ทำความรู้จัก 3 จำเลย ผู้ต้องสู้ 3 คดีซ้อน ในข้อหา ม.116 กรณีติดป้ายประเทศล้านนา

มันเป็นเรื่องที่ให้ความรู้สึก “เดจาวู” อยู่บ้าง คือเป็นเหตุการณ์ที่รู้สึกว่าได้เกิดขึ้นซ้ำอีก หรือได้เคยพบพาน-พบเห็นมาก่อนแล้ว เมื่อในห้องพิจารณานั้น มีชาย-หญิงสามคนเดิมตกที่นั่งเป็นจำเลยต้องต่อสู้คดีซ้ำอีกครั้ง มีข้อกล่าวหาเดิมที่เคยต่อสู้คดีผ่านมาแล้ว มีการกระทำที่ถูกกล่าวหาเป็นเรื่องเดิมที่เคยนึกว่าผ่านพ้นไปแล้ว มีทนายความให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายคนเดิม และทั้งหมดต้องกลับมาในวงรอบของ “กระบวนการยุติธรรม” เช่นเดิม ดังที่เคยผ่านมาแล้วเมื่อสามปีก่อนหน้า

แม้เมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดพะเยาจะยกฟ้องคดีของนายออด สุขตะโก นายสุขสยาม จอมธาร และนางถนอมศรี นามรัตน์ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือ “ยุยงปลุกปั่น” จากกรณีการพบป้ายที่มีข้อความว่า “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กู ขอแยกเป็นประเทศล้านนา” ซึ่งติดในจังหวัดพะเยา เนื่องจากโจทก์ไม่ได้มีพยานหลักฐานชัดเจนว่าจำเลยทั้งสามคนได้กระทำความผิดตามฟ้อง

ดูสรุปคำเบิกความพยานคดีนี้ได้ในรายงาน “เพียงเพราะป้ายเหมือนกัน จึงถูกดำเนินคดีซ้ำอีกครั้ง” และสรุปคำพิพากษา

แม้จะมีคำพิพากษาในศาลชั้นต้นไปแล้ว แต่ในคดีนี้ ก็ยังต้องรอติดตามว่าทางอัยการฝ่ายโจทก์จะมีการอุทธรณ์คดีต่อไปหรือไม่ อีกทั้งในขณะนี้ จำเลยทั้ง 3 ยังถูกดำเนินคดีจากป้ายลักษณะเดียวกัน ซึ่งพบติดที่อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย ในช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกันกับที่พบป้ายในที่อื่นๆ อีกด้วย คดีนี้ก็ถูกสั่งฟ้องศาลไปแล้วเช่นกัน โดยศาลจังหวัดเชียงรายนัดสืบพยานในระหว่างวันที่ 26-29 มิ.ย. และ 3 ก.ค. 2561

ไม่นับว่าก่อนหน้านั้น ทั้ง 3 คน ล้วนเคยถูกดำเนินคดีจากกรณีป้ายข้อความเดียวกัน ซึ่งพบที่หน้าห้างเซ็นทรัลพลาซ่าเชียงรายมาแล้ว คดีนั้นศาลจังหวัดเชียงรายได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้รอการลงโทษไว้ เป็นระยะเวลา 5 ปี ไปแล้ว รวมทั้งหมดทำให้ทั้งสามคนถูกดำเนินคดีแล้ว 3 คดี จากข้อหาเดียวกันทั้งหมด (เรื่องราวการดำเนินคดีต่อ 3 จำเลย)

ในอีกมุมมองหนึ่งนอกเหนือไปจากสถานะ “จำเลย” ที่ต้องต่อสู้คดี และรอคอย “คำพิพากษา” แล้ว สามัญชนทั้ง 3 คน เคยทำอะไร หรือกำลังทำอะไรอยู่ในขณะที่ต้องเผชิญคดีที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และพวกเขาต้องพบเจอกับอะไรบ้าง ต่อไปนี้เป็นเรื่องราวจากชีวิตบางส่วนเพื่อให้พอรู้จักพวกเขาและเธอมากขึ้น

 

จำเลยที่ 1 ออด สุขตะโก

เขาเป็นชายวัยกลางคนค่อนไปทางสูงวัยแล้ว ด้วยอายุ 66 ปี ที่ยังดูแข็งแรง กระฉับกระเฉง รูปร่างสูงใหญ่ สมกับเป็นอดีตทหารเกณฑ์ในกรมทหารราบที่ 11 และอดีตอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่อำเภอแม่สรวย ประกอบอาชีพทำสวนลำไย ปลูกพืชผักที่ไร่ และยังทำแคปซูลลำไยอัดเม็ดออกจำหน่ายด้วย

