26 มีนาคม 2563 – ศาลจังหวัดระยองอ่านคำพิพากษาในคดีของ พลวัฒน์ วโรดมพุฒิกุล พนักงานช่างเทคนิคประจำโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง จำเลยในความผิดฐาน ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เหตุจากการที่พลวัฒน์ออกมาโปรยใบปลิวข้อความ “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” เพื่อต่อต้าน คสช. เมื่อต้นปี 2558 ซึ่งผ่านมาแล้ว 5 ปี โดยคดีนี้เป็นหนึ่งในคดีที่ถูกโอนมาจากศาลทหารตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2562
ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษา โดยท้าวความถึงคำเบิกความของผู้กล่าวหาในคดีนี้คือ พ.ต.ท.มานิตย์ บุญมาเลิศ ซึ่งเบิกความไว้ว่า ผู้ใต้บังคับบัญชาได้รายงานว่า พบชายคนหนึ่งลักษณะคล้ายจำเลยขี่จักรยานยนต์นำใบปลิวไปโปรย 4 จุด ในจังหวัดระยอง เมื่อสืบสวนจากกล้องวงจรปิดและทางออนไลน์ เจ้าหน้าที่ได้ติดตามไปจนถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ตรวจพบรถจักรยานยนต์ตรงตามในกล้องวงจรปิด สืบพบว่าเป็นรถของบิดาจำเลย ในชั้นจับกุมตัวจำเลยยอมรับว่าเป็นผู้นำใบปลิวไปโปรยจริง และการซักถามในชั้นทหารจำเลยก็รับว่า เป็นผู้นำใบปลิวไปโพสต์จริง พนักงานสอบสวนเห็นควรสั่งฟ้องตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 ในความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เหตุที่เห็นควรสั่งฟ้องเนื่องจากขณะนั้นมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก การแสดงออกถูกจำกัดภายใต้กฎหมาย ทำได้ก็แต่ตามช่องทางที่ คสช. อนุญาตเท่านั้น
คำพิพากษาในส่วนที่เป็นการพิเคราะห์ของศาลมีเนื้อหาโดยสรุปว่า “สำหรับความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 พิเคราะห์ข้อความในใบปลิวที่เขียนว่า “ตื่นและลุกขึ้นสู้ได้แล้ว ผู้รักประชาธิปไตยทุกคน เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” และมีสัญลักษณ์สามนิ้วเขียนว่า “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” ประกอบกับขณะนั้น คสช. เข้าควบคุมอำนาจอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกและประกาศคำสั่งของ คสช. หลายฉบับ มีการจำกัดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพสื่อมวลชน ประกาศและคำสั่งจำนวนมากที่ออกมาย่อมกระทบต่อสิทธิของคนหลายกลุ่ม ย่อมทำให้มีคนไม่พอใจ
ขณะนั้น รัฐธรรมนูญ 2550 ที่รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนสิ้นสุดลงจากการยึดอำนาจของ คสช. และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 ที่มีข้อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในช่วงเวลานั้นมีนิสิตนักศึกษาออกมาทำกิจกรรมต่อต้าน คสช. ซึ่งจำเลยก็ทราบว่า มีการเรียกร้องประชาธิปไตย เพื่อนของจำเลยเองก็เป็นหนึ่งในคนที่ออกมาเรียกร้องจนต้องถูกเรียกไปปรับทัศนคติ ที่จำเลยกล่าวอ้างว่า มีการใช้ความรุนแรงกับกลุ่มนิสิตนักศึกษา เป็นเพียงการกล่าวอ้างลอย ๆ โดยไม่มีหลักฐาน และขณะนั้น คสช. เข้ามาบริหารประเทศ ย่อมต้องมีการจัดระเบียบสังคม ต้องกระทำเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย
การกระทำของจำเลยโดยการโปรยใบปลิวทั้ง 4 จุด เป็นการโปรยในที่สาธารณะจึงเป็นการทำให้ปรากฏแก่ประชาชน ข้อความในใบปลิวแสดงให้เห็นเจตนาเพื่อยุยงปลุกปั่นให้ลุกขึ้นสู้ ให้ต่อต้าน คสช. ที่เป็นรัฐบาลขณะนั้น เพื่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้องโจทก์
