26 ม.ค. 2564 ศาลอาญา ถ.รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาในคดีที่ “ลุงบัณฑิต” บัณฑิต อานียา ตกเป็นจำเลยในความผิดฐาน หมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการแสดงความเห็นในงานเสวนา “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช?” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในปี 2558 ซึ่งมีอัยการศาลทหารเป็นผู้ฟ้องคดี แต่สุดท้ายศาลอาญาต้องรับโอนคดีมาสืบพยานต่อจนเสร็จสิ้น และทำคำพิพากษา รวมระยะเวลาต่อสู้คดีทั้งในศาลทหารและศาลยุติธรรมกว่า 4 ปี
นักเขียนอาวุโสผู้ต้องฟังคำพิพากษาคดี 112 ครั้งที่ 3 ในวัย 80 ปี
บัณฑิต อานียา หรือสมอลล์ บัณฑิต อานียา หรือ สมอลล์ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ นักเขียนและนักแปลอิสระ บางคนขนานนามเขาว่า นักเขียน “กึ่งบ้ากึ่งอัจฉริยะ” งานเขียนหรืองานแปลของบัณฑิตมักมีสไตล์เสียดสีสังคม เนื้อหาก็มักสะท้อนถึงเรื่องราวความไม่เป็นธรรมในสังคม ผู้ที่ติดตามผลงานของบัณฑิตกล่าวว่า “สำหรับเขา การเขียนการแปลหนังสือไม่ใช่เพียงการเขียนและแปลหนังสือ แต่ยังเป็นการต่อสู้กับความอยุติธรรมด้วยเช่นกัน”
หนึ่งในผลงานเขียนหลายเล่มของ “ลุงบัณฑิต”
นอกจากบทบาทนักเขียนอิสระแล้ว หลายคนอาจคุ้นชินกับการเห็นลุงบัณฑิตในกิจกรรมทางการเมือง โดยเฉพาะงานเสวนา ด้วยแววตาและท่าทีกระตือรือล้นที่จะแสดงความคิดเห็น พร้อมด้วยผลงานที่พกติดตัวไปขาย ลุงบัณฑิตดำรงชีวิตด้วยรายได้จากการขายผลงานเขียน และสินค้าเล็กๆ น้อยๆ เช่น เสื้อ ถุงผ้า ที่มีข้อความอันเปรียบเสมือนข้อเรียกร้องต่อสังคม งานเพื่อการดำรงชีวิตและการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมของลุงบัณฑิตจึงผสมผสานเป็นเนื้อเดียวกันอย่างแยกไม่ออก
การใช้ชีวิตอย่างตรงไปตรงมา และมุ่งมั่นต่อความคิดของตนเองแม้อยู่ในวัยได้เบี้ยยังชีพคนชรา กลับนำมาซึ่งคดีความถึง 3 คดี เป็นคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศทั้งหมด นั่นคือ ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งน้อยคนจะมีประสบการณ์ที่หนักหนาเช่นลุง
ปี 2546 บัณฑิตเข้าร่วมเสวนาเรื่อง “กฎหมายพรรคการเมือง” โดยได้แสดงความเห็นแลกเปลี่ยน รวมทั้งนำหนังสือไปขาย แต่ถูก พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต.ในขณะนั้นซึ่งร่วมเป็นวิทยากร และซื้อหนังสือ 2 เล่ม เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จากถ้อยคำที่บัณฑิตแสดงความเห็นและเขียนในหนังสือ ศาลฎีกามีคำพิพากษาตามศาลชั้นต้น ให้บัณฑิตมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุก 4 ปี แต่ให้รอลงอาญา 3 ปี เนื่องจากศาลเห็นว่า ขณะกระทำผิดจำเลยป่วยเป็นโรคจิตเภท ทั้งมีอายุมากแล้ว ไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน อย่างไรก็ตาม ในระหว่างพิจารณาคดีบัณฑิตถูกคุมขังรวม 98 วัน ก่อนจะได้รับการประกันตัว
ปี 2557 หลังรัฐประหารโดย คสช. บัณฑิตนำหนังสือไปขายที่งานเสวนาของพรรคนวัตกรรมไทย ซึ่งจัดขึ้นเพื่อระดมความเห็นเสนอต่อสภาปฏิรูปประเทศ และร่วมแสดงความเห็น แต่เขายังพูดไม่ทันจบประโยค ก็ถูกผู้ร่วมประชุมห้ามไม่ให้พูดต่อ เนื่องจากมีคำว่า “ระบอบกษัตริย์” จากนั้น บัณฑิตก็ถูกทหารและตำรวจนอกเครื่องแบบจับกุมไป สน.สุทธิสาร โดยยังไม่แน่ใจว่าข้อความที่บัณฑิตพูดไม่จบเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์หรือไม่ หลังต่อสู้คดีนานเกือบ 6 ปี ศาลอาญาจึงมีคำพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ชัดเจนเพียงพอ
