ยกฟ้อง ม.116 – พ.ร.บ.คอมฯ คดี “พลเมืองรุกเดิน” ชี้ “พ่อน้องเฌอ” ใช้เสรีภาพตาม รธน.

16 ธ.ค. 2563 เวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณา 805 ศาลอาญา รัชดา นัดฟังคำพิพากษาในคดีที่ อัยการศาลทหารกรุงเทพ เป็นโจทก์ฟ้องพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หรือ “พ่อน้องเฌอ” สมาชิกกลุ่มพลเมืองโต้กลับ โดยพันธ์ศักดิ์ถูกกล่าวหาในข้อหา ฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่องชุมนุมมั่วสุมทางการเมือง ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป, ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากเหตุที่เดินจากบ้านพักย่านบางบัวทองไปรายงานตัวในคดี “เลือกตั้งที่(รัก) ลัก” ที่ สน.ปทุมวัน เพื่อเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร 

สำหรับเหตุการณ์ที่พันธ์ศักดิ์ถูกกล่าวหาเป็นกิจกรรมการเดินเท้า ภายใต้แนวคิด “เมื่อความยุติธรรมไม่มา ก็เดินหน้าไปหามัน” เมื่อวันที่ 14-16 มี.ค. 2558 เพื่อเรียกร้องไม่ให้ดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร โดยพันธ์ศักดิ์ได้เดินจากบ้านย่านบางบัวทอง ไปรายงานตัวที่ สน.ปทุมวัน ในคดี “เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก”  แต่ก็ถูกทหารและตำรวจร่วมกันแจ้งความดำเนินคดีจากการทำกิจกรรมนี้ซ้ำอีก


คำพิพากษาโดยสรุป

​ศาลเข้ามาที่ห้องพิจารณาในเวลา 10.15 น. โดยมีผู้เข้าร่วมฟังคำพิพากษาประมาณ 10 คน ได้แก่ จำเลย ทนายจำเลย เพื่อน ผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายฯ และ iLaw

ศาลได้อ่านฟ้องโดยสรุปให้จำเลยฟังอีกครั้ง จากนั้นจึงอ่านประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ 

ศาลฟังได้ว่าพยานโจทก์มี พ.ต.อ.สถิตย์ ผู้กล่าวหา, พ.อ.บุรินทร์ หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของ คสช., พ.ต.ท.สมยศ รองผู้กำกับสืบสวน สน.พญาไท, ด.ต.พงศ์เทพ ผู้บังคับหมู่สืบสวน สน.พญาไท และ พ.อ.พงสฤทธิ์ นายทหารสังกัดกองพันทหารราบ หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ทั้งหมดต่างเบิกความตรงกันว่าขณะทำกิจกรรมจำเลยไม่ได้ใช้เครื่องขยายเสียงและไม่มีความวุ่นวาย

ศาลเห็นว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น แม้ขณะเกิดเหตุมีการประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 แต่ภายหลังมีการยกเลิกโดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 

ประเด็นที่โจทก์บรรยายฟ้องในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จำเลยโพสต์ข้อความผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเผยแพร่ลงในเฟซบุ๊กชื่อบัญชี “พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ” ซึ่งเป็นของจําเลยว่า “จุดเริ่มเดิน ไปบอกว่า พลเรือนต้องไม่ขึ้นศาลทหาร พบกันที่ ร.ร.โสตนนทบุรี (ใกล้เทศบาลบางบัวทอง) 7 โมงเช้า 14 มี.ค.2558 พร้อมแผนที่แสดงจุดนัดพบ” อันเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยจําเลยมีเจตนาที่จะให้ประชาชนทั่วไปมาร่วมชุมนุมทางการเมืองร่วมกับจําเลย เพื่อต่อต้านการดําเนินคดีบุคคลพลเรือนในศาลทหาร

เนื่องจากโจทก์เบิกความว่า กิจกรรมเต็มไปด้วยความสงบเรียบร้อย จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14  

