เมื่อศาลรับรองอำนาจ คสช. แม้ไม่มี คสช.: ถอดบทเรียนคำพิพากษาคดี “พลวัฒน์” โปรยใบปลิวต้านเผด็จการ

26 มีนาคม 2563 – ก่อนการประกาศมาตรการเคอร์ฟิวและการจำกัดการเดินทางข้ามจังหวัดอย่างเข้มข้น เพื่อจัดการกับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น ศาลจังหวัดระยองได้อ่านคำพิพากษาในคดีของพลวัฒน์ วโรดมพุฒิกุล หนุ่มโรงงานที่ออกมาโปรยใบปลิว “ตื่น และลุกขึ้นสู้ได้แล้ว … ผู้รักประชาธิปไตยทุกคน เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” เพื่อต่อต้าน คสช. เมื่อปี 2558 ในช่วงที่ยังมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกต่อเนื่องหลังการรัฐประหาร

>>> เมื่อการโปรยใบปลิวกลายเป็นภัยความมั่นคง: ศาลพิพากษาจำคุก 4 เดือน หนุ่มโรงงานโปรยใบปลิว “เผด็จการจงพินาศ…”

คดีของพลวัฒน์ถูกนำขึ้นพิจารณาในศาลทหารในฐานความผิดหลักคือมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา หรือที่คุ้นหูกันในชื่อของข้อหา “ยุยงปลุกปั่น ให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน” และค้างคาในชั้นสืบพยานเป็นเวลานานเกือบ 3 ปี ก่อนที่จะมีคำสั่งโอนย้ายคดีมายังศาลจังหวัดระยอง เพื่อทำการสืบพยานโจทก์ปากที่เหลือและพยานจำเลย

ในปลายทางของกระบวนการยุติธรรมที่ยืดเยื้อยาวนานถึง 5 ปี นับแต่เกิดเหตุ ในที่สุด ศาลได้มีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 116 (2) โดยศาลเห็นว่าข้อความในใบปลิวแสดงให้เห็นเจตนาเพื่อยุยงปลุกปั่นให้ลุกขึ้นสู้ ให้ต่อต้าน คสช. ที่เป็นรัฐบาลขณะนั้น เพื่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกพลวัฒน์ 6 เดือน แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ จึงสมควรลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือลงโทษจำคุก 4 เดือน ไม่รอลงอาญา ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง ขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างการรออุทธรณ์คำพิพากษา

ความน่าสนใจของคำพิพากษาในคดีนี้ ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นคดีมาตรา 116 คดีแรกที่ถูกโอนมายังศาลยุติธรรมแล้วศาลพิพากษาลงโทษ แต่ยังตอกย้ำปัญหาเรื่องการรับรองการรัฐประหารขององค์กรตุลาการ แม้คณะรัฐประหารจะไม่ได้ดำรงอยู่แล้วก็ตาม

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงได้ชวนสนทนากับ ธีรวัฒน์  ขวัญใจ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และนักวิชาการผู้สนใจติดตามสถานการณ์ในคดีความทางการเมืองหลังรัฐประหาร เพื่อร่วมกันถอดบทเรียนจากคำพิพากษาฉบับดังกล่าว สำรวจภาพสะท้อนการรับรองสถานะทางอำนาจของ คสช. ที่ยังดำรงอยู่ แม้ประเทศไทยจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รวมไปถึงข้อบกพร่องในมาตรา 116 เอง โดยเฉพาะนิยามของคำว่า “ยุยงปลุกปั่น” ที่ได้เปิดพื้นที่ให้กับการตีความทางกฎหมายอย่างกว้างขวาง

ดาวน์โหลดคำพิพากษาในคดีของพลวัฒน์ฉบับเต็มได้ ที่นี่

 

