เพียงเพราะป้ายเหมือนกัน จึงถูกดำเนินคดีซ้ำอีกครั้ง: ประมวลปากคำพยานคดีติดป้ายแยกประเทศล้านนาที่ศาลพะเยา

ระหว่างวันที่ 5-7 กันยายน ต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ 22-24 พฤศจิกายน 2560 ศาลจังหวัดพะเยาได้ทำการสืบพยานโจทก์และจำเลยในคดีของนายออด สุขตะโก และพวก รวม 3 คน ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือข้อหา “ยุยงปลุกปั่น”  จากกรณีการพบป้ายที่มีข้อความว่า “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กู ขอแยกเป็นประเทศล้านนา” ติดบริเวณสะพานลอยหน้าโรงเรียนบ้านร่องห้า อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2557

สำหรับคดีนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจคือจำเลยทั้ง 3 คนในคดี คือ นายออด สุขตะโก, นางถนอมศรี นามรัตน์ และนายสุขสยาม จอมธาร สมาชิกกลุ่มเสื้อแดงในอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เป็นจำเลยที่เคยถูกดำเนินคดีมาแล้ว จากกรณีการแขวนป้าย “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กู ขอแยกเป็นประเทศล้านนา” บริเวณสะพานลอยหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่าจังหวัดเชียงราย และศาลจังหวัดเชียงรายมีคำพิพากษาไปเมื่อปี 2558 (รายงานก่อนหน้านี้) และในการฟ้องร้องต่อศาลพะเยาในครั้งนี้ โจทก์ได้มีการอ้างพยานหลักฐานในคดีที่ถูกพิพากษาไปแล้วเข้ามาเพื่อพิสูจน์การกระทำผิดของจำเลยทั้ง 3 คน ซึ่งเป็นคนละสถานที่กัน ทั้งในการสืบพยานโจทก์มา ยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่ชี้ว่าจำเลยทั้ง 3 คน มีความเกี่ยวข้องกับป้ายที่จังหวัดพะเยา จะมีก็เพียงแต่ว่าป้ายที่เป็นต้นเหตุในคดีนี้ มีลักษณะเดียวกัน และพิมพ์ข้อความเดียวกันกับในคดีเดิมของจำเลยทั้ง 3 คน เท่านั้น

บรรยากาศในการพิจารณาทั้ง 6 วัน ผ่านไปอย่างเงียบๆ ในการพิจารณาคดีมีจำเลยทั้ง 3 และทนายความในพื้นที่จังหวัดเชียงรายที่ให้ความช่วยเหลือในคดี สำหรับบุคคลภายนอกคดีก็มีเพียงเพื่อนของนายออด จำเลยที่ 1 ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดพะเยา ที่ทราบข่าวและแวะเวียนมาฟังการพิจารณาเป็นบางวัน รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากไอลอว์เข้ามาร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาในช่วงเดือนพฤศจิกายน

ทางอัยการได้นำพยานฝ่ายโจทก์เข้าสืบรวมจำนวน 16 ปาก ด้วยกัน โดยที่พยานส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากท้องที่ต่างๆ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีการพบป้ายในลักษณะเดียวกันกับที่นำมากล่าวหาจำเลยทั้ง 3 และบางส่วนของพยานโจทก์ในครั้งนี้ ยังเป็นพยานที่ได้ให้การในคดีเดิมของจำเลยทั้ง 3 มาแล้ว นอกจากนี้ยังมีประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุที่มีการแขวนป้ายที่จังหวัดพะเยาอีก 1 ราย  ส่วนฝ่ายจำเลยได้นำพยานขึ้นเบิกความจำนวน 3 ปาก คือตัวจำเลยทั้ง 3 คนเอง

สำหรับข้อต่อสู้ของจำเลยทั้ง 3 ในคดีนี้คือ การยืนยันว่าทั้งสามคนไม่ได้มีส่วนร่วมในการติดป้ายที่จังหวัดพะเยาตามที่ถูกกล่าวหา และในคดีเดิมที่จังหวัดเชียงรายนั้นเป็นเพียงการเดินทางไปให้กำลังใจ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ในช่วงนั้น และได้ถูกขอให้ร่วมช่วยติดป้ายเพียงเท่านั้น

หลังสืบพยานเสร็จสิ้น ศาลได้นัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 18 ม.ค. 61 นี้ เวลา 9.00 น. รายงานชิ้นนี้ประมวลปากคำของพยานทั้งโจทก์และจำเลยในคดีนี้ที่น่าสนใจ อันอาจสะท้อนให้เห็นกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหาร และการตรวจสอบพยานหลักฐานเพื่อคัดกรองคดีความก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาล

