จนท.ไม่ทราบหน่วย คุมตัว นศ.มธ. ขู่บังคับให้ข้อมูล เหตุรีทวิตเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2562 พบผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่ง ใช้ชื่อแอคเคาท์ @99CEREAL ได้ทวิตเล่าเรื่องการถูกควบคุมตัวจากมหาวิทยาลัยไปยัง สภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี จากกรณีการรีทวิตข้อความในทวิตเตอร์ โดยเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้มีการแสดงหมายจับหรือแนะนำสังกัด ภายหลังถูกนำตัวไปซักถามเป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมง ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายดังกล่าวยังถูกกดดันให้เซ็นบันทึกข้อตกลง โดยมีข้อหนึ่งระบุว่าจะไม่ทวิตเรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อีก

ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายดังกล่าว น.ส. “พี” (นามสมมติ) เปิดเผยข้อมูลกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ถึงเหตุการณ์การควบคุมตัวดังกล่าวว่าเกิดขึ้นเมื่อช่วงวันที่ 1 พ.ย. 2562 เวลาประมาณ 9.00-10.00 น. ระหว่างที่ตนกำลังเรียนอยู่ในคาบเรียนช่วงเช้า ปรากฎว่าได้มีเจ้าหน้าที่ชายและหญิงไม่ต่ำกว่า 3 คน ในชุดนอกเครื่องแบบ โดยสวมเสื้อแจ็คเก็ตสีดำเดินทางเข้ามาติดต่อกับฝ่ายทะเบียนของภาควิชาหนึ่งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อขอพบตัวเธอ โดยยังไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่ได้แสดงหลักฐานใดต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนหรือไม่ 

จากนั้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนได้ติดต่อมายังเลขาของภาควิชา และได้พาเจ้าหน้าที่มาพบตนถึงห้องเรียน โดยเข้าไปแจ้งในห้องเรียนว่ามีคนต้องการพบ ตนจึงได้ออกจากห้องเรียนไป เมื่อได้พบเจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าว ไม่มีใครแนะนำชื่อ หรือยศ ตำแหน่งสังกัดให้ทราบ บอกเพียงว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และยังไม่ได้มีการแสดงเอกสารใด ๆ บอกแต่เพียงว่า มาเพราะเรื่องทวิตเตอร์ในเชิงหมิ่นฯ ให้เธอเดินตามมา โดยมีเลขาของภาควิชาได้ขอเดินทางติดตามไปกับตนด้วย

“พี” เล่าว่าตนได้ถูกนำตัวขึ้นรถเก๋งที่เจ้าหน้าที่เตรียมไว้ โดยบอกเพียงว่าหากขึ้นรถตำรวจจะดูไม่ดี แต่ “พี” ไม่เห็นว่ามีรถตำรวจจอดอยู่บริเวณดังกล่าวด้วยหรือไม่ ภายหลังถูกควบคุมตัว “พี” ได้ถูกนำตัวขึ้นไปยังชั้น 3 ซึ่งเป็นห้องสอบสวนของ สภ.คลองหลวง 

“พี” ระบุว่า ในระหว่างถูกซักถามโดยเจ้าหน้าที่ มีกล้องวีดิโอวางอยู่ด้านหน้าของตน และมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไม่ทราบสังกัดประมาณ 10 คน ร่วมการซักถาม ทั้งนี้ไม่มีผู้ใดแนะนำตัวกับตนว่าเป็นใคร สังกัดหน่วยใด และมาจากที่ใดบ้าง ตลอดการสอบสวน เธอถูกถ่ายรูปจากกล้องมือถือของเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่ยืนล้อมอยู่ และถูกบันทึกภาพเคลื่อนไหวบทสนทนาทั้งหมดผ่านกล้องวีดิโอเอาไว้ โดยมีผู้ซักถามหลักราว 3 คน และมีเจ้าหน้าที่นั่งพิมพ์บันทึกบทสนทนาด้วยคอมพิวเตอร์อีกคนหนึ่ง 

“พี” เล่าว่า การซักถามมุ่งความสนใจไปที่เรื่องการแสดงออกต่อสถาบันกษัตริย์ โดยมีการปรินท์ภาพจากทวิตเตอร์ของเธอที่มีการรีทวิตข้อความของบุคคลต่างๆ เช่น ทวิตของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ทวิตของผู้ใช้นามแฝงว่า “นิรนาม”, ทวิตข่าวสารคดีจากต่างประเทศที่นำเสนอเรื่องประเทศไทย เป็นต้น โดยทวิตแทบทั้งหมดที่ถูกนำมาสอบถามเกิดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม

