แม้ปัญหาในการดำเนินคดีมาตรา 112 ในสังคมไทยจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมานับสิบปี โดยเฉพาะตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา แต่ในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ปัญหาการใช้ข้อกล่าวหานี้กลับยิ่งทวีความเข้มข้นขึ้นไปอีก
หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คณะรัฐประหารใช้มาตรการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงมากขึ้นต่อผู้แสดงออกในประเด็นสถาบันกษัตริย์ อาทิ จำนวนการดำเนินคดีที่พุ่งสูงขึ้น, การบังคับใช้ข้อกล่าวหานี้ด้วยการตีความอย่างกว้างขวาง, การจับกุมบุคคลเข้าค่ายทหาร, การประกาศให้ข้อกล่าวหานี้ต้องถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร, การละเมิดสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมหลายประการ, การเพิ่มอัตราการลงโทษจำคุกสูงขึ้นไปอย่างเห็นเด่นชัด, การผลักดันให้เกิดผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากประเด็นดังกล่าวจำนวนมาก รวมทั้งการจัดทำกิจกรรมหรือการแสดงความคิดเห็นทางสาธารณะต่อประเด็นปัญหาการใช้มาตรา 112 เป็นไปได้อย่างยากลำบาก แม้ในช่วงปลายยุค คสช. สถานการณ์ดังกล่าวจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปก็ตาม
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทำงานติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 ได้ติดตามสถานการณ์คดีมาตรา 112 มาอย่างต่อเนื่อง และได้จัดทำฐานข้อมูลคดีมาตรา 112 โดยเฉพาะที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย และเท่าที่ผู้ถูกดำเนินคดีอนุญาตให้เปิดเผยได้ พร้อมด้วยข้อสังเกตต่อกระบวนการทางกฎหมายผ่านมุมมองด้านสิทธิมนุษยชน
ต่อไปนี้เป็นข้อสรุปของสถานการณ์ในคดีมาตรา 112 ในยุค คสช. โดยสังเขป พร้อมกับตารางข้อมูลคดีมาตรา 112 ที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนติดตามและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย โดยสามารถสืบค้นรายละเอียดแต่ละคดีเพิ่มเติมได้จากฐานข้อมูลคดีสิทธิและเสรีภาพในช่วง 5 ปี คสช.
สรุปสถานการณ์และข้อสังเกตสำคัญในคดีมาตรา 112 (ข้อมูล ณ 31 พ.ค. 63)
1. “คดี 112” “คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” หรือ “คดีหมิ่นกษัตริย์” หมายถึงคดีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกกล่าวหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี”
2. หลังการเข้ายึดอำนาจเมื่อปี 2557 คสช. ประกาศนโยบายปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์โดยการใช้มาตรการทางกฎหมายและมาตรการอื่นๆ นำมาสู่การใช้กฎหมายนี้เข้าปราบปรามการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชนอย่างเข้มข้น ทำให้ช่วง 5 ปีของยุค คสช. มีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหานี้อย่างน้อย 169 คน แยกเป็นคดีจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างน้อย 106 คน ส่วนที่เหลือเป็นกรณีแอบอ้างหาประโยชน์
ในจำนวนนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายจำนวน 65 คน คิดเป็นจำนวน 55 คดี
3. คสช. ยังออกประกาศฉบับที่ 37/2557 และฉบับที่ 38/2557 (บังคับใช้ 25 พ.ค. 57 – 11 ก.ย. 59) ให้ความผิดตามมาตรานี้ อยู่ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ซึ่งมีปัญหาอย่างเด่นชัดเรื่องความเป็นอิสระ และกระบวนการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม โดยมีจำนวน 25 คดี ที่ศูนย์ทนายฯ รับช่วยเหลืออยู่ในการพิจารณาโดยศาลทหาร และอีก 30 คดี อยู่ในการพิจารณาโดยศาลพลเรือน
4. แม้การบังคับใช้มาตรา 112 จะมีปัญหามาก่อนสมัย คสช. แล้ว แต่ภายใต้นโยบายการดำเนินคดีอย่างเข้มข้นและรุนแรงของ คสช. มาตรา 112 ได้ถูกขยายการตีความและการบังคับใช้ออกไปอย่างมาก ซึ่งกระทบต่อหลักการตีความกฎหมายอาญาโดยเคร่งครัด และการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน อาทิ