พิพากษายกฟ้อง 

 

คำฟ้องของโจทก์

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2558 พันธ์ศักดิ์ ถูกอัยการศาลทหารฟ้อง โดยบรรยายว่าเขาเป็นบุคคลพลเรือน ที่ได้กระทําความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร มีความผิดตามประกาศและคําสั่ง คสช. อันเป็นความผิดที่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 โดยมีพฤติการณ์ดังนี้

1. เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2558 เวลาใดไม่ปรากฏชัด อันเป็นวันและ เวลาที่อยู่ในระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร และในระหว่างที่ประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 มีผลใช้บังคับ จําเลยกระทําให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วไปด้วยการนําเข้าสู่ระบบ คอมพิวเตอร์โดยโพสต์ข้อความผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเผยแพร่ลงในเฟซบุ๊กชื่อบัญชี “ พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ” ซึ่งเป็นของจําเลยว่า “จุดเริ่มเดิน ไปบอกว่า พลเรือนต้องไม่ขึ้นศาลทหาร พบกันที่ ร.ร.โสตนนทบุรี (ใกล้เทศบาลบางบัวทอง) 7 โมงเช้า 14 มี.ค. 2558 พร้อมแผนที่แสดงจุดนัดพบ” อันเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยจําเลยมีเจตนาที่จะให้ประชาชนทั่วไปมาร่วมชุมนุมทางการเมืองร่วมกับจําเลย เพื่อต่อต้านการดําเนินคดีบุคคลพลเรือนในศาลทหาร ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 และประกาศฉบับที่ 38/2557

2. เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2558 เวลากลางวัน อันเป็นวันและเวลาที่อยู่ในระหว่างประกาศ ใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ภายหลังจากที่จําเลยได้ชักชวนให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมตามฟ้องข้อ 1 แล้ว จําเลยกับพวกอีก 5 คน ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันชุมนุมทางการเมืองโดยเริ่มเดินประท้วง คัดค้านตั้งแต่บริเวณหน้ากรมวิทยาศาสตร์บริการจนมารวมตัวกันที่บริเวณลานปรีดีพนมยงค์ ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อคัดค้านการใช้อํานาจของ คสช. โดยมีประชาชนมาร่วมชุมนุมกับจําเลย จํานวนประมาณ 20 คน ซึ่งเป็นการมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองที่มีจํานวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง

 

ภาพโดย Banrasdr Photo

 

การต่อสู้กว่าจะมาถึงวันพิพากษา

โต้แย้งเขตอำนาจศาล : 5 พ.ย. 2558 ในนัดถามคำให้การ พันธ์ศักดิ์ไม่ได้ให้การกับศาล เนื่องจากเห็นว่าพลเมืองไม่ควรต้องขึ้นศาลทหาร แต่ได้ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารกรุงเทพ เหตุผลหนึ่งในคำร้อง พันธ์ศักดิ์เห็นว่า “ประกาศ คสช.ไม่มีสถานะเป็นกฎหมายและไม่สามารถบังคับใช้ได้” ขั้นตอนนี้กินเวลายาวนานจนกระทั่งวันที่ 1 เม.ย. 2559 ศาลทหารได้อ่านคำวินิจฉัยของศาลอาญา ใจความว่า การที่ คสช. ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองเป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ทำให้ประกาศและคำสั่งที่ออกโดย คสช. มีสถานะเป็นกฎหมายใช้บังคับได้ทั่วไป ด้วยเหตุนี้ประกาศที่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหารตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 จึงมีผลเป็นกฎหมาย คดีของจำเลยจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร 

ทั้งนี้ ศาลทหารกรุงเทพมีความเห็นพ้องกัน ทำให้คดียังอยู่ในการพิจารณาของศาลทหารกรุงเทพต่อไป 

ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความประกาศ/คำสั่ง คสช. : 11 ก.ค. 2559 ภายหลังศาลอาญามีคำวินิจฉัยให้คดีอยู่ในการพิจารณาของศาลทหาร พันธ์ศักดิ์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลทหารให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาว่า กฎหมายที่ใช้พิจารณาคดีขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไรก็ดี ศาลทหารได้ยกคำร้องของพันธ์ศักดิ์ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2559 โดยเห็นว่าประกาศและคำสั่งของ คสช. ชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อประเทศไทยมีหนังสือแจ้งการประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร และขอใช้สิทธิเลี่ยงพันธกรณีระหว่างประเทศ ICCPR บางประการไว้แล้ว บทบัญญัติใน พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ที่ห้ามอุทธรณ์และฎีกาคดีในระหว่างประกาศกฎอัยการศึก จึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและ ICCPR

ศาลทหารจำหน่ายข้อหาตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 : 25 ก.พ. 2562 ศาลทหารได้มีคำสั่งจำหน่ายข้อหาตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นความผิดลักษณะเดียวกับคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ถูกยกเลิกความผิดไปแล้วตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 เรื่อง การให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติภายหลังระบุให้การชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ผู้ที่กระทำดังกล่าวจึงพ้นจากความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2

ทั้งนี้ศาลจะยังคงพิจารณาคดีในส่วนความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ต่อไป

คดีถูกโอนย้ายเข้าสู่ศาลยุติธรรม : 28 ม.ค. 2563 ศาลอาญา รัชดาฯ ได้นัดพร้อมพันธ์ศักดิ์เพื่อพิจารณาคดีต่อจากศาลทหารกรุงเทพ ภายหลังคดีได้ถูกโอนย้ายจากศาลทหารตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 ตลอดระยะเวลาหลายปีได้มีการสืบพยานโจทก์ในคดีดังกล่าวไปเพียง 5 ปาก ในศาลทหาร โดยโจทก์ยังต้องการนำพยานเข้าสืบอีก 16 ปาก ส่วนทนายจำเลยประสงค์จะนำพยานเข้าสืบ 7 ปาก ประกอบด้วย ตัวจำเลย 1 ปาก พยานผู้อยู่ในเหตุการณ์ 2 ปาก และพยานนักวิชาการ 4 ปาก ศาลได้กำหนดนัดสืบพยานระหว่างวันที่  3-6 พ.ย. 2563

 

ภาพโดย Banrasdr Photo

 

การสืบพยานในศาลทหาร

การสืบพยานในศาลทหารในช่วงปี 2558-2562 สืบพยานไปได้ 5 ปาก โดยเริ่มสืบพยานปากแรกเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2560  พยาน 5 ปาก ที่เข้าสืบในศาลทหารประกอบด้วย พ.ต.อ.สถิตย์ สังข์ประไพ ผู้กล่าวหา, พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของ คสช. และผู้กล่าวหา, พ.ต.ท.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ รองผู้กำกับสืบสวน สน.พญาไท, ร.ต.อ.ปภาณ สีหาอาจ รองสารวัตรสืบสวน สน.นางเลิ้ง และ ด.ต.พงศ์เทพ โกฎเพชร ผู้บังคับหมู่สืบสวน สน.พญาไท

บรรยากาศการพิจารณาคดีในศาลทหาร มีการเลื่อนพิจารณาคดีอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากพยานมักติดงานราชการ ในนัดที่มีการสืบพยานซึ่งเป็นทหาร ศาลทหารไม่อนุญาตให้ผู้เข้าสังเกตการณ์จดบันทึกและเคยมีการยึดโทรศัพท์มือถือในนัดฟังคำสั่งศาลทหารเรื่องการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ประกาศ/คำสั่ง คสช.


