25 สิงหาคม 2563 – เวลาราว 9.30 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของ “สมอลล์” บัณฑิต อานียา นักเขียนนักแปลอาวุโส ที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่งานประชุมของพรรคนวัตกรรม เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2557 เนื่องจากพยานหลักฐานของโจทก์มีข้อสงสัย จึงยกประโยชน์ให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา [simple_tooltip content=’มาตรา 227 ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น
เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย’]227 วรรคสอง[/simple_tooltip]
>>> อ่านเส้นทางการต่อสู้คดีของบัณฑิตที่ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ 112 คดีที่ศาลพลเรือนต้องทำคำพิพากษาทั้งที่ไม่ได้สืบพยาน
ในคำพิพากษาของศาลได้เท้าความถึงพฤติการณ์ของคดีเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2557 จำเลยเข้าร่วมประชุมกับกลุ่มนวัตกรรมไทย ในช่วงที่เปิดให้แสดงความเห็นเวลาราว 13.30 น. จำเลยได้พูดประโยคแรก แสดงความเห็นเกี่ยวกับระบอบกษัตริย์ ความว่า “ประเด็นของผมมีว่า ขณะนี้ คนไทยแบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งนิยมระบอบกษัตริย์ ที่กษัตริย์มีอำนาจอยู่เหนือกฎหมาย เป็นประมุขของรัฐ … มันก็จะมีคำถามว่า ระหว่างการรักษาระบอบเจ้าเอาไว้ กับการยกเลิกระบอบเจ้านั้นเสีย …” แต่ยังไม่ทันพูดจบประโยค ก็ถูกห้ามไม่ให้พูดต่อ จากนั้นจำเลยพยายามจะพูดต่ออีกประโยค สร้างความไม่พอใจให้กับผู้เข้าร่วม จนบางคนเดินออกจากห้อง ภายหลัง จำเลยได้ถูกควบคุมตัวไปยัง สน.สุทธิสาร และถูกสั่งฟ้องโดยอัยการศาลทหารในเวลาต่อมา
ในส่วนของพยานโจทก์ ร้อยตำรวจเอก บัญชา เจือจาน, สิบตำรวจเอก ศิรวิทย์ รวมจิตร, จ่าสิบเอก กายสิทธิ์ เจริญไพบูลย์, สิบโท พิชาญ วรรณกี้ ผู้จับกุมจำเลย ต่างเบิกความว่า สาเหตุที่เข้าจับกุมจำเลยเนื่องจากปรึกษากันเองแล้วเห็นว่าน่าจะเข้าข่ายหมิ่นประมาทหรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์
ในส่วนของพยานโจทก์ ศาสตราจารย์ เสาวลักษณ์ อนันตศานต์ อาจารย์ภาคภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่เข้าเบิกความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคำพูดของจำเลย มองว่ามีลักษณะเข้าข่ายหมิ่นประมาทอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ อย่างไรก็ตาม คำเบิกความดังกล่าวก็เป็นเพียงข้อคิดเห็นส่วนตัวเท่านั้น
ศาลได้พิเคราะห์ถึงถ้อยประโยคของจำเลยที่ยังกล่าวไม่จบ จึงไม่ชัดเจนเพียงพอว่าจำเลยมีพฤติกรรมหรือจุดประสงค์ต้องการจะหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ หรือไม่
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นทั้ง 3 ส่วน จึงมีเหตุควรสงสัยตามสมควรในพยานหลักฐานของโจทก์ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 วรรคสอง ศาลพิพากษายกฟ้อง
หนึ่งคดีสิ้นสุด อีกหนึ่งยังสู้ต่อ
สำหรับคดีของบัณฑิตคดีนี้ เป็นคดีที่เคยถูกพิจารณาในศาลทหารกรุงเทพ มาตั้งแต่วันที่ 19 ก.พ. 58 ใช้เวลากว่า 4 ปี จึงสืบพยานทั้งฝ่ายโจท์และจำเลยจนเสร็จสิ้น และศาลทหารได้เตรียมนัดฟังคำพิพากษาแล้ว กระทั่ง คสช. ได้มีคำสั่งให้โอนย้ายคดีจากศาลทหารมายังศาลยุติธรรม ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 ก่อน คสช. ยุติบทบาท คดีของบัณฑิตจึงถูกโอนย้ายมายังศาลอาญา โดยที่ศาลอาญาต้องทำคำพิพากษาทั้งที่ไม่ได้เป็นผู้พิจารณาคดีมาก่อน และไม่ได้มีโอกาสได้เห็นอากัปกิริยาของพยานและจำเลยในคดี
อย่างไรก็ตาม นอกจากคดีนี้ บัณฑิตยังถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการแสดงความเห็นเกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ควรบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2558 อีกคดี คดีนี้ถูกโอนย้ายมาจากศาลทหารกรุงเทพเช่นกัน โดยศาลอาญานัดสืบพยานวันที่ 19-20 พ.ย. 2563
ขอบคุณรูปประกอบจาก Banrasdr Photo
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
คดี 112 “ลุงบัณฑิต” แสดงความเห็นเวทีปฏิรูป ยังค้างคำพิพากษา เหตุขาดเอกสารประกันตัว
ศาลนัดคดี 112 อีก 2 คดี – “ลุงบัณฑิต” สืบพยานปลายปี ขณะ “ฤาชา” รอจิตแพทย์วินิจฉัย
ศาลอาญานัดสืบพยานต่อจากศาลทหารคดี 112 ‘สิรภพ’ พ.ย.นี้-ยังไม่นัดฟังคำพิพากษา ‘ลุงบัณฑิต’