- ดำเนินคดีผู้ที่กดแชร์หรือไลค์โพสต์ในเฟซบุ๊กโดยผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้เขียนข้อความต่างๆ เอง ได้แก่ คดีของจตุภัทร์ และคดีของฐนกร
- ดำเนินคดีผู้ที่ไม่ห้ามปรามคู่สนทนาที่แสดงความเห็นที่ถูกกล่าวหาว่าเข้าข่ายมาตรานี้ อาทิในกรณีของพัฒน์นรี (แม่ของนิว สิรวิชญ์)
- ดำเนินคดีผู้ที่แสดงความเห็นต่อสุนัขทรงเลี้ยงอย่างฐนกร หรือกลุ่มที่วางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์ของอดีตกษัตริย์ซึ่งไม่ได้เป็นบุคคลตามองค์ประกอบของมาตรา 112
- ดำเนินคดีผู้ที่แอบอ้างสถาบันกษัตริย์เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ เช่น กรณีของภูชิต ทั้งที่ไม่ใช่องค์ประกอบความผิดตามมาตรานี้
- ดำเนินคดีกรณีแอบอ้างสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรานี้ในคดีของนพฤทธิ์
- ดำเนินคดีผู้ป่วยจิตเภท ที่แม้กฎหมายจะกำหนดให้พนักงานสอบสวนยุติการดำเนินคดีได้ หากมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ถูกกล่าวหาวิกลจริต แต่กลับพบการดำเนินคดีต่อกลุ่มผู้ป่วยดังกล่าวจำนวนมาก โดยศูนย์ทนายฯ ให้ความช่วยเหลือรวม 10 คน ได้แก่ ประจักษ์ชัย, เสาร์, ทะเนช เป็นต้น
5. หลังรัฐประหาร 2557 ผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหานี้ส่วนใหญ่จะถูกควบคุมตัวในค่ายทหารก่อนถูกส่งให้ตำรวจดำเนินคดีต่อ เท่าที่พบมีอย่างน้อย 40 คน ทั้งกรณีที่เป็นการเข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. อาทิ คฑาวุธ, เฉลียว และกรณีที่ถูกทหารตำรวจเข้าควบคุมตัว เช่น บุรินทร์ หรือเอกฤทธิ์
ข้อเท็จจริงรวมถึงคำรับสารภาพจากการซักถามในค่ายทหาร ซึ่งผู้ถูกควบคุมตัวไม่สามารถติดต่อบุคคลที่ไว้ใจและทนายความได้ รวมทั้งถูกยึดเครื่องมือสื่อสารไปตรวจสอบ มักถูกนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี ทั้งที่ขั้นตอนดังกล่าวเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
6. ผู้ต้องหาและจำเลยคดี 112 ส่วนใหญ่ไม่ได้รับสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมหลายประการ ทั้งในศาลยุติธรรมและศาลทหาร เช่น
- สิทธิในการประกันตัว มีผู้ไม่ได้รับการประกันตัวจำนวน 46 คน เช่น ภรณ์ทิพย์, ปติวัฒน์ หรือกรณีจตุภัทร์ ซึ่งยื่นประกันถึง 12 ครั้ง กรณีที่ได้รับการประกันตัวก็ต้องใช้วงเงินประกันสูงหลายแสนบาท และมีกรณีสิรภพที่ศาลให้ประกันตัวหลังจากถูกขังระหว่างพิจารณาคดีไปแล้วเกือบ 5 ปี
- สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย มีคดีที่ศาลพิจารณาคดีโดยลับอย่างน้อย 18 คดี เช่น คดีของอัญชัญ, ปิยะ บางคดีศาลยังอ่านคำพิพากษาโดยลับด้วย เช่น คดีของจตุภัทร์, โอภาส
- สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะคดีในศาลทหารซึ่งดำเนินไปอย่างล่าช้า เช่น คดีของสิรภพที่เริ่มพิจารณาคดีตั้งแต่ปี 57 ผ่านไปเกือบ 6 ปี คดียังสืบพยานไม่เสร็จ กรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกขังโดยไม่ได้รับการประกันตัว ความล่าช้าเช่นนี้เป็นปัจจัยให้จำเลยเลือกที่จะรับสารภาพมากกว่าต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ เช่น กรณีของสมัคร หรือธารา ศูนย์ทนายฯ พบกรณีที่จำเลยรับสารภาพรวม 40 คน
- สิทธิในการมีทนายความ ได้แก่ กรณีของชญาภา ซึ่งศาลทหารไม่ได้แจ้งให้ทนายความของชญาภาทราบล่วงหน้าว่ามีการนัดพิจารณาคดี ทำให้ชญาภาให้การรับสารภาพ โดยไม่มีโอกาสได้ปรึกษาทนายความก่อน
- สิทธิในการได้รับการทบทวนคดีโดยศาลที่สูงขึ้นไป คดีที่อยู่ในศาลทหาร หากกระทำผิดในระหว่างที่ประกาศกฎอัยการศึก (20 พ.ค. 57 – 1 เม.ย. 58) จำเลยจะถูกตัดสิทธิในการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา เช่น กรณีของเธียรสุธรรม, พงษ์ศักดิ์, ธารา ซึ่งต้องโทษจำคุก 20 ปีขึ้นไป เท่าที่พบมี 10 คดี ที่จำเลยไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว
