จากสมยศถึงพงษ์ศักดิ์: ย้อนดูความเห็นคณะทำงาน UN ว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการในคดี 112

กรณีของจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่” ผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 รายล่าสุด ทำให้ประเด็นการไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องหาในข้อหานี้ กลับมาเป็นที่สนใจของสังคมอีกครั้ง กระทั่งผู้รายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการส่งเสริมเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออกอย่างเสรียังออกแถลงแสดงความกังวลต่อการดำเนินคดีนี้ และเรียกร้องอีกครั้งให้ทางการไทยยุติการใช้ข้อหาหมิ่นประมาทต่อกษัตริย์ หรือ มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อระงับการวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้ทางกระทรวงการต่างประเทศของไทยเอง ต้องออกมาชี้แจงว่ากฎหมายมาตราดังกล่าว ไม่ได้ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และไม่ได้ขัดต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

นอกจากความคิดเห็นและข้อเรียกร้องของผู้รายงานพิเศษฯ ดังกล่าว ภายใต้คณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอีกหลายกลไกของสหประชาชาติ ก็ได้เคยมีการเสนอความคิดเห็นและข้อเรียกร้องในกรณีมาตรา 112 มาอย่างต่อเนื่อง โดยกลไกพิเศษของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) ที่สำคัญกลไกหนึ่ง คือ คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (Working Group on Arbitrary Detention) ที่ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน ในประเด็นการควบคุมตัวโดยพลการ (Arbitrary Detention) รวมทั้งเป็นกลไกที่เปิดรับข้อร้องเรียนรายกรณี ก็ได้เคยมีการออกรายงานความคิดเห็นกรณีผู้ถูกควบคุมตัวจากมาตรา 112 มาแล้วหลายกรณีในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา

รายงานนี้ทบทวนกลไกพิเศษของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และชวนย้อนดูว่าคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการของสหประชาชาติ เคยมีความเห็นที่เป็นทางการต่อกรณีมาตรา 112 ในประเทศไทยมาแล้วในกรณีใดบ้าง และมีความคิดเห็นอย่างไร

 

รู้จัก “กลไกพิเศษ” ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

ภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) ที่เป็นกลไกระหว่างรัฐ ได้มีการจัดตั้งกลไกหลายอย่างที่ใช้ในการติดตาม-ตรวจสอบสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยกลไกที่สำคัญประการหนึ่ง คือกลไกพิเศษ (UN Special Procedures) ที่เป็นกลไกติดตามสอดส่องและรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งในลักษณะสถานการณ์รายประเทศ (Country Situations) หรือสถานการณ์ในรายประเด็น (Thematic Issues) โดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีทั้งในรูปแบบปัจเจกบุคคล ได้แก่ ผู้รายงานพิเศษ (Special Rapporteur) ผู้เชี่ยวชาญอิสระ (Independent Expert) หรือในรูปแบบคณะทำงาน (Working Group) ซึ่งโดยมากจะประกอบด้วยสมาชิก 5 คน จากแต่ละภูมิภาค เน้นความเป็นอิสระและเป็นกลางในการดำเนินงาน

กลไกพิเศษเหล่านี้จะศึกษาติดตามปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นที่อยู่ในการดูแล จัดทำรายงาน และข้อเสนอแนะต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน รวมทั้งยังสามารถรับข้อร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นที่อยู่ในความดูแล โดยกลไกพิเศษจะกลั่นกรองข้อร้องเรียนต่างๆ หากเห็นว่ามีน้ำหนักก็จะส่งข้อร้องเรียนไปยังรัฐบาลของประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อขอรับข้อมูลและคำชี้แจง ตลอดจนสามารถขอเยือนประเทศต่างๆ เพื่อทำการศึกษาและตรวจสอบสถานการณ์ได้ ภายใต้การอนุญาตของรัฐผู้รับ

ปัจจุบัน มีกลไกพิเศษที่ทำงานติดตามสถานการณ์รายประเทศจำนวน 14 ประเทศ เช่น ผู้เสนอรายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือ หรือในพม่า ส่วนกลไกพิเศษที่ติดตามรายประเด็นเฉพาะ มีจำนวนทั้งหมด 41 ประเด็น อาทิเช่น ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกอย่างเสรี, ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยความมีอิสระของตุลาการและทนายความ, ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยเสรีภาพทางศาสนาและความเชื่อ, ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสิทธิของชนพื้นเมือง, ผู้เชี่ยวชาญอิสระว่าด้วยประเด็นชนกลุ่มน้อย, คณะทำงานว่าด้วยการบังคับให้สูญหาย เป็นต้น

คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (Working Group on Arbitrary Detention – WGAD) ก็เป็นหนึ่งในกลไกพิเศษรายประเด็นเฉพาะดังกล่าว คณะทำงานฯ นี้ก่อตั้งตามมติที่ 1991/42 ของคณะกรรมาธิการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ภายหลังมีการยกระดับคณะกรรมาธิการฯ ดังกล่าวเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน เมื่อปี 2006 ก็มีการขยายขอบเขตงานของคณะทำงานฯ และมีการกำหนดระยะเวลาดำรงตำแหน่งคณะทำงานฯ รายละ 3 ปี โดยที่คณะทำงานฯ ชุดปัจจุบันมีสมาชิก 5 คน มาจากแต่ละภูมิภาค ได้แก่ ประเทศเบนิน, ออสเตรเลีย, เม็กซิโก, เกาหลีใต้ และลัตเวีย โดยทั้งหมดเป็นนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหรือสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

หน้าเว็บไซต์ของ คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ

ว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ และกลไกการร้องเรียน

การควบคุมตัวโดยพลการนั้น ถูกพิจารณาให้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่สำคัญประการหนึ่ง ที่กระทบต่อทั้งสิทธิในชีวิตและเสรีภาพของบุคคล ตามข้อ 9 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights- UDHR) ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “บุคคลใดจะถูกจับกุม กักขัง หรือเนรเทศตามอำเภอใจไม่ได้” หรือในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) ข้อ 9 (1) ก็ระบุว่า “บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย บุคคลจะถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจมิได้ บุคคลจะถูกลิดรอนเสรีภาพของตนมิได้ ยกเว้นโดยเหตุและโดยเป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย”รวมถึงการจับกุม การคุมขังก่อนพิจารณาคดี และการควบคุมตัว

คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ ยังได้จัดแบ่งลักษณะการลิดรอนอิสรภาพที่มีลักษณะเข้าข่ายเป็นการกระทำโดยพลการไว้ 5 ประเภท ได้แก่

  1. เมื่อไม่ปรากฏว่ามีข้อกฎหมายพื้นฐานใดๆ รองรับอย่างชัดเจน ให้กับการจำกัดอิสรภาพนั้น เช่น กรณีที่บุคคลถูกควบคุมตัวไว้ทั้งที่ได้รับโทษจนครบแล้ว หรือทั้งที่มีกฎหมายอภัยโทษต่อบุคคลนั้นๆ แล้ว
  2. เมื่อการจำกัดอิสรภาพนั้น เกิดมาจากการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ ตามที่ได้รับการคุ้มครองตามข้อ 7, 13, 14, 18, 19, 20 และ 21 ของ UDHR และตามข้อ 12, 18, 19, 21, 22, 25, 26 และ 27 ของ ICCPR อันได้แก่ สิทธิที่จะมีความเสมอภาคกันตามกฎหมายและได้รับความคุ้มครองของกฎหมายเท่าเทียมกัน สิทธิที่จะมีเสรีภาพและอิสรภาพในการเคลื่อนไหวสิทธิที่จะมีอิสรภาพทางความคิด จิตสำนึก และศาสนาสิทธิที่จะมีอิสรภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออกสิทธิที่จะมีอิสรภาพในการรวมกลุ่มอย่างสงบสิทธิที่จะมีอิสรภาพในการเข้าสมาคมสิทธิในการเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะ การลงคะแนนเสียง การได้รับเลือก และการเข้าถึงบริการสาธารณะสิทธิของคนส่วนน้อยในการดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมของตน
  3. เมื่อเป็นกรณีการไม่ปฏิบัติตามทั้งหมด หรือแม้เพียงบางส่วน ต่อบรรทัดฐานระหว่างประเทศเรื่องสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (fair trial) ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศอื่นที่ประเทศนั้นๆ ลงนามเป็นภาคี โดยการไม่ปฏิบัติตามเช่นนั้นมีลักษณะรุนแรง จนทำให้การจำกัดอิสรภาพมีลักษณะเป็นการกระทำโดยพลการ
  4. เมื่อผู้แสวงหาที่พักพิง ผู้อพยพ หรือผู้ลี้ภัย อยู่ภายใต้การควบคุมตัวของรัฐเป็นระยะเวลานาน โดยไม่สามารถร้องขอให้หน่วยงานฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายตุลาการเข้าตรวจสอบ หรือร้องขอการเยียวยาได้
  5. เมื่อการละเมิดอิสรภาพนั้น มีลักษณะเป็นการละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ บนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติต่อชาติกำเนิด สัญชาติ ชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนา สภาพทางเศรษฐกิจ ความคิดเห็นทางการเมือง เพศสภาพ รสนิยมทางเพศ ความพิการหรือสถานะอื่นๆ ที่มีจุดมุ่งหมายต่อหรืออาจส่งผลกระทบเป็นการเพิกเฉยต่อความเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์