ในคดีที่ 3 ซึ่งจะฟังคำพิพากษาในวันพรุ่งนี้ เช่นเดิมบัณฑิตถูกดำเนินคดีจากการแสดงความเห็นท้ายการเสวนาเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ในปี 2558 ซึ่งเขาไปร่วมงานพร้อมกับนำหนังสือไปขาย แม้หลังการแสดงความเห็น บัณฑิตถูกนำตัวไปปรับทัศนคติโดยไม่มีการดำเนินคดี แต่อีกกว่า 1 ปี ต่อมา หลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 9 กลับมีการออกหมายจับและจับกุมดำเนินคดี เป็นคดีที่ 2 ในยุค คสช. บัณฑิตต้องขึ้นทั้งศาลทหารและศาลยุติธรรมเป็นเวลากว่า 4 ปี ศาลอาญาจึงมีคำพิพากษา
ลุงบัณฑิตในวัย 80 ปี เคยต้องผ่าตัดเอากระเพาะปัสสาวะ และไตด้านซ้ายออก เนื่องจากเป็นมะเร็งกะเพาะปัสสาวะ ทำให้ต้องปัสสาวะโดยผ่านทางถุงปัสสาวะมาประมาณ 10 ปีแล้ว ทั้งยังเป็นโรคภูมิแพ้ ซึ่งจะหายใจไม่ออกหากอาการกำเริบ แม้ภายนอกยังดูแข็งแรง เป็นขาประจำของงานเสวนาหรือกิจกรรมทางการเมือง แต่หลายครั้งในระหว่างการพิจารณาคดี ศาลต้องได้เลื่อนนัดออกไป เนื่องจากจำเลยป่วยกะทันหัน ไม่สามารถมาศาลได้
ภาพโดย ประชาไท
ข้อเสนอต่อร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกตีความ
12 ก.ย. 2558 บัณฑิตเข้าร่วมงานเสวนา “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช?” จัดโดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นวงเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ถูกสภาปฏิรูปแห่งชาติตีตก และข้อเสนอต่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ในช่วงท้ายของการเสวนา บัณฑิตได้ร่วมแสดงความคิดเห็น โดยกล่าวถึงข้อเสนอ 5 ข้อ ที่เคยเสนอในการร่างรัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งเน้นให้ความสำคัญกับคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันของประชาชนไทย ความเป็นธรรม รวมทั้งการเลือกตั้งในทุกระดับ
ภายหลังงานเสวนาเสร็จสิ้น ตำรวจได้เข้าควบคุมตัวบัณฑิตไปยัง สน.ชนะสงคราม นำตัวเข้าห้องสืบสวน โดยมีทหารเดินทางมาร่วมด้วย แต่ไม่อนุญาตให้ทนายความเข้าร่วม ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจออกมาชี้แจงว่า จะไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาใด เพียงแต่จะจัดทำ “บันทึกการปรับทัศนคติ” ไว้ โดยให้ทนายความเข้าตรวจดูและลงชื่อเป็นพยาน จากนั้นจึงปล่อยตัวบัณฑิตในช่วงค่ำ
ทั้งนี้ บันทึกดังกล่าวได้ถอดเทปข้อความที่บัณฑิตกล่าวในงานเสวนา โดยระบุว่าข้อความมีลักษณะ “หมิ่นเหม่” อาจสร้างความสับสน และความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนได้ จึงได้เชิญตัวบัณฑิตมาปรับทัศนคติ เพื่อไม่ให้แสดงความเห็นในลักษณะนี้อีก
15 พ.ย. 2559 ตำรวจ สน.ชนะสงคราม เข้าจับกุมตัวบัณฑิตจากห้องพักนำตัวไป สน.ชนะสงคราม แจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากเหตุร่วมแสดงความคิดเห็นในงานเสวนาที่ผ่านมาแล้วกว่า 1 ปี โดยมี พ.ต.ท.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ รอง ผกก.สืบสวน สน.ชนะสงคราม ซึ่งเป็นหัวหน้าชุดสืบสวนที่เข้าสังเกตการณ์เสวนา เข้าแจ้งความเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2559 และศาลทหารกรุงเทพอนุมัติหมายจับเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2559 บัณฑิตให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวบัณฑิตไว้ที่ สน.ชนะสงคราม 1 คืน ก่อนนำตัวไปขออำนาจศาลทหารกรุงเทพฝากขังในวันรุ่งขึ้น
