัดค้านอำนาจ คสช. เกิดภาระทางคดีในข้อหาร้ายแรง และต้องใช้เวลาหลายปีกว่าการต่อสู้คดีจะสิ้นสุดลงโดยไม่จำเป็น
ขณะเดียวกันหลังยุค คสช. ยังมีการกล่าวหาดำเนินคดีเกี่ยวกับมาตรา 116 เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 3 คดี โดยเป็นการจับกุมกรณี “สหพันธรัฐไท” เพิ่มเติมอีก 2 คดี และจับกุมอดีตแกนนำคนเสื้อแดง พร้อมกล่าวหาว่าโพสต์คลิปเชิญชวนประชาชนขับไล่ คสช.
ในส่วนคดีเกี่ยวกับองค์กรสหพันธรัฐไทเป็นกลุ่มคดีมาตรา 116 ที่ยังดำเนินอยู่ในชั้นศาลหลายคดี จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จนถึงเดือนเมษายน 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากกรณีที่เกี่ยวข้องกับสหพันธรัฐไทอย่างน้อย 21 ราย แยกเป็น 12 คดี ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประชาชนที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยสวมเสื้อสีดำไปตามสถานที่ต่างๆ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2561 แทบทั้งหมดถูกกล่าวหาในข้อหาตามมาตรา 116 และข้อหาอั้งยี่ ปัจจุบันผู้ถูกดำเนินคดี 2 ราย ถูกพิพากษาจำคุกอยู่ในเรือนจำ
น่าสนใจเช่นเดียวกันว่า ในคดีที่เกี่ยวข้องกับองค์กรสหพันธรัฐไทซึ่งศาลมีคำพิพากษาแล้วอย่างน้อย 5 คดี มีจำนวน 4 คดีที่อัยการฟ้องด้วยข้อหาตามมาตรา 116 และเป็นอั้งยี่ แต่ 3 คดีที่จำเลยต่อสู้คดี ศาลพิพากษาในเดือนมกราคมและมีนาคม 2563 ยกฟ้องความผิดตามมาตรา 116 ทั้งหมด ตอกย้ำการใช้กฎหมายนี้ดำเนินคดีเพื่อควบคุมประชาชนไม่ให้แสดงออกในทางที่ขัดแย้งต่อรัฐ แม้เพียงการสวมเสื้อดำก็ตาม
5. การใช้ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จัดการ “ข่าวปลอม” พุ่งสูง
ข้อหาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อปี 2560 นับเป็นกฎหมายอีกฉบับที่ถูกนำมาใช้ปิดกั้นเนื้อหาบนโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง แทนการมุ่งใช้ดูแลอาชญากรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ในยุค 5 ปี ภายใต้ คสช. จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า มีประชาชนถูกตั้งข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากแสดงความคิดเห็นทางการเมืองบนโลกออนไลน์อย่างน้อย 197 ราย ขณะในช่วงหลัง คสช. ตั้งแต่กรกฎาคม 2562 – เมษายน 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแสดงความคิดเห็นหรือการเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ อย่างน้อย 42 ราย คิดเป็นจำนวน 34 คดี ในจำนวนนี้มี 37 ราย ถูกเจ้าหน้าที่รัฐกล่าวหาว่าเป็นการเผยแพร่ข่าวปลอม หรือ “เฟคนิวส์” โดยเป็นข่าวปลอมเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างน้อย 28 ราย
พฤศจิกายน 2562 รัฐบาลนำโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้จัดตั้ง “ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย” (Anti-Fake News Center Thailand) เพื่อจับตาการเผยแพร่ข่าวปลอมโดยเฉพาะ ผลงานสำคัญของหน่วยงานแห่งนี้คือการตรวจเช็คข้อมูลพร้อมแก้ไขข่าวที่เห็นว่าเป็นข่าวปลอมและดำเนินคดีผู้เผยแพร่ข่าวปลอม ด้วยข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า ผู้ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับข่าวปลอมโดยหน่วยงานใหม่แห่งนี้ บางส่วน เป็นผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น นำเสนอข้อมูลตามที่พบเห็นหรือข้อมูลที่ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นจริงหรือเท็จ แต่มีแง่มุมที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐ เช่น คดีของดนัย ศิลปินกราฟิตี้ ผู้ถูกกล่าวหาจากการโพสต์ติงมาตรการคัดกรองโควิด-19 ที่สนามบินสุวรรณภูมิ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังพบว่า ผู้ถูกดำเนินคดีหลายรายไม่ได้มี “เจตนา” เผยแพร่ข่าวปลอม โดยผู้ถูกกล่าวหาจากการแชร์ข้อมูลที่อาจจัดได้ว่าเป็นข่าวปลอมหลายรายเพียงกดแชร์ข้อมูลของบุคคลอื่นโดยไม่ทราบว่าเป็นเท็จ และไม่ได้มี “เจตนาจะทำให้เกิดผลเสียหายต่อความมั่นคงปลอดภัยหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนก” แต่อย่างใด แต่กลับยินยอมรับสารภาพตามข้อกล่าวหา เนื่องจากกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายและภาระหากต่อสู้คดี
นอกจากนี้ แม้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับแก้ไข พ.ศ.2560 จะแก้ไขมาตรา 14 (1) ไม่ให้ใช้กับความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาแล้วก็ตาม แต่ยังคงพบว่ามีการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต่อกรณีที่อาจเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาทอยู่ เช่น กรณีดำเนินคดีกับประชาชนผู้แชร์ข้อความเกี่ยวกับข่าวลือว่ารอง ผบ.ตร. มีความเกี่ยวข้องกับการทำร้ายร่างกาย “จ่านิว”