“พี” ระบุว่าเจ้าหน้าที่ชุดที่สอบสวนนี้ได้บอกให้ตนลบข้อความที่เคยทวิตไปแล้วทั้งหมดด้วย เธอยังถูกซักถามความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องแฮชแท็กขบวนเสด็จ และการไม่ยืนในโรงภาพยนตร์ รวมไปถึงความคิดเห็นต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปัจจุบัน 

เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบยังได้ซักถามไปถึงเรื่องเพื่อนร่วมชั้นเรียน รูมเมท และครอบครัว รวมถึงญาติผู้ใหญ่ของ “พี” ทำให้เธอเกิดความอึดอัดใจที่จะตอบคำถาม โดยข้อมูลที่เจ้าหน้าที่นำมาพูดคุยสอบถามรวมไปถึงเรื่องราว 2-3 ปีย้อนหลัง ทำให้ “พี” ทราบว่าเจ้าหน้าที่ได้มีการขุดค้นข้อมูลในทวิตเตอร์ของเธอย้อนหลังไปมากพอสมควร

หลังจากการซักถาม เจ้าหน้าที่ได้ขอโทรศัพท์มือถือของ “พี” ไปเพื่อจะตรวจสอบถึง 3 ครั้ง แต่เธอไม่ยินยอม ยินยอมได้เพียงให้ตรวจสอบโดยที่โทรศัพท์ยังคงอยู่ในมือของเธอ เจ้าหน้าที่ได้ขอถ่ายภาพ IP ของโทรศัพท์มือถือ, ชื่อล๊อคอินทวิตเตอร์, เบอร์โทรศัพท์, ชื่ออีเมล์ทั้งหมดและจดหมายที่ถูกส่งเข้ามา รวมไปถึงการขอดูแชทไลน์, Instagram story และเฟซบุ๊กของเธอ ซึ่งไม่ได้ถูกใช้งานมานานแล้วด้วย

ท้ายที่สุด “พี” ถูกกดดันให้ลงชื่อในเอกสารข้อตกลง (MOU) ที่มีเนื้อหาที่สำคัญ คือการยินยอมให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบอุปกรณ์ และอนุญาตให้นำข้อมูลไปใช้, การให้การรับรองว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย และข้อตกลงว่าจะไม่ทวิตข้อความเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อีก หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ได้นำตัว “พี” ขึ้นรถกลับมาส่งที่คณะ หลังจากใช้เวลาสอบถามประมาณ 1 ชั่วโมง

“พี” เปิดเผยว่าประสบการณ์ดังกล่าว ทำให้รู้สึกถูกคุกคาม ถึงโดยรวมเจ้าหน้าที่จะไม่ได้พูดจาไม่ดี แต่ก็สร้างความรู้สึกเครียด เพราะถูกรุมล้อมและซักถามโดยเจ้าหน้าที่จำนวนมาก และยังได้รับความกดดัน เพราะตนไม่ได้มีความรู้ทางกฎหมาย และเจ้าหน้าที่บีบคั้นให้เปิดเผยข้อมูลต่างๆ  จนหลังจากเหตุการณ์แล้ว ได้มาศึกษาเบื้องต้น ก็พบว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีสิทธิมากระทำการในลักษณะนี้กับประชาชน และตนเองก็ไม่จำเป็นต้องให้ข้อมูลเช่นนั้น จึงคิดว่าคนอื่นๆ ควรจะได้ทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้ และได้เลือกออกมาเปิดเผยข้อมูลว่ามีการกระทำเช่นนี้ 

ในส่วนข้อสังเกตว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่จึงสามารถระบุตัวตนของผู้ใช้งานทวิตเตอร์รายดังกล่าวได้ ทั้งที่ไม่ได้มีการใช้ชื่อสกุลจริงในการใช้งาน  “พี” สันนิษฐานว่าก่อนหน้านั้นหลายเดือน ตนได้เคยทวิตภาพเอกสารที่อาจจะใช้ระบุตัวตนได้ออกไป จึงอาจเป็นไปได้ว่าเจ้าหน้าที่อาจจะใช้ภาพดังกล่าวติดตามตัวตนต่อมา 

.

