เปิดคำสั่งไม่ฟ้องคดีโพสต์แซวทหาร อัยการชี้อาจเสียหายมากกว่า หากปชช.ไม่อาจแสดงความเห็น

นับเป็นระยะเวลาเกือบ 8 เดือน ในการต่อสู้คดีของ ศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายหาญศักดิ์ เบญจศรีพิทักษ์ หรือ “ดาบชิต” อดีตแกนนำ นปช. แดงเชียงใหม่ หลังถูกเจ้าหน้าที่ทหารมณฑลทหารบกที่ 33 กล่าวหาตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กข้อความในลักษณะแซวทหาร กรณีจัดเวทีคอนเสิร์ตระดมทุนช่วยผู้ประสบภัยจากพายุปาบึก ว่าได้ร่วมจัดกิจกรรมคัดค้านการเลื่อนเลือกตั้ง “Walk to Vote” ที่ประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 62

ท้ายที่สุด คดีได้สิ้นสุดลง โดยอัยการมีความเห็นไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 2 คนในทั้ง 2 คดี  โดยส่วนสำคัญที่ปรากฎในคดีนี้และทำให้คดีสิ้นสุดลง คือคำวินิจฉัยของอัยการจังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้รับรองสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนที่พึงมีตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งวินิจฉัยเจตนารมณ์ของมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไว้อย่างเด่นชัด ดังนี้

 

ในคดีของ ศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี  ซึ่งถูกกล่าวหาจากการโพสต์ข้อความว่า “ชาวเชียงใหม่ร่วมกับ มทบ.33 Walk to Vote ดนตรีดี เวทีพร้อม” พร้อมโพสต์ภาพป้ายกิจกรรมผู้ชุมนุม Walk to Vote ทับกับการจัดเวทีของเจ้าหน้าที่ทหาร นางพรพรรณ สุริยะวิภาดา อัยการจังหวัดเชียงใหม่เจ้าของสำนวนคดี  ได้มีคำวินิจฉัยและความเห็นในการสั่งไม่ฟ้องคดี โดยชี้ว่า

เจตนารมณ์ของกฎหมาย มาตรา 14 มุ่งที่จะลงโทษผู้ที่โพสต์ข้อมูลปลอม ทุจริต หลอกลวง ฉ้อโกงและการปลอมแปลงทางคอมพิวเตอร์ และการกระทําดังกล่าวจะต้องมีเจตนาพิเศษ คือโดยทุจริต หรือโดยการหลอกลวงและโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน”  

ข้อกล่าวหาที่ฝ่ายผู้กล่าวหา อ้างว่าการโพสต์ข้อความของปิ่นแก้ว เป็นการนําเสนอภาพถ่ายที่ไม่ครบ เพื่อใช้ภาพนี้เผยแพร่ไปให้ประชาชนหลงเชื่อ บิดเบือนข้อเท็จจริง และทําให้ประชาชนทั่วไปหลงผิดในภาพที่ไม่เป็นความจริง เพื่อเอาเป็นผลประโยชน์ของกลุ่มผู้ต้องหา ซึ่งการกระทําของผู้ต้องหาทําให้เกิดความเสียหายกับประชาชนที่จะได้รับการช่วยเหลือ เป็นการปิดกั้นให้ประชาชนทั่วไปที่เห็นข้อความนี้เข้าใจผิดคิดว่ามณฑลทหารบกที่ 33 จัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้ต้องหารณรงค์ให้มีการจัดการเลือกตั้ง

พนักงานอัยการเห็นว่า “กระทําดังกล่าวของผู้ต้องหา ถือว่าเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในสังคมประชาธิปไตย อีกทั้งผู้ที่เข้าไปอ่านโพสต์ของผู้ต้องหาย่อมไม่มีบุคคลใดเข้าใจหรือหลงเชื่อไปในทางว่ามณฑลทหารบกที่ 33 จะมาเข้าร่วมกิจกรรม Walk to Vote เพื่อรณรงค์ให้เกิดการเลือกตั้งโดยเร็ว ดังนั้นแม้ว่าข้อความดังกล่าวจะแสดงให้เห็นว่า มณฑลทหารบกที่ 33 ร่วมกับชาวเชียงใหม่ ร่วมรณรงค์ให้มีการจัดการเลือกตั้งก็ตาม แต่การกระทําที่จะเป็นความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นั้น จะต้องมีเจตนาพิเศษ คือโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง และโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