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางแนวโน้มการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ต่อเนื่องมาจากช่วง คสช. พบว่ามีบางคดีได้สิ้นสุดลงและมีคำพิพากษาที่น่าสนใจ ได้แก่ คดีผู้แชร์ข้อความเกี่ยวกับการไม่ดูแลปัญหายาเสพติดในยุค คสช. จากเฟซบุ๊กเพจ “กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ” ซึ่งหลังการต่อสู้คดี ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง เพราะเห็นว่าข้อความดังกล่าวกระทบภาพลักษณ์ คสช. เท่านั้น ไม่มีผลต่อความมั่นคงของประเทศ ตามองค์ประกอบใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2)
รวมทั้งคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในช่วงปีที่ผ่านมาหลายคดี อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีเด็ดขาดแล้ว โดยมากเป็นคดีที่เกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์ คสช. และกองทัพ ได้แก่ คดีของปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี และคดีของพิชิต ตามูล โพสต์แซวทหารที่จังหวัดเชียงใหม่, คดีของเอกชัย หงส์กังวาน โพสต์วิจารณ์กองทัพกรณีแพ้สงครามในสมรภูมิร่มเกล้า และไม่เคยรบชนะตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2, คดีของพิชัย นริพทะพันธุ์ โพสต์วิจารณ์การดูด ส.ส. และเรื่องการห้ามจำหน่ายนิตยสาร Time หน้าปก พล.อ.ประยุทธ์, คดีของชาญวิทย์ เกษตรศิริ แชร์ภาพกระเป๋าภรรยาของ พล.อ.ประยุทธ์, คดีของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ 2 กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ไลฟ์สดวิจารณ์การดูด ส.ส. ของ คสช. เป็นต้น
คดีเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่ คสช. และกองทัพ นำข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาใช้เป็นเครื่องมือกล่าวหาผู้มีอิทธิพลทางความคิดในสังคม ซึ่งแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจของตนเอง แม้ในที่สุดคดีจะไม่ถูกสั่งฟ้องถึงชั้นศาล แต่ผู้ต้องหาต้องแบกรับภาระทางคดีในการต่อสู้คดีเป็นเวลาหลายปี
6. การปิดกั้นกิจกรรมสาธารณะ และการใช้ข้อหา พ.ร.บ.ชุมนุมฯ
การปิดกั้นพื้นที่การแสดงออกของประชาชนในรูปแบบการชุมนุมและการจัดกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะยังเป็นกลไกสำคัญ ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันยังใช้อำนาจสืบต่อเนื่องมาจากช่วงยุค คสช. แม้จะเปิดให้มีการชุมนุมและการจัดกิจกรรมทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น แต่การชุมนุมสาธารณะต่างๆ ยังอยู่ภายใต้โครงสร้างทางกฎหมายและการใช้อำนาจรัฐที่ก่อให้เกิดอุปสรรคหลายประการ ทั้งการใช้กฎหมายเข้าควบคุมปิดกั้น การข่มขู่คุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ การปิดกั้นพื้นที่จัดกิจกรรม การสอดส่องตรวจตราอย่างเข้มงวด เป็นต้น
หลังรัฐประหาร 2557 ข้อหา “ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามมั่วสุ่มหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป” ตามประกาศ.คสช ที่ 7/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เป็นฐานความผิดหลักที่ถูกนำมาใช้กล่าวหาประชาชนที่เคลื่อนไหวแสดงออกทางการเมือง โดยมีสถิติผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 428 ราย
ต่อมาหลังสภานิติบัญญัติในยุค คสช. ผ่านกฎหมายการใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 กฎหมายฉบับนี้ได้กลายเป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้จัดการกับการชุมนุมสาธารณะของประชาชน ซึ่งลักษณะการนำไปใช้ที่พบบ่อยคือการใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ กล่าวหาดำเนินคดีควบคู่ไปกับคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ห้ามการชุมนุมทางการเมือง. โดยมีสถิติผู้ถูกดำเนินคดีในลักษณะดังกล่าวอย่างน้อย 276 ราย
แม้คำสั่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองจะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่เจ้าหน้าที่รัฐมีแนวโน้มใช้กฎหมายฉบับนี้เพื่อมุ่งควบคุมปิดกั้นการชุมนุมและสร้างภาระให้ประชาชน ข้อหา “การไม่แจ้งจัดการชุมนุมสาธารณะต่อเจ้าพนักงานก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง” กลายเป็นข้อหาสำคัญที่นักกิจกรรมและผู้จัดการชุมนุมหลายคนเผชิญ ทั้งยังพบปัญหานิยามของ “การชุมนุมสาธารณะ” ถูกเจ้าหน้าที่รัฐตีความอย่างกว้างขวาง ทำให้การทำกิจกรรม เช่น การแขวนพริก-เกลือที่รั้วทำเนียบฯ, การตั้งโต๊ะล่ารายชื่อเรียกร้องต่อวุฒิสภาให้งดออกเสียงโหวตนายกฯ, กิจกรรมวิ่งออกกำลังกาย ฯลฯ ล้วนถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ได้ทั้งสิ้น