ที่จำเลยอ้างว่า เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญนั้น การกระทำภายใต้ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ หมายถึง การกระทำภายใต้กฎหมาย ไม่มุ่งหมายกล่าวเท็จ บิดเบือน แต่ข้อความตามใบปลิวมีลักษณะยุยงปลุกปั่น ไม่อยู่ในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือการติชมโดยสุจริต ที่จำเลยอ้างว่า ข้อความดังกล่าวเคยใช้ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาธรรมศาสตร์ด้วยนั้น จะต้องคำนึงถึงลักษณะการใช้ กาละเทศะ และผู้นำมาใช้ การใช้ในงานฟุตบอลประเพณี เป็นไปเพื่อแสดงความคิดเห็น อาจไม่เจตนาให้เกิดความปั่นป่วน
สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จำเลยเบิกความว่า ไม่เคยโพสต์ และไม่เคยเห็นโพสต์บนเพจเฟซบุ๊กที่ชื่อ “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.)” แต่จำเลยตอบคำถามค้านของอัยการโจทก์ว่า เป็นผู้ส่งภาพดังกล่าวให้กับเพจ ศนปท. แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้โพสต์ภาพพร้อมข้อความลงบนเพจ โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า จำเลยเป็นผู้ดูแล หรือรู้รหัสผ่าน หรือเกี่ยวข้องกับเพจ ศนปท. อันจะทำให้จำเลยสามารถนำภาพไปโพสต์และพิมพ์ข้อความใต้ภาพได้ แม้จำเลยจะยอมรับว่า ได้ส่งภาพเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ก็ไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยโพสต์ภาพและพิมพ์ข้อความใต้ภาพในเพจ ศนปท. จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่า ข้อความดังกล่าวเป็นความผิดตาม มาตรา 14 (2) (3) หรือไม่ พยานหลักฐานโจทก์ไม่สามารถรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ
สำหรับใบปลิวจำนวน 34 แผ่น และเครื่องปริ้นเตอร์ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการกระทำความผิด ให้ริบ
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (2) ให้จำคุก 6 เดือน คำให้การในชั้นพิจารณาของจำเลยเป็นประโยชน์ สมควรลดโทษให้ 1 ใน 3 ลงโทษจำคุก 4 เดือน ไม่รอลงอาญา ข้อหาอื่นให้ยก”
หลังศาลมีคำพิพากษา ทนายจำเลยได้ยื่นประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ โดยใช้หลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 100,000 บาท ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกัน และพลวัฒน์ได้รับการปล่อยตัวที่ศาลจังหวัดระยองในเวลาประมาณเที่ยงของวันนั้น
แค่โปรยใบปลิวกลายเป็นชนวนของการต่อสู้ที่ยาวนานถึง 5 ปี
คดีความของพลวัฒน์สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2558 เวลาราวตีหนึ่ง ในขณะที่ประเทศไทยยังตกอยู่ภายใต้การควบคุมของ คสช. ซึ่งใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “กฎอัยการศึก” เพื่อปิดปากไม่ให้ประชาชนกล้าที่จะออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพ มีใบปลิวจำนวนหนึ่ง ขนาดกระดาษ A4 พิมพ์ข้อความว่า “ตื่น และลุกขึ้นสู้ได้แล้ว … ผู้รักประชาธิปไตยทุกคน เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” พร้อมกับภาพสัญลักษณ์ “สามนิ้ว” ตกเกลื่อนกระจายใน 4 จุด ที่จังหวัดระยอง โดยไม่ทราบว่าใครเป็นผู้นำไปโปรย จุดที่ปรากฏใบปลิวได้แก่
- หน้าโรงเรียนอนุบาลระยอง
- ทางเข้าสวนศรีเมือง
- หน้าโรงเรียนระยองวิทยาคม
- ม้าหินอ่อนหน้าวิทยาลัยเทคนิคระยอง
จากนั้น ภาพของใบปลิวที่ถูกโปรยกลับไปปรากฏอยู่ในเพจเฟซบุ๊คที่ชื่อ “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.)” ก่อนที่สำนักข่าวมติชนออนไลน์จะนำข่าวไปเผยแพร่ต่อ อย่างไรก็ตาม ข่าวเล็ก ๆ ข่าวนี้ก็ไม่ได้เป็นที่สนใจของสังคมมากนัก จะมีการพูดถึงก็แต่ในวงการของนักกิจกรรมการเมืองและนักสิทธิมนุษยชนเท่านั้น
