ยกฟ้อง ‘ลุงบัณฑิต’ แสดงความเห็นร่างรัฐธรรมนูญฯ ไม่ผิด 112 ศาลชี้ ไม่อาจตีความถ้อยคำได้แน่ว่าหมายถึงกษัตริย์

26 มกราคม 2564 – ศาลอาญา รัชดาฯ นัดอ่านคำพิพากษาในคดีของ บัณฑิต อานียา นักเขียนและนักแปลอาวุโสที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการแสดงความคิดเห็นถึงข้อเสนอ 5 ข้อ ที่ควรถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ ในงานเสวนา “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช?” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในปี 2558 โดยในคดีนี้ บัณฑิตถูกศาลทหารออกหมายจับเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 เป็นเวลาเกือบหนึ่งปีต่อมา มีผู้แจ้งความคือ พ.ต.ท.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ รอง ผกก.สืบสวน สน.ชนะสงคราม ซึ่งอยู่ร่วมในเหตุการณ์ระหว่างที่บัณฑิตแสดงความคิดเห็นด้วย

อ่านประมวลเส้นทางการต่อสู้คดีของบัณฑิต ตั้งแต่ศาลทหาร จนกระทั่งคดีถูกโอนย้ายมายังศาลยุติธรรม >>> ทบทวนก่อนพิพากษา: คดี ‘112’ คดีที่ 3 ของ “ลุงบัณฑิต” เสนอให้ รธน.เน้นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถูกกล่าวหาพาดพิงกษัตริย์

 

ที่ห้อง 809 ราว 10.30 . ผู้พิพากษาออกพิจารณาคดีเตรียมอ่านคำพิพากษา ท่ามกลางสายตาของผู้สังเกตการณ์จากองค์กรภาคประชาสังคมและตัวแทนจากสถานทูตหลายแห่ง ได้แก่ อียู สเปน อังกฤษ โปแลนด์ ฟินแลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน อเมริกา และแคนาดา ที่เดินทางมาเพื่อติดตามฟังคำพิพากษาจนแน่นขนัดเต็มห้อง

ศาลเริ่มเท้าความเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและคำฟ้องของคดี ระบุว่า เมื่อวันและเวลาตามฟ้องมีการจัดงานเสวนา “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช?” โดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ที่คณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยในงานมีผู้เข้าร่วมหลายคน จำเลยได้พูดประโยคที่ว่า “คุณค่าแห่งความเป็นคนและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของคนไทยทั้งแผ่นดิน จะต้องอยู่สูงกว่าฝุ่นละอองที่ติดอยู่ที่ฝ่าเท้าของคนบางคน” ซึ่งมาจากคําราชาศัพท์ว่า “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม” ที่ใช้เฉพาะพระมหากษัตริย์เท่านั้น ทําให้ผู้ที่ได้ยินได้ฟังข้อความดังกล่าวเข้าใจโดยทันทีว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของปวงชนชาวไทย ด้อยค่าหรือต่ำต้อยกว่าพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 อันเป็นการดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท โดยจำเลยเจตนาจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะรัชกาลที่ 9

จำเลยให้การปฏิเสธข้อหาดังกล่าว

คดีมีประเด็นให้วินิจฉัยว่า จำเลยทำผิดตามฟ้องหรือไม่ พยานผู้จับกุมที่อยู่ในเหตุการณ์ ได้แก่ พ.ต.อ.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ และ ร.ต.อ.สิทธิชัย เคียงสูงเนิน เบิกความว่า วันเกิดเหตุที่คณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดงานเสวนา โดยมีวิทยากรผู้บรรยาย ได้แก่ จาตุรนต์ ฉายแสง, ปิยบุตร แสงกนกกุล, รังสิมันต์ โรม และเจนวิทย์ เชื้อสาวะถี ร่วมเสวนา

เมื่อถึงช่วงแสดงความเห็น จำเลยได้แสดงความเห็นหลายข้อ และกล่าวว่า “คุณค่าแห่งความเป็นคนและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของคนไทยทั้งแผ่นดิน จะต้องอยู่สูงกว่าฝุ่นละอองที่ติดอยู่ที่ฝ่าเท้าของคนบางคน” พ.ต.อ. สมยศ ได้ทำการบันทึกภาพและเสียง ก่อนนำตัวจำเลยไปยัง สน.ชนะสงคราม เพื่อถอดเทปบันทึกคำพูดและทำประวัติจำเลย จำเลยลงลายมือชื่อว่าเป็นคนพูดถ้อยคำดังกล่าวจริง และได้มีการทำบันทึกการปรับทัศนคติของจำเลยในวันดังกล่าว

