ยังสู้ต่อ: “พลวัฒน์” ยื่นอุทธรณ์คดีโปรยใบปลิวต้านเผด็จการ หลังศาลลง ม.116 คุก 4 เดือน

25 พฤษภาคม 2563 – หลังศาลจังหวัดระยองมีคำพิพากษาลงโทษพลวัฒน์ วโรดมพุฒิกุล จำเลยหนุ่มโรงงานในคดีความที่สืบเนื่องมาจากการโปรยใบปลิว “ตื่น และลุกขึ้นสู้ได้แล้ว … ผู้รักประชาธิปไตยทุกคน เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ต่อต้านเผด็จการ คสช. เมื่อปี 2558 ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (2) ให้จำคุก 6 เดือน แต่ให้การเป็นประโยชน์ในชั้นพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 ลงโทษจำคุก 4 เดือน ไม่รอลงอาญา ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ทนายจำเลยได้เดินทางไปที่ศาลจังหวัดระยองอีกครั้งเพื่อยื่นอุทธรณ์สู้ต่อในคดี

ดาวน์โหลดคำพิพากษาในคดีของพลวัฒน์ฉบับเต็มได้ ที่นี่

ดาวน์โหลด คำอุทธรณ์คดีพลวัฒน์ มาตรา 116

 

คำอุทธรณ์ของพลวัฒน์

การเข้าสู่อำนาจของ คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ผ่านการทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในขณะนั้น เป็นการเข้าสู่อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ 2550 อีกทั้งยังไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ซึ่งการกระทำดังกล่าวมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113

การยึดอำนาจผ่านการรัฐประหารถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การแก้ปัญหาทางการเมืองและความขัดแย้งซึ่งเกิดขึ้นในเวลานั้นจึงควรเป็นไปตามวิถีทางของหลักการประชาธิปไตย ประชาชนย่อมจะเรียนรู้และพัฒนาต่อไปในฐานะผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย มีอำนาจในการเลือกคณะบุคคลขึ้นมาเพื่อดำรงตำแหน่งบริหารประเทศผ่านกระบวนการเลือกตั้ง

เมื่อได้อำนาจมาแล้ว คสช. ยังได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 และอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวออกประกาศหลายฉบับที่มีผลในการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน สถาปนาตนอยู่เหนืออำนาจหลักทั้งสามของประเทศ ได้แก่ อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ เป็นการย่ำยีระบอบประชาธิปไตยและไม่เห็นหัวประชาชนคนไทย บังคับให้ประชาชนต้องถูกพิจารณาคดีในศาลทหารซึ่งมีกระบวนการที่ไม่เป็นธรรม ถือเป็นการทำลายหลักนิติรัฐและนิติธรรมลงอย่างสิ้นเชิง

.

.

การเข้าสู่อำนาจของ คสช. นั้นในความเป็นจริง ถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มของคนที่มีความศรัทธาในหลักการประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อันเป็นประมุข มีการออกมาคัดค้านและต่อต้านอย่างกว้างขวาง ทว่าก็เป็นไปด้วยความสุจริต เป็นไปตามวิถีทางความเป็นประชาธิปไตย เพราะหากประชาชนคนไทยสยบยอมต่ออำนาจอันไม่ชอบแล้ว ประเทศย่อมเดินสู่หุบเหว ยากที่จะกลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตย

หากไม่มีการออกมาคัดค้านต่อต้าน ทางคณะ คสช. ย่อมถือเอาการสยบยอมดังกล่าวว่าเป็นการยอมรับของประชาชนที่จะตกอยู่ใต้การปกครองในระบอบเผด็จการทหาร การกระทำของจำเลยในคดีนี้แท้ที่จริงเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตราที่ 4 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งเป็นการกระทำที่เป็นไปโดยสุจริต อยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย ไม่ได้เป็นการยุยงจนนำไปสู่ความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนแต่อย่างใด

ส่วนที่ศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า “…ขณะนั้นคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้าควบคุมอำนาจการปกครอง เหตุมาจากสถานการณ์รุนแรงที่มีแนวโน้มขยายตัวเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองในหลายพื้นที่” นั้นเป็นการรับฟังที่คลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริง เพราะความขัดแย้งทางการเมืองนั้นเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว แม้จะมีการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมที่กระทบกระทั่งกันบ้าง แต่เจ้าหน้าที่ก็ย่อมสามารถจัดการได้ด้วยเครื่องมือทางกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นวิธีการที่ก็ถูกใช้กันในเหล่านานาอารยะประเทศที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย

ข้ออ้างที่ว่า คสช. เข้ามาเพื่อจัดการเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองจึงเป็นเรื่องที่ไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิง แม้จะมีการออกกฎหมายเพื่อนิรโทษกรรมตัวเองในภายหลัง อย่างไรก็ตาม ก็มีผลเพียงแค่ทำให้ไม่ต้องรับโทษจากการกระทำอันอุกอาจ ไม่ได้หมายความว่าการรัฐประหารนั้นเป็นเรื่องชอบธรรมตามหลักการประชาธิปไตยแต่อย่างใด และเมื่อย้อนดูเจตนาที่แท้จริงของคณะ คสช. ที่เข้ามา ก็ชัดเจนว่าไม่ได้เข้ามาเพื่อยุติความขัดแย้ง แต่เพื่อฉวยใช้โอกาสในการบริหารประเทศด้วยระบอบเผด็จการเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง ปัจจุบัน คณะดังกล่าวก็ได้อยู่ในอำนาจเป็นเวลาถึง 6 ปีแล้ว

การที่ศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวยังได้สะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจที่ผิดของศาลชั้นต้นเอง เพราะหากสังคมยอมให้ทหารหรือผู้ที่กุมอำนาจทหารสามารถอ้างสถานการณ์เพื่ออ้างความชอบธรรมให้กับการทำรัฐประหาร ย่อมเป็นการพาประเทศถอยหลังลงคลอง มอมเมาให้คนสยบยอมต่ออำนาจอันไม่เป็นไปตามประชาธิปไตย ส่งผลเสียต่อการเมืองการปกครองประเทศในระยะยาว จำเลยจึงไม่อาจเห็นพ้องกับข้อเท็จจริงและคำวินิจฉัยดังกล่าวได้

ในส่วนที่ศาลรับฟังข้อเท็จจริงและข้อวินิจฉัยว่า การที่ คสช. เข้ามาปกครองประเทศได้มีการประกาศใช้คำสั่งต่าง ๆ ที่มีผลในการจำกัดสิทธิของประชาชน รวมไปถึงรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ถูกประกาศใช้เองก็มีผลในการจำกัดสิทธิ ย่อมต้องมีคนที่ออกมาต่อต้าน การที่จำเลยเบิกความว่า เจ้าหน้าที่มีการใช้ความรุนแรงกับนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งในกลุ่มนั้นก็มีเพื่อนของจำเลยด้วย ถือว่าเป็นการกล่าวอ้างโดยไม่มีหลักฐาน อีกทั้งเจ้าหน้าที่ยังจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมาย อันเป็นผลมาจากการที่ คสช. จำเป็นต้องจัดระเบียบในบ้านเมืองซึ่งกำลังเผชิญกับความแตกแยก

ต่อประเด็นข้างต้น จำเลยเห็นว่า คำสั่งต่าง ๆ ที่ถูกออกโดย คสช. ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยซึ่งปกครองในระบบรัฐสภา เพราะอำนาจในการออกกฎหมายเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัตินั่นก็คือ “ผู้แทนราษฎร” เมื่อมีการประกาศใช้แล้วเกิดผลกระทบต่อประชาชน ประชาชนก็ย่อมต้องมีสิทธิในการโต้แย้งและแสดงความคิดเห็นต่อความไม่เป็นธรรม แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีการประกาศยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญ 2550 แต่ก็ยังมีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ซึ่งในมาตราที่ 4 ก็ได้มีการรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งสิทธิตามกติการะหว่างประเทศด้วย

ที่มากไปกว่านั้น การบังคับใช้กฎหมายโดย คสช. และเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ภายหลังการรัฐประหารจนถึงตอนที่เกิดคดี เป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ขัดกันกับหลักการประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การคัดค้านต่อต้านโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ย่อมต้องได้รับความคุ้มครองทั้งจากตัวรัฐธรรมนูญเองและกติการะหว่างประเทศ การที่มีคนออกมาต่อต้านย่อมจะเรียกได้ว่าเป็นการทำไปตามหน้าที่ในฐานะปวงชนชาวไทยซึ่งศรัทธาและหวงแหนในหลักการประชาธิปไตย การที่ศาลวินิจฉัยถึงการออกมาต่อต้านของประชาชนว่าเป็นการก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยถือว่าเป็นการวินิจฉัยโดยใช้ข้อเท็จจริงนอกสำนวน คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

คำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้แสดงจุดยืนตรงข้ามกับประชาชนพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ผ่านการรับฟังข้อเท็จจริงและข้อวินิจฉัยที่ว่า การออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยหรือคัดค้านอำนาจเผด็จการของประชาชนนั้นถือว่าเป็นการก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย เพราะหากตีความตามที่ศาลวินิจฉัยดังกล่าว ย่อมหมายความว่าเมื่อเกิดการรัฐประหาร ประชาชนควรสยบยอม ไม่คัดค้านต่อต้านการยึดอำนาจ

ในส่วนของการปรับทัศนคติ จำเลยมองว่า แท้จริงแล้ว คือการบิดเบือนคำให้มีความหมายเชิงบวกเท่านั้น หากแต่ความเป็นจริงคือการบังคับควบคุมตัวประชาชนและจำกัดเสรีภาพในค่ายทหาร การที่ศาลรับฟังว่าเจ้าหน้าที่รัฐย่อมต้องทำหน้าที่ตามกฎหมายเองก็ถือว่าเป็นการวินิจฉัยจากข้อเท็จจริงนอกสำนวน ขัดแย้งกับความเป็นจริง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือเจ้าหน้าที่รัฐหลายคนก็ไม่ละอายใจที่จะย่ำยีสิทธิมนุษยชนเพื่อตอบสนองต่อคณะรัฐประหาร ในส่วนที่ศาลวินิจฉัยว่า การบริหารปกครองประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะต้องมีการจัดระเบียบผู้คนในบ้านเมืองที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกแยก คำวินิจฉัยดังกล่าวนั้นก็ถือว่าขัดต่อหลักการประชาธิปไตย เพราะหากประชาชนคนทั้งประเทศมีแนวคิดดังที่ศาลวินิจฉัย การได้มาหรือกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยย่อมเป็นไปได้ยาก

ในส่วนของข้อความของครูครอง จันดาวงศ์ ที่ถูกนำมาใช้ในใบปลิว “ตื่น ลุกขึ้นสู้ได้แล้วผู้รักประชาธิปไตยทุกคน เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” พร้อมกับสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว มีข้อความว่า “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ต่อต้านการรัฐประหาร” ที่ศาลวินิจฉัยว่ามีลักษณะของการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง จำเลยขอแย้งว่า ประโยคหลังนั้นสื่อความหมายเพื่อสะกิดและเตือนใจประชาชนผู้ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยให้แสดงออกทางการเมืองเท่านั้น เช่นเดียวกันกับการปลุกให้คนลุกขึ้นสู้กับยาเสพติดหรือการคอรัปชั่น การสื่อสารดังกล่าวถือว่าเป็นการแสดงออกอย่างสันติภายใต้กรอบของกฎหมายซึ่งสามารถทำได้ตามสิทธิและเสรีภาพทั้งที่ระบุในรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศ ไม่ได้เจตนายุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ ในชั้นสอบสวนเองก็ไม่ได้ปรากฏว่ามีผู้ใดผู้หนึ่งได้ก่อความไม่สงบอันเป็นผลมาจากการอ่านข้อความที่จำเลยยืมมาใช้

.

.

ในประเทศอารยะที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย การแสดงออกซึ่งความไม่เห็นด้วยอย่างสันติวิธีย่อมเป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ จะมีก็แต่ประเทศที่ล้าหลังเท่านั้นที่มอมเมาประชาชนให้สยบยอมต่ออำนาจของคณะรัฐประหาร ในส่วนของประโยคที่ว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” เป็นข้อความของครูครอง จันดาวงศ์ ซึ่งถูกนำมาใช้ในการต่อสู้และคัดค้านอำนาจเผด็จการมาก่อน โดยตัวของครูครอง ก่อนที่จะถูกประหารชีวิตโดยเผด็จการ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ครูครองได้กล่าวประโยคดังกล่าวเพื่อแสดงออกว่าตนเป็นผู้ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยซึ่งคัดค้านการได้มาซึ่งอำนาจของคณะเผด็จการในขณะนั้น ถ้อยคำดังกล่าวจึงเป็นสำนวนที่นิสิตนักศึกษาและประชาชนที่รักในระบอบประชาธิปไตยถือเป็นคำขวัญหรือสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ตลอดมา

หากทั้งสองข้อความที่จำเลยนำมาใช้ในการแสดงออกถือว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและไม่เป็นการใช้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตแล้ว ย่อมเท่ากับว่าประชาชนไม่สามารถแสดงออกในทางการเมืองได้เลย ทำได้เพียงแค่สนับสนุนรัฐประหารหรือการทำลายประชาธิปไตย และทำลายหลักสิทธิเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ เท่านั้น