- กรณีจำเลยเป็นผู้ป่วยจิตเภท ศาลไม่ได้นำหลักการคุ้มครองด้านความรับผิดทางอาญาของผู้กระทำผิดที่มีอาการเจ็บป่วยทางจิตมาประกอบดุลพินิจเพื่อพิพากษายกฟ้องหรือรอการลงโทษ ทำให้มีผู้ป่วยทางจิตถูกพิพากษาจำคุกแล้ว 5 ราย เช่น สมัคร, “รุ่งเรือง”, “สิน”
6. ในยุค คสช. ทั้งศาลทหารและศาลยุติธรรมมีแนวโน้มที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยในคดี 112 ด้วยอัตราโทษที่สูงขึ้น จากเดิมกรรมละ 5 ปี เป็นกรรมละ 8-10 ปี ทำให้เกิดกรณีที่ศาลทหารพิพากษาจำคุกด้วยโทษสูง 50 – 70 ปี ในคดีของวิชัย, พงษ์ศักดิ์, ศศิพิมล และเธียรสุธรรม (จำเลยรับสารภาพได้ลดโทษครึ่งหนึ่ง) ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนของการลงโทษในคดีอาญา เนื่องจากพฤติการณ์กระทำผิดมีเพียงแค่การแสดงความเห็นเท่านั้น
7. ปลายทางกระบวนการยุติธรรม นักโทษคดีมาตรา 112 ยังถูกจำกัดไม่ให้ได้รับการพักโทษด้วยเหตุผลว่า พฤติการณ์กระทําผิดกระทบต่อสถาบันหลักของชาติ เช่น กรณีของจตุภัทร์ อันเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม สุดท้ายจตุภัทร์ได้รับการปล่อยตัวก่อนครบกำหนดโทษ 41 วัน เนื่องจากมี พ.ร.ฎ.อภัยโทษ พ.ศ.2562
8. การดำเนินคดีมาตรา 112 ลดลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ต้นปี 2561 เท่าที่มีข้อมูลมีการฟ้องคดีใหม่เพียงไม่กี่คดี นอกจากนี้ ยังพบว่า ศาลยุติธรรมมีแนวโน้มจะพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานนี้ แม้จำเลยรับสารภาพ โดยบางคำพิพากษาศาลไม่ได้อธิบายว่ายกฟ้องด้วยเหตุอะไร เช่น คดีเผาซุ้มฯ ในจังหวัดขอนแก่น หรือไม่ได้กล่าวถึงข้อกล่าวหานี้เลย อย่างในคดีของประเวศ และลงโทษจำเลยในฐานความผิดอื่นที่โจทก์ฟ้องมาแทน เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในคดีของ “เค” หรือมาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่น) ในคดีประเวศ หรือบางกรณีศาลพิพากษาลงโทษในความผิดฐานอื่นที่โจทก์ไม่ได้ฟ้องมาด้วย ได้แก่ คดีของ “ปราชญ์”
9. แม้การดำเนินคดีมาตรา 112 จะลดลงตั้งแต่ราวปี 2561 แต่กลับพบแนวโน้มของการนำข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และมาตรา 116 ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีต่อผู้ที่แสดงออกในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ทั้งออนไลน์และออฟไลน์แทน อาทิ คดีของกลุ่มสหพันธรัฐไท รวมถึงการใช้มาตรการอื่นที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย อาทิ การติดตามตัวถึงบ้าน การนำตัวไปซักถามและบังคับข่มขู่ในค่ายทหารหรือสถานีตำรวจ ก่อนให้เซ็นบันทึกข้อตกลง
10. การพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหารยุติลง และโอนย้ายไปยังศาลยุติธรรม โดยผลของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 ที่ออกก่อน คสช. หมดบทบาท ทำให้คดีมาตรา 112 ในความรับผิดชอบของศูนย์ทนายฯ จำนวน 11 คดี ที่ศาลทหารยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ถูกโอนมาให้ศาลยุติธรรมพิจารณาต่อ อาทิ คดีของสิรภพ, อัญชัญ, พัฒน์นรี และโดยเฉพาะ 1 ใน 2 คดีของบัณฑิต ที่ศาลยุติธรรมต้องทำคำพิพากษาโดยไม่ได้สืบพยานเอง
11. ปัจจุบันคดีมาตรา 112 ที่ศูนย์ทนายฯ ให้ความช่วยเหลือยังไม่ถึงที่สุด 12 คดี, ศาลจำหน่ายคดีเนื่องจากจำเลยเสียชีวิต 2 คดี (ประจักษ์ชัย และนที) และคดีถึงที่สุดแล้ว 42 คดี ในจำนวนนี้เป็นคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง 7 คดี (เช่น สมบัติ, ผู้แชร์และคอมเมนต์โพสต์เรื่องหมุดคณะราษฎร), ศาลพิพากษายกฟ้อง 3 คดี (เค, นพฤทธิ์, สกันต์) และพิพากษาลงโทษรวม 32 คดี/41 คน โดยยังมีผู้รับโทษอยู่ในเรือนจำจำนวน 12 คน
12. การบังคับใช้มาตรา 112 อย่างเข้มข้น ร่วมกับมาตรการทางทหารในสถานการณ์ที่ทหารครองอำนาจทางการเมือง ไม่เพียงทำให้มีผู้ถูกดำเนินคดีจำนวนมาก ซึ่งมีภาระต้องต่อสู้คดีและถูกคุมขัง แต่ยังผลักดันให้คนจำนวนมากต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ และยังต้องกล่าวด้วยว่า ผู้ลี้ภัยที่มีข่าวว่าถูกออกหมายจับในคดีมาตรา 112 ทั้งก่อนและหลังการรัฐประหาร จำนวน 6 คน ถูกบังคับให้สูญหายไปในระหว่างการลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้าน
