สันติบาลไปบ้านผู้แชร์โพสต์ “ปวิน” – จนท.ไปตามถามข้อมูลเพื่อนบ้านของนักศึกษา มธ.

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน 2 ราย ถึงกรณีที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้าติดตามถึงบ้านจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง รายหนึ่ง ถูกเจ้าหน้าที่สันติบาลเข้าติดตามเพราะแชร์โพสต์มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์จากโพสต์ของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ อีกราย ถูกกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐไม่ทราบหน่วยเข้าสอบถามข้อมูลส่วนตัวจากเพื่อนบ้าน โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่คาดว่าเกี่ยวข้องกับการโพสต์ข้อความทางการเมือง

สันติบาลไปบ้านผู้แชร์โพสต์ “ปวิน” ให้เซ็นเอกสารรับว่าแชร์ พร้อมให้ลบออก

รายแรก ชื่อ “ศักดา” (นามสมมติ) อายุ 56 ปี ประกอบอาชีพขายของออนไลน์ ระบุว่าเมื่อช่วงวันที่ 12 ธ.ค. 63 ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ 1 นาย เดินทางมาที่บ้านของเขา เจ้าหน้าที่รายนี้ได้ขอเข้ามาพูดคุย โดยไม่ได้มีการแสดงหมายใดๆ แต่ได้แสดงบัตรประจำตัวให้ดู ซึ่งระบุว่ามาจากหน่วยของสันติบาลกองกำกับการ 6

สันติบาลรายนี้ระบุว่าศักดาได้ไปโพสต์เฟซบุ๊กหมิ่นสถาบันฯ โดยมีการเปิดโทรศัพท์ที่แคปข้อความดังกล่าวให้ดู แต่ไม่ได้มีการพิมพ์ภาพและข้อความมาให้ดู ศักดาจำได้ว่าเป็นภาพในหลวงรัชกาลที่ 10 คล้ายคลึงกับภาพปกของกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” กับภาพรัชกาลที่ 10 กับเจ้าคุณพระสินีนาฏ พร้อมมีข้อความภาษาเยอรมัน เป็นคล้ายๆ พาดหัวข่าว ซึ่งเขาอ่านไม่ออก

ศักดาระบุว่าตอนแรกเขาจำไม่ได้ว่าได้แชร์โพสต์ดังกล่าวหรือไม่ แต่เมื่อนึกดู จึงได้คิดว่าน่าจะเป็นโพสต์ของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการผู้ลี้ภัยทางการเมือง ซึ่งมีการเผยแพร่ในช่วงเดือนกันยายน 63 โดยจำได้ว่าเป็นภาพจากสำนักข่าวต่างประเทศ และมีการเขียนข้อความประกอบ ซึ่งเขาได้กดแชร์มาโดยไม่ได้ตั้งใจ และไม่ได้อ่านข้อความโดยละเอียด นอกจากนั้นเขาจำได้ว่าแชร์โพสต์นี้โดยตั้งค่าเฉพาะเพื่อน ไม่ได้เผยแพร่เป็นสาธารณะ จึงไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่เห็นโพสต์ดังกล่าวได้อย่างไร

เจ้าหน้าที่สันติบาลรายนี้ระบุกับศักดาว่าครั้งนี้เพียงแค่มาตักเตือนเฉยๆ และได้สอบถามว่าเขาเคยไปร่วมชุมนุมในช่วงนี้หรือไม่ ศักดาระบุว่าเขาไม่เคยไปร่วมชุมนุมทางการเมืองเลย ได้แต่ติดตามข่าวสาร เจ้าหน้าที่ยังสอบถามข้อมูลส่วนตัวของเขา เช่น อาชีพที่ทำ ครอบครัว เบอร์โทรศัพท์

เจ้าหน้าที่ยังได้นำเอกสารที่พิมพ์ข้อความมาเอง โดยไม่มีลักษณะเป็นเอกสารราชการ มีข้อความในลักษณะว่าเขายอมรับว่าเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กที่แชร์ข้อความดังกล่าว แต่ไม่ได้มีข้อความระบุว่าเขากระทำความผิด หรือข้อความในลักษณะเป็นข้อตกลงว่าห้ามทำสิ่งใด ซึ่งเขาก็ได้ยินยอมเซ็นเอกสารดังกล่าวไป เจ้าหน้าที่ยังขอให้เขาลบโพสต์ต้นเหตุดังกล่าวออกด้วย โดยกล่าวในลักษณะว่าเขาไม่ควรแชร์ข้อมูลแบบนี้ อยากให้เขาแก้ไข ซึ่งเขาก็ได้ยินยอมลบโพสต์ดังกล่าวไปในเวลาต่อมา

ศักดาระบุว่าเขายังกังวลว่าเอกสารที่ลงชื่อไปจะส่งผลอะไรหรือไม่ ไม่ทราบว่าเป็นขั้นตอนใดตามกฎหมาย หรือเจ้าหน้าที่มีอำนาจกระทำเช่นนั้นหรือไม่ โดยเขาเองก็ไม่ได้ตั้งใจแชร์ข้อความข้อมูลดังกล่าวแต่อย่างใด