ภายใต้กรอบดังกล่าว กลไกสำคัญหนึ่งของคณะทำงานฯ คือการเปิดรับข้อร้องเรียนรายกรณี (Individual complaints and Urgent Appeals) ซึ่งผู้ร้องเรียนสามารถเป็นทั้งผู้ถูกควบคุมตัวโดยตรง เป็นครอบครัว ตัวแทนของผู้ถูกควบคุมตัว หรือองค์กรที่ไม่ใช่รัฐบาลในประเทศต่างๆ โดยหลังจากคณะทำงานฯ ได้รับข้อร้องเรียนและพิจารณาข้อมูล จะมีการส่งข้อร้องเรียนดังกล่าวสอบถามไปยังรัฐบาลต่างๆ ที่ถูกร้องเรียน โดยไม่มีการเปิดเผยชื่อผู้ร้องเรียนให้ทราบ หลังจากเปิดโอกาสให้รัฐบาลชี้แจงกลับมาเป็นเวลา 60 วัน จะมีการส่งคำชี้แจงดังกล่าวไปยังผู้ร้องเรียนสำหรับให้ความเห็นกลับมาอีกครั้ง

หลังจากนั้นคณะทำงานฯ จะพิจารณาข้อมูลและคำชี้แจง ถ้าหากกรณีดังกล่าวถูกพิจารณาว่าเข้าข่ายเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ คณะทำงานฯ จะทำความเห็น (Opinion) และข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล และหลังจากนั้นภายใน 48 ชั่วโมง จะมีการส่งความเห็นและข้อเสนอแนะดังกล่าวไปยังผู้ร้องเรียนด้วย ทั้งยังมีการเผยแพร่ในรายงานประจำปีที่คณะทำงานฯ ส่งถึงคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติด้วย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม)

แม้ความเห็นของคณะทำงานฯ ตามกลไกดังกล่าว จะไม่ได้มีผลผูกพันทางตรงให้รัฐบาลต้องปล่อยตัวหรือเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติในกรณีที่ร้องเรียนว่าเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ แต่ก็มีผลทางอ้อมในฐานะเป็นความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากคณะทำงานฯ ผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ ที่เห็นว่าการควบคุมตัวในแต่ละกรณีขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนของนานาชาติ รวมทั้งความคิดเห็นดังกล่าวก็สามารถถูกนำไปใช้รณรงค์ในกรณีนั้นๆ ในแต่ละประเทศได้

 

จากสมยศถึงพงษ์ศักดิ์: การควบคุมตัวโดยพลการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในการยื่นข้อร้องเรียนต่อคณะทำงานฯ บุคคลภายนอกจะไม่สามารถทราบได้ว่ามีกรณีใดบ้างที่มีการร้องเรียนไปบ้าง จนกว่าจะมีการเผยแพร่ความเห็นที่เป็นทางการของคณะทำงานฯ แล้ว ในกรณีของประเทศไทย จนถึงปัจจุบัน (ก.พ.2560) คณะทำงานฯ เคยมีความเห็นที่เป็นทางการว่าด้วยความการควบคุมตัวโดยพลการมาแล้ว 6 กรณี

ในจำนวน 6 กรณีนี้ มีถึง 4 กรณี ที่เป็นกรณีบุคคลที่ถูกควบคุมตัวจากข้อหาตามมาตรา 112 และคณะทำงานฯ มีความเห็นว่าทั้ง 4 คนถูกควบคุมตัวโดยพลการ ได้แก่ กรณีของสมยศ พฤกษาเกษมสุข (ความเห็นอันดับที่ 35/2012 รับรองเมื่อวันที่ 30 ส.ค.2555) นักเคลื่อนไหวด้านแรงงานและประชาธิปไตย ที่ถูกดำเนินคดีจากการเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin และถูกกล่าวหาว่าตีพิมพ์บทความที่เข้าข่ายมาตรา 112 และศาลฎีกาเพิ่งมีคำพิพากษาจำคุกรวม 6 ปี

กรณีของปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม (ความคิดเห็นอันดับที่ 41/2014 รับรองเมื่อวันที่ 19 พ.ย.2557) และภรณ์ทิพย์ มั่นคง (ความคิดเห็นอันดับที่ 43/2015 รับรองเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2558) สองนักกิจกรรมกลุ่มประกายไฟ ถูกดำเนินจากการคดีแสดงละครเวทีชื่อ “เจ้าสาวหมาป่า” โดยทั้งคู่ถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 5 ปี ให้การรับสารภาพเหลือจำคุกรายละ 2 ปี 6 เดือน ปัจจุบันทั้งสองคนได้รับการปล่อยตัวแล้ว

