คดีฐนกร “หมิ่นสุนัขทรงเลี้ยง – แชร์ผังราชภักดิ์ฯ – ไลค์เพจหมิ่นฯ” ล่าสุด ศาลจังหวัดสมุทรปราการกำหนดนัดสืบพยาน มิ.ย.

20 มกราคม 2563 – ล่าสุด ศาลจังหวัดสมุทรปราการได้นัดพร้อมในคดีของ ฐนกร (สงวนนามสกุล) จำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากการแชร์ผังทุจริตในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ กดไลค์เพจที่มีข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และโพสต์เสียดสีคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง เพื่อนัดวันสำหรับสืบพยานต่อ หลังโอนย้ายคดีมาจากศาลทหารกรุงเทพ โดยเหลือพยานโจทก์ที่ยังไม่ได้สืบทั้งหมด 10 ปาก และพยานจำเลยอีก 6 ปาก ศาลให้วันนัดสืบพยานโจทก์ 2 นัด พยานจำเลย 1 นัด และกำหนดวันนัดสืบพยานในเดือนมิถุนายนระหว่างวันที่ 24 – 26 มิถุนายน 2563 ทุกนัดเริ่มเวลา 9.00 – 16.00 น.

คดีของฐนกรเป็นหนึ่งในคดีที่ถูกโอนย้ายจากศาลทหารกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2562 ซึ่งก่อนการที่จะมีคำสั่งโอนย้ายนั้น ศาลทหารกรุงเทพฯ ได้ทำการสืบพยานโจทก์ไปแล้วทั้งหมด 5 ปาก คดีนี้มีการยื่นฟ้องต่อศาลทหารกรุงเทพฯ  ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2559 ปัจจุบันย่างก้าวเข้าปีที่ 4 แล้ว แต่สามารถสืบพยานโจทก์ในศาลทหารไปได้จำนวนเพียงแค่ 5 ปากเท่านั้น

มูลเหตุสู่คดี: จำเลยถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร ญาติไม่สามารถตามตัวเป็นเวลาหลายวัน

ในวันที่ 8 ธันวาคม 2558 ฐนกรได้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปในค่ายทหารเป็นเวลาหลายวันเพื่อสอบถามเรื่องการโพสต์ภาพแผนผังเครือข่ายการทุจริตในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ และซักถามขยายผลเพิ่มเติมโดยที่ญาติไม่ทราบเรื่องสถานที่ควบคุมตัว จนกระทั่งเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2558 หลังจากที่ถูกควบคุมตัวเป็นเวลาถึง 7 วัน ทหารได้นำตัวฐนกรไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปรามดำเนินคดีในข้อหาทั้งสามข้างต้น ซึ่งหลังจากที่ตำรวจทำบันทึกการจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ฐนกรได้ให้การรับสารภาพโดยที่ไม่มีทนายหรือผู้ไว้วางใจอยู่ร่วมด้วยในการตัดสินใจ จากนั้นพนักงานสอบสวนได้นำตัวฐนกรไปฝากขังที่ศาลทหารกรุงเทพ

จากกรณีการควบคุมตัวโดยไม่ชอบอันเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของบุคคลโดยเจ้าหน้าที่รัฐ อีกทั้งยังมีการปกปิดสถานที่ควบคุมตัวโดยที่ไม่แจ้งให้ญาติทราบตั้งแต่ต้น ทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงได้ออกแถลงการณ์เพื่อชี้ว่า การกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่นั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นการบังคับให้สูญหาย ซึ่งละเมิดต่อพันธกรณีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญ โดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: CED) ที่ไทยได้ร่วมลงนาม พร้อมกันนั้น การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ยังส่งผลให้เกิดการละเมิดอื่น ๆ ซึ่งปิดกั้นผู้ถูกควบคุมตัวจากสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น สิทธิเข้าถึงทนายความ สิทธิที่จะได้พบญาติ และสิทธิที่จะติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก เป็นต้น