1 สัปดาห์ถัดมา ในวันที่ 28 มีนาคม 2558 ตำรวจได้จัดแถลงข่าวพร้อมกับนำตัวผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคนโปรยใบปลิวดังกล่าวมาเปิดตัว และในวันนั้นเองที่สังคมถึงได้รู้จักชื่อของ “พลวัฒน์” หนุ่มพนักงานโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด วัย 22 ปี ที่ถูกจับเหตุเพราะกระทำความผิดร้ายแรง เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงภายใต้นิยามของ คสช. ก่อนจะถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีที่จะกินเวลาในชีวิตวัยหนุ่มของเขานานถึง 6 ปี
อีกหนึ่งในคดีที่พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร
เจ้าหน้าที่ติดตามเข้าจับกุมตัวพลวัฒน์ถึงที่ทำงานตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2558 ขณะที่เขากำลังทำงาน จากนั้นพลวัฒน์ถูกนำตัวไปยัง มทบ.14 จังหวัดชลบุรี และถูกกักตัวอยู่ 1 คืน เพื่อปรับทัศนคติ ในวันรุ่งขึ้น (28 มีนาคม 2558) เจ้าหน้าที่ทหารได้ส่งตัวชายหนุ่มต่อไปยังสถานีตำรวจภูธรเมืองระยองที่มีนักข่าวเฝ้ารออยู่จำนวนมาก หลังการแถลงข่าวของตำรวจ เขายังต้องถูกคุมขังอยู่ที่สถานีตำรวจอีก 2 คืน
ระหว่างนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาพลวัฒน์ใน 3 ฐานความผิด ได้แก่
- ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116
- ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 เนื่องจากฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557
- โปรยใบปลิวโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ
ในการสอบปากคำโดยไม่มีทนายความเข้าร่วม พลวัฒน์ได้ให้การยอมรับว่าตัวเองเป็นคนจัดทำใบปลิวขึ้น และได้นำไปโปรยหรือติดตามสถานที่เหล่านั้นจริง แต่เขายืนยันว่า ทำไปเพราะมีเจตนาอยากแสดงออก และเรียกร้องต่อสาธารณะ ไม่ได้ต้องการให้เกิดความรุนแรง หรือปลุกระดมแต่อย่างใด
เนื่องจากในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่มีการประกาศกฎอัยการศึก อีกทั้งยังมีประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ระบุให้คดีเกี่ยวกับความผิดบางประเภท เช่น ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องถูกพิจารณาในศาลทหาร อาศัยอำนาจตามประกาศดังกล่าว (กรณีของพลวัฒน์คือ ข้อหาตามมาตรา 116 ในประมวลกฎหมายอาญา) พลวัฒน์จึงถูกพนักงานสอบสวนนำตัวไปยังศาลมณฑลทหารบกที่ 14 (ศาล มทบ.14) ที่ตั้งอยู่ภายในค่ายนวมินทราชินี จังหวัดชลบุรี เพื่อขออำนาจศาลฝากขังในวันที่ 30 มีนาคม 2558 ก่อนจะได้รับอนุญาตให้ประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์จำนวน 70,000 บาท ในวันเดียวกันนั้นเอง
และภายหลัง พนักงานสอบสวนยังเรียกพลวัฒน์ไปแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการถ่ายรูปใบปลิวส่งไปยังเฟซบุ๊กของเพจ “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.)” พลวัฒน์รับว่า เขาส่งรูปที่เขาถ่ายหลังโปรยและติดใบปลิวแล้วให้กับเพจ ศนปท. ทางกล่องข้อความจริง แต่ไม่ได้มีเจตนายั่วยุปลุกปั่นแต่อย่างใด
สู่ความล่าช้าในศาลทหารยาวนานเกือบ 3 ปี
ความล่าช้าในกระบวนการพิจารณาเริ่มส่อเค้าตั้งแต่คดียังไม่ขึ้นศาล แม้ว่าพลวัฒน์จะถูกจับและแจ้งข้อหาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 แต่คดีก็ไม่ได้ถูกส่งฟ้องโดยเร็ว กว่าที่อัยการทหารจะยื่นฟ้องก็ล่วงไปถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 แล้ว