แม้ไม่มี คสช. แต่คำพิพากษาสะท้อนอำนาจของ คสช. ที่ยังคงอยู่

“…เมื่อพิเคราะห์ข้อความในใบปลิวทั้งหมด ชี้ให้เห็นเจตนาของจำเลยกระทำเพื่อปลุกปั่นยุยงให้ประชาชนลุกขึ้นสู้ และต่อต้านเผด็จการ ซึ่งจำเลยกล่าวหาว่า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติเข้ามาปกครองประเทศโดยไม่ชอบ อันเป็นการเข้ามาปกครองในลักษณะเผด็จการ เพื่อให้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติพินาศไป โดยให้ลุกขึ้นต่อต้านคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติที่เป็นรัฐบาลปกครองประเทศในขณะนั้น…”

ส่วนหนึ่งจากคำพิพากษา หน้า 15

หลังจากที่ศึกษาคำพิพากษาชิ้นนี้ อาจารย์ธีรวัฒน์ได้สะท้อนถึงความรู้สึกแรกเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมของไทย แม้ว่าสังคมจะกลับสู่ “สภาวะปกติ” มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่กลับไม่ได้มีการแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นตลอดเวลา 5 – 6 ปีที่ผ่านมาเลย

“อาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ท่านใช้คำว่ามันต้อง ‘ปฏิสังขรณ์’ ทั้งระบบกฎหมาย แต่เรายังไม่เห็นอะไรแบบนั้นเลยในคำพิพากษาฉบับนี้ มิหนำซ้ำ อ่านไปแล้วยังให้ความรู้สึกว่า นี่เรายังอยู่ในยุคของ คสช. หรือเปล่า?”

“เรามีการเลือกตั้ง เรามีรัฐบาลและรัฐธรรมนูญ แต่ศาลกลับยังมีบทบาทไม่ต่างไปจากช่วงที่ คสช. ยังอยู่ในอำนาจ นั่นคือการยอมรับกฎเกณฑ์ กติกา ของ คสช. โดยไม่ตั้งคำถาม อีกทั้งยังตีความกฎหมายเสมือนว่าเรายังอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองที่ไม่ได้มีรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีประชาธิปไตย”

“คำพิพากษาในคดีนี้แทบไม่ได้แตกต่างไปจากคำพิพากษาอีกจำนวนมากที่เกิดขึ้นตลอด 5 ปีที่ผ่านมาภายใต้ คสช. มันมีบทบาทในการประทับ การย้ำว่า เมื่อมีการยึดอำนาจแล้ว เมื่อมีการรัฐประหาร ถือเอาอำนาจความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ไม่ว่าจะได้มาด้วยวิธีไหนก็ตาม ศาลก็พร้อมที่จะใช้กฎเกณฑ์ต่างๆ ตามกำหนดของผู้เป็นรัฏฐาธิปัตย์ออกมาบังคับ โดยไม่มีเงื่อนไข”

 

จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถึงประชาธิปไตย: กฎหมายเก่าในร่างใหม่ และขอบเขตการตีความที่ถ่างกว้าง

เมื่อพิจารณาดูในรายละเอียด อาจารย์ธีรวัฒน์ชี้ว่า นอกเหนือจากเรื่องคำวินิจฉัยในคดีเองแล้ว ในภาพที่ใหญ่ไปกว่าแค่คดีความส่วนบุคคล อีกปัญหาหนึ่งที่สมควรจะถูกยกมาพูดคุยด้วย เพื่อให้เห็นใจกลางของปัญหา นั่นก็คือความคลุมเครือของตัวบทของมาตรา 116 เอง ที่เปิดช่องให้สามารถตีความได้อย่างกว้างขวาง ศาลจึงมีบทบาทมากในการศึกษา ตีความ และนำไปใช้

“ในมาตรา 116 อนุมาตรา 2 ระบุว่า ‘เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องขึ้นในหมู่ประชาชน’ แต่มันแค่ไหน อย่างไรล่ะ ถึงจะเรียกว่าความปั่นป่วน? อะไรคือความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน? จุดนี้มันทำให้ต้องมีการตีความ เพราะฉะนั้นตัวศาลจะมีบทบาทมากในการศึกษาหรือตีความกฎหมาย แล้วเอาไปใช้พิจารณาคดี”