13. ในยุคของ คสช. แทบไม่มีการรณรงค์หรือจัดเวทีสาธารณะในประเด็นมาตรา 112 ภายในประเทศ ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการรณรงค์ให้แก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 และการอภิปรายสาธารณะถึงปัญหาการบังคับใช้อยู่พอสมควร
14. ผู้รายงานพิเศษของ UN ได้มีหนังสือถึงรัฐบาลไทยหลายครั้งแสดงความกังวลว่ามาตรา 112 ที่ถูกบังคับใช้กับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีลักษณะไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) การดำเนินคดีและคุมขังบุคคลเพียงเพราะการแสดงความเห็น ทั้งในพื้นที่ส่วนบุคคลและสาธารณะ รวมทั้งในสื่อออนไลน์ กระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความเห็น ผู้รายงานพิเศษยังแสดงความกังวลต่อการใช้กฎหมายนี้ในลักษณะเป็นเครื่องมือปิดปากฝ่ายต่อต้านคณะรัฐประหาร นอกจากนี้ คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการของ UN ยังได้ลงความเห็นว่า การควบคุมตัวปติวัฒน์, ภรณ์ทิพย์, พงษ์ศักดิ์, เธียรสุธรรม, ศศิพิมล, ชญาภา และสิรภพเข้าข่ายเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ ขัดต่อกติการะหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี
15. สหประชาชาติได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 เช่นเดียวกัน ศูนย์ทนายฯ ได้จัดทำข้อเสนอต่อการจัดการผลพวงรัฐประหาร ทั้งในทางกฎหมาย นโยบาย และกระบวนการยุติธรรม เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน หนึ่งในบรรดาข้อเสนอดังกล่าวคือ ให้มีการทบทวนองค์ประกอบทางกฎหมายและโทษทางอาญาของความผิดตามมาตรา 112 โดยแก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนที่การจำกัดสิทธิของบุคคลต้องได้สัดส่วนและเป็นไปตามความจำเป็นในระบอบประชาธิปไตย
—————————————————-
อ่านเพิ่มเติม >> 5 ปี คสช. พอได้หรือยัง?: ข้อเสนอว่าด้วยการจัดการผลพวงรัฐประหาร
>> การใช้ ม.112 ลดน้อยลงหรือดำรงอยู่ในรูปแบบอื่น
ฐานข้อมูลคดี 112 (คลิกที่ชื่อผู้ถูกดำเนินคดีเพื่ออ่านรายละเอียดในคดี)
รวมคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในยุค คสช. (22 พ.ค. 2557 – 16 ก.ค. 2562) ที่ศูนย์ทนายความฯ ให้ความช่วยเหลือ จำนวน 55 คดี | ||||||||
ลำดับ | ชื่อผู้ถูกดำเนินคดี | จำนวนจำเลย | ช่องทางการแสดงออก | การกระทำที่ถูกกล่าวหาและดำเนินคดี | ศาล/อัยการ | การต่อสู้คดี | ผลคดี/โทษ | สถานะคดี (ข้อมูล ณ วันที่ 26 ม.ค. 64) |
1 | สมบัติ หรือ บก.ลายจุด | 1 | เฟซบุ๊ก | โพสต์ตัดต่อภาพล้อเลียน กปปส. ต้นปี 57 | อัยการศาลยุติธรรม | ปฏิเสธ | อัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี | คดีถึงที่สุด |
2 | ยุทธศักดิ์ – คนขับแท็กซี่ | 1 | ที่สาธารณะ | พูดคุยกับผู้โดยสารพาดพิงสถาบันฯ ช่วงเดือน ม.ค. 57 | ศาลยุติธรรม | รับสารภาพ | จำคุก 5 ปี ลดเหลือ 2 ปี 6 เดือน | คดีถึงที่สุด/พ้นโทษก่อนกำหนดตาม พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ |
3 | สิรภพ – นักเขียน | 1 | เว็บบอร์ด บล็อก และเฟซบุ๊ก | โพสต์บทกลอน ข้อความ และภาพล้อเลียน รวม 3 ครั้ง ในปี 52, 56 และต้นปี 57 | ศาลทหาร-> โอนไปศาลยุติธรรม | ปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี (มีการสืบพยาน) | จำคุก 6 ปี ลดเหลือ 4 ปี 6 เดือน | ถูกขังระหว่างพิจารณา 4 ปี 11 เดือน เกินโทษแล้ว |
4 | คฑาวุธ – นักจัดรายการวิเคราะห์การเมือง | 1 | สไกป์และเว็บไซต์ | จัดรายการและเผยแพร่ออนไลน์ เมื่อ 28 มี.ค. 2557 | ศาลทหาร | รับสารภาพ | จำคุก 10 ปี ลดเหลือ 5 ปี | คดีถึงที่สุด/พ้นโทษก่อนกำหนดตาม พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ |
5 | เฉลียว – ช่างตัดกางเกง | 1 | เว็บแชร์ไฟล์ | อัปโหลดข้อความเสียงของ ‘บรรพต’ ลงในเว็บไซด์สำหรับแชร์ไฟล์ ในปี 54-55 | ศาลยุติธรรม | รับสารภาพ | จำคุก 5 ปี ลดเหลือ 2 ปี 6 เดือน | คดีถึงที่สุด/พ้นโทษก่อนกำหนดตาม พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ |
6 | โอภาส – พ่อค้าในตลาด | 1 | ที่ สาธารณะ | เขียนข้อความบนบานประตูด้านในห้องน้ำชั้น 2 ของห้างสรรพสินค้า | ศาลทหาร | รับสารภาพ | จำคุก 3 ปี ลดเหลือ 1 ปี 6 เดือน | คดีถึงที่สุด/พ้นโทษ |
7 | โอภาส – พ่อค้าในตลาด | ที่ สาธารณะ | เขียนข้อความบนบานประตูด้านในห้องน้ำชั้น 1 ของห้างสรรพสินค้า | ศาลทหาร | รับสารภาพ | จำคุก 3 ปี ลดเหลือ 1 ปี 6 เดือน, นับโทษต่อจากคดีแรก | คดีถึงที่สุด/พ้นโทษก่อนกำหนดตาม พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ | |
8 | ทะเนช – ขายของออนไลน์ (ผู้ป่วยจิตเภท) | 1 | อีเมล | ส่งอีเมลแนบลิงค์ของเว็บไซต์ ‘Sanamluang2008’ เมื่อปี 2553 | ศาลยุติธรรม | ปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี (มีการสืบพยาน) | จำคุก 5 ปี ลดเหลือ 3 ปี 4 เดือน | คดีถึงที่สุด/พ้นโทษก่อนกำหนดตาม พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ |
9 | ปติวัฒน์และภรณ์ทิพย์ – ศิลปินและนักกิจกรรม | 2 | ละครเวที | แสดงละครเวที ‘เจ้าสาวหมาป่า’ เมื่อ ต.ค. 2556 | ศาลยุติธรรม | รับสารภาพ | จำคุก 5 ปี ลดเหลือ 2 ปี 6 เดือน | คดีถึงที่สุด/พ้นโทษก่อนกำหนดตาม พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ |
10 | สมัคร – เกษตรกร (ผู้ป่วยจิตเภท) | 1 | ที่ สาธารณะ | ทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ ที่ซุ้มปากทางเข้าหมู่บ้าน | ศาลทหาร | รับว่าทำ แต่เพราะอาการป่วย ก่อนเปลี่ยนเป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาในระหว่างสืบพยาน | จำคุก 10 ปี ปรับ 100 บาท ลดเหลือ 5 ปี ปรับ 50 บาท | คดีถึงที่สุด/พ้นโทษก่อนกำหนดตาม พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ |
11 | บัณฑิต – นักเขียนและนักแปลอาวุโส | 1 | ที่สาธารณะ | แสดงความเห็นในงานเสวนาของพรรคนวัตกรรมไทย | ศาลทหาร-> โอนไปศาลยุติธรรม | ปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี (มีการสืบพยาน) | ยกฟ้อง | ระหว่างรออัยการอุทธรณ์ |
12 | บัณฑิต – นักเขียนและนักแปลอาวุโส | ที่สาธารณะ | แสดงความเห็นในงานเสวนาเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ | ศาลทหาร-> โอนไปศาลยุติธรรม | ปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี (มีการสืบพยาน) | ยกฟ้อง | ||
13 | จารุวรรณ และพวก – พนักงานโรงงาน, ทำประมง | 3 | เฟซบุ๊ก | โพสต์พระบรมฉายาลักษณ์พร้อมเขียนข้อความบรรยาย | อัยการทหาร | ปฏิเสธ | ถูกควบคุมตัวและขังรวม 86 วัน ก่อนอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี | คดีถึงที่สุด |
14 | เธียรสุธรรม – ธุรกิจส่วนตัว | 1 | เฟซบุ๊ก | โพสต์ภาพและข้อความ จำนวน 5 ครั้ง | ศาลทหาร | รับสารภาพ | จำคุก 50 ปี ลดเหลือ 25 ปี | คดีถึงที่สุด/พ้นโทษก่อนกำหนดตาม พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ |
15 | ภูชิต | 1 | แอบอ้างสถาบันฯ เรียกรับผลประโยชน์ | แอบอ้างเป็นคนสนิทรัชทายาทในการเจรจาธุรกิจ | ศาลทหาร | รับสารภาพ | จำคุก 5 ปี ลดเหลือ 2 ปี 6 เดือน | คดีถึงที่สุด/พ้นโทษก่อนกำหนดตาม พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ |
16 | พงษ์ศักดิ์ – มัคคุเทศก์ | 1 | เฟซบุ๊ก | โพสต์ภาพและข้อความรวม 6 ครั้ง (ก.ย. 56 และ พ.ย. 57) | ศาลทหาร | รับสารภาพ | จำคุก 60 ปี ลดเหลือ 30 ปี | คดีถึงที่สุด/พ้นโทษก่อนกำหนดตาม พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ |
17 | ปิยะ – โบรกเกอร์,โปรแกรมเมอร์ | 1 | เฟซบุ๊ก | โพสต์พระบรมฉายาลักษณ์พร้อมข้อความ จำนวน 2 ภาพ เมื่อปี 2556 | ศาลยุติธรรม | ปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี (มีการสืบพยาน) | จำคุก 9 ปี ลดเหลือ 6 ปี | คดีถึงที่สุด/พ้นโทษก่อนกำหนดตาม พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ |
18 | ปิยะ – โบรกเกอร์,โปรแกรมเมอร์ | อีเมล | ส่งอีเมลเมื่อปี 2551 และ 2553 | ศาลยุติธรรม | ปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี (มีการสืบพยาน) | จำคุก 8 ปี, นับโทษต่อจากคดีแรก | คดีถึงที่สุด/พ้นโทษก่อนกำหนดตาม พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ | |
19 | อัญชัญ – ข้าราชการ | 1 | เฟซบุ๊กและยูทูบ | อัพโหลดคลิปเสียง ‘บรรพต’ จำนวน 19 คลิป รวม 29 ครั้ง | ศาลทหาร-> โอนไปศาลยุติธรรม | ปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี ต่อมาเปลี่ยนเป็นรับสารภาพ ในระหว่างการสืบพยาน | จำคุก 87 ปี ลดเหลือ 29 ปี 174 เดือน | |
20 | ธารา – ขายของออนไลน์ | 1 | เว็บไซต์ | โพสต์ลิงค์คลิปเสียง ‘บรรพต’ จำนวน 6 คลิป ในเว็บไซต์ของตนเอง | ศาลทหาร | ปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี ต่อมาเปลี่ยนเป็นรับสารภาพ ในระหว่างการสืบพยาน | จำคุก 30 ปี ลดเหลือ 18 ปี 24 เดือน | คดีถึงที่สุด/พ้นโทษก่อนกำหนดตาม พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ |
21 | ‘บรรพต’ และกลุ่มคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น ‘เครือข่ายบรรพต’ | 8 (จำเลยทั้งหมด 10 คน) | เว็บไซต์และเฟซบุ๊ก | จัดทำและเผยแพร่คลิปเสียง ‘บรรพต’ | ศาลทหาร | รับสารภาพ | 8 คน จำคุกคนละ 10 ปี ลดเหลือ 5 ปี / 2 คน จำคุกคนละ 6 ปี ลดเหลือ 3 ปี | คดีถึงที่สุด/พ้นโทษแล้ว |
22 | ประจักษ์ชัย – ช่างโลหะ (ผู้ป่วยจิตเภท) | 1 | ศูนย์บริการประชาชน | เขียนคำร้องถึงนายกฯ | ศาลทหาร-> โอนไปศาลยุติธรรม | ปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี | – | เสียชีวิตระหว่างการสืบพยานในศาลชั้นต้น/จำหน่ายคดี |
23 | ชาญวิทย์ – รับจ้าง | 1 | ที่สาธารณะ | แจกใบปลิวที่ท่าน้ำนนท์เมื่อปี 2550 | ศาลยุติธรรม | ปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี (มีการสืบพยาน) | จำคุก 6 ปี | คดีถึงที่สุด/พ้นโทษก่อนกำหนดตาม พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ |
24 | ธนิตศักดิ์ – อดีตผู้ช่วยช่างภาพ | 1 | เว็บไซต์และเฟซบุ๊ก | มีส่วนร่วมในการเผยแพร่คลิปเสียง ‘บรรพต’ | ศาลทหาร | รับสารภาพ | จำคุก 8 ปี ลดเหลือ 4 ปี | คดีถึงที่สุด/พ้นโทษก่อนกำหนดตาม พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ |
25 | ชญาภา – พนักงานบริษัท | 1 | เฟซบุ๊ก | โพสต์ภาพการเคลื่อนย้ายรถถังพร้อมข้อความวิจารณ์ และข่าวลือเรื่องรัฐประหารซ้อน | ศาลทหาร | รับสารภาพ | จำคุก 19 ปี ลดเหลือ 7 ปี 30 เดือน | คดีถึงที่สุด/พ้นโทษก่อนกำหนดตาม พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ |
26 | เสาร์ – รปภ. (ผู้ป่วยจิตเภท) | 1 | ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง | เขียนคำร้องให้ศาลฯ ทวงเงินของรัชกาลที่ 9 จากทักษิณ ชินวัตร | ศาลทหาร-> โอนไปศาลยุติธรรม | ปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี | จำคุก 4 เดือน ลดเหลือ 2 เดือน 20 วัน | อยู่ระหว่างยื่นอุทธรณ์/ถูกขังครบโทษแล้วตั้งแต่ชั้นฝากขัง |
27 | นพฤทธิ์ – พนักงานบริษัท | 1 | แอบอ้างสถาบันฯ เรียกรับผลประโยชน์ | ปลอมเป็นหม่อมหลวงและแอบอ้างเป็นคนสนิทพระเทพฯ | ศาลยุติธรรม | ปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี (มีการสืบพยาน) | ยกฟ้อง | คดีถึงที่สุด |
28 | ฐนกร – พนักงานโรงงาน | 1 | เฟซบุ๊ก | กดไลค์เพจและโพสต์เสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง | ศาลทหาร-> โอนไปศาลยุติธรรม | ปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี (มีการสืบพยาน) | ยกฟ้อง | ระหว่างรอการอุทธรณ์ของโจทก์ |
