ตร.ติดตามนร.-น.ศ. 5 ราย แชร์โพสต์เรื่องสถาบันกษัตริย์ถึงบ้าน บังคับเซ็นข้อตกลงไม่ทำอีก

ระหว่างวันที่ 22-23 ก.ย. ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งจากนักเรียนและนักศึกษา จำนวน 5 ราย ถึงเหตุการณ์ที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือหน่วยงานทางปกครอง ติดตามไปถึงบ้าน เหตุจากการได้แชร์โพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในเฟซบุ๊ก

ทุกกรณีเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีหมายเรียก หมายค้น หรือหมายจับไปแสดงแต่อย่างใด บางกรณีอ้างว่าการแชร์ข้อความนั้นเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อาจจะถูกดำเนินคดีและต้องติดคุก โดยเจ้าหน้าที่ยังบังคับให้ลบโพสต์ข้อความออก และให้เซ็นเอกสารข้อตกลงว่าจะไม่แชร์หรือโพสต์เรื่องสถาบันกษัตริย์อีก

ผู้แจ้งข้อมูลบางรายยังระบุว่าสังเกตเห็นเอกสารที่เจ้าหน้าที่นำมา มีภาพและชื่อบุคคลอื่นๆ ที่ต้องไปติดตามอีกด้วย ทำให้สถานการณ์คุกคามนอกกฎหมายในลักษณะนี้มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นกับผู้ใช้โซเชียลมีเดียอีกจำนวนมาก

 

นักศึกษาแชร์โพสต์ “ปวิน” เจ้าหน้าที่บังคับพ่อเซ็นข้อตกลง ให้ปิดเฟซบุ๊ก ขู่ดำเนินคดี 112

รายแรก เป็นนักศึกษาหญิงชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เธอระบุว่าเมื่อช่วงเย็นวันที่ 22 ก.ย. ระหว่างเลิกเรียน ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 4-5 นาย เดินทางไปที่บ้าน โดยไม่ทราบว่าไปในชุดในหรือนอกเครื่องแบบ และไม่ทราบสังกัด ตอนนั้นไม่มีใครอยู่บ้าน ตำรวจจึงติดต่อไปที่พ่อของเธอ โดยไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่ทราบเบอร์ติดต่อได้อย่างไร

เมื่อพ่อของเธอกลับมาที่บ้าน เจ้าหน้าที่ระบุเหตุที่มา ว่าเพราะลูกสาวได้แชร์โพสต์ข้อความเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ โดยมีการนำภาพแคปข้อความที่เธอแชร์จากเพจของ “Pavin Chachavalpongpun” นักวิชาการผู้ลี้ภัยทางการเมืองและผู้ก่อตั้งกรุ๊ป “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” ขึ้น จำนวน 1 ข้อความมาให้ดู โดยเป็นข้อความเกี่ยวกับสถานะของกษัตริย์กับรัฐธรรมนูญ

ต่อมา พ่อได้ติดต่อเธอ และส่งโทรศัพท์ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจพูดคุยด้วย เจ้าหน้าที่พยายามบอกให้เธอกลับบ้านมาทันที เพราะต้องรีบรายงานเรื่องให้ “นาย” ทราบ เมื่อเธอบอกว่าต้องเดินทางกลับอีกเป็นชั่วโมง เจ้าหน้าที่จึงแจ้งว่าจะให้คุณพ่อของเธอ เป็นตัวแทนทำข้อตกลงกับเจ้าหน้าที่ ว่าลูกจะไม่ “กระทำความผิด” เช่นนี้อีก และจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องสถาบันกษัตริย์อีก โดยเจ้าหน้าที่เป็นผู้จัดทำเอกสารข้อตกลงนี้ขึ้น แต่เธอไม่ทราบว่าข้อความทั้งหมดมีอะไรบ้าง เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ได้ให้สำเนาหรือให้พ่อถ่ายรูปไว้