ออดมักใส่และพกพาหมวกคาวบอยใบใหญ่ติดรถไปด้วยเสมอ และในสมัยการชุมนุมของคนเสื้อแดง ก็มักจะสวมหมวกดังกล่าวเดินทักทายผู้คนตามเต๊นท์ในที่ชุมนุม เพื่อนเสื้อแดงจึงเรียกลุงสวมหมวกใหญ่จากจังหวัดเชียงรายคนนี้ ด้วยฉายาว่า “ลุงออด หมวกใหญ่”

พื้นเพเดิมของออดเป็นคนจังหวัดนครปฐม จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เมื่อแต่งงานแล้วจึงย้ายมาอยู่กับภรรยาที่จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่เมื่อปี 2517  ออดเล่าว่าตนเองเริ่มสนใจการเมืองระดับชาติมาตั้งแต่ปี 2544 ในสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยความประทับใจในนโยบายทางการเมืองต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนั้น โดยเฉพาะโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โดยในตอนนั้น ภรรยาของเขาป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูก ต้องรับการรักษาโดยการตัดมดลูก ทำให้ได้ใช้สิทธิในโครงการ 30 บาท ภรรยาตนจึงหายขาดมาได้ ต่อมายังมีนโยบายกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท สามารถผลักดันนโยบายจนประสบความสำเร็จและส่งผลต่อคนในท้องถิ่น จึงได้เห็นถึงนโยบายที่ทำได้จริง

ออดเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่มคนเสื้อแดง เนื่องจากเห็นความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 โดยเข้าร่วมกิจกรรมเป็นบางครั้งบางคราวตามโอกาสที่ว่างเว้นจากการทำงาน รวมทั้งการชุมนุมใหญ่ที่ราชดำเนินและราชประสงค์ในปี 2553  เขายังเป็นหนึ่งในผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่วัดปทุมวนารามขณะเจ้าหน้าที่ทหารเข้าสลายการชุมนุมในเดือนพฤษภาคมปี พ.ศ. นั้นด้วย

หลังการรัฐประหารปี 57 ออดได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารเรียกไปควบคุมตัวภายในค่ายเม็งรายมหาราชมาแล้ว โดยเขาถูกควบคุมตัวในค่ายทหารเป็นเวลา 2 วัน เนื่องจากถูกมองว่าเป็นแกนนำในพื้นที่อำเภอแม่สรวย และยังถูกให้เซ็นเอกสารข้อตกลงไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง ก่อนได้รับการปล่อยตัวอีกด้วย หลังจากนั้นเขายังถูกเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจแวะเวียนไปเยี่ยมที่บ้านอีกมากกว่า 10 ครั้ง ในช่วงกว่าสามปีที่ผ่านมา รวมทั้งยังถูกดำเนินคดีติดป้ายประเทศล้านนานี้รวมสามคดีแล้ว

หากได้ลองพูดคุยด้วยสักครั้งจะสัมผัสได้ว่าออดเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นอยู่ในแววตา ทุกๆ บทสนทนาจะเต็มไปด้วยความเชื่อมั่นและความหวัง แต่ด้วยความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในระหว่างที่ถูกพิจารณาคดีที่ศาลจังหวัดพะเยาอันยืดเยื้อ วันหนึ่ง ออดได้เปรยออกมาว่า “เบื่อนะ เบื่อความไม่ยุติธรรม มันท้อตรงนี้”

 

จำเลยที่ 2 สุขสยาม จอมธาร

ชายอายุ 65 ปี รูปร่างสมส่วนตามแบบฉบับชาวบ้านพื้นถิ่นในต่างจังหวัด เป็นคนพูดน้อย บุคลิกเป็นคนซื่อๆ ตรงๆ แต่ก็มีรอยยิ้มให้เห็นอยู่เสมอๆ  เขามักสร้างรอยยิ้มให้คนรอบข้างด้วยการปล่อยมุกตลกออกมาเป็นบางครั้งบางคราว