ข้อสังเกตและคำแนะนำของศูนย์ทนายฯ: กระบวนการที่เกิดขึ้นเป็นกระบวนการนอกกฎหมาย 

ทั้งนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีข้อสังเกตต่อกรณีดังกล่าวว่า แม้ในระยะหลังมีแนวโน้มการดำเนินคดีต่อการแสดงออกที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ที่เปลี่ยนไป แต่กลับพบรูปแบบการใช้กระบวนการนอกกฎหมายในการค้น ควบคุมตัว ขอข้อมูลส่วนบุคคล และทำบันทึกข้อตกลง ซึ่งศูนย์ทนายความฯ มีข้อสังเกต และคำแนะนำต่อกรณีดังกล่าวต่อไปนี้

1. การโพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดียนั้น ไม่ใช่การกระทำความผิดซึ่งหน้า ดังนั้น หากเป็นการควบคุมตัวจากเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น จำเป็นต้องแสดงหมายจับหรือหมายเรียก หากไม่มีหมายเรียกหรือหมายจับ เจ้าหน้าที่หรือบุคคลใดๆ ก็ไม่อาจควบคุมตัวเราไปได้ หากเราไม่ยินยอม พึงระลึกว่ากระบวนการดังกล่าวนั้น “เป็นกระบวนการนอกกฎหมาย” แม้กลุ่มบุคคลดังกล่าวจะอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ก็ตาม หากเผชิญกระบวนการในลักษณะนี้ ไม่ควรติดตามไปโดยไม่ทราบว่าเป็นบุคคลใด จะพาไปยังสถานที่ใด ด้วยสาเหตุใด และเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามกฎหมายใด เพราะอาจเกิดเหตุการณ์ที่นอกเหนือความคาดหมายมากกว่าการซักถาม หรือถูกบังคับให้ข้อมูลได้

2. กลุ่มบุคคลดังกล่าวมักจะไม่แสดงตัวว่าชื่ออะไร สังกัดใด แต่จะหว่านล้อมและจูงใจ โดยอ้างว่าการให้ความร่วมมือจะเป็นประโยชน์มากกว่า และมีข้อแลกเปลี่ยนว่าหากยินยอมให้ข้อมูลและลงชื่อในบันทึกข้อตกลง  การดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ จะยุติลง และจะไม่ถูกดำเนินคดี แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าเมื่อเราให้ข้อมูลแล้วจะไม่มีการดำเนินคดีเกิดขึ้น ในทางตรงกันข้ามเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว ผู้ถูกควบคุมตัวมักถูกกดดันจนต้องยอมให้ข้อมูลส่วนตัว หรือต้องอธิบายความจนอาจเป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดีได้ นอกจากนี้ ศูนย์ทนายความฯ พบว่าบันทึกข้อตกลงในบางกรณีนั้นเป็นบันทึกที่ลงชื่อโดยผู้ถูกควบคุมตัวเพียงฝ่ายเดียว ไม่ได้มีเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมตัวร่วมลงชื่อร่วมด้วย

3. กรณีเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ การที่เจ้าหน้าที่จะทำสำเนาข้อมูล เข้าถึงข้อมูล หรือให้ส่งมอบอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (รวมถึงโทรศัพท์มือถือ) นั้น จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีหมายศาลเท่านั้น ไม่ควรให้สำเนาอุปกรณ์ หรือรหัสผ่าน (password) แก่บุคคลอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่ไม่แสดงตัว เพราะข้อมูลดังกล่าวอาจถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นอันก่อความเดือดร้อนมากกว่าความเป็นจริงได้

4. ข้อความที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวนำมาแสดงหรือกล่าวหา หากถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมยังต้องได้รับการตรวจสอบจากพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ ว่าเข้าข่ายเป็นความผิดกี่ข้อความและต้องถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาใดบ้าง ไม่ใช่ว่าเราจะถูกดำเนินคดีตามข้อความที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวนำมาแสดงทุกข้อความ อีกทั้งภาพบันทึกหน้าจอ (capture) เพียงอย่างเดียวไม่สามารถระบุตัวตนของผู้โพสต์ข้อความได้ พยานหลักฐานในการดำเนินคดีจะแน่นหนาเพียงใดนั้นต้องพิจารณาในชั้นศาล

5. อย่างไรก็ตาม หากยินยอมเข้าสู่กระบวนการดังกล่าว พึงระลึกว่าเรายังมีสิทธิอย่างเต็มที่ในการที่จะให้ข้อมูลหรือไม่ให้ข้อมูล มีทนายความหรือบุคคลที่ไว้วางใจระหว่างกระบวนการ ปรึกษาทนายความก่อนเข้าร่วมกระบวนการ แจ้งญาติ หรือนัดหมายในวันเวลาและสถานที่ที่เราสะดวก และหากเปลี่ยนใจในระหว่างกระบวนการ สามารถถอนความยินยอม หรือไม่ลงชื่อในเอกสารใดๆ ก็ตามได้ทุกเมื่อ เนื่องจากขั้นตอนดังกล่าวนั้นไม่ใช่ขั้นตอนตามกฎหมาย การดำเนินการต่างๆ จึงขึ้นอยู่กับความยินยอมของเราเพียงเท่านั้น

 อ่านเพิ่มเติม คำแนะนำกรณีถูกควบคุมตัว ถูกจับกุม หรือได้รับหมายเรียก

 

 

 

X