130 คน 6 คดี คือปริมาณของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งซึ่งถูกตั้งข้อหา จากการออกมาเรียกร้องให้ คสช. จัดการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 ตามที่เคยให้สัญญาไว้กับนานาชาติ
ขณะที่วันเลือกตั้งยังไม่มีกำหนดแน่นอน แต่คดีความของผู้ต้องหาและจำเลยทั้ง 130 คน ยังดำเนินไปอย่างไม่หยุดยั้ง บางคดียังอยู่ในชั้นสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานของตำรวจ บางคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีของอัยการ และบางคดีขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นแล้ว
ทบทวนกันอีกครั้งว่าจนถึง 11 ก.ค. 2561 คดีคนอยากเลือกตั้งทั้ง 6 คดี ได้แก่ คดีคนอยากเลือกที่สกายวอล์กหน้าห้างสรรพสินค้า MBK (MBK39),คดีคนอยากเลือกตั้งที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน (RDN50), คดีคนอยากเลือกตั้งหน้ากองบัญชาการกองทัพบก (ARMY57), คดีคนอยากเลือกตั้งหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU06), คดีคนอยากเลือกตั้งที่พัทยา (PATTAYA12), และคดีคนอยากเลือกตั้งหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และหน้าองค์การสหประชาชาติ (UN62) อยู่ตรงไหนในกระบวนการยุติธรรม
1. คดีคนอยากเลือกที่สกายวอล์กหน้าห้างสรรพสินค้า MBK (MBK39)
คดีนี้มีผู้ต้องหา 39 คน แบ่งเป็นกลุ่มแกนนำซึ่งถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ร่วมกับข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหั
2. คดีคนอยากเลือกตั้งที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน (RDN50)
คดีนี้มีผู้ต้องหา 50 คน แบ่งเป็นกลุ่มแกนนำซึ่งถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ร่วมกับข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 จำนวน 7 คน และกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 จำนวน 43 คน ในส่วนของแกนนำแบ่งเป็นคดีของรังสิมันต์ โรม ขึ้นสู่ชั้นศาลที่ศาลอาญาแล้ว ส่วนแกนนำที่เหลืออีก 6 คน อยู่ระหว่างการพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีของอัยการ โดยมีโชติศักดิ์ อ่อนสูง ที่ยังอยู่ในชั้นอัยการ ส่วนพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ซึ่งปรากฏชื่อในข่าวว่าเป็นหนึ่งในผู้ถูก คสช. แจ้งความดำเนินคดี ยังไม่มีการแจ้งข้อหาตั้งแต่ชั้นตำรวจ
3.คดีคนอยากเลือกตั้งหน้ากองบัญชาการกองทัพบก (ARMY57)
คดีนี้มีผู้ต้องหา 57 คน แบ่งเป็นกลุ่มแกนนำซึ่งถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกับข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ, และ พ.ร.บ.การจราจรทางบก จำนวน 10 คน และกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ, และ พ.ร.บ.การจราจรทางบก จำนวน 47 คน
สำหรับกลุ่มแกนนำ 10 คน อยู่ระหว่างรอฟังคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีของอัยการ โดยมีเอกชัย หงส์กังวานที่ยังไม่กำหนดวันนัด ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุม 46 คน คดีขึ้นสู่ชั้นศาล ยกเว้นอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ ที่อยู่ระหว่างรอฟังคำสั่งอัยการ
4. คดีคนอยากเลือกตั้งหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU06)
คดีนี้ กลุ่มผู้ชุมนุม 6 คน ถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมือง ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จากการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยเชียง คดีอยู่ระหว่างรอการพิจารณาว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ของอัยการ
5. คดีคนอยากเลือกตั้งที่พัทยา (PATTAYA12)
คดีนี้ กลุ่มผู้ชุมนุม 12 คน ถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมือง ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ จากการชุมนุมริมหาดพัทยา บริเวณหน้าสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัลพัทยา คดีอยู่ระหว่างรอการพิจารณาว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ของอัยการ
6.คดีคนอยากเลือกตั้งหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และหน้าองค์การสหประชาชาติ (UN62)
คดีนี้มีผู้ต้องหา 62 คน แบ่งเป็นกลุ่มแกนนำซึ่งถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ในจำนวนนี้มี 9 คนที่ถูกตั้งข้อลักทรัพย์ ร่วมกับข้อหามั่วสุมให้เกิดความวุ่นวายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 มาตรา 216, ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ, และ พ.ร.บ.การจราจรทางบก จำนวน 21 คน และกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกตั้งข้อหามั่วสุมให้เกิดความวุ่นวายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 มาตรา 216, ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ, และ พ.ร.บ.การจราจรทางบก จำนวน 41 คน
สำหรับกลุ่มแกนนำ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 15 คน ที่ถูกจับกุมในที่เกิดเหตุ ปัจจุบันคดีอยู่ในชั้นอัยการ แต่ยังไม่มีกำหนดนัดฟังคำสั่งว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ ส่วนอีก 6 คน ที่ได้รับหมายเรียกมารับทราบข้อหาภายหลัง อยู่ในชั้นอัยการเช่นกัน แต่มีกำหนดนัดฟังคำสั่งแล้ว ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวน 38 คน คดีขึ้นสู่ชั้นศาล ยกเว้นเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล ที่คดียังอยู่ในชั้นอัยการ, ชเนศ ชาญโลหะ ที่มีคำสั่งไม่ฟ้องคดี, และอาอิซะฮ์ เสาะหมาน ที่ยังตามตัวมารับทราบข้อหาไม่ได้