เจ้าหน้าที่ยังบอกให้เธอแคปข้อความจากเพจปวินดังกล่าวในวันเวลาที่เจ้าหน้าที่ระบุส่งมาให้ตำรวจ และให้ลบข้อความดังกล่าวออก พร้อมทั้งให้ปิดเฟซบุ๊กของตนเองไปเลย  โดยอ้างว่าข้อความที่เธอแชร์นั้นเป็นความผิดตามมาตรา 112 เจ้าหน้าที่ยังอ้างว่าถ้ายินยอมลบและปิดเฟซบุ๊กไป เธอก็จะ “ไม่มีความผิด” อีก พร้อมกับขู่ว่าหากยังกระทำเช่นนี้ในเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อีก แม้จะไปโพสต์โดยเปิดเฟซบุ๊กอันใหม่ก็ตาม ต่อไปก็อาจจะต้องถูกดำเนินคดี และต้องเข้าไปอยู่ในคุก

นักศึกษารายนี้ระบุว่าตำรวจอยู่ที่บ้านเธอพักใหญ่ จนเธอลบและปิดเฟซบุ๊กตนเอง และได้ส่งไลน์ให้เจ้าหน้าที่ดู จนแน่ใจ พร้อมกับพ่อของเธอได้ลงนามในข้อตกลงแล้ว จึงได้เดินทางกลับ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความกลัวให้กับเธอมาก และที่บ้านยังไม่พอใจ เพราะไม่อยากให้เธอยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ต่อไปหากเกิดเหตุอะไรขึ้น ที่บ้านระบุว่าจะไม่ช่วยเหลืออีก

 

นักเรียนแชร์โพสต์ “สมศักดิ์ เจียม” จะให้เซ็นข้อตกลง-ให้ลบโพสต์

รายที่สอง เป็นนักเรียนชายชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดทางภาคกลาง แจ้งข้อมูลว่าเมื่อช่วงเย็นวันที่ 23 ก.ย. 63 ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ 2 นาย พร้อมกับผู้ใหญ่บ้าน เดินทางไปที่บ้านของตน โดยตำรวจนายหนึ่งระบุว่าเป็นสันติบาล และอีกนายหนึ่งเป็นผู้กำกับของสถานีตำรวจในท้องที่ โดยทั้งสองนายไม่ได้แสดงบัตรประจำตัวแต่อย่างใด

เจ้าหน้าที่ได้นำรูปโพสต์ข้อความจำนวน 3 โพสต์มาให้นักเรียนรายนี้ดู โดยอ้างว่าทั้ง 3 โพสต์ข้อความเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 โดยจำได้ว่ามีข้อความที่แชร์มาจากเฟซบุ๊กของ “Somsak Jeamteerasakul” เรื่องการคืนยศ “เจ้าคุณพระ” และเรื่องเครื่องบินราชพาหนะ รวมทั้งโพสต์ที่เป็นภาพมีมจากเพจๆ หนึ่ง

ตำรวจได้แจ้งให้นักเรียนรายนี้ลบโพสต์ทั้งสามออก และเจ้าหน้าที่จะได้จัดเตรียมเอกสารข้อตกลงว่าจะไม่กระทำอีกมาให้เซ็น โดยที่ก็ไม่ได้มีการนำเอกสารดังกล่าวมาแสดงให้ดู จึงไม่ทราบว่ามีข้อความอะไรบ้าง

นักเรียนรายนี้ได้ยืนยันปฏิเสธไม่ยอมลบโพสต์ข้อความออก แม้เจ้าหน้าที่จะพยายามบอกว่าอาจจะมีการดำเนินคดีตามมา แต่นักเรียนรายนี้ยังยืนยันที่จะไม่ลบออก เจ้าหน้าที่จึงระบุว่าจะมาหาอีก แล้วจึงกลับไป โดยไม่ทราบว่ามาติดตามอีกหรือไม่

 