บัณฑิตซึ่งขณะนั้นอายุ 75 ปี ถูกฝากขังในเรือนจำอีก 1 คืน 2 วัน ก่อนศาลทหารให้ประกันตัวในการยื่นประกันเป็นครั้งที่ 2 โดยต้องวางเงินสด 4 แสนบาท เป็นหลักประกัน หลังจากการยื่นประกันในครั้งแรกด้วยเงินสด 3 แสนบาท แต่ศาลระบุว่า หลักทรัพย์ไม่เพียงพอ การให้ประกันมีเงื่อนไขว่า ห้ามผู้ต้องหาเดินทางออกนอกประเทศ, ห้ามเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองอันก่อให้เกิดความไม่สงบ และห้ามแสดงความคิดเห็นเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน
คดีนี้อยู่ในอำนาจการพิจารณาคดีของศาลทหาร เนื่องจากเหตุการณ์แสดงความคิดเห็นเกิดขึ้นก่อนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 55/2559 ลงวันที่ 12 ก.ย. 2559 ที่ให้ยกเลิกการนำคดีพลเรือนไปพิจารณาในศาลทหาร
ก่อนหน้าการจับกุมในครั้งนี้ เมื่อเดือนตุลาคม 2559 หลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 9 บัณฑิตถูกทหาร ตำรวจควบคุมตัวจากห้องพักไปยัง สน.หนองค้างพลู ตักเตือนว่า เขาโพสต์แสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ อย่างไม่เหมาะสมกับห้วงเวลาแห่งความเศร้าโศกของประชาชนทั้งประเทศ นายทหารที่ดูแลพื้นที่ระบุว่า หากเขายังมีพฤติกรรมการโพสต์เช่นเดิมจะดำเนินคดีตามมาตรา 112 ให้ถึงที่สุด การดำเนินคดีบัณฑิตในคดีนี้จึงเห็นได้ชัดว่า เป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นของเขา ซึ่งมีการแสดงออกอยู่เสมอทั้งในงานกิจกรรมต่างๆ และในโลกโซเชียล
อัยการทหารฟ้อง อ้าง 1 ใน 5 ข้อเสนอ ให้ รธน.เน้นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นการใส่ความกษัตริย์
7 ก.พ. 2560 อัยการศาลทหารกรุงเทพเป็นโจทก์ยื่นฟ้องบัณฑิต คำฟ้องมีเนื้อหาโดยสรุปว่า
เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2558 ได้มีการจัดเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ?” มีประชาชนเข้าร่วมรับฟังประมาณ 50 คน ขณะที่ผู้จัดเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น จำเลยได้กล่าวถ้อยคำต่อผู้เข้าร่วมเสวนาว่า “คุณค่าแห่งความเป็นคนและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของคนไทยทั้งแผ่นดิน จะต้องอยู่สูงกว่าฝุ่นละออง…” ซึ่งมาจากคําราชาศัพท์ว่า “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม” ที่ใช้เฉพาะพระมหากษัตริย์เท่านั้น ทําให้ผู้ที่ได้ยินได้ฟังข้อความดังกล่าวเข้าใจโดยทันทีว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของปวงชนชาวไทย ด้อยค่าหรือต่ำต้อยกว่าพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 อันเป็นการดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท โดยจำเลยเจตนาจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะรัชกาลที่ 9
อัยการยังบรรยาฟ้องด้วยว่า จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ มีกำหนดโทษจำคุก 4 ปี แต่ให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 17 ก.พ. 2557 จำเลยได้มากระทำผิดคดีนี้ภายในกำหนดเวลาที่ศาลฎีการอการลงโทษไว้ จึงขอให้ศาลนำโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษในคดีนี้
3 ปีในศาลทหาร และ 1 ปีในศาลอาญา