ตั้งแต่ 17 กรกฎาคม 2562 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่ามีการชุมนุมสาธารณะอย่างน้อย 42 ครั้ง ถูกเจ้าหน้าที่รัฐปิดกั้นแทรกแซง ในจำนวนนี้ แยกเป็นการชุมนุมที่ไม่สามารถจัดขึ้นได้ ต้องยกเลิกกิจกรรม จำนวน 14 กิจกรรม และมีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 28 ราย คิดเป็นจำนวน 18 คดี ชุดคดีที่สำคัญ ได้แก่ คดีแฟลชม็อบ “ไม่ถอยไม่ทน” ของพรรคอนาคตใหม่และประชาชนในจังหวัดต่างๆ เมื่อ 14 ธันวาคม 2562 ซึ่งมีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 11 ราย และคดีจากการจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐในจังหวัดต่างๆ เห็นว่าเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แม้รูปแบบจะเป็นการจัดกิจกรรมออกกำลังกาย ทำให้มีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมฯ อย่างน้อย 17 ราย
นอกจากนี้ในหลายกิจกรรมการชุมนุม แม้ผู้จัดการชุมนุมจะแจ้งจัดการชุมนุมฯ กับเจ้าพนักงานล่วงหน้าแล้ว แต่พบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจกลับนำข้อกล่าวหาอื่นๆ มาดำเนินคดี เช่น การใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต, การกีดขวางการจราจร แม้ข้อหาเหล่านี้มีเพียงโทษปรับ แต่ทำให้ผู้จัดการชุมนุมมีภาระหลายประการเมื่อจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง
ไม่เพียงแต่การใช้กฎหมาย พ.ร.บ.การชุมนุมฯ เจ้าหน้าที่รัฐยังเข้ากดดันแทรกแซงกิจกรรมทางวิชาการและกิจกรรมทางศิลปะวัฒนธรรมหลายรูปแบบ แม้ไม่ได้มีลักษณะเป็นการชุมนุมสาธารณะ ทำให้จัดกิจกรรมต่างๆ ที่มีเนื้อหาทางการเมืองไม่ได้ หรือจัดได้อย่างยากลำบาก เช่น กดดันให้เปลี่ยนสถานที่จัด, กดดันให้เปลี่ยนวิทยากร, กดดันให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรม หรือเข้าจับตาสอดส่องตลอดกิจกรรม
แนวโน้มการปิดกั้นกิจกรรมสาธารณะดังกล่าวดำเนินมาตั้งแต่ยุค 5 ปี ภายใต้ คสช. ดังปรากฏในรายงานว่ามีกิจกรรมสาธารณะถูกปิดกั้นแทรกแซงโดยเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนอย่างน้อย 361 กิจกรรม โดยแยกเป็นกิจกรรมที่ถูกปิดกั้นจนไม่สามารถจัดขึ้นได้ 168 กิจกรรม และกิจกรรมที่ถูกแทรกแซงหรือถูกคุกคามกดดัน แต่ยังสามารถจัดขึ้นได้อีก 193 กิจกรรม
ขณะที่ยุคหลัง คสช. ตั้งแต่ 17 กรกฎาคม 2562 – 30 เมษายน 2563 พบว่ามีกิจกรรมที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐพยายามปิดกั้นหรือแทรกแซง อย่างน้อย 55 กิจกรรม ในจำนวนนี้แยกเป็นกิจกรรมถูกปิดกั้นกดดันจนไม่สามารถจัดขึ้นได้เลย จำนวน 14 กิจกรรม เช่น ก่อนการจัดงานมหกรรมการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน/เวทีภาคประชาชนอาเซียน (ACSC/APF) ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพและมีกำหนดการจัดขึ้นในเดือนกันยายน 2562 หน่วยงานความมั่นคงได้ขอรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุมมหกรรมฯ ครั้งนี้ และพยายามเข้าแทรกแซงกำหนดว่าจะให้ใครเข้าหรือไม่เข้าร่วมงาน อีกทั้งพยายามห้ามผู้เข้าร่วมประชุมไม่ให้แสดงออกต่อต้านรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ผู้จัดงานตัดสินใจไม่รับเงินสนับสนุนการจัดงานจากภาครัฐและย้ายสถานที่จัดงานในที่สุด หรือในรอบปีที่ผ่านมา กิจกรรมการจัดเวทีเสวนาและค่ายเยาวชนผู้ไม่ยอมจำนนของพรรคอนาคตใหม่ อย่างน้อย 8 ครั้ง ได้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้าแทรกแซงกดดันทั้งด้านสถานที่และรายละเอียดปลีกย่อยในการจัดงาน ทำให้กิจกรรมเป็นไปอย่างยากลำบาก รวมทั้งกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ที่จัดขึ้นช่วงเดือนมกราคม 2563 ในหลายจังหวัด ล้วนเผชิญการติดตามกดดันอย่างหนักของเจ้าหน้าที่
7. ศาล บริษัท องค์กรอิสระ บุคคลสาธารณะ ฯลฯ ร่วมฟ้อง “ปิดปาก” ผู้วิพากษ์วิจารณ์
แนวโน้มการใช้ “กฎหมาย” เป็นเครื่องมือปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น ยังแพร่ขยายไปในองค์กรอื่นๆ ไม่ใช่เพียงคณะรัฐประหาร รัฐบาล หรือกองทัพเท่านั้น ปรากฏการณ์ที่องค์กรอิสระ, บริษัทเอกชน, ศาล, หรือกระทั่งมูลนิธิ นำข้อหาหมิ่นประมาทซึ่งมีโทษทางอาญา มาใช้กล่าวหาดำเนินคดีบุคคลที่เคลื่อนไหวตรวจสอบและแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานหรือตรวจสอบผลประโยชน์สาธารณะยังเกิดขึ้นเป็นระยะ
