ตำรวจบุกบ้านประชาชน 2 ราย เหตุแชร์โพสต์คล้ายหมิ่นสถาบันกษัตริย์ อ้างต้องถูก “ปรับทัศนคติ”

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจไปที่บ้านประชาชน 2 ราย รายหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่อ้างว่าตนเผยแพร่ภาพที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ แม้ว่าภาพต้นทางที่นำมาให้ดู จะเกี่ยวกับกับการวิพากษ์วิจารณ์กองทัพไทยกรณีให้การสนับสนุนทหารเมียนมา โดยเขาถูกกดดันให้กรอกเอกสารซึ่งเกี่ยวข้องกับ “การปรับทัศนคติ” ด้วย ส่วนอีกรายหนึ่งถูกตำรวจไปตามหาตัวที่บ้าน อ้างว่าได้เผยแพร่ลิงก์ที่มีเนื้อหาหมิ่นสถาบันกษัตริย์ พร้อมอ้างอาจพาไป “ปรับทัศนคติ” ในภายหลังได้

 

ประชาชนแชร์โพสต์วิจารณ์ทหาร ตำรวจระบุ “หมิ่นสถาบันหลักของชาติ” ต้องลงบันทึก “รายงานปรับทัศนคติ”

สำหรับกรณีคุกคามประชาชนลำดับแรก นายเอส (นามสมมติ) ชายวัย 22 ปี แจ้งว่า เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2564 เวลา 10.00 น. โดยประมาณ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 5-6 นาย เข้ามาตามหาตนที่บ้านในอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร โดยแยกเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ 1-2 นาย และเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบอีกประมาณ 4-5 นาย แต่งกายด้วยกางเกงยีนส์ เสื้อเชิ้ต และเสื้อกั๊ก เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบยังสวมหมวกแก็ปและหน้ากากอนามัยปกปิดหน้าตัวเองอีกด้วย โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจบางส่วนระบุว่าตัวเองมาจาก สภ.กระทุ่มแบน  

ในตอนแรก เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปหาบิดาของเอส พร้อมแจ้งปากเปล่าว่าลูกชายได้เผยแพร่ข้อความเนื้อหาที่หมิ่นสถาบันกษัตริย์ อาจทำให้นายเอสโดนคดีได้ วันนี้เลยขอมาคุยด้วยก่อน ถ้าพบว่าทำอย่างนี้อีก ก็อาจจะโดนคดี อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ไม่ได้แสดงหมายเรียก หมายจับ หรือเอกสารใดๆ เพิ่มเติม ด้วยความตกใจ บิดาของเอส จึงรีบไปตามตัวลูกชายให้มาพบตำรวจที่หน้าบ้าน

เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวกับนายเอส ว่าเขากระทำการที่เข้าข่ายการหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ เนื่องจากเผยแพร่โพสต์ๆ หนึ่งจากเพจ “KTUK – คนไทยยูเค” ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ท่าทีของกองทัพไทย ในกรณีทหารเมียนมาทิ้งระเบิดใส่ชุมชนกะเหรี่ยงริมชายแดนทั้ง 2 ประเทศ นายเอสระบุว่าตนได้กดแชร์โพสต์ดังกล่าวจริง โดยตั้งค่าของโพสต์นั้นให้เป็นสาธารณะ

เมื่อเอสแย้งตำรวจว่าสิ่งที่เขาแชร์นั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับสถาบันกษัตริย์เลยแม้แต่นิดเดียว เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามบ่ายเบี่ยง โดยตอบเป็นทำนองว่า “เรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันฯ ขอไม่คุยด้วย” 

หลังจากนั้น หนึ่งในตำรวจนอกเครื่องแบบได้รับโทรศัพท์จากบุคคลนิรนาม เขาจึงปลีกตัวออกไปพูดคุย ในระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เหลือได้ยืนเฝ้าเอสและบิดาไว้หน้าบ้านไม่ให้ไปไหน พร้อมกับชวนคุยเรื่อยเปื่อย คาดว่าเพื่อประวิงเวลาเอาไว้

เมื่อคุยโทรศัพท์เสร็จสิ้น เป็นระยะเวลาประมาณ 10 นาที เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบรายนั้น ได้นำเอกสารซึ่งจั่วหัวว่า “ลับมาก รายงานผลการพบปะพูดคุยปรับทัศนะคติ” [สะกดตามเอกสาร] มาให้นายเอส โดยเอกสารแผ่นแรกมีช่องให้กรอกรายละเอียดเกี่ยวกับ “ภาพหน้าเฟซบุ๊กที่มีการโพสต์ข้อความไม่เหมาะสม” กรอกรายละเอียดบุคคล ประวัติเกี่ยวกับการศึกษา สภาพครอบครัว สภาพจิตใจ ความเดือดร้อน ความรู้ความสามารถ รวมทั้งมีหัวข้อให้กรอกเรื่อง “วิเคราะห์บุคลิกภาพสามารถนำมาช่วยงานหรือเป็นแหล่งข่าวได้หรือไม่”