“เมื่อพิจารณาความเสียหายที่เกิดขึ้นที่ผู้กล่าวหาอ้างว่า การกระทําดังกล่าวของผู้ต้องหาทําให้ประชาชนทั่วไปไม่ยอมมาบริจาคสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย น้ำท่วม ความเสียหายดังกล่าว น่าจะเป็นการคาดเดาเอาเองของผู้กล่าวหา และเป็นความเสียหายที่ไม่ใช่ผลโดยตรงจากการกระทําของผู้ต้องหา เพราะการที่ประชาชนจะมาบริจาคสิ่งของหรือไม่ วิญญูชนทั่วไปไม่สามารถคาดการณ์เอาเองได้ เป็นการนอกเหนือความคาดหมายที่จะนําหลักเกณฑ์ทางวิชาการมาประเมินความเสียหายได้ การจะบริจาคสิ่งของของประชาชนน่าจะอยู่ที่ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อมณฑลทหารบกที่ 33 เท่านั้น เพราะหากไม่ให้ประชาชนทั่วไปสามารถแสดงความคิดเห็นในสังคมประชาธิปไตยที่พึงมีตามรัฐธรรมนูญได้ ย่อมไม่มีประชาชนคนใดกล้าใช้สิทธิตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรอง หรือวิพากษ์วิจารณ์ผู้ใช้อํานาจรัฐได้เลย ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายมากยิ่งกว่า

“การกระทําของผู้ต้องหาจึงเป็นการขาดเจตนาในการทําให้ประชาชนเข้าใจผิดในข้อมูลดังกล่าว จึงไม่เป็นความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จึงสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา ข้อหานําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

(ภาพกิจกรรม Walk to Vote ที่ประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 62)

ส่วนในคดีของนายหาญศักดิ์ เบญจศรีพิทักษ์ ซึ่งถูกกล่าวหาจากการโพสต์ข้อความว่า “ขอบคุณท่าน ผบ.มทบ.33 ที่ช่วยส่งวงดนตรีสันทนาการมาร่วมกิจกรรม Walk To Vote ไม่เลื่อนเลือกตั้ง ทำให้การแสดงออกของชาวเชียงใหม่ได้รับความครึกครื้นพอสมควร ขอบคุณครับ” และมีภาพกิจกรรม Walk to Vote ประกอบ คดีนี้ มีนายโกศล สุริยะวิภาดา อัยการจังหวัดเชียงใหม่เป็นเจ้าของสำนวนคดี ก็ได้มีคำวินิจฉัยคล้ายกันและทำให้คดีสิ้นสุดลง โดยมีความเห็นว่า

เจตนารมณ์ของกฎหมาย มาตรา 14 มุ่งที่จะลงโทษผู้ที่โพสต์ข้อมูลปลอม ทุจริต หลอกลวง ฉ้อโกงและการปลอมแปลงทางคอมพิวเตอร์ และการกระทําดังกล่าวจะต้องมีเจตนาพิเศษ คือโดยทุจริต หรือโดยการหลอกลวงและโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” 

ข้อกล่าวหาที่ฝ่ายผู้กล่าวหายืนยันว่า การโพสต์ข้อความของนายหาญศักดิ์ เป็นการเผยแพร่ไปให้ประชาชนหลงเชื่อ บิดเบือนข้อเท็จจริงและทําให้ให้ประชาชนทั่วไปหลงผิดในภาพที่ไม่เป็นความจริง เพื่อเอาผลประโยชน์ของกลุ่มผู้ต้องหา การกระทําของผู้ต้องหาทําให้เกิดความเสียหายกับประชาชนที่จะได้รับการช่วยเหลือ เป็นการปิดกั้นให้ประชาชนทั่วไปที่เห็นข้อความนี้ เข้าใจผิดว่ามณฑลทหารบกที่ 33 จัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้ต้องหา และทําให้ประชาชนที่ได้รับข่าวที่บิดเบือนนี้ ไม่ทราบวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของกิจกรรมที่มณฑลทหารบกที่ 33 จัดขึ้น และหยุดการช่วยเหลือบริจาคสิ่งของให้กับผู้ประสบภัย ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงทําให้ผู้ประสบภัยและมณฑลทหารบกที่ 33 ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทําของผู้ต้องหา