ล่าสุดคือกรณีของพงษ์ศักดิ์ ศรีบุญเพ็ง (ความคิดเห็นอันดับที่ 44/2016 รับรองเมื่อวันที่ 21 พ.ย.2559) อดีตมัคคุเทศก์ ผู้ถูกจับกุมในเดือนธ.ค.2557 หลังการรัฐประหาร ก่อนถูกศาลทหารพิพากษาจำคุก 60 ปี จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กรวม 6 กรรม แต่ลดโทษเหลือจำคุก 30 ปี เนื่องจากให้การรับสารภาพ ซึ่งนับเป็นคดีมาตรา 112 ที่มีการลงโทษจำคุกสูงที่สุด โดยเขาไม่สามารถอุทธรณ์หรือฎีกาได้ เนื่องจากคดีเกิดขึ้นภายใต้กฎอัยการศึก

นอกจากนั้น คณะทำงานฯ ยังเคยมีความเห็นที่เป็นทางการอีก 2 กรณี ที่ไม่ใช่กรณีผู้ต้องหามาตรา 112 ได้แก่ กรณีของนายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ หรือ “อันวาร์” นักกิจกรรมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ถูกควบคุมตัวตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และถูกดำเนินคดีในหลายข้อหา (ความคิดเห็นอันดับที่ 19/2014 รับรองเมื่อวันที่ 1 พ.ค.2558) และกรณีของนายยงยุทธ บุญดี หรือ “แดง ชินจัง” แรงงานก่อสร้างที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวภายหลังการรัฐประหาร และถูกดำเนินคดีในข้อหาเกี่ยวเนื่องกับการใช้อาวุธสงคราม (ความคิดเห็นอันดับที่ 15/2015 รับรองเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2559) โดยคณะทำงานฯ เห็นว่าทั้งสองกรณีเข้าข่ายเป็นการควบคุมตัวโดยพลการเช่นเดียวกัน

 

ย้อนดูคำชี้แจงของรัฐบาลไทย

ในกรณีการควบคุมตัวบุคคลตามมาตรา 112 ทั้ง 4 กรณี ที่คณะทำงานฯ มีการเผยแพร่ความเห็นต่อสาธารณะ ปรากฏว่าทางรัฐบาลไทยได้ตอบข้อร้องเรียนกลับไปยังคณะทำงานฯ 3 กรณี โดยมีกรณีของปติวัฒน์ ที่รัฐบาลไทยไม่ได้มีการตอบกลับข้อร้องเรียนที่คณะทำงานฯ สอบถามไป

ในกรณีของสมยศ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรในขณะนั้น ได้ตอบข้อร้องเรียนของคณะทำงานฯ โดยปฏิเสธว่าการจับกุมดำเนินคดีสมยศไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่เขาเคลื่อนไหวรณรงค์ให้แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 รัฐบาลยังอธิบายว่าการหมิ่นประมาทต่อกษัตริย์ในประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นความผิดที่รุนแรงกว่าการหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป เพราะไม่เพียงเป็นการคุกคามบุคคลที่ถูกหมิ่น แต่ยังกระทบต่อทั้งสังคม เป็นการคุกคามต่อเอกภาพและเสถียรภาพของชาติ กระทั่งการดำรงอยู่ของรัฐ กฎหมายนี้จึงมีความชอบธรรมและจำเป็นสำหรับความมั่นคงของชาติ  กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ยังดำรงอยู่โดยเป็นผลลัพธ์มาจากฉันทามติร่วมกันในสังคม หรือเป็นการแสดงออกของเจตจำนงของประชาชน ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าคนไทยต้องการปกป้องสถาบันจากการคุกคามหรืออันตราย รัฐบาลจึงเห็นว่ามาตรา 112 มีความจำเป็นต้องมีโทษที่สูง  อีกทั้งเมื่อประชาชนไทยส่วนใหญ่ไม่ต้องการแก้ไขเปลี่ยนแปลง มาตรา 112 รัฐบาลก็มีความชัดเจนที่จะไม่ริเริ่มการแก้ไขหรือทบทวนกฎหมายนี้ สำหรับประชาชนไทย กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์มีประโยชน์อย่างยิ่งเพราะมุ่งปกป้องพระมหากษัตริย์ผู้เป็นสัญลักษณ์การดำรงอยู่ของรัฐ ด้วยเหตุผลดังกล่าว รัฐบาลจึงสรุปว่ากฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์นั้นสอดคล้องกับข้อ 19 ของ ICCPR เนื่องจากการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นไปตามหลักความแน่นอน โปร่งใส ชอบธรรม จำเป็น และได้สัดส่วน

สมยศ ขณะถูกนำตัวมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อวันที่ 23 ก.พ.60 (ภาพจาก Banrasdr Photo)

ส่วนกรณีของภรณ์ทิพย์ รัฐบาลทหารตอบข้อร้องเรียนกลับเพียงสั้นๆ ในเดือนตุลาคม 2558 ว่าภรณ์ทิพย์ถูกจับกุมตามมาตรา 112 จากการมีส่วนร่วมแสดงละครเวทีเรื่อง ‘เจ้าสาวหมาป่า’ ที่มีการหมิ่นประมาทและดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่จากการทำกิจกรรมทางการเมืองและงานด้านสิทธิมนุษยชน  รัฐบาลทหารตอบยืนยันด้วยว่า การดำเนินการทางกฎหมายกับภรณ์ทิพย์นั้นสอดคล้องกับบรรทัดฐานของนานาชาติ ผู้ต้องหาได้รับการคุ้มครองตามกระบวนการพิจารณาคดีอันควรแห่งกฎหมาย (due process of law) รวมทั้งสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม สิทธิในการต่อสู้คดี สิทธิในการได้รับการช่วยเหลือทางกฎหมาย และสิทธิในการอุทธรณ์คดี รวมทั้งสามารถยื่นขอพระราชทานอภัยโทษได้

ในกรณีของพงษ์ศักดิ์ รัฐบาลทหารอธิบายต่อคณะทำงานฯ ว่าสถาบันกษัตริย์ถือได้ว่าเป็นเสาหลักของสังคมไทย และกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์มีไว้เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เช่นเดียวกันกับกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา

รัฐบาลยังอธิบายว่าภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หลักกระบวนการพิจารณาคดีอันควรแห่งกฎหมาย ในคดีมาตรา 112 นี้ยังคงได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกับข้อหาอื่นๆ ทางอาญา โดยจำเลยมีสิทธิในการต่อสู้คดี และสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม เช่นเดียวกันกับการได้รับการช่วยเหลือจากที่ปรึกษาทางกฎหมาย รวมทั้งบุคคลยังมีสิทธิในการอุทธรณ์ต่อศาลระดับที่สูงกว่า และเมื่อคดีสิ้นสุดลง จำเลยยังสามารถยื่นขอพระราชทานอภัยโทษได้

 

ความคิดเห็นของคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ

ภายใต้คำตอบต่อข้อร้องเรียนของรัฐบาลไทยดังกล่าว ในแต่ละกรณี คณะทำงานฯ ได้พิจารณาข้อมูลและจัดทำความเห็น โดยทั้ง 4 กรณี คณะทำงานฯ ได้ลงมติว่าเข้าข่ายเป็นการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ (arbitrary detention)

ในรายงานกรณีมาตรา 112 ทุกฉบับ คณะทำงานฯ ได้อ้างอิงไปถึงความเห็นของผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกอย่างเสรี ที่มีความเห็นมาตั้งแต่ปี 2554 ว่าการใช้มาตรา 112 ในประเทศไทยมีผลทำให้เกิดการเซ็นเซอร์ตนเอง ปราบปรามการสนทนาที่สำคัญเพื่อผลประโยชน์สาธารณะ และเป็นอันตรายต่อเสรีภาพในการแสดงออก ทางผู้รายงานพิเศษฯ ยังได้มีข้อเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเรื่อยมา

ขณะเดียวกันในรายงานทุกฉบับ คณะทำงานฯ ได้ยืนยันหลักการว่าการมีและแสดงออกซึ่งความเห็น รวมทั้งความคิดเห็นที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลอย่างเป็นทางการ เป็นสิทธิในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ได้รับการคุ้มครอง ตามข้อ 19 ของ UDHR และข้อ 19 (2) ของ ICCPR

คณะทำงานฯ ยังได้อ้างอิงถึงความคิดเห็นทั่วไปของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ฉบับที่ 34 (2554) เกี่ยวกับเสรีภาพด้านการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ซึ่งเน้นว่ารูปแบบในการแสดงออกในลักษณะที่ถูกพิจารณาว่าเป็นการดูหมิ่นบุคคลสาธารณะ ยังไม่เป็นเหตุผลที่ชอบธรรมมากเพียงพอ ให้ต้องกำหนดบทลงโทษทางอาญา แม้ว่าบุคคลสาธารณะก็ย่อมอาจได้รับประโยชน์จากข้อบทในกติกา นอกจากนั้น เป็นสิ่งที่ชอบธรรมที่บุคคลสาธารณะทุกคน รวมทั้งผู้ที่มีอำนาจทางการเมืองสูงสุดอย่างเช่น ประมุขของรัฐและรัฐบาล จะสามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์และการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในทิศทางตรงกันข้าม