นักศึกษาแชร์โพสต์เพจ KonThaiUk เจ้าหน้าที่ไปคุยถึงบ้าน

รายที่สาม เป็นนักศึกษาหญิงชั้นปีที่ 2 ของมหาวิทยาลัยในภาคตะวันออก ระบุว่าช่วงเย็นวันที่ 22 ก.ย. 63 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ระบุว่าเป็นสันติบาลจากสถานีตำรวจในท้องที่เดินทางไปที่บ้านของเธอในจังหวัดทางภาคกลาง แต่เธอไม่ได้อยู่บ้าน เนื่องจากมาเรียนในอีกจังหวัดหนึ่ง เจ้าหน้าที่ได้พูดคุยกับครอบครัวแทน โดยได้นำภาพข้อความที่แชร์จากเพจ KonThaiUk ในช่วงเดือนกรกฎาคมมาให้พ่อดู

ทางครอบครัว ได้โทรศัพท์ติดต่อเธอ และให้คุยกับเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ได้ระบุวันเวลาที่มีข้อมูลว่าเธอแชร์โพสต์ดังกล่าว ให้เธอตรวจสอบในเฟซบุ๊ก แต่เธอพบว่าตนไม่ได้มีการแชร์โพสต์ของเพจนี้ในวันเวลาดังกล่าวแต่อย่างใด แต่มีอีกโพสต์หนึ่ง ที่เธอแชร์จากเพจ KonThaiUk ซึ่งมีวันเวลาที่แชร์ต่างจากโพสต์ที่เจ้าหน้าที่แจ้ง

เมื่อแจ้งว่าไม่ได้แชร์โพสต์ตามที่เจ้าหน้าที่แจ้ง เจ้าหน้าที่กลับอ้างว่าเธออาจจะลบโพสต์ไปแล้ว และพยายามแจ้งขอให้เธอมาพบเจ้าหน้าที่ที่สถานีตำรวจท้องที่ให้เร็วที่สุด หากกลับมาบ้านแล้ว โดยให้แอดไลน์และเบอร์โทรของเจ้าหน้าที่ที่มียศพันตำรวจโทไว้  จนถึงขณะนี้ เธอยังไม่ได้เดินทางกลับบ้าน จึงยังไม่ได้ไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ และไม่ทราบว่าทางตำรวจได้พูดคุยกับครอบครัวของเธอไว้อย่างไรอีกบ้าง

 

ตำรวจไปบอกเพื่อนบ้านนักเรียน ห้ามแชร์โพสต์เรื่องสถาบันกษัตริย์อีก

รายที่สี่ เป็นนักเรียนหญิงในระดับมัธยมปลาย ระบุว่าเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 63 ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปสอบถามถึงตนที่บ้านข้างๆ กัน และเพื่อนบ้านได้มาแจ้งกับแม่ของนักเรียนอีกทีหนึ่ง

ตำรวจระบุกับเพื่อนบ้าน ว่านักเรียนรายนี้ได้แชร์ข้อความในเฟซบุ๊กที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นข้อความเกี่ยวกับอะไรบ้าง โดยตำรวจยังได้ฝากแจ้งว่าอย่าไปแชร์โพสต์เกี่ยวกับสถาบันฯ และเกี่ยวกับการเมืองอีก เพราะถ้าเจ้าหน้าที่พบ ก็จะมาอีกรอบ

จนถึงปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้มาติดตามนักเรียนอีก

 

เจ้าหน้าที่ไปบ้านนักศึกษาอีสาน ถามข้อมูลส่วนตัว แต่ไม่บอกแน่ชัดจากเหตุอะไร

รายที่ห้า เป็นนักศึกษาหญิงชั้นปีที่ 3 ของมหาวิทยาลัยในจังหวัดทางภาคอีสาน ระบุว่าเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 63 ได้มีเจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นตำรวจสันติบาล พร้อมกับผู้ใหญ่บ้าน ไปหาที่บ้านตามบัตรประชาชน แต่ไม่ได้พบกับเธอ เจ้าหน้าที่แจ้งกับที่บ้านว่ามาในเรื่องการแชร์และโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดยสอบถามว่าเธอมีตัวตนจริงหรือไม่ และเรียนอยู่ที่ไหน แต่ไม่ได้มีการแสดงเอกสารหรือนำตัวโพสต์ข้อความใดมาให้ดู