 

ป้ายที่พบติดในอำเภอเมือง จังหวัดพะเยา เมื่อวันที่ 1 มี.ค.57 (ภาพจาก ผู้จัดการออนไลน์) 

เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานชี้ป้ายมีลักษณะคล้ายกัน แต่ยืนยันไม่ได้ว่ามาจากแหล่งเดียวกัน

สำหรับพยานโจทก์ชุดแรกที่อัยการได้นำเข้าสืบ เป็นเจ้าหน้าที่หน่วยพิสูจน์หลักฐานที่ได้ทำการตรวจพิสูจน์แผ่นป้ายที่มีข้อความ “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กูขอแยกเป็นประเทศล้านนา” ที่ได้รับมาจากหลายท้องที่ได้แก่ สภ.เมืองเชียงราย, สภ.แม่ลาว จ.เชียงราย, สภ.แม่ปิง จ.เชียงใหม่, สภ.เมืองพะเยา จ.พะเยา, สภ.ท่าพล จ.เพชรบูรณ์ และ สภ.เมืองพิษณุโลก จ.พิษณุโลก โดยการสืบพยานกลุ่มนี้อาศัยการสืบพยานผ่านจอภาพ (Video Conference) เนื่องจากเจ้าหน้าที่แต่ละคนอยู่ในต่างภูมิภาคกัน ไม่สามารถเดินทางมาเบิกความที่ศาลได้

พยานเจ้าหน้าที่ตรวจพิสูจน์หลักฐานกลุ่มงานตรวจเคมี-ฟิสิกส์ เบิกความว่าจากการตรวจสอบแผ่นป้ายทั้งหมด มีสีชนิดเดียวกัน และวัสดุที่ทำแผ่นป้าย รวมทั้งเส้นใยที่ใช้ยึดแผ่นป้ายก็เป็นชนิดเดียวกัน แต่ไม่สามารถบอกแหล่งที่มาว่ามาจากที่เดียวกันหรือไม่ เพราะตรวจไม่เจอลักษณะพิเศษบ่งชี้ เช่น การเข้ารอย หรือรอยตัด เป็นต้น

ด้านพยานเจ้าหน้าที่ตรวจพิสูจน์หลักฐาน กลุ่มงานตรวจเอกสาร ก็เบิกความว่าจากการตรวจสอบ พยานมีความเห็นว่าป้ายของกลางเป็นข้อความจากเครื่องพิมพ์แบบพ่นหมึก มีรูปตัวอักษรคล้ายกัน แต่ลักษณะพิเศษไม่เด่นชัดเพียงพอ จึงไม่อาจลงความเห็นได้ว่าพิมพ์จากเครื่องพิมพ์เดียวกันหรือไม่ และมีแผ่นป้ายบางแผ่นที่พยานได้ตรวจสอบที่มีรอยตัดตรงกัน ซึ่งพยานลงความเห็นว่า เป็นแผ่นพลาสติกที่มาจากวัสดุผืนเดียวกัน ส่วนแผ่นที่เหลือไม่พบรอยตัดที่ตรงกัน

 

พยานใกล้ที่เกิดเหตุ ระบุเห็นกลุ่มคนกำลังคลี่ป้ายบางอย่างเท่านั้น ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้

ในการสืบพยานในวันที่ 22 พ.ย. 60 ฝ่ายโจทก์ได้นำประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณจุดเกิดเหตุที่มีการแขวนป้าย เข้ามาเบิกความต่อศาล โดยพยานปากดังกล่าวได้เล่าเหตุการณ์ว่าในคืนวันที่ 28 ก.พ. 57 ต่อกับวันที่ 1 มี.ค. 57 พยานกำลังออกไปเที่ยวในตัวเมืองด้วยรถมอเตอร์ไซต์ พยานนั่งคุยกันกับเพื่อนจนเกือบตี 2 ก่อนกลับบ้านตามถนนพหลโยธิน มุ่งหน้าไปจังหวัดเชียงราย พบเห็นบริเวณสะพานลอยหน้าโรงเรียนบ้านร่องห้า มีคนประมาณ 4-5 คน บนสะพานลอย มีรถกะบะจอดตรงบันไดสะพาน สังเกตเห็นคนใส่เสื้อแดงบางคน ประมาณ 2-3 คน ไม่ทราบว่าเป็นผู้หญิงผู้ชาย เห็นเป็นลักษณะกำลังคลี่ป้าย พยานเข้าใจว่าเป็นเจ้าหน้าที่เทศบาลจึงขับรถมอเตอร์ไซต์ผ่านไป