ทหารผู้กล่าวหามองว่าโพสต์ของจำเลยจุดกระแสต่อต้านรัฐบาล และ คสช.ออกประกาศ 7/2557 ในฐานะรัฏฐาธิปัตย์

พ.อ.บุรินทร์ เบิกความต่อศาลว่าโพสต์เชิญชวนของกลุ่มพลเมืองโต้กลับเป็นการจุดกระแสให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมเกินกว่า 5 คน และให้มาทำกิจกรรมต่อต้านรัฐบาล อันจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและการทำงานของรัฐบาล และสำหรับข้อความ “เมื่อความยุติธรรมไม่มา ก็เดินไปหามัน” พยานเห็นว่าเป็นข้อความที่ไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นพยาน ก็จะหาช่องทางดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ไปทำกิจกรรมลักษณะนี้

ทั้งนี้ ทนายจำเลยได้ถาม พ.อ.บุรินทร์เกี่ยวกับอำนาจในการออกกฎหมายว่า การที่ คสช.ออกประกาศฉบับที่ 7/2557 โดยอาศัยอำนาจกฎอัยการศึกใช่หรือไม่ พ.อ.บุรินทร์ตอบว่าไม่ใช่ คสช.ออกประกาศดังกล่าวในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในขณะนั้น ทนายจำเลยจึงได้ถามต่อว่าแล้วถ้าเช่นนั้น คสช. มีสถานะอำนาจมากกว่าพระมหากษัตริย์หรือไม่และในขณะนั้นพระมหากษัตริย์จะเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ พยานขอไม่ตอบทั้ง 2 คำถาม กล่าวเพียงว่า คสช.ยังเทิดทูนพระมหากษัตริย์


ตำรวจยันมีผู้ร่วมกิจกรรมเกิน 5 คน

พ.ต.อ.สถิตย์ พยานปากผู้กล่าวหาเบิกความต่อศาลว่า ระหว่างทางที่พันธ์ศักดิ์เดิน มีผู้เข้ามาร่วมเดินเพิ่มอีก 6 คน หนึ่งในนั้นคือนายปรีชา (สงวนนามสกุล) ซึ่งรับสารภาพ และศาลมีคำพิพากษาจำคุก 6 เดือน ปรับ 8 พันบาท จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง โทษจำคุกรอลงอาญา 1 ปี ขณะที่ ร.ต.อ.ปภาณ รองสารวัตรสืบสวน สน.นางเลิ้ง ซึ่งได้ไปสังเกตการณ์เช่นกัน เบิกความว่า เห็นกลุ่มของจำเลยได้เดินผ่านแยกมิสกวันไปทางสะพานมัฆวาน และไปแวะพักที่ร้านไก่ย่างผลเจริญ พร้อมกับบุคคลอื่นๆ รวม 8 คน และเดินไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 5 คน 


การเดินของพันธ์ศักดิ์ไม่มีความวุ่นวาย การรณรงค์ให้พลเรือนไม่ขึ้นศาลทหารสามารถทำได้

พ.ต.ท.สมยศ อดีตรองผู้กำกับ สน.ชนะสงคราม และ ร.ต.อ.ปภาณ เบิกความต่อศาลว่าในวันที่พันธ์ศักดิ์ทำกิจกรรม สถานการณ์เรียบร้อยไม่มีความวุ่นวาย จำเลยไม่ได้มีการปราศรัย และในวันนั้นรัฐบาลก็ยังสามารถบริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้ นอกจากนี้ พ.ต.ท.สมยศยังตอบทนายจำเลยว่า การเดินรณรงค์เพื่อให้คดีพลเรือนไม่ถูกนำมาพิจารณาในศาลทหารสามารถทำได้ ถ้ามีการรับรองเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับที่ ร.ต.อ.ปภาณ ซึ่งเห็นว่าการกระทำของจำเลยซึ่งเป็นพลเรือน มีสิทธิที่จะรณรงค์เรื่องพลเรือนไม่ขึ้นศาลทหาร ในส่วนของ ด.ต.พงศ์เทพ ตำรวจ สน.พญาไท ซึ่งได้ไปสังเกตการณ์ในวันเกิดเหตุ ได้รับกับทนายจำเลยว่า ขณะที่ตนสังเกตการณ์อยู่ในเขตรับผิดชอบของ สน.พญาไทนั้น จำเลยไม่ได้มีการปราศรัยทางการเมือง และในวันเกิดเหตุไม่ได้เกิดเหตุวุ่นวายแต่อย่างใด 