การสืบพยานโจทก์ในศาลทหารเริ่มขึ้นหลังโจทก์ยื่นฟ้องกว่า 1 ปี ใช้เวลาอีก 1 ปี 5 เดือน สืบพยานโจทก์ได้ 4 ปาก ซึ่งเป็นปัญหาความล่าช้าของศาลทหาร รวมเวลาที่ลุงบัณฑิตต้องวนเวียนไปศาลทหารกรุงเทพเกือบ 3 ปี เดือน ก.ค. 2562 คดีจึงถูกโอนย้ายให้ศาลยุติธรรมสืบพยานต่อตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 ศาลอาญาสืบพยานโจทก์อีก 2 ปาก และสืบจำเลย ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยานจำเลยเพียง 1 ปาก ในช่วงปลายเดือน พ.ย. 2563 ก่อนนัดฟังคำพิพากษา
การพิจารณาคดีนี้เป็นไปโดยเปิดเผยทั้งในศาลทหารและศาลอาญา พยานโจทก์ที่ทั้งอัยการทหารและพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด นำเข้าเบิกความเป็นตำรวจชุดสืบสวน 4 ปาก ได้แก่ ผู้กล่าวหาและอยู่ในงานเสวนา, ตำรวจที่ถอดเทป และผู้จับกุม พนักงานสอบสวน 1 ปาก และข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ พยานผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับถ้อยคำ 1 ปาก เนื้อหาคำเบิกความมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
ตำรวจหลายนายลงความเห็น ข้อความเพียง “หมิ่นเหม่” ยังไม่เป็นความผิด 112
พ.ต.ท.สมยศ หัวหน้าชุดสืบสวนซึ่งสังเกตการณ์งานเสวนา และเป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ เบิกความว่า วันเกิดเหตุจําเลยได้แสดงความคิดเห็นกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อเลิกการเสวนา พยานได้เชิญจําเลยไปที่ สน.ชนะสงคราม จัดทําบันทึกปรับทัศนคติ และแจ้งให้จําเลยทราบว่า การกระทําของจําเลยเป็นการกระทําที่หมิ่นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
อย่างไรก็ตาม ในการตอบคำถามของทนายจำเลย พ.ต.ท.สมยศ ยอมรับว่า ในวันเกิดเหตุ พยานฟังที่จําเลยพูดแล้วเห็นว่าข้อความดังกล่าว “หมิ่นเหม่” ว่าจะเข้าข่ายหมิ่นประมาทหรือไม่ อีกทั้งบันทึกการปรับทัศนคติ ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตํารวจเห็นว่า คำพูดของจำเลยหมิ่นเหม่ อาจสร้างความสับสน และความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนได้ แต่ยังไม่ถือว่าจําเลยกระทําความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 สอดคล้องกับคำเบิกความของ ร.ต.อ.สิทธิชัย ซึ่งร่วมสังเกตการณ์งานเสวนาและปรับทัศนคติ
ร.ต.อ.สิทธิชัย ยังเบิกความด้วยว่า วันเกิดเหตุ ตํารวจหลายนายมีความเห็นว่า เป็นการหมิ่นเหม่ แต่ไม่ใช่การกระทําความผิดตามมาตรา 112 จึงยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งทั้ง พ.ต.ท.สมยศ และ ร.ต.อ.สิทธิชัย ก็ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวน 2 ครั้ง หลังเกิดเหตุและเดือน ก.ค. 2559 ยืนยันความเห็นดังกล่าว
ขณะที่พนักงานสอบสวนเบิกความตอบทนายจำเลยว่า คณะพนักงานสอบสวนลงความเห็นว่า การใช้ถ้อยคำดังกล่าวของจำเลยยังไม่เข้าขั้นเป็นการหมิ่นฯ แต่ต่อมาเมื่อส่งสำนวนไปให้นครบาล ทางนครบาลได้ส่งกลับมาให้พนักงานสอบสวนสอบเพิ่มเติม
ในการเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2563 พ.ต.ท.สมยศ ระบุว่า เนื่องจากคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นฯ มีความเห็นว่าถ้อยคําที่จําเลยพูดเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
พยานโจทก์เบิกความสอดคล้อง คำพูดจำเลยไม่ใช่คำราชาศัพท์ ไม่เฉพาะเจาะจงว่าเป็นผู้ใด