จากนั้นประมาณ 1 อาทิตย์ มีตำรวจไปหาพยาน ตำรวจบอกว่าบ้านอยู่แถวนั้น สอบถามว่าเห็นอะไรไหมในเรื่องคนติดป้าย พยานก็บอกไปเท่าที่เบิกความไปแล้ว ขณะสอบปากคำที่โรงพัก เจ้าหน้าที่ตำรวจให้พยานดูรูปป้าย แต่พยานไม่แน่ใจ พยานยืนยันว่าไม่เห็นป้าย เห็นเพียงคนกำลังคลี่ป้าย  ต่อมาพยานได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบปากคำเป็นครั้งที่ 2 โดยมีการนำรูปรถและรูปคน 3 คน คือจำเลยทั้ง3 คนมาให้พยานดู พยานก็ระบุว่าพยานยืนยันไม่ได้

 

เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุเส้นลวดและการผูก มีลักษณะคล้ายกับภาพจากที่เกิดเหตุสภ.เมืองเชียงราย

ฝ่ายโจทก์ได้นำพยานเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.เมืองพะเยา ผู้ทำการเข้าตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุจากการที่ได้รับแจ้งจากศูนย์วิทยุตำรวจเมืองพะเยา และได้ทำการปลดป้ายที่ถูกแขวนออกจากสะพานลอย เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 57 เวลาประมาณ 6.30 น. พยานได้เข้าเบิกความว่าเชือกที่ใช้ยึดแผ่นป้ายตรงหัวและท้ายมีสีเขียว ตรงกลางแผ่นป้ายเป็นลวด 2 จุด เมื่อปลดป้ายไวนิลเสร็จแล้วก็ได้นำส่งพนักงานสอบสวน

หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนได้ให้พยานดูเส้นลวดสีขาว ของกลางจากป้ายที่สภ.เมืองเชียงราย ในคดีเดิมของจำเลยทั้ง 3 โดยพยานได้ให้การกับพนักงานสอบสวนว่า เป็นลักษณะลวดคล้ายกันกับป้ายที่จังหวัดพะเยา ลักษณะการผูกก็มีความเหมือนกัน

พยานโจทก์อีกปากที่ให้การยืนยันว่าเส้นลวดที่ใช้ในการผูกป้ายมีลักษณะเหมือนกัน ได้แก่ พยานปากพนักงานสอบสวนสภ.พะเยา ที่ได้เบิกความว่าจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำการปลดป้าย จากสภ.เมืองเชียงราย, สภ.แม่ลาว และสภ.เมืองพะเยา พบว่าใช้ลวดมีลักษณะและขนาดเดียวกัน

หน่วยสืบสวนในหลายท้องที่อาศัยหลักฐานกล้องวงจรปิดชิ้นเดียวกัน จนฟ้องร้องต่อจำเลยทั้ง 3  

ในคดีนี้ฝ่ายโจทก์ได้นำเจ้าหน้าที่ตำรวจในหลายท้องที่ที่มีเหตุการณ์แขวนป้ายในลักษณะเดียวกันเข้าเบิกความต่อศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสภ.เมืองเชียงรายในคดีเดิม ซึ่งคดีนั้นได้ปรากฏภาพจากกล้องวงจรปิดเป็นภาพจำเลยทั้ง 3 ขณะร่วมกันแขวนแผ่นป้ายหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเชียงราย เจ้าหน้าที่มีการขอรูปภาพดังกล่าวมาเพื่อชี้ตัวและกล่าวหาจำเลยทั้ง 3 ว่าน่าจะได้กระทำการแขวนป้ายดังกล่าวในพื้นที่จังหวัดพะเยาด้วย โดยที่บริเวณที่เกิดเหตุในจังหวัดพะเยาก็ไม่ได้มีภาพจากกล้องวงจรปิดปรากฏ

เจ้าหน้าที่สืบสวนสภ.เมืองเชียงรายในคดีเดิม ได้เบิกความถึงขั้นตอนการสืบสวนจนทราบตัวจำเลยทั้ง 3  ว่า โดยการสืบสวนอาศัยภาพนิ่งจากกล้องวงจรปิด เพื่อสืบหาบุคคลในภาพ จนทราบว่าเป็นจำเลยทั้ง 3 ในคดี แต่ในระหว่างการสืบพยานปากนี้นั้น ศาลได้สอบถามพยานที่กำลังเบิกความว่าพยานว่าเกี่ยวข้องกับคดีที่พะเยาหรือไม่ พยานตอบว่าไม่เกี่ยวข้องอยู่นอกเขตอำนาจพยาน ศาลจึงแจ้งอัยการว่าให้ทำการถามพยานเพียงย่อๆ เพราะเป็นคดีเดิม

