ยกฟ้อง ‘พยาบาลแหวน’ คดี 112 เหตุส่งข้อความกลุ่มไลน์ ศาลชี้ พยานหลักฐานโจทก์ไม่เพียงพอ

28 มกราคม 2564 – ที่ศาลจังหวัดนนทบุรีวันนี้ ศาลนัดอ่านคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ของ พยาบาลแหวน ณัฏฐธิดา มีวังปลา สืบเนื่องมาจากการถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์รัชกาล 9 ลงในกลุ่มไลน์ “DPN&เพื่อนแม้วเป็นจำนวน 1 ข้อความ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2558 โดยคดีนี้มี พลตรี วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าคณะทำงานด้านกฎหมายของ คสช. เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดี คดีนี้ของแหวนเป็นหนึ่งในคดีที่เกิดขึ้นในยุคของ คสช. ในช่วงที่มีประกาศ คสช.ให้คดีบางประเภทอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร คดีจึงถูกนำขึ้นพิจารณาในศาลทหาร โดยศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ ก่อนที่ต่อมาจะมีคำสั่งโอนย้ายคดีมายังศาลยุติธรรมเพื่อพิจารณาต่อ ซึ่งศาลจังหวัดนนทบุรียังคงมีคำสั่งให้พิจารณาคดีโดยลับเช่นเดิม 

แหวน – ณัฏฐธิดา คืออดีตพยานปากสำคัญในคดีผู้เสียชีวิต 6 ศพ ภายในวัดปทุมวนาราม จากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 แต่เธอกลับต้องมากลายเป็นจำเลยเสียเองใน 2 คดีคือ คดีปาระเบิดศาลอาญา และคดีมาตรา 112 คือคดีนี้ แหวนถูกจับกุมและคุมขังอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลางระหว่างการพิจารณาคดีทั้ง 2 คดี เป็นเวลาเกือบ 3 ปีครึ่ง ก่อนได้ประกันตัวออกมาด้วยหลักทรัพย์ประกันตัวรวมกันใน 2 คดี เป็นเงินจำนวน 900,000 บาท

     >> แหวน : จากพยาบาลอาสา พยานคดี 6 ศพ วัดปทุมฯ สู่จำเลยคดีความมั่นคง 2 คดี

เวลา 9.30 . ศาลจังหวัดนนทบุรีได้แจ้งกับผู้สื่อข่าว ประชาชน และนักกิจกรรมที่มารอให้กำลังใจพยาบาลแหวนว่า เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อนุญาตให้เฉพาะคู่ความในคดีเท่านั้นที่สามารถเข้าห้องพิจารณาได้

ราว 10 โมง แหวนเดินออกมาจากห้องพิจารณาพร้อมกับรอยยิ้ม ประกาศให้นักข่าวและประชาชนที่มารอให้กำลังใจทราบพร้อมกันว่า ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง โดยเธอสรุปเหตุผลของศาลว่า พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่เพียงพอ จึงขอยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย การอ่านคำพิพากษาที่กินเวลาไม่กี่นาทีครั้งนี้ถือเป็นการปิดฉากการต่อสู้คดีที่กินระยะเวลายาวนาน 3 ปีครึ่ง จากวันที่ถูกอุ้มไปกองปราบฯ จนกระทั่งในวันนี้ที่ศาลยุติธรรมพิพากษายกฟ้อง

อย่างไรก็ตาม การเดินทางตามหาความยุติธรรมของแหวนยังเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น เนื่องจากเธอยังมีคดีความที่ยังรอการพิจารณาอยู่อีก 2 คดี คือ คดีมาตรา 112 จากการขึ้นปราศรัยที่ด้านหน้ากรมทหารราบที่ 11 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเธอได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาแล้วเรียบร้อย และคดีปาระเบิดศาลอาญา ซึ่งถูกโอนย้ายมาจากศาลทหารเช่นเดียวกัน โดยศาลกำหนดนัดสืบพยานจำเลยในเดือนพฤษภาคมที่กำลังจะถึงนี้