 

 

การสืบพยานในศาลยุติธรรม

การสืบพยานในศาลยุติธรรมระหว่างวันที่ 3-5 พ.ย. 2563 มีการสืบพยานโจทก์ 2 ปาก ได้แก่ พ.อ.พงศฤทธิ์ ภวังคะนันท์ สังกัดกองพันทหารราบ หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน และ ร.ต.ท.ประเสริฐ ทิณะรัตน์ พนักงานสอบสวน  สน.ชนะสงคราม เนื่องจากมีพยานที่ติดต่อไม่ได้และพยานที่ศาลเห็นว่าน่าจะเบิกความซ้ำซ้อนกันจึงไม่ต้องนำตัวมา ขณะที่มีการสืบพยานจำเลย 2 ปาก คือ พยานผู้เชี่ยวชาญ 1 ปากและตัวจำเลย รวมทั้งสิ้นสืบพยาน 4 ปาก ศาลเน้นในการสืบพยานเป็นไปอย่างกระชับทั้งในการเบิกความของพยานโจทก์และการถามค้านของทนายจำเลย 


พยานโจทก์ 2 ปากกล่าวตรงกัน กิจกรรมของพันธ์ศักดิ์ไม่มีการปราศรัยและความวุ่นวาย

พ.อ.พงศฤทธิ์ เบิกความว่าก่อนหน้ากิจกรรมพยานพบการเคลื่อนไหวผ่านสื่อออนไลน์ จำชื่อกลุ่มได้ว่า LLTD ประชาสัมพันธ์เรื่องกิจกรรมของพันธ์ศักดิ์ ในวันเกิดเหตุพยานได้ติดตามจำเลยตลอดการทำกิจกรรมโดยทิ้งระยะห่างประมาน 30 เมตร พยานพบจำเลยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จำเลยเรียกร้องให้พลเรือนไม่ขึ้นศาลทหาร ระหว่างเดินมีคนมาให้ดอกไม้ ขณะนั้นมีการประกาศกฎอัยการศึก การเดินของพยานไม่มีการใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัย ไม่มีการถือป้าย แต่บนเสื้อของจำเลยมีข้อความรณรงค์เช่นเดียวกับกิจกรรม พยานจำข้อความไม่ได้ พฤติการณ์ของจำเลยมีลักษณะฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ที่ห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป แต่ปัจจุบันข้อหาดังกล่าวถูกจำหน่ายไปแล้ว เนื่องจาก คสช.ยกเลิกความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 

ทางด้าน ร.ต.ท.ประเสริ​ฐ คณะพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม  เบิกความว่า พบจำเลยตรงหมุดเฌอ ซึ่งเป็นจุดที่บุตรชายจำเลยเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม พบเห็นคนมาร่วมเดินกับจำเลยและมอบดอกไม้ ทั้งหมดมีการเดินไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเสวนากันที่ลานปรีดี โดยมีการขออนุญาตมหาวิทยาลัย แต่มหาวิทยาลัยไม่อนุญาต การเสวนาของจำเลยแบ่งเป็น 5-6 คน/กลุ่ม มีผู้เข้าร่วมประมาณ 20 คน จนเวลาประมาณ 1 ทุ่มจึงแยกย้ายกันกลับ พนักงานสอบสวนเห็นว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (3), คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ นำเข้าซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับความมั่นคง ทั้งนี้หนึ่งในผู้ต้องหา ของวันนั้นชื่อนายปรีชา (สงวนนามสกุล) จำเลยรับสารภาพ ศาลทหารพิพากษาลงโทษ แต่พยานไม่ทราบผลแห่งคดี โดยในคดีนี้ได้มีการออกหมายจับนายพันธ์ศักดิ์ด้วย

