แชร์โพสต์ FB สมศักดิ์ เจียม-ปวิน-Andrew นอกเครื่องแบบคุกคามที่บ้าน สั่งให้ลบโพสต์ บังคับเซ็น mou อ้าง “หมิ่นสถาบัน”

ระหว่างวันที่ 27-28 ก.ย. ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งจากนักศึกษาและ ประชาชน อย่างน้อย 2 ราย เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอ้างว่าเป็นตำรวจ สันติบาล หรือหน่วยงาน “ในพระองค์” ไปพบยังที่พักอาศัย โดยไม่ได้แนะนำชื่อและสังกัดอย่างชัดเจน และไม่มีหมายเรียก หรือหมายจับแต่อย่างใด มีเพียงเอกสารแคปหน้าจอเฟซบุ๊ค อ้างว่า  “หมิ่นสถาบัน” สาเหตุจากการแชร์โพสต์เฟซบุ๊ค สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล-ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์-Andrew MacGregor Marshall

 

นศ.จบใหม่ถูกเจ้าหน้าที่ไปพบบ้านเพราะแชร์โพสต์ FB Andrew, Pavin, สมศักดิ์ เจียม 

เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 63 ช่วงเช้าเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไม่ทราบชื่อ ยศ สังกัด และจำนวน เข้ามาหาที่บ้านของวรรณ (นามสมมติ) นักศึกษาจบใหม่ ที่จ.บุรีรัมย์ แต่ไม่พบใครจึงกลับไป ต่อมาประมาณ 14.30-15.00 น. เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 1 นายเข้าไปหาผู้นำชุมชน ขอให้พาไปหาวรรณที่บ้าน ผู้นำชุมชนจึงโทรศัพท์มาหาแม่ของวรรณ ใกล้เวลาเย็น ผู้นำชุมชนพาเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาหาวรรณที่บ้าน อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของทางการ และเจ้าหน้าที่ของพระองค์โดยตรง พร้อมชี้แจงว่าวรรณอยู่ในลิสต์คดีมาตรา 112 เพราะโพสต์เฟซบุ๊ก เขียน แชร์โพสต์ ที่ไปในทางดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ แล้วแสดงภาพแคปหน้าจอโพสต์เฟซบุ๊ค ของวรรณทั้งหมด 3 โพสต์ ซึ่งตั้งค่าเป็นสาธารณะทั้งหมด ได้แก่ 

1) โพสต์ของ Andrew MacGregor Marshall เนื่องในวันมหิดล 

2) โพสต์วันที่ 12 สิงหาคม 63 ข่าวร. 10 กลับไทย และข่าวสถานประกอบการทูลเกล้าถวายเงินให้กับร. 10 ที่มีบริษัทกสิกร ไทยประกันชีวิต โดยเป็นโพสต์จากเฟซบุ๊กของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์

3) คาดเดาว่าน่าจะเป็นโพสต์ของสมศักดิ์เจียม แต่ไม่ทราบรายละเอียดว่าเป็นโพสตเกี่ยวกับอะไร 

เจ้าหน้าขอให้ลบโพสต์เหล่านี้ออก โดยให้เหตุผลว่า  “เพราะทางการกำลังล่าบัญชีรายชื่อคนที่แชร์โพสต์พวกนี้อยู่ ส่วนมากคนที่โดนจะเป็นคนที่แชร์โพสต์จากคนที่มีคดี 112 ติดตัวอยู่ อย่างเช่น อ.ปวิน อ.สมศักดิ์ ถ้าไม่ลบ หรือยังจะแชร์โพสต์ที่ไปในทางที่ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์อีก เขาจะให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองมาหา ไม่ก็จะทำการดำเนินคดี” แต่วรรณก็ไม่ได้ลบโพสต์แต่อย่างใด

นอกจากนี้ยังอ้างว่า เพราะเห็นวรรณเป็นคนบ้านเดียวกัน เลยเห็นใจ ไม่ดำเนินคดี โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้ให้เซ็นข้อตกลงอะไร แต่ว่าถ่ายรูปตอนวรรณคุยกับเจ้าหน้าที่ไว้ และขอเบอร์โทรของนักศึกษาคนนี้ไป 

ทั้งนี้ ก่อนเจ้าหน้าที่ออกไป เจ้าหน้าที่บอกว่าต้องไปหาผู้แชร์โพสต์หมิ่นอีกที่หนึ่ง วรรณเลยสันนิษฐานว่าน่าจะมีคนถูกเจ้าหน้าที่เยี่ยมบ้านอีกหลายคน 

 

นอกเครื่องแบบมาหาที่บ้านให้เซ็น mou เหตุแชร์โพสต์สมศักดิ์ เจียมฯ เรื่องคืนตำแหน่งฯ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับแจ้งจากวิทวัส รุ่งเรือง อายุ 33 ปี ว่าเมื่อวันที่ 28 ก.ย.2563 เวลาประมาณ 17.00 น. มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 2 คน มาหาที่บ้านย่านสายไหม กรุงเทพฯ โดยเขาเพิ่งมาถึงบ้าน และพบว่าบริเวณหน้าบ้านมีรถ Toyota Hilux Vigo มาจอด มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 2 คนเดินไปเดินมาอยู่หน้าบ้าน 

เจ้าหน้าที่อ้างว่า เป็นสารวัตรจากสน.ใกล้เคียง ส่วนอีกคนเป็นสันติบาลมาจากส่วนกลาง โดยที่ทั้งสองไม่ได้แสดงบัตรประจำตัว หรือแจ้งชื่อหน่วยงาน หรือมีหมายใดๆ  