ในกรณีของสมยศ คณะทำงานฯ เห็นว่าการถูกคุมขังไม่ว่าจะด้วยเหตุจากการเป็นบรรณาธิการที่อนุญาตให้มีการตีพิมพ์บทความที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ หรือด้วยเหตุที่รณรงค์ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ของสมยศก็ตาม ล้วนอยู่ภายใต้ขอบเขตของการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นที่ได้รับการคุ้มครอง ตามข้อ 19 ของทั้งใน UDHR และ ICCPR  โดยคณะทำงานฯ เห็นว่าสมยศถูกควบคุมตัวจากการใช้สิทธิในการแสดงออกโดยสันติภายใต้กรอบของกติกาดังกล่าวด้วย จึงเข้าข่ายเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ ในประเภทที่ 2

กรณีของปติวัฒน์และภรณ์ทิพย์ คณะทำงานฯ ได้ระบุเช่นกันว่าทั้งสองคนถูกควบคุมตัวจากการใช้สิทธิในการแสดงออกโดยสันติภายใต้กรอบกติกาของข้อ 19 ใน UDHR และ ICCPR คณะทำงานฯ ยังพิจารณาว่าการควบคุมตัวก่อนการพิจารณาคดี โดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ซึ่งตามกฎหมายระหว่างประเทศควรจะเป็นมาตรการยกเว้นและเป็นไปโดยสั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งโดยหลักการ บุคคลย่อมได้รับอิสรภาพเป็นหลัก ส่วนการควบคุมตัวให้เป็นข้อยกเว้นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเท่านั้น ตามหลัก ICCPR ข้อ 9 (3) ส่วนท้ายที่บัญญัติว่า ‘มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลระหว่างการพิจารณาคดี แต่ในการปล่อยตัวอาจกำหนดการประกันว่าบุคคลจะมาปรากฏตัวในการพิจารณาคดี ในขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการศาล และเมื่อมีคำพิพากษา’ ดังนั้น การควบคุมตัวในกรณีปติวัฒน์และภรณ์ทิพย์จึงเข้าข่ายเป็นการละเมิดต่อข้อ 9 (3) ของ ICCPR และละเมิดต่อมาตรา 87 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยเองด้วย และการควบคุมตัวทั้งสองคนเข้าข่ายเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ ในประเภทที่ 2

นอกจากนั้นในกรณีของภรณ์ทิพย์ คณะทำงานฯ ยังเห็นว่าการที่ศาลปฏิเสธการประกันตัวผู้ต้องหาอย่างต่อเนื่องและอย่างเป็นระบบนั้น กระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหา ทั้งสิทธิในการมีอิสรภาพพื้นฐาน และสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (fair trial) การจะลิดรอนอิสรภาพของบุคคลด้วยมาตรการใดๆ นั้นต้องพิจารณาอย่างเคร่งครัดในเรื่องความชอบด้วยกฎหมาย ความจำเป็น และความได้สัดส่วน คณะทำงานฯ จึงเห็นว่ากรณีภรณ์ทิพย์ยังเข้าข่ายเป็นการควบคุมตัวโดยพลการในประเภทที่ 3 ไปพร้อมกันด้วย

สองผู้ต้องหาคดี “เจ้าสาวหมาป่า” ขณะถูกควบคุมตัวมาที่ศาล (ภาพจากสำนักข่าวประชาไท)

 

ข้อคิดเห็นในกรณีพงษ์ศักดิ์ และการดำเนินคดี 112 ในศาลทหาร

ข้อวินิจฉัยของคณะทำงานฯ ที่สำคัญ คือในกรณีพงษ์ศักดิ์ ซึ่งเป็นกรณีที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารภายใต้บริบทของคสช.และถูกพิพากษาด้วยโทษที่รุนแรงอย่างไม่เคยมีมาก่อนด้วย คณะทำงานฯ เห็นว่าคำตอบของรัฐบาลไทยดังกล่าวข้างต้น มีลักษณะเป็นการบรรยายถึงเรื่องทั่วๆ ไป เกี่ยวกับมาตรา 112 และกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในประเทศ ไม่ได้เป็นการตอบต่อข้อร้องเรียนกรณีพงษ์ศักดิ์เป็นการเฉพาะ