ตัวอย่างคดีซึ่งดำเนินมาตั้งแต่หลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 และยังไม่สิ้นสุดลง คือกลุ่มคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งความกล่าวหานักกิจกรรม และผู้ใช้อินเตอร์เน็ตซึ่งตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์การทำงานอันไม่โปร่งใสของ กกต. ในช่วงการเลือกตั้ง ด้วยข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 ได้แก่ กรณีกล่าวหา 3 นักกิจกรรม จากการปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์ กกต. ในกิจกรรม “#เห็นหัวกูบ้าง” และกรณีกล่าวหาผู้แชร์แคมเปญรณรงค์ถอดถอน กกต. ทางเว็บไซต์ Change.org จำนวน 7 ราย คดีเหล่านี้จนถึงปัจจุบันยังอยู่ในชั้นสอบสวน
คดีในลักษณะดังกล่าวยังรวมไปถึงคดี รังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล ถูกมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด แจ้งความดำเนินคดีหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภา กรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อาศัยสถานะรองนายกรัฐมนตรีและประธานมูลนิธิป่ารอยต่อฯ สร้างเครือข่ายผลประโยชน์
องค์กรตุลาการถูกวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นจากสังคมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พร้อมกับจำนวนคดีดูหมิ่นศาลและละเมิดอำนาจศาลที่เพิ่มขึ้น ในยุค 5 ปี ภายใต้ คสช. มีประชาชนผู้แสดงออกวิพากษ์วิจารณ์ศาลและกระบวนการยุติธรรมถูกดำเนินคดีจากสองข้อหานี้อย่างน้อย 18 ราย และทั้งสองข้อหานี้ยังมีบทบาทสำคัญในการใช้ปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์มาจนถึงปัจจุบัน ในช่วงเดือนสิงหาคม 2562 ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้ตั้งเรื่องคดีละเมิดอำนาจศาลกล่าวหา สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน-นักแปลอิสระ และยุทธนา นวลจรัส บรรณาธิการข่าวของหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ จากการเขียนและเผยแพร่บทความวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาของศาลฎีกา ในบทความ “อันตรายของภาวะ “นิติศาสตร์นิยมล้นเกิน” (อีกที) กรณีหุ้นสื่อของผู้สมัคร ส.ส.” แต่คดีนี้ได้ยุติลง หลังผู้ถูกกล่าวหายินยอมลงบทความชี้แจงเรื่องการใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม
ด้านศาลรัฐธรรมนูญ หลังมีการบัญญัติข้อหา “ละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ” ไว้ใน พ.ร.ป.วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ได้นำไปสู่ข้อถกเถียงว่าบทบัญญัตินี้จะถูกนำมาใช้ปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเข้าไปมีบทบาทตัดสินชี้ขาดทางการเมืองอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เดือนสิงหาคม 2562 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ “เชิญตัว” รศ.ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และยุทธเลิศ สิปปภาค ผู้กำกับภาพยนตร์ ให้เข้าพบเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากทั้งสองได้ทวิตวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินของศาลฯ ซึ่งนับเป็นการเรียกประชาชนเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงครั้งแรกหลังเกิดข้อบัญญัตินี้ แต่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าศาลฯ อาศัยอำนาจตามกฎหมายใดในการดำเนินการดังกล่าว และไม่ได้มีการตั้งเรื่องหรือดำเนินคดีเรื่องละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นผู้ถูกเชิญทั้งสองได้ออกมาขอโทษต่อการแสดงความคิดเห็นที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ยังมีกรณีบริษัทเอกชนเป็นผู้ฟ้อง เช่น กรณีบริษัทธรรมเกษตร ซึ่งดำเนินธุรกิจฟาร์มไก่ แจ้งความดำเนินคดีหมิ่นประมาทต่อนักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน และแรงงานจำนวนมาก จากการแพร่ข้อมูลข่าวสารซึ่งอ้างว่าบริษัทได้ละเมิดสิทธิแรงงานลูกจ้าง หรือกรณีบริษัทที่ได้รับสัมปทานเหมืองถ่านหินในพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ แจ้งความชาวบ้าน นักศึกษา และนักวิชาการที่เคลื่อนไหวคัดค้านการทำเหมืองแร่ ในข้อหาหมิ่นประมาท รวมอย่างน้อย 7 ราย เมื่อช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2562
