จากกรณีมณฑลทหารบกที่ 33 ได้กล่าวหา รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายหาญศักดิ์ เบญจศรีพิทักษ์ หรือ “ดาบชิต” อดีตแกนนำ นปช. แดงเชียงใหม่ ในข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาแซวเจ้าหน้าที่ทหารกรณีจัดเวทีคอนเสิร์ตระดมทุนช่วยผู้ประสบภัยจากพายุปาบึก ร่วมกับกิจกรรมคัดค้านการเลื่อนเลือกตั้ง “Walk to Vote” ที่ประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 62 (ดูรายงานข่าวก่อนหน้านี้)
วานนี้ (25 มิ.ย.) ที่สถานีตำรวจภูธรแม่ปิง ทนายความของผู้ต้องหาทั้งสองคน ได้เข้ายื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อพนักงานสอบสวน พร้อมกับนำพยานผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ ผศ.ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าให้การต่อหน้าพนักงานสอบสวน เพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้ของผู้ต้องหาทั้งสองคนด้วย โดยคำให้การของ ผศ.ดร.ทศพล ได้ให้ความเห็นในคดีไว้ 3 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่
ประเด็นแรก คือเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) ผู้ที่จะมีความผิด ต้องกระทำการโดยมุ่งให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน โดยมีเจตนาพิเศษในการหลอกลวงให้ประชาชนหรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดเข้าใจผิด จนนำไปสู่การทำให้เสียทรัพย์ ประกอบกับที่มาและเหตุผลของกฎหมายนี้ คือสร้างความรับผิดลักษณะใหม่ให้แตกต่างไปจากฐานความผิดตามกฎหมายที่มีอยู่เดิม เช่น กฎหมายลักษณะหมิ่นประมาทที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาอยู่แล้ว ดังปรากฏว่าการแก้ไขปรับปรุงพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในปี พ.ศ.2560 ได้เพิ่มถ้อยความอย่างชัดเจนว่าการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์สู่ระบบอันเป็นความผิดต้อง “มิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา” ดังนั้น พ.ร.บ.จึงมิได้มุ่งลงโทษต่อการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าเนื้อหาข่าวหรือข้อความอันเป็นเท็จ หรือบิดเบือนหรือปลอม อันทำลายเกียรติยศชื่อเสียงของผู้อื่นเพราะมีประมวลกฎหมายอาญาควบคุมอยู่แล้ว
ความรับผิดลักษณะใหม่ที่พ.ร.บ.ฉบับนี้บัญญัติไว้ในมาตรา 14 วรรคหนึ่ง นั้นเป็นอาชญากรรมที่เกี่ยวกับระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์โดยแท้ อันได้แก่ การหลอกลวงให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเข้าใจผิดในรูปแบบหน้าต่างข้อความที่ส่งมา จนทำให้สูญเสียข้อมูลส่วนบุคคลไปโดยมิได้ยินยอม (Phishing) การสร้างความรับผิดทางอาญาตามพ.ร.บ.ฉบับนี้จึงเป็นนโยบายในการสร้างมาตรการทางกฎหมายเพื่อยับยั้งและลงทัณฑ์อาชญากรผู้ใช้ระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์หลอกลวงประชาชนอย่างแพร่หลาย โดยใช้โลกไซเบอร์เป็นพื้นที่ก่ออาชญากรรม พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงสร้างเงื่อนไขพิเศษเกี่ยวกับความรับผิดตามมาตรานี้ มิให้เป็นความผิดที่ยอมความกันได้ เนื่องจากการใช้อินเตอร์เน็ตหลอกลวงประชาชนในวงกว้างเป็นการกระทำความผิดร้ายแรงในลักษณะฉ้อโกงประชาชน ความผิดตามมาตรานี้จึงไม่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเนื้อหาของการแสดงออกทางการเมืองแต่อย่างใด
ประเด็นที่สอง คือ การแสดงออกทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา หรือใช้กลวิธีในการหยอกล้อ กระเซ้าเย้าแหย่ เพื่อหวังผลให้เกิดความตลกขบขัน ย่อมเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง อันเป็นสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐานที่รับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แห่งองค์การสหประชาชาติ ข้อ 19 รวมถึง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 19 ทั้งยังมีมาตรา 34 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยประกันสิทธิไว้ด้วย การใช้กฎหมายลำดับศักดิ์รองลงไปอย่างพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาควบคุมการแสดงออกทางการเมืองที่มิได้มุ่งหวังทำลายความมั่นคงของรัฐหรือละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นในลักษณะหลอกลวงฉ้อโกง จึงเป็นการจำกัดเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐด้วยกฎหมายลำดับรอง โดยไม่มีความจำเป็นและเกินสัดส่วน ทั้งยังมิตรงต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์อีกด้วย
ประเด็นสุดท้ายคือ การฟ้องร้องคดีอาญาต่อประชาชนผู้ต้องการแสดงออกในประเด็นการเมืองเรื่องการเลือกตั้ง โดยเจ้าพนักงานของรัฐที่มีหน้าที่คุ้มครองสิทธิของประชาชน ย่อมเป็นการใช้กลยุทธ์การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขัดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชนในประเด็นสาธารณะ (Strategic Lawsuit Against People Participation หรือ SLAPP) อันเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรมที่เจ้าพนักงานของรัฐทุกระดับต้องส่งเสริมการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชน ข้าราชการต้องเป็นผู้นำของรัฐโดยแสดงขันติธรรมในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายทางความคิดตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยและยึดถือไว้เป็นแนวทางปฏิบัติราชการที่ดี มิใช่เป็นผู้ฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อจำกัดการแสดงออกของประชาชนเสียเอง
ด้วยเหตุผลทั้ง 3 ประเด็นที่กล่าวมา ผศ.ดร.ทศพลจึงเห็นว่าการกระทำของผู้ต้องหาทั้งสองคนในคดีนี้ไม่เป็นความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) แต่อย่างใด