วันนี้ (20 พ.ค. 64) ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ศาลได้นัดอ่านคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ควบ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ของ “ฤาชา” จำเลยวัย 66 ปี ผู้คิดว่าตนเองถูกพระแม่ธรณีบงการให้ทำสิ่งต่างๆ รวมทั้งโพสต์เฟซบุ๊กเป็นรูปและข้อความซึ่งถูกกล่าวหาว่า มีเนื้อหาหมิ่นประมาทและพาดพิงพระราชินีและพระบรมโอรสาธิราช (ในขณะนั้น) ในเดือนมีนาคม 2559 จำนวน 5 โพสต์ โดยคดีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 2559 ในสมัยที่ คสช. ยังคงอยู่ในอำนาจ
ในช่วงเช้า กระบวนการตรวจคัดกรองผู้ที่จะเดินทางเข้าไปยังศาลอาญาค่อนข้างที่จะรัดกุม คาดว่าเนื่องจากในวันเดียวกันนี้ยังมีกรณีนัดสอบคำให้การกลุ่มการ์ด #WeVolunteer ทั้งหมด 45 ราย มีการปิดทางเข้าออกประตูอื่นๆ ทำให้ผู้ที่เดินทางมาศาลต้องเดินเข้าทางประตู 7 เท่านั้น นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ยังขอดูบัตรประชาชนและสอบถามผู้ที่เดินทางมาว่าต้องการไปที่ห้องพิจารณาคดีห้องใด
ในส่วนคดีของฤาชา ศาลได้นัดอ่านคำพิพากษาที่ห้อง 915 อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สังเกตการณ์จากของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้าไปในห้องพิจารณาคดี เจ้าหน้าที่ศาลได้แจ้งญาติ รวมไปถึงผู้สังเกตการณ์คนอื่นๆ ว่า ไม่สามารถเข้าร่วมฟังคำพิพากษาได้ เนื่องจากห้องพิจารณามีขนาดเล็กและมีจำเลยรอการพิจารณาในคดีอื่นอีกหลายราย ซึ่งอาจสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในห้องพิจารณาคดีจึงมีแค่ทนายความ จำเลย ภรรยาของจำเลย รวมไปถึงจำเลยในคดีอื่นอีกหลายรายเพียงเท่านั้น
ราว 10.30 น. ศิริชัย สุวรรณแสน และเรวัติ จุลชาตินันท์ ผู้พิพากษา อ่านคำพิพากษา มีเนื้อความโดยสรุปว่า เชื่อได้ว่า ขณะกระทำความผิด จำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือบังคับตนเองได้บ้าง หาใช่กระทำไปโดยไม่รู้สาเหตุและไม่รู้ตัวว่ากระทำการอะไร จำเลยยังต้องรับโทษในคดีนี้ แต่สำหรับความผิดนั้น ศาลจะลงโทษน้อยกว่าตามที่กำหนดของมาตรา 112 อ้างตาม[simple_tooltip content=’มาตรา ๖๕ ผู้ใดกระทำความผิด ในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น
วรรคสอง แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
‘]ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรค 2[/simple_tooltip]
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดจริงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ลงโทษทั้งหมด 5 กรรม กรรมละ 2 เดือน แต่เนื่องจากคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลย รวมไปถึงการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามมาตรา 78 ของประมวลกฎหมายอาญา จำคุกจำเลยเหลือกรรมละ 1 เดือน 10 วัน รวมโทษจำคุก 5 เดือน 50 วัน พิเคราะห์ถ้อยคำหมิ่นประมาทตามฟ้องแล้วเห็นว่า เป็นถ้อยคำที่รุนแรง ไม่ควรอนุญาตให้รอการลงโทษแก่จำเลย ให้ยึดของกลางในคดีคือโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ต
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากฤาชาเคยถูกขังในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาคดีมาเป็นเวลา 7 เดือน 14 วัน เกินกว่าโทษจำคุกที่ศาลตัดสิน ในวันนี้ฤาชาจึงไม่ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำเพื่อรับโทษอีก
เสียงจากภรรยาของ “ฤาชา”: “เราเป็นห่วงเขา กลัวจะต้องติดเชื้อโควิด หากศาลสั่งจำคุก”