นอกจากการฟ้องโดยองค์กรและบริษัท ยังปรากฏกรณีบุคคลผู้มีอำนาจหรือบุคคลสาธารณะเป็นผู้ฟ้อง เช่น กรณี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายตัวแทนให้แจ้งความคดีหมิ่นประมาทนักศึกษามหาวิทยาลัยพะเยาที่ตั้งคำถามเรื่องการซื้อเสียงของพรรคพลังประชารัฐ ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัสยังเป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง และแจ้งความประชาชนที่โพสต์วิจารณ์ประวัติที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดของตนขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและมีสถานะเป็นบุคคลสาธารณะแล้ว ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัส ยังแจ้งความดำเนินคดีหมิ่นประมาทในลักษณะเช่นเดียวกันนี้อีกหลายคดี
การใช้กฎหมายและอำนาจเหล่านี้ หลายกรณีเข้าข่ายเป็นการฟ้องปิดปาก (A Strategic Lawsuit Against Public Participation: SLAPP) ที่ส่งผลถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการวิพากษ์วิจารณ์ นำเสนอข้อมูล ตรวจสอบการทำงาน กระทั่งอาจก่อให้เกิดการปิดกั้นการมีส่วนร่วมตรวจสอบผลประโยชน์สาธารณะ
8. ศาลพลเรือนรับช่วงต่อคดีจากศาลทหาร แต่ “คุกขังพลเรือน” ในค่ายทหารยังคงอยู่
การให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร โดยเฉพาะพลเรือนผู้ต่อต้านการรัฐประหารเป็นรูปแบบการปราบปรามทางการเมืองที่สำคัญในยุค คสช. จากสถิติของกรมพระธรรมนูญระบุว่า ในยุค 5 ปีภายใต้ คสช. มีการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร 2,408 ราย จาก 1,886 คดี ก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 9/2562 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ยกเลิกคำสั่ง คสช. 78 ฉบับที่หมดความจำเป็น โดยส่วนหนึ่งของคำสั่งนี้ระบุให้โอนย้ายคดีทางการเมืองและคดีของพลเรือนที่ คสช. เคยประกาศให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารไปอยู่ในอำนาจของศาลพลเรือน โดยไม่กระทบกระเทือนถึงกระบวนพิจารณาใดๆ ที่ได้กระทำไปแล้วในศาลทหาร จากนั้นศาลทหารทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ซึ่งยังมีคดีพลเรือนคงค้างอยู่ได้ทยอยสั่งโอนย้ายคดีไปยังศาลพลเรือนในพื้นที่
จากสถิติของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (The Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights : OHCHR) ระบุว่ามีคดีพลเรือนที่ถูกโอนย้ายมาจากศาลทหาร 162 คดี ในจำนวนนี้มีคดีที่อยู่ในการดูแลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 21 คดี คดีเหล่านี้หลายคดีดำเนินมาเนิ่นนาน ตั้งแต่หลังเกิดรัฐประหาร 2557 บางคดีดำเนินมาจวน 6 ปีแล้ว โดยศาลยังไม่มีคำพิพากษาใดๆ เนื่องจากกระบวนการพิจารณาอันล่าช้า สร้างภาระให้ผู้ถูกดำเนินคดีอย่างมาก
อีกทั้งคดีที่โอนย้ายจากศาลทหารโดยเฉพาะคดีการเมือง ยังเกิดขึ้นภายใต้ “กระบวนการยุติธรรมที่ชี้นำโดยทหาร” เริ่มต้นจากผู้ต้องหา/จำเลยถูกควบคุมตัวไปซักถามในค่ายทหาร “บันทึกซักถาม” ที่เกิดขึ้นในบรรยากาศที่กลไกคุ้มครองสิทธิมนุษยชนผู้ต้องหาไม่อาจทำงานได้เต็มที่กลายเป็นพยานหลักฐาน ที่ “ผู้กล่าวหา” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนายทหารของ คสช. นำไปใช้ขอศาลทหารออกหมายจับ จากนั้นทหารยังอยู่ในขั้นตอนการสอบสวน ตลอดจนการพิจารณาสั่งฟ้องคดียังดำเนินการโดยอัยการทหาร ทำให้เกิดคำถามว่า “กระบวนการยุติธรรมปกติ” ทั้งอัยการพลเรือนและศาลพลเรือน ควรต้องรับช่วงกระบวนการในลักษณะนี้มาดำเนินต่อไปอีกหรือไม่
นอกจากการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารแล้ว ในช่วง คสช. ยังมีการตั้งเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี (เรือนจำ มทบ.11) ขึ้นภายในพื้นที่กองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11 ตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 เป็นต้นมา โดยอ้างเหตุผลด้านการรักษาความปลอดภัย ความเหมาะสมในการคุมขัง การปฏิบัติต่อการคุมขังในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ในช่วงดังกล่าว มีผู้ต้องขังที่เป็นพลเรือนหลายรายถูกนำตัวไปคุมขังในเรือนจำดังกล่าว อาทิ ผู้ต้องหาในคดีวางระเบิดที่แยกราชประสงค์, ผู้ต้องหาในกลุ่มคดีเดียวกับ “หมอหยองผู้ติดเชื้อในกระแสเลือด”, ผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 และคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิด เป็นต้น
กระทั่งเดือนมีนาคม 2562 เมื่อมีการย้าย มทบ.11 ไปอยู่ที่แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กระทรวงยุติธรรมได้ออกประกาศย้ายเรือนจำชั่วคราวแห่งนี้ไปอยู่ในที่เดียวกันด้วย แต่เปลี่ยนชื่อเป็น “เรือนจำชั่วคราวแขวงทุ่งสองห้อง” และถูกใช้ควบคุมผู้ต้องขังคดีเกี่ยวกับ “ความมั่นคงของรัฐ” เช่นเดิม