นอกจากนี้ร.ต.ท.ประเสริฐ ได้ตอบทนายจำเลยถามค้านว่าการเดินของจำเลยไม่มีความวุ่นวายและไม่มีการใช้เครื่องขยายเสียง แต่ไม่ตอบว่าข้อความในเฟซบุ๊กของจำเลยที่เขียนว่าพลเรือนไม่ขึ้นศาลทหารซึ่งเป็นข้อความที่พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นนั้น เป็นการยุยงปลุกปั่นอย่างไร

 

คำเบิกความจำเลยและพยานจำเลย

โครงสร้างองค์กรของศาลทหารมีปัญหาตั้งแต่ต้น

พูนสุข พูนสุขเจริญ เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งให้ความช่วยเหลือบุคคลซึ่งได้รับผลกระทบต่อการใช้อำนาจรัฐประหารตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา เป็นพยานจำเลยเบิกความในฐานะผู้เชี่ยวชาญ

พูนสุขเบิกความว่า โครงสร้างองค์กรของศาลทหารมีปัญหา 3 ส่วน 1.งานธุรการของศาลทหารยังคงสังกัดเกี่ยวพันกับกลาโหม ซึ่งส่งผลต่อการขึ้นเงินเดือนและเลื่อนยศ 2.การไม่บังคับว่าตุลาการจะต้องจบการศึกษานิติศาสตร์เพียงแต่ต้องเป็นทหารสัญญาบัตร 3.การที่จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาได้ขณะประกาศใช้กฎอัยการศึก

คดีนี้เกิดนี้ระหว่างประกาศกฎอัยการศึก แม้พนักงานสอบสวนเป็นตำรวจ แต่ว่าผู้ฟ้องเป็นอัยการศาลทหาร ทหารยังคงควบคุมตัวคนได้ 7 วัน อีกทั้งคดีเกี่ยวกับการห้ามชุมนุมอยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร รวมทั้งการใช้อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการอยู่ภายใต้ทหารทั้งหมด

การประกาศให้ใช้ศาลทหารกับพลเรือนเป็นการใช้อำนาจของ คสช. แทรกแซงอำนาจตุลาการ ขณะที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งในข้อ 14 กำหนดเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับความเป็นอิสระ เป็นกลางของตุลาการ สิทธิในการดำเนินคดีที่เปิดเผยและเป็นธรรม

พูนสุขยังเบิกความต่อว่า ศูนย์ทนายฯ ได้เคยทำหนังสือสอบถามไปยังศาลทหารเกี่ยวกับจำนวนผู้ที่ถูกดำเนินคดีในศาล โดยได้รับเอกสารว่ามีการดำเนินคดีกับพลเรือนไปมากกว่า 2,204 คน จำนวน 1,769 คดี ในระหว่างวันที่ 25 พ.ค. 2557 ถึง 31 พ.ค. 2562 นอกจากนี้ UN ยังเคยมีความเห็นต่อการดำเนินคดีในศาลทหารของไทยว่า ไม่มีหลักประกันสิทธิในการอุทธรณ์และการพิจารณาคดี จึงควรมีการโอนคดีกลับมาให้ศาลพลเรือนพิจารณาคดี

 

ภาพโดย Banrasdr Photo

 

เดินคนเดียวโดยสงบก็ถูกดำเนินคดียุยงปลุกปั่น

พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ จำเลยในคดี มีอาชีพรับจ้างขับแท็กซี่ พันธ์ศักดิ์ถูกดำเนินคดีจากกิจกรรมเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก ในปี 2558 โดยคดีนี้เป็นคดีที่สืบเนื่องมาจากคดีดังกล่าว

พันธ์ศักดื์เริ่มต้นเบิกความโดยกล่าวถึงบุตรชายว่า เมื่อในปี 2553 เดือนเมษายนมีการสลายการชุมนุมโดยลูกชายของพยานอยู่นอกเขตการชุมนุม แต่ถูกทหารยิงเสียชีวิตในวันที่ 15 พ.ค. 2553 บริเวณดังกล่าวมีแต่กองกำลังทหารติดอาวุธ หลังจากนั้นจำเลยและญาติพี่น้องผู้เสียชีวิตได้รวมตัวกันเพื่อติดตามหาความยุติธรรมมาโดยตลอด จนเหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 สมาชิกของ คสช. บางคนเคยอยู่ใน ศอฉ. (ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน) อาทิ พล.อ.ประยุทธ์, พล.อ.ประวิตร ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมปี 2553 พยานจึงออกมาต่อต้านและตรวจสอบการรัฐประหารครั้งนี้ 