ในทางประวัติศาสตร์ คำว่า “ยุยงปลุกปั่น สร้างความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน” เป็นคำที่ถูกนำมาใช้ตั้งแต่สมัยที่ไทยยังมีระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ปรากฏในมาตรา 104 ของกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 การตรามาตราดังกล่าวขึ้นมา ก็เพื่อรักษาเสถียรภาพความมั่นคงของ “รัฐ” สมบูรณาญาสิทธิราชย์ในขณะนั้น

“ในมาตรานี้ยังมีความผิดอีกลักษณะหนึ่ง คือการกระทำที่ทำให้ประชาชนเอาใจออกห่าง หรือเสื่อมคลายความเคารพนับถือพระเจ้าแผ่นดิน การตีความแบบนี้ มันสามารถเข้าใจได้เพราะสังคมยังอยู่ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และความมั่นคงของรัฐในเวลานั้น ก็คือความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ สองสิ่งนี้ไม่สามารถแยกขาดจากกันได้ ดังนั้น เมื่อมีการกระทำความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้คนเสื่อมคลายความเคารพนับถือ หรือเสื่อมคลายความสวามิภักดิ์ลงก็ถือว่าเป็นความผิดในนิยามของมาตราดังกล่าวไปด้วย แต่พอเข้าสู่ยุคประชาธิปไตย โดยเฉพาะเมื่อเรามีประมวลกฎหมายอาญาฉบับใหม่ ข้อความตรงส่วนนั้นได้ถูกตัดออกไป”

“ในองค์ประกอบของมาตรา 116 ยังมีถ้อยคำกำกับไว้อีกว่า ‘ต้องเป็นการกระทำที่มิใช่การกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต’ ข้อความ 2 วลี นี้เป็นข้อความที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาภายหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว เพื่อทำให้มาตรา 104 เดิมในกฎหมายลักษณะอาญา มันสอดคล้องกับความเป็นไปในระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะในระบอบประชาธิปไตย ความมั่นคงของรัฐกับความมั่นคงของรัฐบาลเป็นคนละเรื่องกัน แล้วยังต้องมีการตีความหลักประกันสิทธิที่ต้องให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ต้องคำนึงถึงเสรีภาพ การแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยด้วย”

“ในระบอบประชาธิปไตย ความมั่นคงของรัฐกับความมั่นคงของรัฐบาลเป็นคนละเรื่องกัน”

.

อย่างไรคือยุยงปลุกปั่น?: บางคดีจากอดีต

ในแง่ของพฤติการณ์คดีที่เข้าข่ายยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 อาจารย์ธีรวัฒน์ได้ยกตัวอย่างกรณีของคดีที่ศาลตัดสินลงโทษจำเลยตามฐานความผิดดังกล่าว ทั้งหมด 3 คดี ซึ่งบางคดีได้ถูกบันทึกไว้ในชั้นศาลฎีกา ได้แก่

1. ราว 2526 – 2567 คดีชุมนุมของผู้ประท้วงผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช มีการปราศรัย มีการปลุกระดมมวลชน จนในที่สุดนำไปสู่การเผาจวนผู้ว่าราชการจังหวัด

2. หลังการรัฐประหารในปี 2549 คดีของดีเจหนึ่ง “จักรพันธ์” ปราศรัยผ่านรายการวิทยุในปี 2553 ใช้ข้อความเชิญชวนให้ประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ร่วมกันไปปิดถนนเชียงใหม่ – ลำปาง อย่างไรก็ตาม คำตัดสินลงโทษของศาลในคดีนี้จำเป็นต้องพิจารณาร่วมกับบริบทของการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงที่จัดขึ้นในหลายจังหวัด รวมทั้งที่กรุงเทพฯ