เรือนจำในค่ายทหารดังกล่าวยังคงใช้คุมขังผู้ต้องขังที่เป็นพลเรือนมาจนถึงปัจจุบัน จากข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ระบุว่า ณ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 ในเรือนจำชั่วคราวแขวงทุ่งสองห้องยังมีผู้ต้องขังอยู่ทั้งหมด 6 คน โดยแยกเป็นคดีเกี่ยวกับเหตุระเบิดภาคใต้ 3 คน, คดีเหตุระเบิดราชประสงค์ 2 คน และคดีตามมาตรา 112 อีก 1 คน ส่วน “ยอดรวม” นั้น กรมราชทัณฑ์ระบุว่ามีจำนวนผู้เคยถูกคุมขังในเรือนจำภายในค่ายทหาร ทั้งที่แขวงนครไชยศรีและแขวงทุ่งสองห้อง ทั้งหมด 53 คน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า การคุมขังพลเรือนในค่ายทหารดังกล่าว ผู้คุมส่วนใหญ่เป็นทหาร ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ทนายความประสบความลำบากในการเยี่ยมลูกความหลายประการ โดยการขอเยี่ยมมีขั้นตอนมากกว่าปกติ เมื่อได้เยี่ยมแล้วพบว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารคอยเฝ้าระหว่างการเยี่ยม และคอยจำกัดเวลาให้คำปรึกษาแก่ลูกความ การตระเตรียมการสู้คดีหรือส่งคำถามถึงลูกความต้องให้เจ้าหน้าที่ทหารคัดกรองก่อน กระทบต่อสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่และสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมของผู้ถูกดำเนินคดี นอกจากนั้นผู้ถูกคุมขังยังร้องเรียนถึงสภาพการถูกคุมขัง ทั้งการถูกซ้อมทรมานให้รับสารภาพหรือการถูกคุมขังแบบแยกขังเดี่ยวอีกด้วย
9. คำสั่ง คสช., กฎหมาย สนช., และคำพิพากษารับรองคณะรัฐประหารที่ยังคงอยู่
แม้ก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ยุติบทบาท จะได้ออกคำสั่งยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. รวม 78 ฉบับ จากทั้งหมด 564 ฉบับ (แยกเป็นคำสั่ง คสช. จำนวน 214 ฉบับ, ประกาศ คสช. จำนวน 133 ฉบับ และคำสั่งหัวหน้า คสช. จำนวน 217 ฉบับ) ทำให้ยังคงมีประกาศ/คำสั่งของคณะรัฐประหารหลายฉบับยังคงอยู่
ประกาศ/คำสั่งที่ยังคงมีผลอยู่ ยังคงมีส่วนก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น “การยังไม่ยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 ซึ่งกำหนดโทษทางอาญาให้ความผิดเรื่องการไม่มารายงานตัวต่อ คสช.” ทำให้คดีความและหมายจับของบุคคลที่ยังไม่มารายงานตัวกับ คสช. คงมีผลทางกฎหมายอยู่ ในยุค 5 ปี ภายใต้ คสช. มีสถิติการดำเนินคดีกับบุคคลที่ไม่มารายงานตัวอย่างน้อย 14 ราย รวมถึงคดีของ ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งยังต่อสู้คดีดังกล่าวอยู่จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่เคยปฏิเสธการเข้ารายงานตัวกับ คสช. และได้ถูกออกหมายจับไว้ ก็ยังคงไม่อาจเดินทางกลับประเทศไทยได้
คำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มอำนาจให้กับเจ้าหน้าที่ทหารเหนือเจ้าหน้าที่พลเรือนหลายฉบับก็ยังคงไม่ถูกยกเลิก อาทิ “คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 23/2558 ที่ให้อำนาจทหารจับกุมและควบคุมตัวผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดไว้เพื่อทำการสอบสวนเบื้องต้นได้ไม่เกิน 3 วัน” คำสั่งดังกล่าวเปิดช่องให้ทหารใช้กระบวนการนอกกฎหมาย กระทั่งก่อให้เกิดกรณีการซ้อมทรมานผู้ถูกควบคุมตัว ดังกรณีรายงานข่าวเมื่อเดือนเมษายน 2563 กรณีเจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมตัวชาวบ้าน 2 รายในอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ไปซ้อมทรมานโดยบังคับให้รับว่าเป็นผู้ค้ายาเสพติด จนผู้ถูกควบคุมตัวเสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บสาหัสอีก 1 ราย
หรือ “คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และ 13/2559” ซึ่งยังคงให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารอย่างกว้างขวางและปราศจากการตรวจสอบ ในการสอบสวน จับกุม และควบคุมตัวบุคคลในสถานที่ที่ไม่ใช่สถานที่ควบคุมตัวอย่างเป็นทางการเป็นระยะเวลาไม่เกินเจ็ดวัน โดยศาลมิอาจตรวจสอบการใช้อำนาจดังกล่าวได้
“คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 51/2560” เป็นอีกคำสั่งที่เพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ทหาร โดยมีเนื้อหาขยายขอบเขตอำนาจและบทบาทของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในด้านต่างๆ ออกไป ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจเหนือข้าราชการพลเรือนหลายหน่วยงาน กอ.รมน. จึงยังคงมีบทบาทสำคัญทั้งทางการเมืองและสังคมในยุคหลัง คสช.