ศาลจังหวัดนนทบุรี

+++ จุดเริ่มต้นของคดีความกับอิสรภาพยาวนานที่ต้องแลก +++

มูลเหตุของคดีมาตรา 112 ที่ศาลเพิ่งได้อ่านคำพิพากษาไปในวันนี้ เกี่ยวข้องกับอีกคดีหนึ่ง ซึ่งแหวนถูกกล่าวหาว่าเป็นหนึ่งในผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์คนร้ายปาระเบิดใส่ลานจอนรถศาลอาญาเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2558

11 มีนาคม 2558 ไม่กี่วันต่อมาหลังจากที่เกิดเหตุดังกล่าว พยาบาลแหวนถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ทหารจากบ้านพักที่ย่านแพรกษา จังหวัดสมุทรปราการ โดยไม่มีการแสดงหมายจับและหมายค้น ควบคุมตัวอยู่ที่ มทบ.11 รวม 7 วัน ก่อนจะดำเนินคดีเธอร่วมกับผู้ต้องหาอื่นอีกหลายรายที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการ “ก่อการร้าย” ในครั้งนั้น ทั้งหมดถูกดำเนินคดีในศาลทหารกรุงเทพและถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 หลังจากที่แหวนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีร่วมกันวางระเบิดศาลอาญา ขณะที่กำลังออกมาจากทัณฑสถานหญิงกลางนั้นเอง ตำรวจได้เข้าควบคุมตัวเธอในทันที ก่อนจะพาไปที่กองปราบฯ โดยระบุว่า แหวนเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลทหารกรุงเทพ ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา จากการส่งข้อความลงในกลุ่มไลน์เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2558 และเนื่องจากในระยะเวลาที่เกิดคดีความอยู่ในระหว่างที่ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 บังคับใช้ ทำให้เธอถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีในศาลทหาร โดยศาลสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับ และต้องถูกนำตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางเป็นครั้งที่ 2

จากข้อมูลของ iLaw ในการนัดสืบพยานโจทก์ปากแรกของคดี 112 ที่ศาลทหาร กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2561 ทนายของจำเลย วิญญัติ ชาติมนตรี ได้ให้ข้อมูลภายหลังจากที่เสร็จจากการสืบพยาน 2 ปาก คือ พลตรี วิจารณ์ จดแตง และ พลตำรวจตรีสุรศักดิ์ ขุนณรงค์ (ยศในขณะนั้น) ว่า คดีนี้ไม่มีประจักษ์พยาน ทั้งเอกสารหลักฐานที่ใช้ในการกล่าวหามีเพียงกระดาษพิมพ์ภาพบทสนทนาที่ระบุว่า มาจากแอพพลิเคชั่นไลน์ (Line) ของแหวน ณัฏฐธิดา โดยไม่มีการตรวจสอบหรือเปรียบเทียบข้อมูลในโทรศัพท์ว่าถูกต้องและเหมือนหรือต่างกับข้อความในเอกสารหลักฐานแต่อย่างใด

นอกจากนี้หากดูตามคำฟ้องจะระบุว่า ข้อความซึ่งเป็นปัญหาในคดีถูกโพสต์วันที่ 8 มีนาคม 2558 และต่อมาวันที่ 11 มีนาคม 2561 แหวนได้ถูกควบคุมตัว ซึ่งเธอได้มอบรหัสผ่านไลน์ให้แก่เจ้าหน้าที่ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จึงอ้างว่า ตรวจสอบพบข้อความที่เป็นเหตุในคดีนี้และใช้กระดาษพิมพ์ข้อความออกมาเพื่อกล่าวหาเธอ

วิญญัติกล่าวต่อว่า ในช่วงเช้า ทางทีมทนายจำเลยยังได้ยื่นหลักทรัพย์ 900,000 บาท เพื่อขอประกันตัวณัฏฐธิดา แต่ศาลทหารกรุงเทพยกคำร้องขอประกันตัวโดยพิเคราะห์ว่า ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง

4 กันยายน 2561 หลังจากที่ต้องเผชิญกับการถูกขังระหว่างการพิจารณาคดีถึง 2 หน ในที่สุด ศาลทหารก็ได้อนุญาตให้แหวนประกันตัวในการขอยื่นประกันครั้งที่ 2 ด้วยหลักทรัพย์ 900,000 บาท แบ่งเป็นคดี 112 ศาลตีราคาประกันเป็นเงิน 400,000 บาท ส่วนในคดีปาระเบิด ตีราคาประกันที่ 500,000 บาท ทั้ง 2 สัญญาประกันกำหนดไม่ให้แหวนเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ว่าจะได้รับอนุญาตจากศาล

6 สิงหาคม 2562 ศาลทหารมีคำสั่งให้โอนย้ายคดีของแหวนไปยังศาลพลเรือน ทั้งคดีปาระเบิดและคดีมาตรา 112 เนื่องจากได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 ยกเลิกประกาศ คสช., คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. บางฉบับที่หมดความจำเป็น โดยในข้อ 2 กำหนดให้ยกเลิกการพิจารณาคดีความมั่นคงของพลเรือนที่เกิดขึ้นในศาลทหาร ให้โอนย้ายกลับไปอยู่ในอำนาจของศาลพลเรือน

คดีมาตรา 112 นี้จึงถูกส่งต่อมายังศาลจังหวัดนนทบุรีเพื่อพิจารณาต่อ ทั้ง ๆ ที่สืบพยานไปได้แค่เพียง 2 ปากเท่านั้น  ในขณะที่คดีปาระเบิดถูกส่งต่อไปยังศาลอาญา รัชดาฯ

แหวนกำลังสวมกอดเพื่อนนักกิจกรรมที่เดินทางมาให้กำลังใจ ท่ามกลางสื่อที่มาทำข่าว

+++ ณัฏฐธิดา มีวังปลา: ในวันที่ความยุติธรรมยังมีอยู่ +++

หลังจากที่ศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จ แหวนได้สะท้อนความรู้สึกให้สื่อมวลชนและผู้ที่มาให้กำลังใจฟังว่า ในตอนแรกเธอค่อนข้างลุ้นและกลัว เพราะศาลไม่ให้คนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีเข้าห้อง แม้แต่ญาติก็ยังไม่ให้เข้า โดยศาลให้เหตุผลในการยกฟ้อง เนื่องจากเอกสารและหลักฐานที่พลตรี วิจารณ์ จดแตง และพลตำรวจเอก ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล นำมาฟ้องนั้นยังขาดความน่าเชื่อถือ แต่แม้กระนั้นก็ยังต้องใช้เวลายาวนานทีเดียวกว่าที่เธอจะได้รับความยุติธรรมในวันนี้

ศาลได้วินิจฉัยว่า หลักฐานที่เป็นเอกสารเพียงใบเดียวนั้นขาดความน่าเชื่อถือ ซึ่งตำรวจที่เป็นผู้ตรวจพิสูจน์หลักฐานเองก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่า หลักฐานนี้มีที่มาอย่างไร ไม่มีมูลเหตุของหลักฐานในโทรศัพท์มือถือ อีกทั้งวันเวลาที่ทหารเอาหลักฐานมา บอกว่า มีการส่งข้อความหมิ่นฯ ในกลุ่มไลน์ แต่พยานคนสำคัญซึ่งเป็นคู่คดีก็ตอบโดยชัดเจนว่าไม่รู้จักแหวนและก็ไม่ได้เป็นคนพิมพ์ข้อความนั้นด้วย