พื้นเพเดิมเป็นคนอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงรายอยู่แล้ว เรียนจบชั้นมัธยมปลายจากโรงเรียนในอำเภอนี้ ก่อนเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ อยู่ราว 4 ปี โดยทำทั้งงานโรงแรมและงานจัดการสต็อกสินค้าในบริษัท จากนั้นตัดสินใจกลับมาใช้ชีวิตและทำงานที่เชียงรายบ้านเกิด เคยเป็นทั้งผู้สื่อข่าวของสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 จังหวัดเชียงราย เคยเข้าไปทำงานในปั๊มน้ำมัน เคยเป็นลูกจ้างร้านถ่ายรูป และเคยเป็นดีเจสถานีวิทยุชุมชนในอำเภอแม่สรวย โดยจัดรายการวิทยุประเภทรายการเพลงและรายงานข่าวสารทั่วๆ ไป อยู่ราว 2 ปี ก่อนจะตัดสินใจหยุดงานรับจ้างคนอื่น มาเป็นเกษตรกรดูแลชีวิตตนเอง

ปัจจุบันสุขสยามอาศัยอยู่กับภรรยาที่บ้านในอำเภอแม่สรวย โดยมีรายได้จากการปลูกพืชผลในไร่ บนพื้นที่ราว 50 ไร่ อาทิเช่น ลำไย เงาะ ส้มโอ ทุเรียน และพืชผักต่างๆ

สุขสยามเล่าว่าก่อนหน้านี้ตนเป็นหนี้นอกระบบ จนในช่วงรัฐบาลทักษิณ ภายใต้นโยบายช่วยเหลือจัดการนำหนี้เข้าระบบ ทำให้มีดอกเบี้ยคงที่ขึ้น ทำให้เขาสามารถทำงานมาใช้หนี้ จนปลดหนี้ทั้งหมดไปได้ในช่วงเวลานั้น มองย้อนกลับไป สุขสยามเห็นว่าถ้าปัจจุบันถ้ายังเป็นหนี้นอกระบบแบบเดิมอยู่ ป่านนี้ตนก็อาจตายไปแล้ว ด้วยภาวะหนี้สินท่วมทับครอบครัว

ในช่วงของการเคลื่อนไหวของเสื้อแดง สุขสยามเข้าร่วมการชุมนุมอยู่บ้างถ้าหากไม่ติดเวลาทำมาหากิน แต่ส่วนใหญ่ใช้วิธีติดตามข่าวสารอยู่ที่บ้าน หรือพบปะแลกเปลี่ยนกับกลุ่มในพื้นที่ โดยเขาไม่ได้มีบทบาทเป็นแกนนำอะไร เพียงแต่ติดตามข่าวสารและเข้าร่วมในบางกิจกรรมตามโอกาสเท่านั้น

“เมื่อปีที่แล้วที่โดนคดีที่พะเยา เราก็เอ๊ะ เราไม่ได้ทำอะไรเลย ทำไมเราโดน ทำไมคนที่ฟ้องเรา เขาไม่มาถามเราว่าทำหรือเปล่า เขามีหลักฐานอะไรหรือเปล่า แต่พอฟ้องมา เขาเอาไปแบบนั้น เราก็ต้องไป มันขัดขืนไม่ได้” สุขสยามเล่าถึงภาวะที่เขารู้สึกเมื่อโดนคดีเดิมซ้ำอีกครั้ง

 

จำเลยที่ 3 ถนอมศรี นามรัตน์

หญิงแกร่งอายุ 56 ปี และเป็นผู้หญิงคนเดียวในกลุ่มจำเลย 3 คน เป็นคนพูดจาฉะฉาน ชัดถ้อยชัดคำ บุคลิกรวดเร็วทะมัดทะแมง ด้วยประสบการณ์การศึกษาด้านศึกษาศาสตร์ ในระดับปริญญาตรี  ทำให้ได้ไปเป็นคุณครูสอนวิชาฟิสิกส์ประจำโรงเรียนในอำเภอเมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งตอนนั้นครูฟิสิกส์ถือว่าเป็นสาขาที่เรียนยากและมีผู้เรียนอยู่น้อยมาก ก่อนที่จะลาออกจากราชการ และไปอาศัยอยู่ที่ประเทศฮ่องกงเป็นเวลา 6 ปี ก่อนกลับมาอยู่ประเทศไทย ปัจจุบันประกอบกิจการส่วนตัวและรับจ้างทั่วไป ไม่ได้มีอาชีพประจำที่แน่นอน