เมื่อพิจารณาคำพูดของจำเลยประกอบความเห็นของพยานโจทก์ ปิยะพร หาดทราย พยานผู้ให้ความเห็น จึงเข้าใจว่า ผู้พูดหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เพราะเป็นคำศัพท์เฉพาะหมายถึงพระมหากษัตริย์ อ่านข้อความโดยรวมแล้วเห็นว่า เป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ และถูกดูหมิ่นเกลียดชัง

อย่างไรก็ตาม พยานตอบคำถามค้านของทนายความว่า ฝุ่นละอองเป็นคำทั่วไป ต่างจากใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ถ้อยคำของจำเลยไม่ได้ระบุถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ไม่ได้มีการใช้ถ้อยคำหยาบคาย ซึ่งคนอื่นอาจตีความต่างไปได้ เมื่ออ่านข้อความแล้ว พยานไม่ได้รู้สึกดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ความเห็นของพยานเป็นเพียงข้อคิดเห็นเท่านั้น

พยานยังให้ความเห็นกลับไปกลับมาว่า การจะดูว่าเป็นการดูหมิ่นฯ หรือไม่ต้องดูบริบท ต้องพิจารณาภาพรวมทั้งหมด รวมถึงโอกาสและสถานที่ที่จำเลยสื่อถึงการใส่ความต้องดูว่าผู้พูดพูดถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ เมื่ออ่านโดยตลอดแล้วไม่มีความตอนใดระบุถึงรัชกาลที่ 9 ข้อความที่ทำให้ผู้ใดถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ต้องพิจารณาจากความรู้สึกของวิญญูชน

นอกจากนี้ ร.ต.อ.หญิง ชมพูนุช อนันตญากุล พนักงานสอบสวน ได้สอบคำให้การของนักวรรณศิลป์ชำนาญการ จากราชบัณฑิตยสภา ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา ให้การว่าไม่อาจตีความ หรือให้ความเห็นในภาพรวมได้ จำเลยไม่ได้ใช้คำราชาศัพท์ และไม่ได้เอ่ยชื่อว่าหมายถึงผู้ใด ถ้อยคำว่าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทหมายถึงตัวผู้พูด ไม่ได้หมายถึงพระมหากษัตริย์

พยานโจทก์ในที่เกิดเหตุยังเคยให้การถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี 2558 ให้การว่าคำพูดของจำเลยไม่เป็นความผิด ครั้งที่ 2 วันที่ 14 กรกฎาคม 2559 ให้การว่า ฟังแล้วรู้สึกหมิ่นเหม่ว่าจะเป็นความผิดหรือไม่ และครั้งที่ 3 วันที่ 20 ตุลาคม 2559 เห็นว่าถ้อยคำของจำเลยเปรียบเปรยหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ

พยานโจทก์คนเดิม พิจารณาข้อความเดิม ในสถานที่เดิม คือ สน.ชนะสงคราม เพียงแต่ต่างเวลากัน แต่ให้ความรู้สึกต่างกัน วิญญูชนจึงอาจให้ความเห็นต่างกันได้ พยานโจทก์ทั้งสองให้การคล้ายกัน ไม่อาจตีความอย่างแน่แท้ได้ว่า จำเลยหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระมหากษัตริย์

จำเลยเข้ามาอาศัยในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2490 ถึงปัจจุบัน ที่จำเลยกล่าวเพื่อต้องการสื่อว่า อยากให้คุณค่าของความเป็นคนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคน ต้องอยู่สูงกว่าฝุ่นใต้เท้าของใครบางคน เพราะจำเลยเคยอ่านหนังสือของ ดร.เดือน บุนนาค ที่บอกว่า คนจีนเป็นคนเห็นแก่ตัว เวลาจะเอาประโยชน์จากใครจะเรียกคนไทยว่า “ใต้เท้าๆ” ไม่ได้สื่อถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

พยานโจทก์มีข้อสงสัยตามสมควรว่าหมายถึงรัชกาลที่ 9 หรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง

เครดิตรูปประกอบ: matichon.co.th

 

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:

นักโทษคดี ม.112 ถูกคุมขังในเรือนจำอย่างน้อย 6 ราย และ ม.116 อีก 1 ราย

จากศาลทหารสู่ศาลยุติธรรม: การต่อสู้ของ “อัญชัญ” จำเลยคดี 112 กับโทษจำคุกครึ่งชีวิต

เปิดฐานข้อมูลคดี 112 ที่ศูนย์ทนายฯ ให้ความช่วยเหลือทาง กม.

 

X