ส่วนเอกสารอีกแผ่น จั่วหัวว่า “ลับ” เป็นบันทึกซึ่งมีช่องให้กรอกข้อมูลส่วนตัว พร้อมรับรองว่ากรอก “ด้วยความสมัครใจ และมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน” และมีข้อความที่เป็นตัวพิมพ์ไว้แล้วว่าผู้กรอกข้อมูลได้ “เผยแพร่และ/หรือส่งต่อข้อมูล (ข้ความ/ภาพ/คลิปเสียงหรืออื่นๆ) หรือกระทำการใดๆ ที่พาดพิงต่อสถาบันหลักของชาติ ในลักษณะที่ไม่เหมาะสมหรือมิบังควร…ซึ่งบัดนี้ข้าพเจ้าได้เข้าใจแล้วว่าการกระทำดังกล่าวไม่ถูกต้อง ดังนั้นข้าพเจ้าจึงขอให้สัญญาว่าจะไม่ประพฤติปฏิบัติ หรือกระทำการใดๆ ในลักษณะเช่นนั้นอีกต่อไป” [สะกดตามเอกสาร] 

เอกสารดังกล่าวไม่ได้มีตราครุฑ หรือลักษณะระบุเป็นเอกสารราชการของหน่วยงานใด ไม่ได้ระบุว่าอาศัยอำนาจตามกฎหมายใด และไม่ได้มีการระบุว่าการลงชื่อหรือไม่ลงชื่อในเอกสารจะก่อให้เกิดผลใด

 

 

หลังจากให้ดูเอกสาร เจ้าหน้าที่ตำรวจนายนั้นกล่าวกับเอส เป็นทำนองว่า “เซ็นไปเถอะ จะได้จบๆ ไป” นายเอสจึงกรอกเอกสารดังกล่าว พร้อมลงลายมือชื่อ

เอสประเมินว่ากระบวนการสอบถาม รอคอย และกรอกเอกสาร กินเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ โดยเสร็จสิ้นเวลาประมาณ 11.20 น. ในระหว่างการพูดคุย มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งคอยบันทึกภาพเหตุการณ์เอาไว้ โดยใช้กล้องโทรศัพท์ถ่ายรูปและวิดีโอบริเวณหน้าบ้านในขณะที่เดินสำรวจไปมา ทั้งมีการถ่ายรูปของเอสและบิดาไว้ด้วย

ในเบื้องต้น เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้กล่าวว่าจะกลับมาหาอีกครั้ง เพียงแต่แจ้งว่ามีประชาชนอีก 3 ราย ในอำเภอกระทุ่มแบน ที่ต้องนำเอาเอกสารไปปรับทัศนคติในลักษณะเดียวกันนี้

นายเอสกล่าวว่าตัวเองรู้สึกหวาดกลัว เนื่องจากไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเอาลายเซ็นของตนไปทำอะไรบ้าง และตอนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมาพบ ไม่มีการแสดงหมายหรือเอกสารที่เป็นทางการแต่อย่างใด

 

ตำรวจขู่ “ปรับทัศนคติ” เหตุแชร์ลิงก์ข่าวหมิ่นสถาบันฯ 

ในกรณีที่สอง เหตุเกิดที่จังหวัดราชบุรี ในวันที่ 8 เม.ย. 2564 เวลาประมาณ 11.30 น. ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ 2 คน ขับรถยนต์สีขาว ไม่ทราบรุ่น เลขทะเบียนท้าย 74 เข้าไปที่หมู่บ้าน เพื่อตามหา น.ส.น้ำค้าง (นามสมมติ) แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจพบแต่มารดาของน้ำค้าง เนื่องจากเจ้าตัวอาศัยอยู่ที่อื่น ด้วยเหตุนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงแนะนำตัวกับมารดา ว่าตัวเองประจำอยู่ในพื้นที่ราชบุรี แต่ไม่ใช่ท้องที่ที่น้ำค้างและมารดาอาศัยอยู่ เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิเสธที่จะระบุชื่อสกุล ยศตำแหน่ง หรือสังกัดของตนเอง โดยมีเพียงการแจ้งความประสงค์ขอพูดคุยกับน้ำค้างเท่านั้น

เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งกับมารดาของน้ำค้างว่า ลูกสาวได้เผยแพร่ลิงก์ข่าวที่นำไปสู่เนื้อหาหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ อาจเป็นเหตุทำให้ทั้งน้ำค้างและมารดาต้องถูกนำตัวไป “ปรับทัศนคติ” ในภายหลัง อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเป็นข่าวไหน อย่างไร หรือเผยแพร่บนโซเชียลมีเดียช่องทางไหน

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับน้ำค้าง อาทิ สถาบันการศึกษา และชั้นปีปัจจุบัน พร้อมกับขอหมายเลขโทรศัพท์ของมารดาของน้ำค้างไปด้วย เจ้าหน้าที่ยังกล่าวกับมารดาของน้ำค้างอีกว่าหลังจากนี้ตนมีอีกหลายบ้านที่ต้องแวะเข้าไปหา เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการสอบถาม เจ้าหน้าที่ตำรวจทิ้งท้ายว่า อาจจะติดต่อมารดากลับมาอีก แต่ไม่ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าเมื่อไร หรือในรูปแบบใด 

ในระหว่างการสอบถามข้อมูล เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ถ่ายรูปมารดาของน้ำค้างและบ้านเอาไว้ และบันทึกข้อมูลลงไอแพด มารดาของน้ำค้างรายงานว่าเห็นชื่อสกุล พร้อมที่อยู่ ของประชาชนอีกจำนวนมากอยู่ในนั้น ทำให้คาดว่ามีกรณีลักษณะนี้อีก

 

X