ในการยื่นฟ้องต่อศาล มทบ.14 อัยการทหารได้ฟ้องพลวัฒน์ใน 2 ข้อหา เท่านั้น นั่นก็คือ มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยตัดข้อหา ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน เนื่องจากฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 ออก เนื่องจากประกาศนี้เป็นไปเพื่อควบคุมเนื้อหาของสื่อ และได้ตัดข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ออก เนื่องจากพลวัฒน์รับว่าได้โปรยใบปลิวจริง ตำรวจจึงเปรียบเทียบปรับในส่วนของข้อหานี้ไปแล้วเป็นเงิน 500 บาท (อ่านคำฟ้องโจทก์ที่ ฟ้องคดี 116 โปรยใบปลิวต้านรัฐประหารระยอง จำเลยขอต่อสู้คดี)
ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2559 เดือนต่อมาหลังอัยการยื่นฟ้อง ศาลได้นัดพลวัฒน์เพื่อสอบคำให้การ แต่เนื่องจากว่าเพิ่งมีการยื่นใบแต่งทนาย ศาลจึงอนุญาตให้เลื่อนออกไปอีกนัด ซึ่งในนัดถัดมา วันที่ 6 กันยายน 2560 พลวัฒน์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและขอต่อสู้คดี
การสืบพยานปากแรกในคดีเริ่มขึ้นในอีก 1 ปีถัดมา คือวันที่ 6 ก.พ. 2561 หลังการเลื่อนนัดถึง 2 ครั้ง เนื่องจากพยานโจทก์คือ พ.ต.ท.มานิตย์ บุญมาเลิศ ไม่มาศาล อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเลื่อนนัดสืบพยานยังมีปรากฏให้เห็นอีกหลายครั้งในคดีนี้ อาทิ พยานโจทก์ปากที่ 3 พ.อ.นาวี มาใหญ่ เลื่อน 1 ครั้ง, พยานโจทก์ปากที่ 4 พ.ต.ท.วิรัตน์ เตชนันท์ เลื่อน 1 ครั้ง และเลื่อนสืบพยานโจทก์ปากที่ 5 อีก 1 ครั้ง ทุกนัดที่มีการเลื่อนเพราะพยานไม่มาศาลหรืออัยการไม่สามารถติดตามพยานให้มาศาลได้
ปัญหาความล่าช้าในศาลทหารนอกจากที่มีสาเหตุมาจากอัยการทหารหรือตัวพยานโจทก์แล้ว ในแง่นโยบายการทำงานของศาลทหารเองก็มีผลให้เกิดความล่าช้า เนื่องจากศาลจะนัดสืบพยานเว้นระยะห่างกันราว 1 – 2 เดือน และนัดพยานแค่นัดละ 1 ปาก เท่านั้น ในกรณีของพลวัฒน์ แม้ว่าพยานจะไม่มาศาลติด ๆ กันหลายครั้ง แต่ศาลทหารก็ไม่ได้มีคำสั่งตัดพยานแต่อย่างใด กำหนดให้สืบพยานทุกปาก ต่างจากในศาลยุติธรรมที่จะนัดวันสืบพยานต่อเนื่องกันเพื่อความรวดเร็ว
หลังจากที่ต้องติดค้างในกระบวนการพิจารณาโดยศาลทหารมาอย่างยาวนาน สุดท้าย เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2562 ศาลทหารได้สั่งให้พักการพิจารณาคดี เนื่องจากศาลมีคำสั่งโอนย้ายคดีไปยังศาลยุติธรรม ซึ่งก็คือศาลจังหวัดระยอง สรุปแล้วระยะเวลาเกือบ 3 ปี ในศาลทหารนับแต่วันที่อัยการทหารยื่นฟ้อง ศาลสืบพยานโจทก์จนเสร็จสิ้นได้เพียง 5 ปาก ขณะที่พลวัฒน์และพ่อต้องเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการลางานและเดินทางจากจังหวัดระยองไปศาลที่จังหวัดชลบุรี ถึง 10 ครั้ง
นอกจากปัญหาเรื่องความล่าช้าของกระบวนการพิจารณาคดี อันขัดต่อหลักการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมแล้ว ผู้ที่ไปสังเกตการณ์ในคดีของพลวัฒน์ยังต้องพบปัญหาอื่นของศาลทหารอีก อาทิเช่น ศาลทหารสั่งห้ามจดบันทึกระหว่างการพิจารณา รวมทั้งไม่อนุญาตให้คัดถ่ายรายงานการพิจารณา ทั้ง ๆ ที่คดีนี้ศาลไม่ได้สั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ
หรือแม้แต่เมื่อพลวัฒน์ถูกจับและถูกนำตัวไปขออำนาจศาล มทบ.14 ฝากขัง แม้ว่าพลวัฒน์จะได้รับอนุญาตให้ประกันตัวแล้ว แต่ก็ยังต้องถูกส่งตัวเข้าไปที่เรือนจำกลางชลบุรี และผ่านขั้นตอนการตรวจของเรือนจำเช่นเดียวกับผู้ต้องหาหรือผู้ต้องขังรายอื่นที่ไม่ได้รับการประกันตัว ก่อนได้รับการปล่อยตัว พลวัฒน์เล่าว่า ในช่วงที่รอการปล่อยตัวเขาได้ถูกเจ้าหน้าที่ตัดผมจนเกรียนไปเสียแล้ว ทั้งนี้ หากเป็นศาลยุติธรรม ผู้ต้องหาที่ได้รับการประกันตัวหลังการฝากขังจะได้รับการปล่อยตัวที่ศาลเลย โดยไม่จำเป็นต้องถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ แล้วจึงทำการปล่อยตัวที่เรือนจำ