ภายหลังจากการฟังคำพิพากษาในวันนี้ ไม่ใช่แค่ความโล่งใจของผู้สังเกตการณ์ จำเลย และทนายความเท่านั้น แต่ในส่วนของภรรยาของ “ฤาชา” คือ “ยุพิน” เธอเองก็แสดงออกถึงความโล่งใจอย่างชัดเจน เพราะตลอดระยะเวลาในการต่อสู้คดี 5 ปีกว่า ตั้งแต่เมื่อครั้งที่คดียังอยู่ในศาลทหารจนกระทั่งวันนี้ที่คดีถูกโอนย้ายมายังศาลยุติธรรม เธอเล่าว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนรักของเธอนั้นเป็นอะไรที่หนักหนา และกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวเป็นอย่างมาก
“ความรู้สึกตลอด 5 ปีที่ผ่านมาคือมันหนักหนา เต็มไปด้วยความรู้สึกด้านลบ ไม่มีอะไรที่ช่วยให้มองในแง่ดีได้เลย จากที่ลุงเขาเคยช่วยงานหารายได้และเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง ประสบการณ์การโดนคดีทำให้เขาไม่สามารถช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวได้อย่างที่เคย บางช่วงที่แกต้องกินยา กลายเป็นเราเองที่ต้องดูแลเขาและยังต้องทำงานไปด้วย รายได้มันน้อย จะหยุดงานก็ไม่ได้ด้วย ผลกระทบมันรอบด้านจริงๆ”
เมื่อรู้ว่ามีโอกาสสูงที่สามีของเธออาจจะต้องสูญเสียอิสรภาพในช่วงบั้นปลายของชีวิต ยุพินเองก็พยายามที่จะเตรียมใจ ทั้งกับตัวเธอเองและตัวสามี เพราะหากศาลตัดสินว่าสามีของเธอมีความผิดจริง และต้องถูกส่งเข้าเรือนจำโดยที่ไม่ได้รับการประกันตัว มีความสุ่มเสี่ยงอยากมากที่เขาอาจจะติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ซึ่งกำลังระบาดอยู่ในเรือนจำหลายแห่งทั่วประเทศในขณะนี้
“ก่อนที่จะมาศาลวันนี้ ป้ากับลุง เราก็ไม่เตรียมตัวอะไรมาก แจ้งลางานตามปกติ แต่เราก็บอกลุงเขาไว้ว่า ให้ทำใจเผื่อไว้นะ หากจะต้องติดคุก แต่คิดว่า ต่อให้ต้องเข้าไปอยู่ข้างในจริง ก็ไม่น่าจะต้องอยู่นาน เพราะเชื่อว่าจะมีทีมทนายคอยช่วยเหลือ แต่ส่วนหนึ่งที่เขาวิตกก็เพราะกลัวเราต้องเดินทางกลับบ้านคนเดียว เขาเป็นห่วงเราว่าจะกลับยังไง”
“วันนี้หลังจากฟังคำพิพากษาก็รู้สึกดีใจมาก ถ้าผลลัพธ์ออกมาเลวร้าย เราก็สงสารลุงเค้า เพราะเขาก็กลัวอยู่ว่า ถ้าศาลสั่งให้จำคุก อาจจะเสี่ยงติดเชื้อโควิดในที่คุมขัง เขาเองก็ยังดูแลตัวเองไม่ค่อยได้”
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 59 ฤาชาถูกเจ้าหน้าที่กว่า 20 นายบุกจับที่บ้านในจังหวัดระยอง ก่อนจะถูกทั้งตำรวจและทหารร่วมกันสอบปากคำและถูกควบคุมตัวอยู่ที่ มทบ. 11 นานเกือบอาทิตย์ ต่อมาจึงได้พบจิตแพทย์เพื่อตรวจสอบอาการทางจิต เขาถูกส่งตัวต่อไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อแจ้งข้อกล่าวหา และขออำนาจศาลทหารกรุงเทพฝากขังเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 59 กระทั่งถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลังศาลทหารอนุญาตให้ฝากขัง เกือบ 8 เดือนต่อมา (18 พ.ย. 59) ฤาชาถึงได้รับการประกันตัวในวงเงิน 400,000 บาท
เดิมทีคดีนี้ถูกพิจารณาในศาลทหาร แต่ทางศาลทหารได้จำหน่ายคดีนี้ไว้ชั่วคราว เนื่องจากทำการไต่สวนจิตแพทย์ 2 รายที่รักษาจำเลยแล้ว แพทย์ยืนยันว่าอาการของจำเลยเพียงแค่ลดลงบ้างเท่านั้น แต่อาการทางจิตเภทเป็นความป่วยไข้ที่ไม่มีทางหายขาด จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้อาการทรุดลงไปมากกว่าเดิม จนเมื่อ คสช. มีคำสั่งโอนย้ายคดีจากศาลทหารมายังศาลยุติธรรม ศาลยุติธรรมจึงได้เริ่มทำกระบวนการสืบพยานในเดือนมีนาคม 64 จนกระทั่งต่อมามีคำพิพากษาในวันนี้
อ่านข้อมูลคดีเพิ่มเติม>>> ฤาชา คดีหมิ่นพระมหากษัตริย์ (ป่วยจิตเภท-โพสต์เฟซบุ๊ก)