คำสั่งหัวหน้า คสช. 3/58: เจ้าหน้าที่เข้าค้นบ้านฐนกรทั้ง ๆ ที่ไม่มีหมาย

หลังจากที่ฐนกรได้รับการประกันตัว ทางพ่อและแม่ของจำเลยได้ให้ข้อมูลกับทางศูนย์ทนายฯ ว่า เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2559 ได้มีเจ้าหน้าที่ ทั้งทหารและตำรวจราว 20 นาย เข้าไปที่บ้านของครอบครัวที่จังหวัดสมุทรปราการพร้อมกับขอค้นบ้านทั้ง ๆ ที่ไม่มีหมายหรือเอกสารใด ๆ อาศัยคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/58 พร้อมกันนั้นได้มีการยึดคอมพิวเตอร์และตรวจอุปกรณ์สื่อสารของฐนกร ระบุว่าจะนำมาคืนหากไม่พบหลักฐานหรือเบาะแสที่ผิดกฎหมาย

ในวันที่ 15 พฤษภาคม ภายหลังจากการเข้าค้นบ้าน แม่ของฐนกรเล่าว่า ได้มีเจ้าหน้าขี่จักรยานยนต์ไปที่บ้านของฐนกรอีกครั้งและได้แจ้งให้แม่ของ ฐนกร ให้ไปที่ สภ.สมุทรปราการด่วน แต่ไม่ได้บอกว่าให้ไปเพื่ออะไร หลังจากที่แม่ของ ฐนกร ไปถึง สภ.สมุทรปราการ จึงได้ทราบว่าตำรวจได้เรียกไปสอบปากคำเพิ่มเติม

ห้ามเผยแพร่เนื้อหาคดี ศาลทหารออกคำสั่งให้ศูนย์ทนายฯ ลบข่าวเกี่ยวกับการสืบพยานคดีฐนกร

คดีนี้ในระหว่างการสืบพยานในศาลทหารกรุงเทพ หลังจากที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้นำเสนอข่าว “ทหารผู้กล่าวหาคดีแชร์ผังทุจริตราชภักดิ์-กดไลค์-หมิ่นหมา ใช้เฟซบุ๊กไม่เป็น แต่เห็นว่าแค่กดไลค์เพจหมิ่นฯ ก็ผิด 112” ในเว็บไซต์เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2561 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับคำให้การของ พล.ท.วิจารณ์ จดแตง (ยศพลตรีในขณะนั้น) ฝ่ายกฎหมายของ คสช. ผู้กล่าวหาให้ดำเนินคดีฐนกร ระหว่างการสืบพยานโจทก์นัดแรกในคดี  จากข่าวดังกล่าว ศาลทหารกรุงเทพได้นัดไต่สวนทนายความ อานนท์ นำภา ในวันที่ 3 ตุลาคม 2561 เหตุเพราะนำคำเบิกความในคดีไปมอบให้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล พร้อมกับมีคำสั่งให้ทนายอานนท์แจ้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ลบข้อมูลคำเบิกความและรายงานพิจารณาออกจากเว็บไซต์ภายใน 24 ชั่วโมง และห้ามนำคำเบิกความและรายงานพิจารณาในคดีฐนกรไปเผยแพร่ในสื่อทุกชนิด มิฉะนั้นจะถือว่าละเมิดอำนาจศาล

ในวันต่อมา (4 ตุลาคม) ทางทนายอานนท์ได้เข้ายื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ศาลทหารกรุงเทพ เหตุจากคำสั่งแจ้งให้ลบข่าว เพราะเป็นการใช้อำนาจที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยในวันที่ 5 ตุลาคม ศาลได้ยกคำร้องของทนายอานนท์ พร้อมให้เหตุผลว่า คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณา การนำคำเบิกความของพยานไปเผยแพร่ต่ออาจมีผลต่อการชี้นำสังคมให้รูปคดีเป็นไปตามที่ฝ่ายตนต้องการ หลังจากที่มีคำสั่งดังกล่าว ทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ออกบทความ แถลงการณ์กรณีศาลทหารออกข้อกำหนดห้ามเผยแพร่คำเบิกความพยานและรายงานกระบวนพิจารณาคดีฐนกร เพื่อยืนยันเหตุผลในการนำเสนอข้อเท็จจริงสู่สาธารณชนอันเป็นหลักประกันสิทธิในภาวะที่บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย

 

X