คณะทำงานฯ มีความเห็นว่า พงษ์ศักดิ์ถูกควบคุมตัวจากการแสดงความคิดเห็นทางสื่อสังคมออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับพระบรมวงศานุวงศ์ไทย และอยู่ภายใต้กรอบการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกที่ได้รับการคุ้มครองโดยข้อ 19 ของ UDHR และ ICCPR คณะทำงานฯ ยังเห็นว่ารัฐบาลไทยไม่สามารถอธิบายว่าการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกภายใต้ ICCPR ข้อ 19 (3) ในกรณีพงษ์ศักดิ์นี้เกิดขึ้นภายใต้ความจำเป็นใด และไม่ได้อธิบายให้เห็นว่าได้มีการชั่งน้ำหนักที่เหมาะสมในการจำกัดสิทธิ โดยถ้าหากพงษ์ศักดิ์โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทบุคคลใด การจัดการต่อกรณีนี้สามารถอยู่ในขอบเขตเอาผิดโดยการหมิ่นประมาทในทางแพ่งได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นความผิดทางอาญา

คณะทำงานฯ ยังเห็นว่ากรณีพงษ์ศักดิ์เป็นการละเมิดอย่างรุนแรงต่อบรรทัดฐานระหว่างประเทศเรื่องการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (fair trial) ตั้งแต่การถูกพิจารณาคดีเป็นการลับ โดยที่รัฐบาลเองก็ไม่ได้ให้คำอธิบายว่าเหตุใดข้อยกเว้นต่างๆ ภายใต้ ICCPR ข้อ 14 (1) (เช่นเรื่องความมั่นคงของชาติ หรือผลประโยชน์สาธารณะ) จึงจำเป็นต้องนำมาปรับใช้ในกรณีของพงษ์ศักดิ์นี้ และทำให้ต้องพิจารณาคดีเป็นการลับ

ขณะเดียวกัน คณะทำงานฯ ยังเห็นว่าศาลทหารซึ่งถูกใช้พิจารณาคดีของพงษ์ศักดิ์ ไม่ได้เป็นคณะตุลาการที่มีความเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร เพราะตุลาการศาลทหารถูกแต่งตั้งมาโดยผู้นำของกองทัพและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทั้งยังขาดแคลนความเชี่ยวชาญทางกฎหมาย และอยู่ภายใต้ระบบการบังคับบัญชา โดยคณะทำงานฯ เห็นว่ามีความขัดแย้งอย่างไม่สามารถเข้ากันได้เลย ระหว่างระบบคุณค่าของศาลพลเรือนและศาลทหาร กล่าวคือคุณค่าสำคัญของศาลพลเรือนคือความมีอิสระของผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับคุณค่าของเจ้าหน้าที่ทหาร ที่ต้องเคารพเชื่อฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชา คณะทำงานจึงเห็นว่าการไต่สวนคดีพลเรือนในศาลทหารจึงขัดต่อ ICCPR และกฎหมายประเพณีระหว่างประเทศ

คณะทำงานฯ ยังพบการละเมิดบรรทัดฐานระหว่างประเทศเรื่องการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมที่รุนแรงอีกหลายประการในกรณีของพงษ์ศักดิ์ ได้แก่ การที่พงษ์ศักดิ์ไม่ได้รับทราบรายละเอียดและเหตุผลของการตั้งข้อกล่าวหาในขณะที่ถูกควบคุมตัวอยู่ การที่พงษ์ศักดิ์ไม่สามารถเข้าถึงทนายความได้ในช่วงการสอบสวนหรือระหว่างที่ถูกควบคุมตัวภายในค่ายทหาร คำรับสารภาพของพงษ์ศักดิ์เกิดขึ้นภายใต้การควบคุมตัวภายในค่ายทหาร ก่อนจะถูกนำตัวมาแถลงข่าวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยไม่ได้มีญาติและทนายความอยู่ด้วย รวมทั้งการตัดสินจำคุกของศาลทหารที่เกินกว่าเหตุ โดยพงษ์ศักดิ์ไม่มีสิทธิในการอุทธรณ์ต่อศาลที่สูงขึ้นไป

คณะทำงานฯ ยืนยันว่าหลักการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมนั้น เป็นสิทธิพื้นฐานที่ยังต้องได้รับการเคารพ แม้ในสภาวะฉุกเฉิน แต่ในกรณีของพงษ์ศักดิ์ คณะทำงานฯ เห็นว่าเขาไม่ได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมทั้งระหว่างการประกาศใช้ และหลังจากยกเลิกกฎอัยการศึกแล้ว คณะทำงานฯ จึงสรุปว่าการควบคุมตัวพงษ์ศักดิ์เป็นการควบคุมตัวโดยพลการ เข้าข่ายทั้งในประเภทที่ 2 และที่ 3

 

พงษ์ศักดิ์ ผู้ต้องหาที่ถูกศาลทหารพิพากษาโทษจำคุก ุ60 ปี สูงที่สุดในคดีมาตรา 112 เท่าที่เคยปรากฏ (ภาพจากรายงานของ International Federation for Human Rights – FIDH)