ต่อมา ฝ่ายโจทก์ยังได้นำพนักงานสอบสวนสภ.แม่ลาว จังหวัดเชียงราย สถานที่ที่พบการแขวนป้ายในลักษณะเดียวกันจังหวัดพะเยานี้ เข้าเบิกความระบุเรื่องการมีเหตุแขวนป้ายคล้ายกันหลายท้องที่ จึงได้ประสานกับสภ.เชียงรายและทราบว่ามีกล้องวงจรปิด พยานจึงได้ขอภาพกล้องวงจรปิดมา จากนั้นได้ทำการสอบพยานในที่เกิดเหตุที่อำเภอแม่ลาว ทราบว่าวันที่ 27 ก.พ.57 เวลาประมาณ 18.00 น. เห็นชาย-หญิง ประมาณ 5-6 คน ขึ้นไปบนสะพานลอยไปขึงผ้า แต่พยานในที่เกิดเหตุไม่ได้สังเกตว่าใคร เชื่อว่าเป็นกลุ่มเดียวกันกับกรณีที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเชียงราย จึงออกหมายจับจำเลยทั้ง 3

จากนั้นโจทก์ได้นำรองผู้กำกับสภ.เมืองพะเยา ผู้แจ้งความในคดีนี้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร รองผบ.มทบ.34 เข้าเบิกความ โดยพยานทราบว่ามีเหตุการณ์แขวนป้ายคล้ายกันในหลายท้องที่ และพบว่าที่หน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเชียงราย ว่ามีกล้องวงจรปิดจับภาพคนร้ายที่ติดป้ายไว้ได้ ซึ่งที่สภ.เมืองเชียงรายได้ชื่อคนมา 3 คน คือจำเลยทั้ง 3 คนนี้ พยานจึงทำรายงานการสอบสวนส่งไปให้พนักงานสอบสวน โดยพยานเห็นว่าข้อความ “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กูขอแยกเป็นประเทศล้านนา” ดังกล่าวน่าจะก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม จึงได้ไปแจ้งความวันที่ 2 มี.ค.57 ขณะไปแจ้งความยังไม่ทราบชื่อผู้กระทำผิด ต่อมาได้ไปแก้ชื่อในเอกสารว่าเป็นกลุ่มของนายออด แต่ลงวันที่ 2 มี.ค.57 เหมือนเดิม

อีกทั้งพนักงานสอบสวนสภ.เมืองพะเยา ยังได้เบิกความยืนยันอีกว่า ทราบว่าป้ายที่เชียงราย แม่ลาว และพะเยา มีลักษณะเดียวกัน มีเวลาเชื่อมโยงกัน คือกลางคืนวันที่ 26, 28 ก.พ., 1 มี.ค. สถานที่ก็เลือกบริเวณสะพานลอย จากการสอบพยานใกล้เหตุการณ์พบกลุ่มคนชาย-หญิง 5-6 คน ใส่เสื้อแดงบางคน ใช้รถกะบะ นำป้ายไปติด ซึ่งตรงกับเหตุการณ์ของสภ.เมืองเชียงราย ซึ่งมี “คนร้าย” 6 คนด้วยกัน และมีภาพกล้องวงจรปิดว่าใช้ยานพาหนะประเภทเดียวกันและป้ายแบบเดียวกันมาติด จากการสืบสวนของสภ.เมืองเชียงราย พบว่าคือจำเลยทั้ง 3 และได้ดำเนินคดีไปแล้ว พยานรวบรวมหลักฐานพอสมควร จึงเชื่อว่ากลุ่มคนทั้ง 3 ร่วมกับพวกมาก่อเหตุที่พะเยา จึงออกหมายเรียกมาแจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 3 คน

นอกจากนั้น ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยสืบสวนสภ.เมืองพะเยา เข้ามาเบิกความว่า จากการที่พยานประสานข้อมูลฝ่ายสืบสวน ป้ายมีลักษณะเหมือนกัน ตัวอักษรคล้ายกัน น่าเชื่อว่ากลุ่มที่นำมาติดเป็นกลุ่มเดียวกัน คือกลุ่มคนเสื้อแดง และจากการสืบสวนจำเลยทั้ง 3 เป็นกลุ่มคนเสื้อแดง ทั้งพะเยาและเชียงรายเป็นพื้นที่ติดกัน น่าจะเป็นกลุ่มเดียวกันที่กระทำ

3 จำเลยเบิกความพร้อมเพรียง ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการติดป้ายในพะเยา  