พนักงานอัยการเห็นว่า การกระทําดังกล่าวของผู้ต้องหา ถือว่าเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในสังคมประชาธิปไตย อีกทั้งผู้ที่เข้าไปอ่านโพสต์ของผู้ต้องหา ย่อมไม่มีบุคคลใดเข้าใจหรือหลงเชื่อไปในทางว่ามณฑลทหารบกที่ 33 จะมาเข้าร่วมกิจกรรม Walk to Vote เพื่อรณรงค์ให้เกิดการเลือกตั้งโดยเร็ว ดังนั้นแม้ว่าข้อความดังกล่าวจะแสดงให้เห็นว่ามณฑลทหารบกที่ 33 ร่วมกับชาวเชียงใหม่ ร่วมรณรงค์ให้มีการจัดการเลือกตั้งก็ตาม แต่การกระทําที่จะเป็นความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นั้น จะต้องมีเจตนาพิเศษ คือโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง และโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

“เมื่อพิจารณาความเสียหายที่เกิดขึ้นที่ผู้กล่าวหาอ้างว่า การกระทําดังกล่าวของผู้ต้องหาทําให้ประชาชน ทั่วไปไม่ยอมมาบริจาคสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ความเสียหายดังกล่าว น่าจะเป็นการคาดเดาเอาเองของผู้กล่าวหา และเป็นความเสียหายที่ไม่ใช่ผลโดยตรงจากการกระทําของผู้ต้องหา เพราะการที่ประชาชนจะมาบริจาคสิ่งของหรือไม่ วิญญูชนทั่วไปไม่สามารถคาดการณ์เอาเองได้ เป็นการนอกเหนือความคาดหมายที่จะนําหลักเกณฑ์ทางวิชาการมาประเมินความเสียหายได้ การจะบริจาคสิ่งของของประชาชนน่าจะอยู่ที่ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อมณฑลทหารบกที่ 33 เท่านั้น เพราะหากไม่ให้ประชาชนทั่วไปสามารถแสดงความคิดเห็นในสังคมประชาธิปไตยที่พึงมีตามรัฐธรรมนูญได้ ย่อมไม่มีประชาชนคนใดกล้าใช้สิทธิตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรอง หรือวิพากษ์วิจารณ์ผู้ใช้อํานาจรัฐได้เลย ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายมากยิ่งกว่า

“การกระทําของผู้ต้องหา จึงเป็นการขาดเจตนาในการทําให้ประชาชนเข้าใจผิดในข้อมูลดังกล่าว จึงไม่เป็นความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จึงสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาข้อหานําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

มทบ.33 แจ้งความพ.ร.บ.คอมฯ “อาจารย์มช.-แกนนำเสื้อแดง” เหตุโพสต์แซวทหารร่วมกิจกรรม Walk to Vote

นักวิชาการนิติศาสตร์ให้การคดีโพสต์แซวทหาร ยันเจตนาพ.ร.บ.คอมฯ ไม่ได้ใช้กับการแสดงออกทางการเมือง

ตร.เห็นควรสั่งฟ้อง พ.ร.บ.คอมฯ คดีอาจารย์ มช.- อดีตแกนนำเสื้อแดง โพสต์แซวทหารร่วม “Walk to Vote”

อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีอาจารย์ มช.- แกนนำเสื้อแดง โพสต์แซวทหาร แต่ยังต้องรอความเห็นตร.ภาค 5

ตร.ภาค 5 ไม่เห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้อง คดีอาจารย์ มช.-แกนนำเสื้อแดงโพสต์แซวทหาร เป็นอันสิ้นสุด

X