แม้ที่บ้านพยายามสอบถามว่าเป็นโพสต์ที่แชร์เกี่ยวกับอะไร แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ให้คำตอบชัดเจน พร้อมกับระบุว่ายังไม่ถึงขนาดเป็นความผิดที่จะถูกดำเนินคดี แต่เป็นการมาตรวจสอบเบื้องต้นก่อนเท่านั้น

เจ้าหน้าที่ยังระบุว่าการมาตรวจสอบ เป็นคำสั่งของ “นาย” แต่ไม่ได้บอกว่าหมายถึงใคร ตำแหน่งใด และยังระบุว่าในพื้นที่จังหวัด มีรายชื่อต้องติดตามอีกหลายคนอีกด้วย เมื่อไม่พบเธอ เจ้าหน้าที่จึงเดินทางกลับ

เธอระบุว่าไม่ได้กังวลกับเหตุการณ์มากนัก แต่ยังไม่แน่ชัดว่าสาเหตุเกิดจากโพสต์ใดเป็นเรื่องเกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หรือเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเธอก็เคยแชร์โพสต์เกี่ยวกับเนื้อหาทั้งสองลักษณะ

 

แม้ไม่ใช้ม.112 แต่ปฏิบัติการนอกกฎหมายยังดำเนินอยู่

สถานการณ์ดังกล่าวยังเป็นแนวโน้มการปฏิบัติการ “นอกกฎหมาย” ของเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นเรื่องสถาบันกษัตริย์ในโลกออนไลน์ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะตั้งแต่ช่วงปี 2562 โดยมีทั้งใช้การคุมตัวไปสอบสวนที่สถานีตำรวจ หรือการบุกไปข่มขู่ในพื้นที่ส่วนตัว ยังไม่ถึงขนาดมีการแจ้งข้อกล่าวหาหรือดำเนินคดี  แต่ได้มีการบังคับให้ลงนามในเอกสารที่มีลักษณะเป็นข้อตกลงกับเจ้าหน้าที่ เพื่อไม่ให้โพสต์หรือแชร์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อีก โดยที่เอกสารดังกล่าวไม่ได้มีสถานะทางกฎหมายแต่อย่างใด

 

อ่านสถานการณ์ดังกล่าวและข้อแนะนำในการรับมือเพิ่มเติม

รีวิวประสบการณ์ถูก “คุมตัวไปคุย” หลังโพสต์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ของ 1 หนุ่มออฟฟิศ 2 นักเรียน-นักศึกษา

ข้อสังเกตและคำแนะนำต่อกระบวนการนอกกฎหมาย บังคับให้ข้อมูล และทำบันทึกข้อตกลง

อ่านรายงานข่าวกรณีอื่นๆ เท่าที่มีรายงานในช่วงสถานการณ์ชุมนุมหลังเยาชนปลดแอก

จนท.หลายฝ่ายบุกบ้านผู้โพสต์รูปทิวากรสวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาฯ” นำตัวไปสถานี ตร.

น.ศ.ถูกตร.ตามถึงบ้าน หลังแชร์ข่าวทิวากร-ซุ้มเฉลิมฯ ให้เซ็นไม่โพสต์เรื่องสถาบันกษัตริย์อีก

ตร.เรียกตัวนร.ไปคุยที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน ห้ามไม่ให้แชร์โพสต์เกี่ยวกับสถาบันฯ และปชต.

แค่แชร์ข่าวโปรดเกล้าฯ คืนฐานันดรศักดิ์ นคบ.คุกคามนิสิต มมส. ถึงบ้าน ทำย่าความดันขึ้น

 

X