 

เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 3 นาย ติดตามถามข้อมูลนักศึกษา มธ. จากเพื่อนบ้าน

รายที่สองคือ “โจ” (นามสมมติ) เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ระบุว่าเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 63 เขาได้รับแจ้งจากทางบ้านว่าได้มีเจ้าหน้าที่รัฐนอกเครื่องแบบ 3 นาย นำรูปภาพของเขา ไปเดินสอบถามข้อมูลจากคนในหมู่บ้าน ตั้งแต่ปากซอยถึงท้ายซอย โดยเพื่อนบ้านที่ทางบ้านได้สอบถามระบุว่าทั้งสามคนตัดทรงผมสั้นเกรียน และท่าทางเหมือนเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ไม่ได้มีการแสดงตนและระบุว่าเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยใด เพื่อนบ้านคิดว่าไม่เป็นตำรวจก็เป็นทหาร

กลุ่มเจ้าหน้าที่ได้พยายามสอบถามเพื่อนบ้านว่ารู้จักนักศึกษาคนนี้หรือไม่ อาศัยอยู่ที่บ้านกับใคร และเรียนอยู่ที่ไหน โดยไม่ได้บอกถึงวัตถุประสงค์การสอบถามที่แน่ชัด แต่เพื่อนบ้านสังเกตเห็นว่าเจ้าหน้าที่มีนำเอกสารบางอย่างพกมาด้วย แต่ไม่ได้ให้ดู เมื่อไม่ได้คำตอบแน่ชัด เจ้าหน้าที่ก็เดินทางกลับไป

โจระบุว่าเจ้าหน้าที่น่าจะได้มาดูที่บ้านของเขาก่อนด้วย แต่ไม่มีใครอยู่บ้าน จึงมีการไปเดินสอบถามยังบ้านอื่นๆ นอกจากนั้นในช่วงค่ำยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจแอดไลน์ส่วนตัวของเขามาด้วย ที่ทราบเพราะชื่อไลน์ได้ระบุชื่อนามสกุลพร้อมยศ “ดาบตรี” จึงคิดว่ากำลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตาม

นักศึกษารายนี้ระบุว่าก่อนหน้านี้เขาได้โพสต์และแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับการเมืองลงในช่องทางสื่อออนไลน์ต่างๆ หลายข้อความ จึงไม่ทราบแน่ชัดว่าเพราะเหตุใดเป็นที่มาของการถูกติดตามนี้ แต่ในเรื่องการชุมนุมทางการเมือง เขาเพียงแต่เคยเข้าร่วมในฐานะผู้ชุมนุมเท่านั้น ไม่ได้เคยขึ้นปราศรัยหรือมีบทบาท จึงไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการเรื่องการชุมนุม

โจยังระบุว่าหลังเกิดเหตุ เขาได้พูดคุยกับรุ่นน้องนักศึกษา ทราบว่ามีรุ่นน้องที่เคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไปติดตามที่บ้านในช่วงหลายเดือนก่อนเช่นเดียวกัน โดยเป็นการไปติดตามตอนรุ่นน้องไม่ได้อยู่บ้านคล้ายกัน แต่กรณีนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการพบกับครอบครัวของรุ่นน้อง แล้วให้ครอบครัวเซ็นเอกสารข้อตกลงว่าจะไม่โพสต์เรื่องการเมืองบนโซเชียลมีเดียอีก ทำให้เข้าใจว่ากรณีของเขาอาจคล้ายคลึงกัน

โจเห็นว่าวิธีดังกล่าวเป็นการพยายามสร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นกับทั้งผู้แสดงความเห็นทางการเมืองและผู้ปกครองที่บ้าน

 

ทั้งนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าการคุกคามในลักษณะดังกล่าว มีลักษณะเป็นปฏิบัติการ “นอกกฎหมาย” ของเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นเรื่องสถาบันกษัตริย์ในโลกออนไลน์ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะตั้งแต่ช่วงปี 2562 โดยมีทั้งใช้การคุมตัวไปสอบสวนที่สถานีตำรวจ หรือการไปคุกคามข่มขู่ในพื้นที่ส่วนตัว โดยยังไม่ถึงขนาดมีการแจ้งข้อกล่าวหาหรือดำเนินคดี แต่ได้มีการบังคับให้ลงนามในเอกสารของฝ่ายเจ้าหน้าที่ เพื่อไม่ให้โพสต์หรือแชร์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อีก โดยที่เอกสารดังกล่าวไม่ได้มีสถานะทางกฎหมายแต่อย่างใด

 

อ่านสถานการณ์ดังกล่าวและข้อแนะนำในการรับมือเพิ่มเติม

รีวิวประสบการณ์ถูก “คุมตัวไปคุย” หลังโพสต์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ของ 1 หนุ่มออฟฟิศ 2 นักเรียน-นักศึกษา

ข้อสังเกตและคำแนะนำต่อกระบวนการนอกกฎหมาย บังคับให้ข้อมูล และทำบันทึกข้อตกลง

 

X