ตั้งแต่วันที่ถูกจับกุมไป แหวนทั้งถูกปิดตา พาไปคุมตัวที่ค่ายทหารถึง 7 วัน ถูกกระทำอนาจาร ข่มขู่เอารหัสอีเมล เฟซบุ๊ก รหัสไลน์  และทุกๆ อย่าง ไป ทำให้เราต้องต่อสู้กันมาตลอดระยะเวลา 6 ปี ต้องสูญเสียอิสรภาพจากการถูกจับขังลืมในทัณฑสถานหญิงกลาง 3 ปี 5 เดือนกับอีก 24 วัน แต่การตัดสินในวันนี้ ทางผู้พิพากษาได้คืนความเป็นธรรมให้แหวนแล้ว ความรู้สึกตอนนี้คือดีใจมาก มันทำให้เราได้รู้ว่ากระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยมันยังมีอยู่จริง ถึงแม้มันจะใช้เวลา แต่จะช้าจะเร็ว เวลาก็เป็นตัวพิสูจน์

นอกจากเรื่องคำพิพากษา แหวนยังสะท้อนต่ออีกเกี่ยวกับประสบการณ์เลวร้ายจากการถูกดำเนินคดีที่เธอก็ไม่รู้ที่มา แต่กลับจำต้องยอมรับ ทั้ง ๆ ที่ก็ยังมีข้อสงสัยในพยานหลักฐาน รวมไปถึงการที่ศาลต้องมีคำสั่งให้พิจารณาคดีโดยลับที่ทำให้เธอตั้งคำถามเรื่องกระบวนการจับกุมของเจ้าหน้าที่

คดี 112 เป็นคดีที่เราถูกพ่วงมาจากคดีร่วมกันก่อการร้าย เป็นคดีที่เราเองก็ไม่รู้ว่ามันมาได้อย่างไร แม้กระทั่งคดีร่วมกันก่อการร้ายเอง เราเองก็ยังไม่รู้เลย แต่เราจำต้องรับด้วยความที่ว่า เราถูกจับปิดตา ถูกเอาเข้าไปในค่ายทหาร ถูกกระทำอนาจารตั้งแต่อุ้มขึ้นรถ มีการเปิดเสื้อขึ้นดู ถามเราว่า นมมึงทำมากี่ CC?มีการจับหน้าอก ใช้อาวุธปืนเคาะท้ายทอยให้รู้ว่านี่คือด้ามปืนนะ บอกเราว่า ข้อความในนี้ มึงรับๆ ไปเถอะ ถ้ามึงไม่ได้ผิด มึงก็ไปต่อสู้ในชั้นศาล พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของมึง ซึ่งเราก็ใช้เวลาในการพิสูจน์ความบริสุทธ์ของตัวเองถึงกว่า 6 ปี 6 ปี กับการที่ต้องถูกสังคมประนาม กับการที่ถูกสังคมประจานว่าเราคือคนไม่ดี เราถูกสังคมตัดสินไปแล้ว ทั้ง ๆ ที่ศาลเพิ่งจะตัดสินวันนี้เอง ว่าที่จริงเราไม่ผิด

เราอึดอัดมาก แล้วเรารู้สึกว่าเราไม่ได้รับความเป็นธรรมตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว ถ้าเกิดว่าทางทหารที่เขาจับกุมเรา เขาจับกุมโดยชอบธรรม ศาลทหารก็ไม่ควรจะมีคำสั่งให้พิจารณาลับตั้งแต่ตอนต้น ซึ่งตรงนี้มันทำให้เราเสียขวัญกำลังใจ หวาดกลัว ไม่รู้ว่าจะตอบคำถาม หรือจะต่อสู้อย่างไร ซึ่งมันต้องใช้เวลา สมาธิ และความกล้ามาก สิ่งเดียวที่เราพึ่งได้คือทนายเพียงเท่านั้น ไม่มีใครคนอื่นที่สามารถช่วยเราได้นอกจากทนายและตัวเราเอง

ผู้สื่อข่าวรายหนึ่งได้สอบถามแหวนเกี่ยวกับเรื่องข้อสันนิษฐานว่าทำไมเธอถึงถูกดำเนินคดีในลักษณะนี้ ซึ่งแหวนมองว่า อาจเป็นความต้องการในการลดทอนความน่าเชื่อถือของเธอ