วันสุดท้ายของการสืบพยาน (24 พ.ย. 60) เป็นการสืบพยานฝ่ายจำเลย ฝ่ายจำเลยได้อ้างตัวจำเลยทั้ง 3 ขึ้นเบิกความต่อศาล โดยจำเลยทั้ง 3 เบิกความตรงกันว่า เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 57 วันที่เกิดเหตุในคดีเดิม ที่จำเลยทั้ง 3 ได้เดินทางเข้าไปยังเมืองเชียงรายสาเหตุมาจากได้ทราบจากวิทยุคนเสื้อแดง ว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นจะเดินทางมาที่จังหวัดเชียงราย ทั้ง 3 คนจึงได้เดินทางเข้ามายังจังหวัดเชียงรายด้วยรถโดยสารประจำทาง หลังจากต้อนรับนายกฯ ก็ได้ไปกินข้าวที่กองกำกับการตำรวจเมืองเชียงราย จากนั้นตอนประมาณบ่ายโมงมีการถามกันว่าใครจะไปเที่ยวที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเชียงรายบ้าง จำเลยทั้ง 3 จึงได้ขึ้นรถไปด้วย

นายออด จำเลยที่ 1 ยังเบิกความด้วยว่า ขณะที่เดินทางไปห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเชียงรายนั้น ตนได้ไปตัวเปล่า และที่ไปบริเวณสะพานลอย เพราะจะข้ามสะพานลอยไปยังห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ซึ่งสินค้ามีราคาถูกกว่า แต่เมื่อขึ้นไปบนสะพานลอย มีบุคคล 3-4 คน มาติดป้ายข้อความ เขาบอกผูกป้ายให้หน่อย นายออดจึงเข้าไปช่วยเพราะเห็นว่าเป็นคนเสื้อแดงเหมือนกัน ผูกเสร็จตนก็ไปห้างบิ๊กซีต่อ แล้วกลับถูกดำเนินคดีในคดีเดิม ส่วนการติดป้ายที่จังหวัดพะเยา ตนไม่ได้มา และไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยแต่อย่างใด

ส่วนนายสุขสยามจำเลยที่ 2 ได้ขึ้นให้การสั้นๆ คล้ายกับนายออดจำเลยที่1 และเบิกความย้ำอีกว่าขณะเดินขึ้นสะพานลอยตนไม่ได้มีอะไรติดตัวไปด้วย ดังจะเห็นได้จากภาพวงจรปิดที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเชียงราย ส่วนที่อื่นๆ ยืนยันว่าไม่เคยเดินทางไปร่วมติดป้ายใดๆ ด้วย

สุดท้ายคือนางถนอมศรี จำเลยที่ 3 ที่ได้เช่นเดียวกับจำเลยทั้ง2 คนก่อนหน้า และอธิบายว่าที่ตนไปอยู่บนสะพานลอยเพราะจะไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี เมื่อซื้อของเสร็จก็เป็นเวลาค่ำแล้ว จึงรีบไปขึ้นรถประจำทางเพื่อกลับบ้าน ส่วนที่อื่นๆ ตนไม่ทราบ ไม่ได้ไปร่วม และไม่ได้เป็นผู้จัดทำแผ่นป้ายดังกล่าว

 

จับตาคำพิพากษาศาล 18 ม.ค. 61

ในนัดอ่านคำพิพากษาวันที่ 18 ม.ค.นี้ ประเด็นที่น่าจับตาประการหนึ่งในคดีนี้ ได้แก่ จากการสืบพยานมาตลอดทั้ง 6 วัน การที่จำเลยทั้ง 3 ได้ถูกฟ้องร้องมาเป็นคดีอาญาซึ่งมีอัตราโทษสูง เป็นคดีความผิด “ร้ายแรง” กระทบต่อ “ความมั่นคง” โดยอาศัยเพียงพยานแวดล้อมว่าป้ายมีลักษณะเหมือนกันทั้งสีและตัวอักษร ขนาดเส้นลวดและลักษณะการผูกเหมือนกัน สถานที่ที่ใช้แขวนป้ายคือสะพานลอยเช่นเดียวกัน ประกอบกับข้อสันนิษฐานของเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ทำการสืบสวน โดยไม่มีพยานหลักฐานใดๆ ที่บ่งชี้ได้ชัดว่าตัวจำเลยทั้ง 3 คน มีส่วนร่วมในการติดป้ายในพื้นที่จังหวัดพะเยาตามที่ถูกฟ้องร้องอยู่เลยนั้น เพียงพอหรือไม่ และศาลจะพิจารณาพยานหลักฐานเช่นนี้และมีคำพิพากษาอย่างไร

 

X