คดีนี้เป็นคดีทางการเมืองอันเป็นเหตุมาจากการที่จำเลยแสดงออกว่าสนับสนุนประชาธิปไตย เมื่อมีการพิจารณาคดีในศาลทหารจำเลยก็ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพหลายประการ เป็นการดำเนินคดีกับผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองโดยยัดข้อหาเพื่อเป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ซึ่งก็มีแต่เพียงสังคมที่ล้าหลังและนิยมเผด็จการเท่านั้นที่ดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างทางการเมือง การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จึงเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นการส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ในระหว่างที่คดียังอยู่ในศาลทหาร จำเลยมีความกังวลเป็นอย่างมาก เหตุเพราะศาลทหารไม่สามารถยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาได้ เมื่อคดีนี้ถูกโอนมายังศาลยุติธรรม จำเลยจึงหวังอย่างยิ่งว่าจะได้รับความเป็นธรรมจากศาลยุติธรรมซึ่งมีหน้าที่ในการรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยการยกฟ้องและคืนความเป็นธรรมให้จำเลย เพื่อยืนยันสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยในการต่อสู้คัดค้านเผด็จการ ประโยชน์แห่งความยุติธรรม และกำลังใจของประชาชนที่จะทำนุบำรุงรักษาระบอบประชาธิปไตยสืบไป

 

หนึ่งในคดีมรดกจากสมัย คสช. ที่สืบเนื่องมาจากถ้อยประโยคของครูครอง จันดาวงศ์

นอกเหนือจากคดีของพลวัฒน์ที่ต้องติดค้างอยู่ในชั้นพิจารณาเป็นเวลากว่า 4 ปี ก่อนที่จะมีคำพิพากษาในศาลพลเรือน คดีทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สังคมไทยยังตกอยู่ภายใต้การควบคุมของ คสช. และมีการนำถ้อยคำของครูครองไปใช้ในการเคลื่อนไหวนั่นก็คือคดีของ สามารถ ขวัญชัย ที่ถูกทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง กว่า 60 นาย ได้เข้าจับกุมตัวจากกรณีการนำใบปลิวที่มีข้อความว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ 7 ส.ค. Vote No” พร้อมรูปสัญลักษณ์ชูสามนิ้วไปเสียบบริเวณที่ปัดน้ำฝนหน้ารถที่จอดอยู่ในที่จอดรถของห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า จังหวัดเชียงใหม่ในช่วงก่อนการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 โดยในคดีนี้ซึ่งอัยการฟ้องในความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ 2559 ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษายกฟ้องไปเมื่อ 24 เม.ย.2560 และคดีถึงที่สุดแล้ว

อีกคดีหนึ่งเกิดขึ้นในช่วงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 เช่นกัน โดยในวันออกเสียงประชามติ ปิยรัฐ จงเทพ นักกิจกรรม ได้ฉีกบัตรลงคะแนนภายในหน่วยออกเสียงประชามติ พร้อมกับตะโกนว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” เพื่อคัดค้านการออกเสียงลงประชามติที่ไม่ชอบธรรม จากนั้นปิยรัฐได้ถูกจับกุมและดำเนินคดีฐานทำลายเอกสารราชการ และก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ พร้อมด้วยจิรวัฒน์ เอกอัครนุวัฒน์ และทรงธรรม แก้วพันธุ์พฤกษ์ ซึ่งเป็นผู้ถ่ายคลิปเหตุการณ์เผยแพร่ คดีนี้ศาลชั้นต้นยกฟ้องจำเลยทั้งสามฐานก่อความวุ่นวาย แต่ลงโทษปิยรัฐ ฐานทำลายบัตรออกเสียงและทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย โดยปรับ 2,000 บาท จำคุก 2 เดือน โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษทั้งสามตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ จำคุกคนละ 4 เดือน ปรับคนละ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี ทั้งสามยื่นฎีกา โดยศาลนัดฟังคำพิพากษาฎีกาวันที่ 21 ก.ค. 2563

 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:

เมื่อศาลรับรองอำนาจ คสช. แม้ไม่มี คสช.: ถอดบทเรียนคำพิพากษาคดี “พลวัฒน์” โปรยใบปลิวต้านเผด็จการ

เมื่อการโปรยใบปลิวกลายเป็นภัยความมั่นคง: ศาลพิพากษาจำคุก 4 เดือน หนุ่มโรงงานโปรยใบปลิว “เผด็จการจงพินาศ…”

ศาลพลเรือนนัดสืบพยานคดีโปรยใบปลิวต้าน คสช.- คดี 112 ผู้ป่วยจิตเวชต่อแล้ว หลังโอนจากศาลทหาร

เปิดคำแถลงปิดคดี “ลุงสามารถ” แปะใบปลิวโหวตโน ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษาพรุ่งนี้

 

X