พ.ต.ท.สมยศ, ร.ต.อ.สิทธิชัย และนางปิยะพร หาดทราย พยานความเห็น เบิกความคล้ายกันว่า เมื่อได้ฟังหรืออ่านถ้อยคําของจําเลย คิดว่าคำว่า “ฝุ่นละออง…” เป็นคําที่มาจากคําราชาศัพท์ว่า “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม” ที่ใช้เฉพาะกษัตริย์เท่านั้น เป็นการดูหมิ่นกษัตริย์ ทําให้เสื่อมพระเกียรติ เช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนซึ่งระบุว่า ได้สอบปากคำพยานหลายปาก ล้วนให้การในลักษณะเดียวกันนี้
แต่ในการเบิกความตอบทนายจำเลย พ.ต.ท.สมยศ และ ร.ต.อ.สิทธิชัย ระบุตรงกันอีกว่า ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวน 2 ครั้ง ว่า คำพูดของบัณฑิตไม่ใช่คําราชาศัพท์ และไม่ได้ระบุว่าเป็นผู้ใด จึงยังไม่เป็นการกระทําความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สอดคล้องกับคำเบิกความของพนักงานสอบสวน
ส่วนปิยะพรตอบทนายจำเลยว่า จำเลยพูดคำว่า “ฝุ่นละออง” ไม่ได้พูดคำว่า “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทฯ” คำว่า “ฝุ่นละออง” เป็นคำทั่วไป ไม่ใช่คำราชาศัพท์ และจำเลยไม่ได้กล่าวถึงกษัตริย์ อีกทั้งไม่ได้ใช้คำหยาบคาย คำพูดถึงฝุ่นละอองของจำเลยต้องอาศัยการตีความ ซึ่งจะต้องดูบริบทประกอบด้วย ขณะที่พยานไม่รู้ว่าจำเลยต้องการสื่อสารเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ปิยะพรกล่าวว่า คำพูดของจำเลยไม่ได้ทำให้พยานรู้สึกดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์แต่อย่างไร
ด้านพนักงานสอบสวนเบิกความตอบทนายจำเลยว่า ในการสอบปากคำเจ้าหน้าที่ราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้เพียงความหมายของคำแต่ละคำ ไม่ได้ดูทั้งประโยค ซึ่งไม่อาจตีความได้ ส่วนเจ้าหน้าที่สํานักราชเลขาธิการ ให้ปากคำเพียงว่า คำว่า “ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท” นั้นใช้ในโอกาสใด แต่ไม่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคดี
พนักงานสอบสวนเบิกความด้วยว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยไม่ได้ใช้คำราชาศัพท์ ไม่ได้เอ่ยชื่อกษัตริย์ คนที่ฟังต้องตีความ พยานไม่ทราบว่า จำเลยพูดถึงหลักการที่ต้องบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ พยานยอมรับว่า การตีความคำพูดต้องดูบริบทด้วยเพื่อจะให้รู้ว่าผู้พูดต้องการจะสื่ออะไร อีกทั้งคนทั่วไปน่าจะเข้าใจว่า คำว่า “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทฯ” นั้นหมายถึงตัวของประชาชนเอง ไม่ใช่กษัตริย์
ลุงบัณฑิตเชื่อ สิ่งที่พูดเป็นคุณค่าที่พูดได้ – “ฝุ่นละออง” ไม่ได้หมายถึงกษัตริย์
ในการสืบพยานจำเลย บัณฑิตเบิกความว่า พยานเคยถูกฟ้องคดี 112 คำพิพากษาของศาลฎีการะบุว่า พยานเป็นผู้ป่วยจิตเภท เคยถูกส่งไปรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ แต่พยานคิดว่า ตนเองปกติดีจึงไม่กินยาที่หมอให้ วันเกิดเหตุพยานก็ปกติดี
วันเกิดเหตุพยานเดินทางไปที่งานเสวนาและพูดสิ่งเดียวกับที่เคยพูดเมื่อครั้งร่างรัฐธรรมนูญปี 40 ยืนยันถึงสิ่งที่ควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 5 ข้อ ที่ถูกจับก็เพราะข้อ 3 สื่อว่า คุณค่าของคนจะต้องเหนือกว่าฝุ่นละออง ที่พยานพูดเช่นนั้น เนื่องจากพยานเคยอ่านหนังสือของ ดร. เดือน บุนนาค ซึ่งกล่าวว่า คนจีนมีนิสัยเห็นแก่ตัว ชอบเรียกคนไทยว่า นายเท้า ใต้เท้า เวลาต้องการเอาประโยชน์จากคนไทย ที่พยานพูดว่า ฝุ่นละออง จึงไม่ได้หมายถึงกษัตริย์ และเชื่อว่าสิ่งที่พูดเป็นคุณค่าที่พูดได้
