เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 – ศาลอาญารัชดาฯ ได้นัดคู่ความในคดีของ “ฤาชา” – ผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกกล่าวหาในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 คู่กับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพื่อฟังคำสั่งว่าจะยกคดีขึ้นพิจารณาคดีต่อหรือไม่ หลังจากเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ศาลได้ทำการไต่สวนจิตแพทย์ประจำสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ที่ให้การรักษาจำเลยตั้งแต่ปี 2559 และตัวจำเลยเอง
ก่อนหน้านี้ ขณะคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร ศาลทหารกรุงเทพได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 ให้จำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว และให้ส่งตัวฤาชาเข้ารับการรักษาอาการจิตเภทจนกว่าอาการจะดีขึ้นและสามารถต่อสู้คดีได้ เมื่อคดีถูกโอนย้ายมายังศาลยุติธรรม ทนายจำเลยได้ใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา [simple_tooltip content=’มาตรา 14 ในระหว่างทำการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ถ้ามีเหตุควรเชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้พนักงานสอบสวนหรือศาลแล้วแต่กรณี สั่งให้พนักงานแพทย์ตรวจผู้นั้นเสร็จแล้วให้เรียกพนักงานแพทย์ผู้นั้นมาให้ถ้อยคำหรือให้การว่าตรวจได้ผลประการใด
ในกรณีที่พนักงานสอบสวนหรือศาลเห็นว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้งดการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาไว้จนกว่าผู้นั้นหายวิกลจริตหรือสามารถจะต่อสู้คดีได้ และให้มีอำนาจส่งตัวผู้นั้นไปยังโรงพยาบาลโรคจิตหรือมอบให้แก่ผู้อนุบาล ข้าหลวงประจำจังหวัดหรือผู้อื่นที่เต็มใจรับไปดูแลรักษาก็ได้ตามแต่จะเห็นสมควร
กรณีที่ศาลงดการไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาดังบัญญัติไว้ในวรรคก่อน ศาลจะสั่งจำหน่ายคดีเสียชั่วคราวก็ได้’]มาตรา 14[/simple_tooltip] ขอให้ศาลเรียกจิตแพทย์มาไต่สวนถึงผลการวินิจฉัยอาการของฤาชาก่อนที่จะกำหนดนัดสืบพยาน
ทั้งนี้ หลังไต่สวนจิตแพทย์และตัวจำเลยแล้ว ศาลได้พิเคราะห์ร่วมกับอธิบดีศาลอาญา มีคำสั่งให้ยกคดีขึ้นพิจารณาคดีต่อ เนื่องจากเห็นว่าจำเลยสามารถเบิกความตอบศาลถึงประวัติและข้อมูลส่วนบุคคล สาเหตุที่ถูกดำเนินคดี และสามารถให้เหตุผลได้ว่า การกระทำใดมีความยุติธรรม หรือไม่ยุติธรรม ถือว่าจำเลยไม่เป็นผู้วิกลจริต สามารถต่อสู้คดีได้
อย่างไรก็ตาม ในนัดไต่สวนจิตแพทย์ แพทย์หญิงผู้ให้การรักษาฤาชาได้เบิกความต่อหน้าศาล เท้าความว่าเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2559 ศาลทหารกรุงทพฯ ได้มีหนังสือส่งตัวฤาชามายังสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์เพื่อทำการตรวจวิเคราะห์และรักษาอาการทางจิต ในการตรวจรักษาจำเลยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563 พบว่าจำเลยยังมีอาการจิตเภท หลงผิด คิดว่ามีคนมาสั่ง และจำเลยยังมีอาการร่างกายกระตุก ทำให้จำเลยคิดว่ามีคนมาบังคับร่างกายจำเลยให้กระตุก แม้จำเลยจะมีอาการดีขึ้น สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้โดยอยู่ในความดูแลของญาติ แต่แนวความคิดของจำเลยยังมีความผิดปกติ จากนั้นแพทย์หญิงจึงได้สรุปว่า จำเลยยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ เนื่องจากยังมีอาการจิตเภทหลงเหลืออยู่
ในส่วนจำเลย ฤาชาเบิกความตอบศาลถึงเหตุที่ถูกดำเนินคดีว่า ถูกทหารจับกุมเนื่องจากโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระราชินี โดยเขาได้ให้การกับทหารว่า เขาถูกบุคคลอื่นเข้าสิงให้โพสต์ข้อความดังกล่าว และในการตอบคำถามทนายจำเลย ฤาชาระบุว่า เขาทราบว่าถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ แต่ไม่ทราบและไม่เข้าใจรายละเอียดในคดี