เมื่อการควบคุมตัวโดยพลการอย่างเป็นระบบ อาจกลายเป็น “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ”

ขณะเดียวกัน ในความเห็นกรณีของพงษ์ศักดิ์ที่ได้รับการเผยแพร่ล่าสุด ทางคณะทำงานฯ ยังได้อ้างอิงถึงรายงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (OHCHR) ว่าตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2557 มีการดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้คณะทำงานฯ ยังมีความเห็นโดยแสดงความกังวลถึงรูปแบบของการควบคุมตัวโดยพลการในกรณีที่เกี่ยวกับการใช้กฎหมายมาตรา 112 ของไทยทั้งหมด โดยระบุว่ากรณีของพงษ์ศักดิ์เป็นเพียงไม่หนึ่งในกรณีจำนวนมากที่มีการร้องเรียนมาที่คณะทำงานฯ ในไม่กี่ปีนี้ คณะทำงานฯ จึงเห็นว่าภายใต้บางสถานการณ์ การแพร่กระจายของการคุมขังอย่างกว้างขวางหรืออย่างเป็นระบบ หรือการลิดรอนอิสรภาพอื่นๆ ตามข้อบังคับของกฎหมายระหว่างประเทศอย่างรุนแรง อาจนับเป็น “การก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” ได้

คณะทำงานฯ ยังประเมินว่าท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมในฐานะวิธีการสื่อสาร การควบคุมตัวบุคคลที่ใช้สิทธิในการมีเสรีภาพในการแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ มีแนวโน้มจะยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกว่ารัฐบาลไทยจะปรับกฎหมายมาตรา 112 ให้สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ ความเห็นในลักษณะนี้ไม่เคยปรากฏมาก่อนในรายงานของคณะทำงานฯ ในกรณีก่อนหน้านี้ โดยอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (crimes against humanity) ถือได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และถือเป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศ ซึ่งศาลอาญาระหว่างประเทศมีอำนาจในการพิจารณาคดีที่เกี่ยวเนื่องกับอาชญากรรมนี้ด้วย

ท้ายที่สุด ในรายงานความคิดเห็นของคณะทำงานฯ ที่ผ่านมาทุกฉบับ ได้เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัว ทั้งสมยศ ปติวัฒน์ ภรณ์ทิพย์ และพงษ์ศักดิ์ โดยทันทีพร้อมให้การชดเชยเยียวยาจากการควบคุมตัวโดยพลการที่กระทำต่อบุคคลเหล่านั้นอีกด้วย

ในรายงานกรณีของพงษ์ศักดิ์ คณะทำงานฯ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขกฎหมายที่ขัดต่อเสรีภาพในการแสดงออก ทั้งในกรณีมาตรา 112 และกฎหมายอื่นๆ ที่อนุญาตให้นำพลเรือนขึ้นพิจารณาในศาลทหาร โดยเรียกร้องให้ปรับให้สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยถ้าหากรัฐบาลต้องการความช่วยเหลือทางเทคนิคเพิ่มเติมสำหรับการปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง ทางคณะทำงานฯ ก็ยินดีที่จะเดินทางมาเยือนประเทศไทยด้วย

นอกจาก 4 กรณีดังกล่าวนี้ ยังมีกรณีผู้ถูกควบคุมตัวโดยมาตรา 112 ร้องเรียนไปยังคณะทำงานฯ มากกว่านี้ แต่คณะทำงานฯ ยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยออกมา โดยอาจยังอยู่ในขั้นตอนการส่งข้อร้องเรียนไปยังรัฐบาล หรือรอข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้ร้องเรียน จึงน่าติดตามต่อไปว่าคณะทำงานฯ จะมีความเห็นในกรณีใดอีกหรือไม่ และความคิดเห็นขององค์กรระดับนานาชาติที่มีมาอย่างต่อเนื่อง จะมีผลต่อการควบคุมตัวผู้ต้องหามาตรา 112 ที่ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย รวมทั้งกรณี “ไผ่” ที่เกิดขึ้นล่าสุด หรือไม่

 

อ่านเพิ่มเติม

เว็บไซต์คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการแห่งสหประชาชาติ

ปฏิญาณสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR)

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

รู้จัก ‘แซม พงษ์ศักดิ์’ : จุดเริ่มต้นคือการตั้งคำถาม จุดจบ? คือโทษจำคุก 60 ปี (สำนักข่าวประชาไท)

13 ประเด็นสำคัญในคดี 112 สมยศ พฤกษาเกษมสุข (สำนักข่าวประชาไท)

X