20 ก.ย. 2562 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2561 หรือ “คดี RDN50” ที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, นายกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์, นายอานนท์ นำภา, น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา, นายสุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ และ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว ต่อศาลในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12
องค์คณะผู้พิพากษาออกนั่งบัลลังก์ที่ห้องพิจารณาคดี 701 ซึ่งเป็นห้องขนาดใหญ่ โดยมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมฟังคำพิพากษาและให้กำลังใจจำเลยประมาณ 40 คน ทั้งกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เพื่อนและญาติของจำเลย นักกิจกรรม รวมทั้งมีผู้แทนจากสถานทูตต่างๆ เช่น อเมริกา, เยอรมัน, ฝรั่งเศส, สหภาพยุโรป เข้าร่วมสังเกตการณ์
ศาลได้อ่านคำพิพากษา เนื้อหาของคำพิพากษาโดยย่อมีดังนี้
ในคดีนี้อัยการได้บรรยายฟ้องโดยกล่าวหาว่าจำเลยกับพวกรวม 6 คน ได้ร่วมกันใช้รถยนต์ติดเครื่องขยายเสียงเป็นเวที ด้านข้างของตัวรถยนต์ได้ติดป้ายโจมตีพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี แล้วจำเลยกับพวกได้ร่วมกันปราศรัยโจมตีการทำงานของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี คณะรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยผลัดเปลี่ยนกันขึ้นกล่าวปราศรัย และร่วมกันปลุกระดมมวลชนให้เกิดการชุมนุมขับไล่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้งเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2561 พร้อมกับการชูนิ้วสามนิ้ว (นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง) บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และถนนราชดำเนิน อันเป็นสัญลักษณ์ในทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลที่บริหารประเทศอยู่ในขณะนั้น อันมิใช่การกระทำในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนที่พบเห็นเข้าใจว่ารัฐบาลและทหารจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งก่อให้เกิดภาพลักษณ์ในเชิงลบกับรัฐบาล และเป็นการยุยงปลุกปั่น สร้างความแตกแยกระหว่างประชาชนที่เห็นต่างกับรัฐบาล ซึ่งเป็นการร่วมกันมั่วสุมชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ได้รับมอบหมาย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย โดยจำเลยทั้ง 6 ให้การปฏิเสธ
ก่อนการสืบพยาน หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีคำสั่งที่ 22/2561 ให้ยกเลิกคำสั่งที่ 3/2558 ข้อ 12 “ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจํานวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการชุมนุม ที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย” การกระทำตามฟ้องของโจทก์ในข้อหานี้จึงไม่เป็นความผิดอีกต่อไป
ศาลอ่านคำพิพากษาต่อไปว่า ข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของพยานโจทก์และพยานจำเลยรับฟังได้ว่า มีการเชิญชวนเข้าร่วมชุมนุมในเฟซบุ๊ก “กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย” “กลุ่มประชาธิปไตยศึกษา V.2” “กลุ่มพลเมืองโต้กลับ” และ “อานนท์ นำภา” ให้มีการมาชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 10 ก.พ. 2561 โดยมีมวลชนทยอยเข้าร่วมชุมนุม จำเลยได้ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นกล่าวปราศรัยเนื้อหาหลักเป็นการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง และกล่าวถึงการทุจริตของรัฐบาล การชุมนุมได้ยุติลงในเวลา 19.30 น.
มีปัญหาที่ศาลต้องวินิจฉัยดังนี้
ประเด็นแรก โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลเห็นว่าข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจฟ้องได้ โดยมิต้องคำนึงถึงว่าผู้ร้องทุกข์จะเป็นผู้ใด
ประเด็นที่ 2 จำเลยทั้งหกได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หรือไม่ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 6 (ชลธิชา แจ้งเร็ว) ได้ทำหนังสือแจ้งการชุมนุมก่อนการชุมนุมที่ สน.สำราญราษฎร์ โดยแจ้งการชุมนุมไว้ในเวลา 16.00-20.00 น. จุดมุ่งหมายของการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งในภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 จำเลยได้อ้างสิทธิการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญที่ได้ประกาศใช้แล้วในขณะนั้น และสิทธิตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้แล้ว หลังจากนั้นผู้กำกับ สน.สำราญราษฎร์ ได้มีหนังสือตอบกลับแจ้งอำนาจหน้าที่ของผู้ชุมนุม