ตั้งแต่เราเข้าไปในค่ายทหาร เราถูกข่มขู่อยู่แล้วว่า เขาต้องการจะลดทอนความน่าเชื่อถือของพยานคดี 6 ศพ วัดปทุม เขาถามว่า ทำไมถอนตัวไม่ได้เหรอ ในการเป็นพยาน 6 ศพ วัดปทุม? เราก็ตอบว่า จะถอนตัวยังไง ในเมื่อศาลตัดสินไปแล้วว่าทหารคือคนฆ่าประชาชน ศาลพลเรือนเป็นผู้ตัดสินเองตอนปี 56 ว่าทหารทั้ง 5 นายที่อยู่บนรางรถไฟฟ้า BTS คือคนที่เล็งปืนสังหารประชาชน ประชาชนทั้ง 6 ศพในวัดปทุมตายกันแบบที่ผิดธรรมชาติ แล้วมือของผู้ตายไม่มีเขม่าดินปืน แต่กลับมีรูกระสุนปืน 5.56 มิลลิเมตร ปรากฏชัดในตัวของผู้ตายทั้ง 6 ศพ ซึ่งเราในฐานะหน่วยแพทย์ เราทำได้เพียงแค่ยืนยันความเป็นจริงตามหน้างานจริงเท่านั้น ไม่ได้ใส่ร้ายผู้ใด แล้วก็มีหลักฐานมีพยานถึงสามพันคนที่อยู่ในวัดปทุมด้วยกัน เหตุนี้เองถึงทำให้ทางทหารไม่ยอมที่จะปล่อยเรา

เขาพยายามที่จะยัดคดีเราทุกอย่าง เพื่อที่จะปิดปาก และเขาพูดเลยว่า ถ้ามึงมีคดี 112 หรือคดีร่วมกันก่อการร้าย เป็นคดีอาชญากรรมร้ายแรง มึงจะถูกลดทอนความน่าเชื่อถือในการเป็นพยานไปจากตรงนี้ อันนี้คือสิ่งที่ทหารเขาพูดกับเราในค่าย แล้วเขาก็ทำจริงๆ ในตอนนั้น เราก็ยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าเขาจะทำแบบไหน เขาจะทำอย่างไร แล้วในวันนี้เราก็ได้รู้แล้วว่า สิ่งที่เขาได้กระทำกับประชาชนนั้น เขาทำได้จริง และเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจมาก

นอกจากคดีในอดีต แหวนยังมีคดี 112 อีกคดีที่เกิดจากการปราศรัยที่หน้ากรมทหารราบที่ 11 ซึ่งเธอยืนยันว่าสิ่งที่เธอพูดก็คือการทวงถามความเป็นธรรมให้กับคนผู้เสียชีวิต การดำเนินคดีกับเธอจึงเป็นความพยายามจงใจที่จะลบประวัติศาสตร์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับคนเสื้อแดงให้หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์

เนื้อหาที่ปราศรัยคือการทวงถามตามหาว่าใครฆ่าประชาชน เรามองว่ามันคือความจงใจที่จะปิดปากพยาน จงใจไม่ให้เรื่องนี้เป็นที่เผยแพร่ในสาธารณะ เป็นการจงใจทำให้ประวัติศาสตร์ของปี 53 นั้นหายไป และกลบเกลื่อนร่างทั้ง 99 ศพ เพื่อจะปิดประวัติศาสตร์ของคนเสื้อแดง

 

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:

ยกฟ้อง ‘ลุงบันฑิต’ แสดงความเห็นร่างรัฐธรรมนูญฯ ไม่ผิด 112 ศาลชี้ ไม่อาจตีความถ้อยคำได้แน่ว่าหมายถึงกษัตริย์

‘ลูกเกด-ไมค์’ รับทราบข้อกล่าวหา 112 เหตุ ‘ราษฎรสาส์น’ โพสต์จดหมายถึงกษัตริย์

นักโทษคดี ม.112 ถูกคุมขังในเรือนจำอย่างน้อย 6 ราย และ ม.116 อีก 1 ราย

 

 

X