เมื่อเจอวิทวัสก็เข้ามาสอบถามเหมือนซักประวัติส่วนตัว เช่น ถามว่าทำงานที่ไหน จบจากที่ไหน ถามเบอร์โทรศัพท์พ่อแม่ แต่วิทวัสเห็นว่าทางเจ้าหน้าที่มีเบอร์โทรศัพท์พ่อแม่ของเขาอยู่แล้ว 

จากนั้น เจ้าหน้าที่นำเอกสารทะเบียนราษฎร์ของวิทวัส มายื่นให้เขาดูเพื่อยืนยันตัวตน และนำภาพแคปหน้าจอเฟซบุ๊คมาแสดงให้วิทวัสดู  เป็นภาพที่วิทวัสแชร์โพสต์จากเฟซบุ๊คสมศักดิ์ เจียมฯ  (Somsak Jeamteerasakul) เปิดสาธารณะ ซึ่งเป็นโพสต์เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2563 กล่าวถึงการคืนตำแหน่งฯ พร้อมแคปชั่น “กุนซือสรุป” โดยที่โพสต์ดังกล่าวไม่มีใครกดถูกใจหรือแชร์ต่อ

 

 

เจ้าหน้าที่แจ้งว่า การที่เขาแชร์โพสต์ดังกล่าว เป็นพฤติกรรม “หมิ่นสถาบัน” และให้เขาลงชื่อในเอกสารข้อตกลง มีข้อความเขียนอยู่ยาวประมาณครึ่งหน้ากระดาษ มีให้เขาเขียนชื่อ ที่อยู่ และให้ยอมรับว่าโพสต์รูปภาพที่ดูสุ่มเสี่ยงต่อสถาบัน ยอมรับว่าเขาได้แชร์รูปผิดต่อสถาบัน และมีช่องให้พยานเซ็นชื่อ 2 ช่อง โดยมีแฟนของวิทวัสลงลายมือชื่อเป็นพยาน และมีสารวัตรเป็นคนเซ็นกำกับเป็นพยาน

เจ้าหน้าที่ยังขอให้เขาลบโพสต์ดังกล่าว และขอให้ปิดเฟซบุ๊ค โดยวิทวัสได้เปิดหน้าเฟซบุ๊คของตนให้เจ้าหน้าที่ดู เลื่อนไปจนถึงวันที่เขาแชร์ พบว่าโพสต์ดังกล่าวเขาได้ลบไปก่อนหน้านี้แล้ว และเจ้าหน้าที่ได้ถ่ายรูปหน้าจอโทรศัพท์ของเขาไป แต่เขาไม่ได้ทำการปิดเฟซบุ๊คตามที่เจ้าหน้าที่สั่งระหว่างการพูดคุย ได้มีเจ้าหน้าที่คอยถ่ายรูปว่าได้มาหาเขา ในขณะที่แฟนของวิทวัสจะถ่ายรูปด้วย เจ้าหน้าที่กลับขอให้ไม่ให้ถ่าย บอกว่าเดี๋ยวจะเป็นเรื่องใหญ่ ทั้งหมดใช้ระยะเวลาราว 30 นาที ก่อนเจ้าหน้าที่จะกลับไป 

ทั้งนี้วิทวัสระบุว่า เขายังไม่ได้ร่วมเคลื่อนไหวอย่างเต็มตัว ยังไม่เคยไปเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองใดๆ ที่จัดในช่วงระหว่างนี้ เพียงแค่เคลื่อนไหวอย่างการแชร์โพสต์ในโซเชียลมีเดียเท่านั้น

 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตว่ารูปแบบการทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวนี้ไม่ได้เป็นขั้นตอนตามกฎหมายแต่ถูกนำมาใช้กับการแสดงออกซึ่งเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างต่อเนื่องและไม่อาจการันตีได้ว่าการให้ข้อมูลหรือการทำบันทึกข้อตกลงกับกลุ่มบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ดังกล่าวนั้นจะไม่นำไปสู่การดำเนินคดีได้จริง หากพบสถานการณ์ดังกล่าวควรปรึกษาทนายความ 

 

อ่านสถานการณ์ดังกล่าวและข้อแนะนำในการรับมือเพิ่มเติม

ข้อสังเกตและคำแนะนำต่อกระบวนการนอกกฎหมาย บังคับให้ข้อมูล และทำบันทึกข้อตกลง

รีวิวประสบการณ์ถูก “คุมตัวไปคุย” หลังโพสต์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ของ 1 หนุ่มออฟฟิศ 2 นักเรียน-นักศึกษา

 

อ่านรายงานข่าวกรณีอื่นๆ เท่าที่มีรายงานในช่วงสถานการณ์ชุมนุมหลังเยาชนปลดแอก

จนท.หลายฝ่ายบุกบ้านผู้โพสต์รูปทิวากรสวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาฯ” นำตัวไปสถานี ตร.

น.ศ.ถูกตร.ตามถึงบ้าน หลังแชร์ข่าวทิวากร-ซุ้มเฉลิมฯ ให้เซ็นไม่โพสต์เรื่องสถาบันกษัตริย์อีก

ตร.เรียกตัวนร.ไปคุยที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน ห้ามไม่ให้แชร์โพสต์เกี่ยวกับสถาบันฯ และปชต.

แค่แชร์ข่าวโปรดเกล้าฯ คืนฐานันดรศักดิ์ นคบ.คุกคามนิสิต มมส. ถึงบ้าน ทำย่าความดันขึ้น

ตร.ติดตามนร.-น.ศ. 5 ราย แชร์โพสต์เรื่องสถาบันกษัตริย์ถึงบ้าน บังคับเซ็นข้อตกลงไม่ทำอีก

 

X