เธอร่วมการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงในจังหวัดเชียงราย อันเนื่องมาจากความชื่นชมนโยบายในสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ซึ่งก่อนนั้นพ่อของเธอเป็นเพียงภารโรง ที่ไม่ได้มีรายได้มากนัก และแม่ก็มีสุขภาพไม่แข็งแรง ต้องเข้าออกโรงพยาบาลในเชียงรายและเชียงใหม่อยู่บ่อยครั้ง ครอบครัวเคยต้องแบ่งที่นาบางส่วนขายเพื่อนำเงินมาใช้ในการรักษาแม่ จนมาถึงรัฐบาลยุคนั้น ภายใต้โครงการ 30 บาท การรักษาก็ครอบคลุมอยู่ภายในนั้น เธอมองว่ามันเป็นนโยบายที่เปิดโอกาสสำหรับทุกๆ คน  คนที่ไม่มีเงินก็สามารถไปหาหมอได้ ยาที่ได้รับไม่ว่าคนรวยหรือคนจน ไปใช้สิทธิ ก็ได้รับยาเหมือนกัน

อีกนโยบายทางการเมืองที่เธอเห็นว่ามีประโยชน์ คือการส่งเสริมให้เด็กที่เก่ง เรียนดี หรือมีความตั้งใจ ได้รับทุนการศึกษาไปเรียนต่อต่างประเทศ เพื่อให้กลับมาพัฒนาท้องถิ่น กลับมาให้ความรู้กับชุมชนของตนเอง เธอมองว่ารัฐบาลยุคนั้นสามารถช่วยให้ “คนจน” ลืมตาอ้าปากได้

ตอนเธอยังเด็ก ยังเคยได้เห็นภาพเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้เคยเกิดคำถามว่ามันเกิดอะไรขึ้น พอพูดคุยกับพ่อก็ได้รับคำตอบว่าอย่าไปยุ่ง ให้ตั้งใจเรียนหนังสือไป จนต่อมาได้เห็นหนังสือของพ่อที่เก็บไว้ จึงได้หยิบมาอ่าน จึงได้อ่านเรื่องราวของปรีดี พนมยงค์ หรือความคิดที่อยู่ในตำราอย่างเรื่อง “3 ก๊ก” ล้วนเป็นพื้นฐานเล็กๆ น้อยๆ ให้ความสนใจเรื่องการเมืองและสังคมของเธอ

ในส่วนการร่วมกิจกรรมการเคลื่อนไหว เธอเล่าว่าเริ่มไปร่วมชุมนุมครั้งแรกตั้งแต่ตอนที่มีเหตุการณ์เดินขบวนไปที่บ้าน 4 เสา เพื่อกดดันพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ให้ลาออก จนมาถึงเหตุการณ์ช่วงปี 2552 ก็ได้ไปร่วมชุมนุมที่สามเหลี่ยมดินแดง ผ่านประสบการณ์การถูกแก๊สน้ำตา ซึ่งยังส่งผลกระทบมาจนปัจจุบัน คือทำให้ไม่สามารถขับรถไกลๆ ได้ เพราะน้ำตามักจะไหลอยู่ตลอด รวมทั้งร่วมเหตุการณ์ชุมนุมในช่วงปี 2553 ในกรุงเทพฯ ด้วย

หลังรัฐประหารครั้งนี้ เธอยังเคยเจ้าหน้าที่ทหารเรียกตัวเข้าไปพบในค่ายทหารมาแล้ว จากเหตุการณ์ช่วงการเปิดศูนย์ปราบโกงในจังหวัดต่างๆ ในช่วงของการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

ถนอมศรีระบุว่าเธอเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ เพราะรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม สังคมมีภาวะของคนไม่เท่ากัน เธอเชื่อว่าการเข้าไปมีส่วนร่วมเคลื่อนไหวทุกวันนี้ ก็เพื่อให้เกิดความเป็นคนเท่าเทียมกัน

“ใครบอกว่าเรามีประชาธิปไตย มันไม่มีในแบบที่เราร่ำเรียนมา” เธอสรุปความเข้าใจส่วนตัว

 

กลุ่มแม่สรวยรักประชาธิปไตย

พวกเขาและเธอทั้ง 3 คน สังกัดอยู่กลุ่มแม่สรวยรักประชาธิปไตย อันเนื่องจากเคยเข้าร่วมชุมนุมเสื้อแดงมาตั้งแต่ช่วงปี 2552 ทำให้ทั้งสามคนได้รู้จักกัน พร้อมกับสมาชิกอีกหลายคนในอำเภอแม่สรวย หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 กลุ่มคนเสื้อแดงในพื้นที่อำเภอแม่สรวยจึงได้รวมตัวก่อตั้งกันเป็นกลุ่มขึ้น เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน

หลังจากนั้น เวลามีคนเสื้อแดงเสียชีวิตหรือมีงานบุญต่างๆ ก็ชวนสมาชิกไปร่วมงาน รวมทั้งเวลามีเหตุการณ์อย่างน้ำท่วมหรือไฟไหม้ ก็ช่วยกันระดมเงินและข้าวของไปช่วยเหลือด้วย การรวมตัวกันทำให้เกิดความเป็นกลุ่มก้อนในการทำกิจกรรมต่างๆ จนกระทั่งหลังรัฐประหาร 2557 การทำกิจกรรมหรือรวมตัวกันก็แทบเป็นไปไม่ได้อีก เนื่องจากการควบคุมจับตาของเจ้าหน้าที่

ก่อนหน้านี้ทั้ง 3 คนไม่ได้สนิทสนมอะไรกันมากนัก เพราะอาศัยอยู่กันคนละตำบล เพียงแต่เคยพบปะกันในการชุมนุม จนได้มารู้จักกันมากขึ้นก็เมื่อกลายเป็นผู้ต้องหาคดีเดียวกันที่เชียงรายเมื่อปี 2557 ทำให้ต้องไปไหนมาไหนด้วยกันบ่อยขึ้น และต้องพูดคุยปรึกษากันเสมอ

ภาระทางคดีกับคำถามเรื่อง “ความยุติธรรม”

สิ่งที่ตามมาจากการถูกดำเนินคดีเพิ่มเติมอีกถึงสองคดี คือภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ต้องเกิดจากการต่อสู้คดี อาทิ การหาหลักทรัพย์ประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี, ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง, ค่าอาหารหรือรวมไปถึงค่าที่พักในกรณีที่มีการพิจารณาคดีหลายวันติดต่อกัน เนื่องจากทั้งสามคนไม่ได้อยู่ในพื้นที่จังหวัดพะเยา การไป-กลับระหว่างบ้านและศาลหรือสถานีตำรวจ จึงสร้างภาระค่าเดินทางและความเหนื่อยล้าให้กับทั้งสามคนอย่างมาก รวมไปถึงค่าเสียเวลาและโอกาสในการประกอบกิจการหรือการไปรับจ้างเพื่อหารายได้ ในวันที่ต้องมาขึ้นศาลอีกด้วย

ออดเล่าว่าในการประกันตัวคดีที่ศาลเชียงราย ตนได้ไปเช่าหลักทรัพย์เป็นที่ดินจากคนรู้จัก นำมาประกันตัว โดยคิดค่าเช่าเป็น 10% จากจำนวนเงินประกันตัว คือ 200,000 บาท เท่ากับ 20,000 บาท ตลอดการยืมมาประกันตัวครั้งนี้ เนื่องจากโฉนดที่ดินของตน ที่เดิมจะนำไปใช้ในการประกันตัว ไม่สามารถใช้ได้ โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่าเป็นที่ดินตาบอด คือทางเข้าออกของที่ดินผืนนั้นถูกปิดล้อมจากที่ดินผืนอื่นๆ จึงไม่สามารถใช้ได้

“ถูกดำเนินคดีนี้ ใครว่าไม่เครียด แม้เราไม่ได้ทำ แต่ก็เครียด แถมยังเป็นภาระมาก มาคดีแต่ละครั้งเนี่ย อย่างน้อยๆ เราก็ต้องมีแล้ว 500 บาท ไหนจะค่าข้าว ค่าน้ำมันรถ” ออดบอกเล่าถึงภาระทางคดี ที่แม้ศาลจะยกฟ้องในคดีที่พะเยา แต่ยังเหลือการต่อสู้อีกคดีหนึ่งที่ศาลจังหวัดเชียงราย

ทั้งสามคนยืนยันมาตลอดว่าไม่ได้มีส่วนรู้เห็นในกรณีป้ายซึ่งถูกติดที่พะเยาและที่อำเภอแม่ลาว การถูกดำเนินคดีอย่างต่อเนื่องนี้ โดยที่พยานหลักฐานก็ไม่ชัดเจน แต่คดีก็ยังดำเนินมาจนถึงชั้นศาล จึงสร้างความรู้สึกว่า “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม” ให้เกิดขึ้นติดตามมากับทั้งสามคนด้วยเช่นกัน

 

X