พยานเคยฟัง พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์หลังรัฐประหารว่า จะมีการตรวจสอบการเสียชีวิตของประชาชนในเดือน เม.ย.- พ.ค. 2553 โดยตอนนั้นทางกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตเป็นกังวลว่าทหารจะแทรกแซงและยุติคดีศาลอาญา ซึ่งได้มีการไต่สวนการตายของผู้เสียชีวิต 6 ศพวัดปทุมออกมาแล้วว่า ในขณะนั้นเสียชีวิตเพราะกระสุนปืนจากฝั่งทหาร พยานกลัวว่า คสช. จะลบคดีเหล่านั้น จึงไปโปรยใบปลิวเรียกร้องความเป็นธรรมและถูก คสช. ดำเนินคดี

ภายหลังพยานยังเคลื่อนไหวหลายครั้งจนมาถึงวันที่ 14 ก.พ. 2558 พวกพยานเคลื่อนไหวในงานเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก ซึ่งมีผู้กลายเป็นผู้ต้องหาอีก 3 คน นอกจากพยาน ได้แก่ ทนายอานนท์ วรรณเกียรติ และสิรวิชญ์ การเคลื่อนไหวในครั้งนั้นสืบเนื่องจาก การที่พวกพยานต้องการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ท้ายสุดได้ถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 โดย สน.ปทุมวัน เร่งรัดให้พยานไปรายงานตัวภายใน 16 มี.ค. 2558 พยานจึงประกาศว่าจะเดินเท้าจากบ้านที่บางบัวทองโดยตั้งใจจะเดินผ่านสถานที่สำคัญเพื่อให้ประชาชนเห็นว่าพยานต่อต้านคณะรัฐประหาร

14 มี.ค. 2558 ซึ่งเป็นวันทำกิจกรรม พยานเดินผ่านสดมภ์นวมทองไพรวัลย์ คนขับแท็กซี่ที่ขับรถชนรถถังตั้งแต่วันแรกก็เดินไม่ถึง เพราะถูกจับตัวมาส่ง สน. ปทุมวันเสียก่อน แต่ผู้กำกับไม่ได้รับมอบตัวเพราะนัดกันไว้แล้วว่าจะรายงานตัวในวันที่ 16 มี.ค. ต่อมา วันที่ 15 มี.ค. พยานเริ่มเดินใหม่อีกครั้งโดยเริ่มจากจุดที่บุตรชายเสียชีวิต บริเวณถนนราชปรารถ ซอยรางน้ำ แล้วเดินผ่านซอยโยธีจนถึงกรมวิทยาศาสตร์การทหารบก พบนักศึกษามามอบดอกไม้ 3 คน แต่ขณะนั้นมีสื่อและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบตามมาด้วย ผ่านสี่แยกเสาวนีย์เดินไปที่หมุดคณะราษฎรเพื่อวางดอกไม้แสดงความเคารพคณะราษฎรที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย

จากนั้นพยานเดินไปทานอาหารเป็นไก่ย่าง บริเวณเวทีมวยราชดำเนิน พันธ์ศักดิ์ย้ำว่าไม่ได้ไปทานอาหารที่ร้านศรแดงอย่างที่พยานโจทก์ซึ่งเป็นตำรวจเบิกความ เมื่อเดินถึงร้านอาหารศรแดงจึงมีคนมามอบดอกไม้และนมถั่วเหลือง ทราบภายหลังชื่อลุงปรีชา จากนั้นพยานเดินมุ่งหน้าไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยรองผู้กำกับ สน.ชนะสงคราม มาแจ้งว่า ธรรมศาสตร์ไม่ทราบเรื่องว่าจะมีการมาจัดกิจกรรม พยานจึงได้แจ้งกับมหาวิทยาลัยว่าไม่ได้มาทำกิจกรรม ผู้อำนวยการฝ่ายสถานที่ของธรรมศาสตร์แนะนำว่า พวกตนควรแยกย้ายก่อนมืดเพื่อความปลอดภัย 