นอกจากนี้ ตามที่ปรากฏในคลิป ซึ่งเป็นวัตถุพยานของโจทก์ จำเลยที่ 6 ได้แจ้งต่อผู้ชุมนุมว่า การชุมนุมจะไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น และจำเลยที่ 2 (กาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์) ได้พูดกับผู้ชุมนุมว่า เราจะชุมนุมโดยสันติและสร้างสรรค์ ไม่ให้ร้าย ไม่สร้างความเกลียดชัง เราเพียงต้องการบอกความในใจว่า ต้องการให้มีการเลือกตั้งภายในปี 2561 ไม่ให้เลื่อนการเลือกตั้งไปอีก จำเลยที่ 1,3-5 รวมถึงรังสิมันต์ โรม เมื่อขึ้นพูดกับผู้ชุมนุมก็ไม่มีลักษณะยุยงปลุกปั่น ทั้งจำเลยที่ 3 (อานนท์ นำภา) ยังกล่าวว่า เราสามารถมีความขัดแย้งที่สร้างสรรค์ได้ ความขัดแย้งไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ความรุนแรง ต่อมา ในการยุติการชุมนุม จำเลยที่ 3 ได้พูดอีกว่า วันนี้การชุมนุมจุดติดแล้ว แต่เราแจ้งการชุมนุมถึง 2 ทุ่ม เราจะต้องไม่ให้คนอื่นชี้หน้าว่าทำผิดกฎหมาย และเมื่อเลิกชุมนุมในเวลา 19.30 น. จำเลยที่ 1, 3 และรังสิมันต์ โรม ได้เข้ามอบตัวที่ สน.สปุมวัน ตามหมายจับในคดีชุมนุมที่สกายวอล์ค มาบุญครอง พฤติการณ์ของจำเลยแสดงให้เห็นว่า จำเลยประสงค์ให้การชุมนุมถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นไปโดยสงบ
อีกทั้งพยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวได้ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ในการชุมนุมที่สกายวอล์ค มาบุญครอง และที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผู้ชุมนุมต่างเดินทางมาร่วมเอง ไม่ปรากฏว่า มีการขนคนมาร่วมชุมนุม สอดคล้องกับเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจที่มาเบิกความเป็นพยานโจทก์ทุกปากตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ไม่มีความรุนแรง ไม่มีความวุ่นวายหรือการใช้อาวุธ แกนนำไม่ได้พูดยุยงปลุกปั่นให้ผู้ชุมนุมทำร้ายคนอื่น ก่อความรุนแรง หรือทำลายทรัพย์สิน และการชุมนุมยุติลงโดยไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่มีความรุนแรง ความวุ่นวาย ไม่มีการใช้กำลังบีบบังคับให้รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้อง นอกจากนี้ ผู้จัดการชุมนุมในครั้งนี้เป็นนักศึกษาและผู้มีอุดมการณ์ในการเรียกร้องประชาธิปไตย ขณะที่มีการชุมนุมมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 แล้ว แต่ คสช. ยังใช้อำนาจในการปกครองประเทศ จำเลยยังนำสืบว่า หัวหน้า คสช. เคยประกาศที่จะจัดให้มีการเลือกตั้ง แต่ก็เลื่อนมาแล้วหลายครั้ง อีกทั้งมีการกระทำเป็นกระบวนการในการที่จะเลื่อนเลือกตั้ง เมื่อพิจารณาจากการปราศรัย การแสดงสัญลักษณ์ และแผ่นป้ายในที่ชุมนุม ซึ่งพูดถึง พล.อ.ประยุทธ์, คสช. โดยมีเนื้อหาหลักให้มีการเลือกตั้งในปี 2561 สอดคล้องกับที่ พ.อ.บุรินทร์ ผู้กล่าวหา ตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า ผู้ชุมนุมไม่ได้มีคำพูดที่รุนแรง การเรียกร้องของจำเลยจึงเป็นการกระทำตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ
สำหรับการปราศรัยเรื่องการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เช่นเดียวกับการปราศรัยเรื่องนาฬิกา 25 เรือนของพลเอกประวิตร ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ส่วนการที่จำเลยที่ 3 พูดว่า การชุมนุมจุดติดแล้ว เห็นว่า เป็นไปเพื่อให้ข้อเรียกร้องหนักแน่นขึ้น ทั้งนี้ หลังจากมี พ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง ปี 2562 พวกจำเลยก็ไม่ได้ออกมาชุมนุมอีก
การกระทำของจำเลยไม่ได้เป็นไปเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 116 แม้ถ้อยคำจะไม่เหมาะสมหรือก้ำเกินไปบ้าง แต่ก็เพื่อวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลตามหลักประชาธิปไตย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด พิพากษายกฟ้อง
สำหรับคดี RDN แกนนำ มีการสืบพยานในระหว่างวันที่ 1-2, 13–15 ส.ค. 2562 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 13-15 ส.ค. 2562 โดยสืบพยานโจทก์รวมทั้งสิ้น 10 ปากและพยานจำเลยรวมทั้งสิ้น 7 ปาก (อ่านประมวลการสืบพยาน) ก่อนจะมีคำพิพากษาในวันนี้ โดยถือเป็นคดีแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งคดีแรกที่มีคำพิพากษา ขณะที่ยังมีคดีของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีอีก 6 คดี และอยู่ระหว่างรอคำสั่งอัยการสูงสุดอีก 1 คดี
คดีกลุ่มคนอยากเลือกตั้งราชดำเนินนี้ มีผู้ต้องหารวม 50 คน แบ่งเป็นกลุ่มแกนนำซึ่งถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ร่วมกับข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 จำนวน 7 คน ซึ่งศาลได้สั่งแยกการพิจารณาคดีของรังสิมันต์ โรม ออกจากจำเลยที่เหลือ เนื่องจากนัดการพิจารณาคดีอยู่ในระหว่างสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจำเลยจำต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่ คดีที่แยกออกไปนี้จะถูกพิจารณาในช่วงวันที่ 23 – 26 มิ.ย. และ 14 – 17 ก.ค. 2563
กลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 จำนวน 43 คน โดยอัยการได้ถอนฟ้องกลุ่มผู้ชุมนุมไปเมื่อ วันที่ 27 ก.ค. 2562 เนื่องจาก คสช.ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2561 เรื่องให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ได้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามกฎหมายอีกต่อไป สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 39(5)