29 | วิชัย – พนักงานบริษัท | 1 | เฟซบุ๊ก | ปลอมเฟซบุ๊กบุคคลอื่นเพื่อแชร์หรือโพสต์คลิป/ภาพ พร้อมข้อความ รวม 10 ครั้ง | ศาลทหาร | ปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี ต่อมาเปลี่ยนเป็นรับสารภาพก่อนเริ่มการสืบพยาน | จำคุก 70 ปี ลดเหลือ 30 ปี 60 เดือน | คดีถึงที่สุด/รับโทษอยู่ในเรือนจำ |
30 | ป๋อง (นามสมมติ) – รับจ้าง | 1 | เฟซบุ๊ก | โพสต์แสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊กของบุคคลอื่นในปี 56 รวม 3 ครั้ง | อัยการศาลยุติธรรม | ปฏิเสธ | – | อยู่ระหว่างการพิจารณาสั่งคดีของสำนักงานอัยการสูงสุด |
31 | ป๋อง (นามสมมติ) – รับจ้าง | หนังสือ | เผยแพร่บทสัมภาษณ์ในปี 48 | อัยการศาลยุติธรรม | ปฏิเสธ | – | อยู่ระหว่างการพิจารณาสั่งคดีของสำนักงานอัยการสูงสุด | |
32 | บุรินทร์ – ช่างเชื่อมเหล็ก | 1 | เฟซบุ๊กและโปรแกรมแมสเซนเจอร์ | ส่งข้อความสนทนาส่วนตัวกับพัฒน์นรี และโพสต์ข้อความ รวม 2 ครั้ง | ศาลทหาร | รับสารภาพในชั้นศาล | จำคุก 22 ปี 8 เดือน ลดเหลือ 10 ปี 16 เดือน | คดีถึงที่สุด/รับโทษอยู่ในเรือนจำ |
พัฒน์นรี (แม่ ‘จ่านิว’ สิรวิชญ์) – รับจ้าง | 1 | โปรแกรมแมสเซนเจอร์ | สนทนาส่วนตัวตอบข้อความบุรินทร์ด้วยคำว่า “จ้า” | ศาลทหาร-> โอนไปศาลยุติธรรม | ปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี | ยกฟ้อง | ระหว่างรอการอุทธรณ์ของโจทก์ | |
33 | ฤาชา – ข้าราชการบำนาญ (ผู้ป่วยจิตเภท) | 1 | เฟซบุ๊ก | โพสต์ภาพพร้อมข้อความ รวม 5 ครั้ง | ศาลทหาร-> โอนไปศาลยุติธรรม | ปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี | จำคุก 10 เดือน ลดเหลือ 5 เดือน 50 วัน | ถูกขังเกินกว่าโทษแล้วระหว่างสอบสวนและพิจารณา |
34 | สราวุทธิ์ – ช่างตัดแว่นตา | 1 | เฟซบุ๊ก | ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ภาพของสมเด็จพระบรมฯ (ขณะนั้น) 2 ภาพ พร้อมข้อความแสดงความเห็น | ศาลทหาร-> โอนไปศาลยุติธรรม | ปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี (มีการสืบพยาน) | ยกฟ้อง | ระหว่างรอว่าอัยการจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ |
35 | รุ่งเรือง (นามสมมติ) – พนักงานบริษัท (ผู้ป่วยจิตเภท) | 1 | เฟซบุ๊ก | โพสต์ข้อความในปี 59 | ศาลทหาร | รับสารภาพ | จำคุก 8 ปี ลดเหลือ 4 ปี 6 เดือน | คดีถึงที่สุด/พ้นโทษก่อนกำหนดตาม พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ |
36 | เค (นามสมมติ) – พนักงานโรงงาน | 1 | เฟซบุ๊ก | โพสต์ขายเหรียญลงในกรุ๊ปซื้อขายของมือสองแห่งหนึ่ง และโพสต์โต้ตอบคนที่เข้ามาคอมเมนท์ ช่วงหลังสวรรคต | ศาลยุติธรรม | รับว่าโพสต์จริง แต่ไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ (มีการสืบพยาน) | ยกฟ้อง | คดีถึงที่สุด |
37 | ปราชญ์ (นามสมมติ) – ค้าขาย | 1 | เฟซบุ๊ก | โพสต์ภาพพร้อมข้อความประกอบ จำนวน 10 ครั้ง | ศาลยุติธรรม | ปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี (มีการสืบพยาน) | ยกฟ้อง ม. 112 แต่ให้ลงโทษตาม ม.116 และ พ.ร.บ.คอมฯ จำคุก 2 ปี ลดเหลือ 1 ปี 4 เดือน | คดีถึงที่สุด/พ้นโทษแล้ว |
38 | จตุภัทร์ หรือ “ไผ่ ดาวดิน” – นักศึกษา/นักกิจกรรม | 1 | เฟซบุ๊ก | แชร์บทวิเคราะห์สำนักข่าว BBC Thai “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” | ศาลยุติธรรม | ปฏิเสธ ต่อมาเปลี่ยนเป็นรับสารภาพในระหว่างการสืบพยาน | จำคุก 5 ปี ลดเหลือ 2 ปี 6 เดือน | คดีถึงที่สุด/ พ้นโทษก่อนกำหนด 41 วัน ตาม พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ |
39 | เทพไทย (นามสมมติ) – ค้าขาย | 1 | ห้างสรรพสินค้า | สวมเสื้อสีชมพูเดินในห้างฯ หลังการสวรรคต | อัยการศาลยุติธรรม | ปฏิเสธ | อัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี | คดีถึงที่สุด |
40 | สิน (นามสมมติ) – รับจ้าง (ผู้ป่วยจิตเภท) | 1 | ทหารรักษาการณ์หน้าอนุสรณ์สถาน | ทำและแจกเอกสารจำนวน 1 แผ่น | ศาลยุติธรรม | ปฏิเสธ ต่อมาเปลี่ยนเป็นรับสารภาพในระหว่างการสืบพยาน | จำคุก 2 ปี ลดเหลือ 1 ปี | คดีถึงที่สุด/พ้นโทษแล้ว |