ข้อสังเกตอีกอย่างในคดีนี้คือ ถึงแม้ศาลจะมีคำสั่งลงโทษ แต่ก็ให้รอลงอาญาไว้ 3 ปี โดยให้เหตุผลว่า คดีนี้เป็นคดีที่มีมูลเหตุจูงใจจากเหตุผลทางการเมือง การลงโทษจำเลยจึงไม่ใช่ทางออกของปัญหา

3. ในปี 2553 มีคดีของอดีตนักการเมืองท้องถิ่นจากพรรคการเมืองหนึ่งขึ้นเวทีปราศรัย ขึ้นปลุกระดมจนเกิดการปะทะกันระหว่างมวลชนกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งก็ได้ถูกศาลตัดสินจำคุก

จากตัวอย่างที่ยกมานี้ อาจารย์ธีรวัฒน์วิเคราะห์ว่า การนำกฎหมายตามมาตรา 116 มาบังคับใช้ดำเนินคดีส่วนใหญ่มักจะเป็นคดีที่เกี่ยวกับการปลุกเร้า ปลุกระดมมวลชนให้ออกมาละเมิดกฎหมาย เกิดความปั่นป่วน วุ่นวายเดือดร้อนที่เห็นชัดเจน เป็นความผิดที่มักจะใช้กับแกนนำของผู้ชุมนุมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งพฤติการณ์ทางคดีของพลวัฒน์นั้นไม่เข้าข่ายการกระทำดังกล่าว

“ซัก 2-3 คดีที่ศาลได้ตัดสินพิจารณาลงโทษจำเลย มันมักจะเป็นเรื่องที่เราตีความได้ เรามองเห็นได้ชัดเจน ไม่ว่าเราจะอยู่ในฝ่ายการเมืองฝั่งไหน เพราะมันไปกระทบกับทรัพย์สินสาธารณะ กระทบกับประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย กระทบกับความเดือดร้อนของประชาชนคนอื่น แต่การโปรยใบปลิวของคุณพลวัฒน์ซึ่งมีข้อความของ ครูครอง จันดาวงศ์ สามารถตีความได้อย่างมากก็แค่การแสดงออกถึงการไม่ยอมรับอำนาจของผู้ปกครอง นั่นก็คืออำนาจของรัฐบาล กระทบต่อความมั่นคงของรัฐบาลเท่านั้น แต่ไม่ได้กระทบกับความมั่นคงของรัฐ”

 

คำพิพากษาที่คืนความยุติธรรมให้กับประชาชน

“… การเข้าบริหารปกครองประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติย่อมมีผลทำให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง ยกเว้นหมวด 2 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มีการจำกัดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง …”

ส่วนหนึ่งจากคำพิพากษา หน้า 14

ในทางกลับกัน หากจะต้องตีความคดีนี้ให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยและสิทธิและเสรีภาพอันเป็นหลักใหญ่ใจความของสังคมไทยนั้น อาจารย์ธีรวัฒน์ชี้ว่าศาลจำเป็นต้องมองคำพิพากษานอกเหนือจากเป็นเครื่องมือเพื่อบังคับใช้กฎหมาย แต่ต้องเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบสร้างหลัก “นิติรัฐ” หรือ “นิติธรรม” ด้วย

“หากมองในแง่ของกฎหมาย ขณะที่เกิดคดีความขึ้นนั้น ประเทศไทยยังใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวอยู่ ซึ่งในมาตราที่ 4 เองก็ยังยอมรับว่าประชาชนยังคงมีสิทธิและเสรีภาพตามที่เคยมีในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น แม้ว่าจะไม่มีรัฐธรรมนูญที่ให้การรับรองเป็นลายลักษณ์อักษร ประชาชนย่อมมีสิทธิในการออกมาต่อต้าน แสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่เป็นเผด็จการซึ่งได้อำนาจมาอย่างไม่ชอบธรรม”