รวมทั้งคำสั่ง คสช. ที่ละเมิดสิทธิชุมชนและสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 17/2558, 3/2559 และ 74/2559 ซึ่งให้อำนาจในการทำการเวนคืนที่ดินเพื่อจัดตั้งเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZ) โดยไม่จำต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและตรวจสอบผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และ/หรือสิทธิของกลุ่มชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบ
ประกาศ/คำสั่ง คสช. เหล่านี้ ยังถูกทำให้ไม่อาจตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย หรือชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามกลไกปกติได้อีกด้วย เนื่องจากมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ได้ยกเว้นความรับผิดใดๆ และรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของประกาศ/คำสั่ง หรือการกระทำของ คสช. ไว้
นอกเหนือจากคำสั่งคณะรัฐประหารแล้ว กฎหมายในระดับพระราชบัญญัติอีกจำนวน 444 ฉบับ ซึ่งออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ตั้งขึ้นเองโดย คสช. ยังคงมีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน แทบทุกฉบับตราขึ้นอย่างเร่งรัด ขาดกระบวนการมีส่วนร่วม และยังมีเนื้อหาลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งการแก้ไขทบทวนรายฉบับยังเป็นไปได้ยากภายใต้เงื่อนไขของรัฐสภาในปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน หลายปีที่ผ่านมาองค์กรตุลาการยังคงผลิตคำพิพากษาที่รับรองการรัฐประหาร การใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร และสร้างเอกสิทธิ์คุ้มครองมิให้ คสช. และเจ้าหน้าที่รัฐต้องรับโทษทางกฎหมาย ซึ่งยังมีผลสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน แม้กระทั่งในคดีที่โอนย้ายมาจากศาลทหาร ศาลพลเรือนยังผลิตคำพิพากษาในลักษณะรับรองอำนาจคณะรัฐประหารเช่นเดิม เช่น คดีพลวัฒน์ กรณีโปรยใบปลิวต่อต้านเผด็จการ ซึ่งศาลจังหวัดระยองมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 ว่าจำเลยมีความผิด และเขียนข้อวินิจฉัยในลักษณะอธิบายรับรองความชอบธรรมของการทำรัฐประหาร และการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดย คสช. แม้ คสช. ไม่ได้ดำรงอยู่แล้วก็ตาม
นอกจากนั้น ศาลพลเรือนยังมีการนำประกาศ/คำสั่งของคณะรัฐประหาร ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว มาใช้ลงโทษประชาชนที่ถูกดำเนินคดีอีกด้วย โดยเฉพาะความผิดเรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ซึ่งได้มีการยกเลิกไปตั้งแต่ 11 ธันวาคม 2561 แต่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยในคดีชุมนุมต่อต้านรัฐประหารของอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ ว่า จำเลยยังมีความผิดในข้อหาดังกล่าว โดยตีความว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 ซึ่งยกเลิกคำสั่งดังกล่าว ไม่กระทบกระเทือนถึงการดำเนินคดีที่ได้กระทำไปก่อนการยกเลิก ก่อให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยดังกล่าว เนื่องจากเป็นการนำ “กฎหมาย” ซึ่งถูกบัญญัติไม่ให้เป็นความผิดอีกต่อไป กลับมาลงโทษจำเลย ขัดกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรค 2 เสียเอง
การรับรองอำนาจคณะรัฐประหารยังปรากฏในกรณีที่นักกิจกรรมถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งอัยการยังคงสั่งฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ทำให้จำเลยยังต้องต่อสู้คดีในข้อหาดังกล่าวในปัจจุบัน แม้ความผิดจะยกเลิกไปแล้วก็ตาม ได้แก่ คดีผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง UN62 และคดีรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญประชามติบางเสาธง
10. นักโทษการเมืองอย่างน้อย 28 ราย ผู้ลี้ภัยทางการเมืองอย่างน้อย 104 ราย
ผลพวงสำคัญอีกสองประการจากยุค คสช. ซึ่งยังไม่สิ้นสุดลงตามการยุติบทบาทของคณะรัฐประหาร คือประชาชนจำนวนมากยังถูกจองจำในฐานะ “นักโทษทางการเมือง” และไม่อาจเดินทางกลับบ้านได้ เมื่อต้องตกเป็น “ผู้ลี้ภัยทางการเมือง” แม้ประเทศไทยมีการเลือกตั้งและรัฐบาลใหม่แล้วก็ตาม
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่า ณ เดือนเมษายน 2563 ยังมีผู้ต้องขังในเรือนจำจากคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหลังรัฐประหาร 2557 อย่างน้อย 28 ราย แยกเป็นกลุ่มนักโทษในคดีมาตรา 112 จำนวน 17 ราย แทบทั้งหมดเป็นผู้ต้องขังที่ถูกศาลทหารในยุค คสช. พิพากษาลงโทษอย่างรุนแรง ทำให้ยังถูกคุมขังในเรือนจำไม่ครบกำหนดโทษ, กลุ่มผู้ต้องขังที่ถูกกล่าวหาในคดีสหพันธรัฐไทและคดีมาตรา 116 จำนวน 3 ราย และกลุ่มผู้ต้องขังที่ต่อสู้คดีในข้อหาเกี่ยวกับอาวุธ จำนวน 8 ราย