พยานเจ้าหน้าที่ชี้ จำเลยท้าทายอำนาจ คสช. หากเป็นยามปกติไม่ผิดกฎหมาย
ในการสืบพยานทั้งในศาล มทบ.14 และศาลจังหวัดระยอง พยานโจทก์ซึ่งทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ เบิกความในลักษณะยอมรับอำนาจของ คสช. ในฐานะที่เป็นรัฏฐาธิปัตย์ แม้ว่าพยานโจทก์เหล่านั้นจะยอมรับในข้อเท็จจริงว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ในมาตรา 2 ระบุว่า ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และมาตรา 4 รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และรับว่าในยามปกติ การกระทำของจำเลยย่อมไม่เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายเพราะเป็นไปตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ คำเบิกความของพยานโจทก์ส่วนมากยังโน้มเอียงไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือมองว่า การเห็นต่างของประชาชนคือความไม่สงบเรียบร้อย เป็นการท้าทายอำนาจของรัฐบาล คสช. โดยที่รัฐ คสช. เองก็มีอำนาจตามกฎหมายอันชอบธรรมในการที่จะป้องปราม แม้ว่าพยานจะยอมรับว่า คสช. มีวิธีการเข้าสู่อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมตามวิถีทางประชาธิปไตยก็ตาม
ทั้งนี้ ในการถามค้านของทนายจำเลย ซึ่งถามความเห็นของพยานโจทก์หลายปาก โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในใบปลิว เช่นว่า “ระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการสิ่งใดควรจะพินาศ สิ่งใดควรจะเจริญ” “การออกมาคัดค้านรัฐประหารเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงามหรือไม่” หรือแม้แต่ “การกระทำของจำเลยถือว่าเป็นไปตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญหรือไม่” พยานโจทก์เกือบทุกรายพยายามเลี่ยงที่จะไม่ตอบคำถามดังกล่าว
โปรยใบปลิวเพราะมีความไม่ชอบธรรมในบ้านเมือง
ด้านพลวัฒน์ซึ่งเบิกความเป็นพยานให้ตนเองในการสืบพยานวันสุดท้าย กล่าวยืนยันต่อศาลว่า การที่ตนออกไปโปรยใบปลิว เพราะในช่วงเวลานั้นมีความไม่ชอบธรรมเกิดขึ้นในบ้านเมือง การปกครองมาจากการยึดอำนาจ ไม่ใช่การปกครองในวิถีของระบอบประชาธิปไตย ที่มากไปกว่านั้น ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ เพื่อนของจำเลยที่อยู่ในกลุ่มของนิสิตนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างรุนแรง ตนรู้สึกทนไม่ได้ จึงแสดงออกเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และต้องการให้ประชาชนคำนึงถึงสิทธิในการเป็นประชาธิปไตย ไม่มีเจตนาให้เกิดความรุนแรงใดๆ
พลวัฒน์ยังเบิกความเกี่ยวกับข้อความในใบปลิวที่ว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ซึ่งเป็นคำพูดของครูครอง จันดาวงศ์ นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนั้น ก็เป็นข้อความที่มีการใช้กันแพร่หลาย ตัวอย่างเช่น งานฟุตบอลประเพณีจุฬา – ธรรมศาสตร์ เพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านเผด็จการ โดยไม่ถูกดำเนินคดี
นอกจากนี้ ในส่วนที่ถูกกล่าวหาว่า นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ นั้น พลวัฒน์ระบุว่า ตนได้ส่งแค่รูปให้กับทางเพจเฟซบุ๊ก “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.)” เท่านั้น ไม่ได้เป็นคนโพสต์ข้อความในเพจดังกล่าวเองแต่อย่างใด
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:
ศาลพลเรือนนัดสืบพยานคดีโปรยใบปลิวต้าน คสช.- คดี 112 ผู้ป่วยจิตเวชต่อแล้ว หลังโอนจากศาลทหาร