หลังศาลมีคำสั่งให้ยกคดีขึ้นพิจารณาต่อ ทนายจำเลยได้แถลงคัดค้าน โดยให้เหตุผลว่า จำเลยยังวิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ซึ่งศาลได้บันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา จากนั้นศาลจึงอ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยฟังอีกครั้ง เมื่อถามคำให้การ จำเลยยืนยันให้การปฏิเสธ ทนายจำเลยยังได้แถลงแนวทางต่อสู้คดีว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง เนื่องจากจำเลยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่เป็น และขณะเกิดเหตุจำเลยควบคุมร่างกายตนเองไม่ได้
จากนั้น โจทก์แถลงว่า ประสงค์จะสืบพยานโจทก์ทั้ง 11 ปาก ตามบัญชีระบุพยานที่เคยได้ยื่นไว้กับศาลทหารกรุงเทพ เช่นเดียวกับทนายจำเลยที่แถลงสืบพยานจำเลย 3 ปาก ได้แก่ ตัวจำเลย ภรรยา และจิตแพทย์ผู้รักษาอาการทางจิตของจำเลย ตามบัญชีระบุพยานเดิม คู่ความตกลงวันนัดสืบพยานในวันที่ 9 – 12 มีนาคม 2564
ศาลยังมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากคดีนี้เป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์พระราชินี รัชทายาทฯ
ต่อมาเมื่อวันที่ 12 (แก้ไขเป็นวันที่ 13) เมษายน 2563 ทนายจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งว่า จำเลยยังป่วยเป็นโรคจิตเภท และไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ศาลอาญามีคำสั่งว่า อุทธรณ์ดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 บัญญัติไว้ว่า ห้ามมิให้อุทธรณ์ จนกว่าจะได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้นเสียก่อน
ล่าสุด ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 ทนายจำเลยของฤาชาได้เดินทางไปยังศาลอาญา รัชดาฯ อีกครั้งเพื่อดำเนินการทำสัญญาประกันตัวใหม่หลังคดีโอนย้ายมาจากศาลทหาร จากนั้น ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ต่างจากจำเลยคดี 112 คดีอื่นที่ถูกโอนย้ายมาจากศาลทหาร
จำเลยอ้างว่าถูกพระแม่ธรณีเข้าควบคุมร่างกาย โพสต์เฟซบุ๊กหมิ่นฯ
ฤาชา ปัจจุบันอายุ 65 ปี เคยรับราชการทหารก่อนที่จะเกษียณก่อนกำหนด เขาถูกกล่าวหาว่า โพสต์ภาพพร้อมข้อความหมิ่นประมาทพระราชินี และองค์รัชทายาทบนเฟซบุ๊กช่วงระหว่างเดือนมีนาคม 2559 รวม 5 ครั้ง เป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวม 5 กรรม โดยเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 เจ้าหน้าที่กว่า 20 นาย นำกำลังเข้าจับกุมเขาจากที่พักในจังหวัดระยอง และตรวจยึดอุปกรณ์สื่อสาร โดยไม่ได้แสดงหมายจับหรือหมายค้นแต่อย่างใด หลังถูกจับกุมฤาชาถูกนำตัวมาควบคุมที่ มทบ.11 รวม 7 วัน ก่อนทหารส่งเขาให้ ปอท.ดำเนินคดี และถูกขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพเกือบ 8 เดือน เนื่องจากญาติไม่มีเงินในการยื่นประกันตัว ต่อมา กองทุนยุติธรรมได้เข้าทำการประกันตัว จึงได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจนถึงปัจจุบัน
ก่อนหน้าการจับกุม ฤาชาเคยมีประวัติเข้ารับการรักษาอาการทางจิต และแพทย์ก็ได้วินิจฉัยว่าเขาเป็นโรคจิตเภท ฤาชาเชื่อว่าเขาไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว เพราะตั้งแต่ปี 2553 พระแม่ธรณีได้เข้ามาอยู่ในตัวเขาและคอยบอกให้เขาทำสิ่งต่าง ๆ รวมไปถึงการโพสต์หมิ่นฯ ในคดีนี้ด้วย
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:
ศาลทหารให้ประกันตัว ‘ฤาชา’ ผู้ป่วยจิตเภท โพสต์เข้าข่าย 112 เหตุคิดว่าตนเป็นร่างทรงพระแม่ธรณี
ติดตาม!! 12 คดี มรดกยุค คสช. ศาลอาญากำหนดชะตาจำเลยใหม่ สัปดาห์นี้