ช่วงเวลา 6 ปี ภายใต้ประกาศคำสั่ง คสช. ยังทำให้เกิดกลุ่มประชาชนที่ตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศ ทั้งด้วยเหตุผลไม่ต้องการเข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช., ความหวาดกลัวจากการถูกติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่ทหาร, หรือการถูกออกหมายจับในคดีมาตรา 112 และคดีเกี่ยวข้องกับอาวุธ ซึ่งประชาชนมักมองไม่เห็นทางสู้คดี จากการรวบรวมข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า ช่วงเวลา 6 ปี ภายใต้ประกาศคำสั่ง คสช. มีผู้ถูกผลักดันให้ลี้ภัยจากสถานการณ์ทางการเมืองและการไล่ล่ากวาดล้างที่เกิดขึ้นอย่างน้อย 104 ราย
กลุ่มผู้ลี้ภัยในต่างประเทศยังต้องเผชิญภาวะถูกคุกคามและความไม่แน่นอนในการใช้ชีวิต เดือนกรกฎาคม 2562 ซึ่งเป็นช่วง คสช. กำลังจะยุติบทบาท รศ.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการผู้ลี้ภัยทางการเมือง ได้ถูกบุกเข้าทำร้ายถึงที่พักในประเทศญี่ปุ่น ช่วงเวลาใกล้เคียงกัน สมาชิกวงไฟเย็นซึ่งอยู่ระหว่างรอกระบวนการขอลี้ภัยออกจากประเทศลาว ได้รับข้อความข่มขู่ว่าจะจับตาย หากไม่เข้ามอบตัว ซึ่งทำให้พวกเขาตกอยู่ในความหวาดกลัวและวิตกกังวลตลอดเวลา จนกระทั่งเดินทางไปยังประเทศที่สามได้สำเร็จ
ในจำนวนผู้ลี้ภัยเหล่านี้ มีรายงานบุคคลที่อาจถูกบังคับให้สูญหาย 6 ราย โดยมี 3 รายเกี่ยวข้องกับกลุ่มสหพันธรัฐไท ได้แก่ ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ (ลุงสนามหลวง), สยาม ธีรวุฒิ และกฤษณะ ทัพไทย ในเดือนพฤษภาคม 2562 มีรายงานว่าทางการเวียดนามได้ส่งตัวผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้กลับประเทศไทย แต่ทั้งทางการไทยและเวียดนามกลับปฏิเสธเรื่องดังกล่าว และไม่มีใครติดต่อพวกเขาได้อีก รวมทั้งเกิดกรณีการเสียชีวิตของผู้ลี้ภัย 2 ราย กลายเป็นศพลอยมาตามแม่น้ำโขงในสภาพถูกกระทำอย่างโหดร้ายทารุณ ซึ่งยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไรและโดยคนกลุ่มใด
การหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีไม่ได้ ไม่เพียงเกิดขึ้นกับผู้ลี้ภัยแต่ยังเกิดขึ้นกับนักกิจกรรม ดังปรากฏการรุมทำร้ายนักกิจกรรมอย่างต่อเนื่องช่วงต้นปี 2562 ขณะ คสช. ยังมีอำนาจ โดยเกิดขึ้นถึง 7 ครั้ง กับนักกิจกรรม 3 ราย รวมทั้งการรุมทำร้ายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” จนบาดเจ็บสาหัสริมถนนที่มีผู้คนสัญจรไปมา จนถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งการของดการสอบสวนคดีนี้ เนื่องจากพยานหลักฐานที่มีไม่สามารถระบุตัวคนร้ายได้
11. โครงสร้างอำนาจจาก คสช. ยังอยู่คู่สังคมไทย
เกือบ 1 ปี หลังยุค คสช. นอกจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบการใช้อำนาจรัฐยังดำรงอยู่สืบมาแล้ว มรดกจากยุค คสช. ที่ส่งอิทธิพลมาถึงปัจจุบันคือรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่ง คสช. ใช้อำนาจแทรกแซงในทุกระดับ นับตั้งแต่การยกร่างจนถึงการผลักดันให้ผ่านการลงประชามติที่ไม่เสรีและเป็นธรรม และวางโครงสร้างการสืบทอดอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างแน่นหนา โดยกำหนดที่มาของสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งภายใต้เครือข่ายอำนาจของ คสช., การดำรงอยู่ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่ง คสช. แต่งตั้ง แต่กลับมีบทบาทวางยุทธศาสตร์ให้ทุกรัฐบาลต้องเดินตาม, การกำหนดที่มาของผู้ทำหน้าที่ต้องตรวจสอบรัฐในนาม “องค์กรอิสระ” ให้มาจากการแต่งตั้งโดย คสช., สนช., และวุฒิสภา อีกทั้งการขยายอำนาจและบทบาทการแทรกแซงการเมืองของกองทัพไทยยังคงดำรงอยู่เป็นปัญหาสืบเนื่องมา
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเคยจัดทำข้อเสนอ 4 หัวข้อใหญ่ สำหรับการจัดการแก้ไขผลพวงการรัฐประหารของ คสช. บางส่วนไว้ ได้แก่ 1. การจำกัดอำนาจกองทัพและปฏิรูปภาคความมั่นคง 2. การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และสร้างการเข้าถึงกฎหมายและกระบวนการที่เป็นธรรม 3. การเยียวยาและการชดเชยความเสียหายให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจรัฐในช่วงรัฐประหาร 2557 4. การจัดการประกาศ/คำสั่ง คสช., กฎหมายที่ออกมาจาก สนช. และคำพิพากษาที่รับรองการรัฐประหาร (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในรายงาน 5 ปี คสช. พอได้หรือยัง?: ข้อเสนอว่าด้วยการจัดการผลพวงรัฐประหาร และฉบับเต็มในหนังสือข้อเสนอต่อการจัดการผลพวงรัฐประหาร)
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า ประเด็นเหล่านี้ยังต้องได้รับการผลักดันสานต่อ เพื่อยุติโครงสร้างทางกฎหมายและการเมืองที่รองรับการลอยนวลพ้นผิดของคณะรัฐประหารสืบต่อกันมา ปิดหนทางการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบ ฟื้นคืนระบอบประชาธิปไตย และสถาปนาหลักนิติรัฐในสังคมไทยขึ้นใหม่ต่อไป
ดาวน์โหลดรายงานฯ ฉบับเอกสาร PDF ได้ที่ >> ราวกับ คสช. ยังไม่จากไปไหน 6 ปีรัฐประหาร กับการละเมิดสิทธิที่ยังคงอยู่