พันธ์ศักดิ์เบิกความอีกว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้ถูกดำเนินคดี แม้ว่าตนเดินคนเดียวโดยสงบ ไม่มีการใช้เครื่องเสียง การแสดงออกดังกล่าวเพื่อบอกว่า ตนไม่ยินยอมขึ้นศาลทหาร แต่หากถูกดำเนินคดีก็พร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะการเดินดังกล่าวเป็นการเดินเพื่อไปรับทราบข้อกล่าวหา มีการโพสต์เส้นทางการเดินในเพจพลเมืองโตกลับจริง แต่พยานก็ไม่ได้เดินตามเส้นทางนั้นเนื่องจากถูกจับตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. ทั้งนี้ พยานยังเคยโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวด้วยว่า ขอความร่วมมือมาให้กำลังใจไม่เกิน 5 คน

 


พันธ์ศักดิ์ยันประชาชนผู้ต้านรัฐประหารเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับทหาร

พันธ์ศักดิ์เห็นว่า เหตุที่ประชาชนจึงไม่ควรขึ้นศาลทหาร เพราะประชาชนผู้ต่อต้านการรัฐประหารเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับทหาร จากการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับศาลทหารทราบว่าหลายคนไม่ได้ประกันและไม่ได้อุทธรณ์ ฎีกา นอกจากนี้ กรมพระธรรมนูญยังอยู่ในกระทรวงกลาโหม มีผังการพิจารณาชัดเจนว่าตุลาการศาลทหารอยู่ภายใต้โครงสร้างบังคับบัญชาของกลาโหม โครงสร้างจึงต้องขึ้นอยู่กับกระทรวงกลาโหม ซึ่งขณะนั้น พล.อ.ประวิตร เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมและเป็นรองนายกฯ พยานจึงไม่เชื่อว่าจะได้รับความยุติธรรมเพราะเป็นคู่ขัดแย้ง

นอกจากนั้น รายชื่อตุลาการศาลทหาร ต้องเสนอกับรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมก่อนทูลเกล้าฯ ตุลาการทหารหลายท่านไม่ได้จบนิติศาสตร์ ทำให้พยานไม่เชื่อมั่นในความรู้ ความสามารถ ระบบทหารยังมีการโยกย้ายตลอดเวลา การนัดพิจารณาคดีจึงถูกเลื่อนไปโดยง่าย เช่น พยานโจทก์ติดงานราชการ ทำให้คดีดำเนินไปอย่างล่าช้า การพิจารณาคดีไม่ต่อเนื่อง 

ในคดีนี้พยานถูกจับในเวลากลางคืน ถูกควบคุมตัวไปที่ สน. ชนะสงคราม และฝากขังศาลทหารพยาน ได้ยินมาว่าศาลทหารจะไม่ให้ประกันตัว แต่มีกลุ่มนักศึกษาธรรมศาสตร์ไปกดดันจึงได้รับการประกันตัว ในตอนที่ถูกดำเนินคดีทหารมักจะทำให้พยานหวาดกลัว ทหารเห็นว่า คสช.ต้องดำเนินคดีในศาลทหารแม้จะเป็นคดีเล็กน้อยก็เพื่อยุติการเคลื่อนไหวของผู้ต่อต้าน โดยพยานให้การปฏิเสธมาตลอดและประสงค์จะสู้คดี


อ่านเรื่องราวการดำเนินคดีและบันทึกการสืบพยานโดยละเอียดที่
กิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” พันธ์ศักดิ์ถูกดำเนินคดี ม.116

 

X