“เราต้องรื้อกรอบคิดเรื่องกฎหมาย แล้วมองให้เห็นว่า คำพิพากษามันไม่ใช่แค่เพื่อบังคับใช้กฎหมาย แต่มันจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างระบอบการปกครองโดยนิติรัฐหรือนิติธรรมให้เกิดขึ้น จะต้องตีความมาตรา 116 ให้สอดคล้องกับระบอบการเมืองอย่างที่มันควรจะเป็น หรือที่เป็นอยู่ในเวลานี้ คือระบอบประชาธิปไตย”

“…ถ้าเป็นการกระทำหรือการแสดงออกที่อยู่ภายใต้ความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ คือการแสดงออกภายใต้กรอบของกฎหมายหรือที่กฎหมายรองรับให้สิทธิที่จะทำได้ ไม่มุ่งร้ายหรือกล่าวเท็จบิดเบือนข้อเท็จจริงโดยเจตนาก็สามารถกระทำได้ แต่ข้อความตามในใบปลิวนั้นมีลักษณะยุยงปลุกปั่น อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต…”

ส่วนหนึ่งจากคำพิพากษา หน้า 16

ข้อสังเกตประการสุดท้ายเกี่ยวกับคำพิพากษาชิ้นนี้คือ ในท่อนประโยค “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ของครูครอง จันดาวงศ์ ซึ่งศาลมองว่าเป็นข้อความที่มีลักษณะของการยุยงปลุกปั่น อาจารย์ธีรวัฒน์กลับมองว่าการตีความดังกล่าวนั้น ถือว่าเป็นการตีความแบบอัตวิสัย ขึ้นอยู่กับกรอบคิดของผู้พิพากษา ซึ่งหลายคดีในความผิดฐานเดียวกัน หรือความผิดฐานอื่น แต่เป็นการแสดงออกด้วยถ้อยคำเดียวกันนี้ ศาลก็ได้มีคำพิพากษายกฟ้อง

“ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งตรงข้อความของครูครอง จันดาวงศ์ คือมันถูกนำไปใช้แพร่หลายในแวดวงการเมืองไทยแต่แรกอยู่แล้ว เป็นที่รับรู้ของประชาชนโดยทั่วไป ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ ในคดีตามมาตรา 116 ที่เกิดขึ้นระหว่างที่ คสช. ยังอยู่ในอำนาจก็มีการใช้ข้อความดังกล่าว อย่างคดีที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้งที่มีการทำประชามติ กรณีของคุณลุงสามารถ เสียบใบปลิวหน้ารถโดยใช้ประโยคนี้เช่นกัน และศาลชั้นต้น จังหวัดเชียงใหม่ ก็ได้ยกฟ้อง ได้ให้เหตุผลว่าข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่ถูกใช้และรับรู้กันโดยทั่วไป ไม่ได้มีความหมายเฉพาะเจาะจงว่าหมายถึงเผด็จการคนใด ประชาธิปไตยอย่างไร การแสดงเจตนาเพื่อให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย มันจึงไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย”

“ถึงแม้ว่าคำพิพากษาจะเป็นเรื่องของกฎหมาย แต่ต้องอย่าลืมว่ากฎหมายไม่ใช่เป็นเรื่องของภววิสัยอย่างเดียว กฎหมายมันจะมีชีวิตขึ้นมา มีปากมีเสียง ก็ต้องผ่านการบังคับใช้ ผ่านการตีความของศาล ในวงการกฎหมาย เราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่มันจะต้องมีความเป็นอัตวิสัยของบุคคลเข้าไปเกี่ยวข้อง”

 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:

รู้จักข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” เครื่องมือจัดการประชาชนยุค คสช.

ฟ้องคดี 116 โปรยใบปลิวต้านรัฐประหารระยอง จำเลยขอต่อสู้คดี

ห้ามจด ห้ามเผยแพร่: การกระทำที่ขัดหลักการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยและขัดหลักประชาธิปไตยของศาลทหาร

 

 

X