41 | ประเวศ – ทนายความ | 1 | เฟซบุ๊ก | โพสต์ข้อความและภาพ จำนวน 13 ครั้ง | ศาลยุติธรรม | จำเลยไม่ยอมรับกระบวนการพิจารณาคดีของศาล โดยการไม่ให้การ และไม่นำสืบพยาน | ยกฟ้อง ม. 112, ลงโทษตาม ม.116 และ พ.ร.บ.คอมฯ จำคุก 15 เดือน และไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ จำคุก 1 เดือน | คดีถึงที่สุด/พ้นโทษแล้ว |
42 | ศักดิ์ (นามสมมติ) – นักวิชาการ | 1 | เฟซบุ๊ก | โพสต์ของ Somsak Jeamteerasakul เกี่ยวกับหมุดคณะราษฎรที่หายไป และแสดงความเห็น | อัยการศาลยุติธรรม | รับสารภาพ | อัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี | คดีถึงที่สุด |
43 | ดนัย – พนักงานบริษัท | 1 | ปฎิเสธ | |||||
44 | ชัช (นามสมมติ) – ข้าราชการ | 1 | รับสารภาพ | |||||
45 | วรรณชัย – พนักงานบริษัท | 1 | รับสารภาพ | |||||
46 | เอกฤทธิ์ | 1 | เฟซบุ๊ก | โพสต์ภาพรัชกาลที่ 10 พร้อมข้อความหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 | ศาลยุติธรรม | รับสารภาพ | จำคุก 8 ปี ลดเหลือ 4 ปี | คดีถึงที่สุด/พ้นโทษก่อนกำหนดตาม พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ |
47 | วัยรุ่น 6 คน – นักศึกษา | 6 | ที่สาธารณะ | เผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น | ศาลยุติธรรม | รับสารภาพ | ยกฟ้อง ม. 112 ลงโทษในความผิดอื่นๆ จำคุก 5 คนๆ ละ 3 ปี อีก 1 คน จำคุก 4 ปี 6 เดือน | คดีถึงที่สุด/พ้นโทษก่อนกำหนดตาม พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ |
48 | วัยรุ่น 4 คน – นักศึกษา | 4 | ที่สาธารณะ | เผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ อ.ชนบท จ.ขอนแก่น | ยกฟ้อง ม. 112 ลงโทษในความผิดอื่นๆ จำคุก 3 คนๆ ละ 3 ปี อีก 1 คน จำคุก 4 ปี 6 เดือน นับโทษต่อจากคดีแรก | คดีถึงที่สุด/พ้นโทษก่อนกำหนดตาม พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ | ||
49 | ด.ช.แฟง – นักเรียน | 1 | ที่สาธารณะ | เผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ อ.บ้านไผ่ | ศาลยุติธรรม (ศาลเยาวชน) | รับสารภาพ | ถูกควบคุมตัวระหว่างสอบสวนในสถานพินิจ 90 วัน/ พิพากษาให้เข้ารายงานตัว 6 เดือน | คดีถึงที่สุด |
50 | ปรีชา และ สาโรจน์ – รับจ้าง | 2 | ที่สาธารณะ | เผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ อ.ชนบท (2) | ศาลยุติธรรม | รับสารภาพ | ยกฟ้อง ม. 112 ลงโทษในความผิดอื่นๆ จำคุกคนละ 5 ปี | คดีถึงที่สุด/รับโทษอยู่ในเรือนจำ |
51 | เผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ อ.บ้านไผ่ (2) | ยกฟ้อง ม. 112 ลงโทษในความผิดอื่นๆ จำคุกคนละ 5 ปี | ||||||
52 | เผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ อ.เปือยน้อย | ยกฟ้อง ม. 112 ลงโทษในความผิดอื่นๆ จำคุกคนละ 2 ปี 6 เดือน | ||||||
53 | บุปผา (นามสมมติ) – พนักงานขาย (ผู้ป่วยจิตเภท) | 1 | เฟซบุ๊ก | โพสต์ภาพและข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวพาดพิงพระบรมวงศานุวงศ์ รวม 13 โพสต์ | ศาลทหาร-> โอนไปศาลยุติธรรม | ปฏิเสธ | ยกฟ้อง ม.112 ลงโทษตาม พ.ร.บ.คอมฯ ม.14(3) จำคุก 78 เดือน โทษจำคุกรอการลงโทษ 3 ปี | ระหว่างยื่นอุทธรณ์/ได้รับการประกันตัว |
54 | สกันต์ – อดีตข้าราชการ | 1 | เรือนจำ | พูดคุยกับผู้ต้องขัง ระหว่างอยู่ในเรือนจำ รวม 3 ครั้ง | ศาลยุติธรรม | รับสารภาพ | ยกฟ้อง | คดีถึงที่สุด |
55 | สิชล (นามสมมติ) – ผู้ป่วยจิตเภท | 1 | เฟซบุ๊ก | โพสต์ภาพพร้อมคำบรรยาย จำนวน 2 ครั้ง, ชั้นสอบสวนแจ้งข้อหา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมฯ แต่อัยการฟ้อง ม. 116 และ พ.ร.บ. คอมฯ | ศาลยุติธรรม | ปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี (มีการสืบพยาน) | ยกฟ้อง ม. 116 ลงโทษความผิดตาม พ.ร.บ.คอมฯ จำคุก 3 ปี ลดเหลือ 2 ปี | เสียชีวิตระหว่างอุทธรณ์คดี/จำหน่ายคดี |