ต่อมา บัณฑิตตอบคำถามอัยการว่า พยานเชื่อว่าสิ่งที่พูดไม่ได้ผิดกฎหมายจึงพูดออกไป พยานไม่ทราบคำราชาศัพท์และไม่ได้สนใจ ไม่ทราบด้วยว่า คำว่า “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท” หมายถึงใคร และไม่แน่ใจว่าเคยได้ยินหรือไม่
ภาพโดย ประชาไท
แถลงปิดคดีขอศาลยกฟ้อง ชี้เป็นการใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็น ไม่เข้าองค์ประกอบความผิด
หลังเสร็จสิ้นการสืบพยาน ทนายจำเลยได้ยื่นแถลงการณ์ปิดคดีขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง ระบุเหตุผลดังนี้
1. คำพูดของจำเลยเป็นข้อความหรือประโยคที่ต้องอาศัยการตีความ เป็นถ้อยคำที่ไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริง จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะกฎหมายอาญานั้น ต้องตีความโดยเคร่งครัด ไม่อาจตีความขยายขอบเขตเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ข้อความที่จะเป็นความผิดนั้นต้องเป็นข้อความที่ยืนยันข้อเท็จจริง ซึ่งพยานโจทก์ทุกปากล้วนเบิกความว่า คำพูดจำเลยเป็นข้อความที่ต้องอาศัยการตีความ ไม่ใช่คำราชาศัพท์และไม่ได้ระบุว่าเป็นผู้ใด ซึ่งคำราชาศัพท์ก็มิใช่ว่าทุกคนจะเข้าใจได้ การนำคำดังกล่าวไปเทียบเคียงกับคำราชาศัพท์ อันเป็นศัพท์เฉพาะนั้น เป็นการตีความขยายขอบเขตเพื่อเอาผิดจำเลย
อีกทั้งบุคคลทั่วไปอาจไม่รู้หรือไม่เข้าใจความหมายของคำว่า “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท” ซึ่งองค์ประกอบความผิดของการหมิ่นประมาทนั้น การใส่ความจะต้องระบุตัวบุคคลแน่นอนว่าเป็นใคร หรือต้องได้ความหมายถึงบุคคลใดบุลคลหนึ่งโดยเฉพาะ อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 1513/2551 และการเปรียบเทียบเลื่อนลอยไม่ยืนยันข้อเท็จจริงก็ไม่เป็นความผิดหมิ่นประมาท อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 426-427/2520 และ 10189/2546 ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่อาจเข้าองค์ประกอบความผิดฐาน หมิ่นประมาท อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
2. การแสดงความคิดเห็นของจำเลย เป็นการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ กระทำโดยสุจริต เป็นการใช้เสรีภาพทางความคิด อันมิใช่ความผิดต่อกฎหมาย ประกอบกับจำเลยเองกระทำไปด้วยเชื่อว่าสิ่งที่กระทำอยู่นั้นมิใช่ความผิด และกล่าวถึงบุคคลอื่น มิใช่หมายถึงสถาบันกษัตริย์ หลังจากจำเลยพูดจบ แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็ยังมีข้อสงสัยในการกระทำของจำเลย ซึ่งท้ายที่สุดในวันเกิดเหตุก็ได้มีการทำบันทึกปรับทัศนคติแล้วปล่อยจำเลยไป
อีกทั้งการแสดงความคิดเห็นของจำเลยเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ, ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 19 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 19 ตามหลักกฎหมายอาญา การกระทำความผิดทางอาญานั้นต้องอาศัยเจตนา ซึ่งจำเลยต้องรู้ว่าสิ่งที่กระทำนั้นเป็นความผิดทางอาญาด้วย เมื่อจำเลยกระทำไปโดยขาดเจตนา จึงไม่ถือเป็นความผิด
ดูเนื้อหาคดีโดยละเอียดที่>> บัณฑิตแสดงความเห็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ถูกดำเนินคดี 112 เป็นคดีที่ 2 หลังรัฐประหาร57
ดูคดี 112 ที่ศูนย์ทนายฯ ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่>> คดีความใต้ยุค คสช.: ฐานข้อมูลคดี 112