นับถอยหลังไม่ถึงสัปดาห์ก่อนที่จะมีการเปิดประชุมรัฐสภาอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 24 พ.ค. 62 ท่ามกลางกระแสข่าวการลงชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร การจับมือตั้งรัฐบาลของขั้วการเมืองต่าง ๆ และการมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 62 ที่ผ่านมา
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ชวนย้อนรำลึกถึงประชาชนที่ออกมาเรียกร้องให้ คสช. จัดการเลือกตั้งภายในปี 2561 และ 2562 ตามที่เคยสัญญาไว้ในเวทีโลก ประชาชนเหล่านี้นับเป็นกลุ่มคนแรก ๆ ที่ออกมาดำเนินการเรียกร้องให้ประเทศกลับเข้าสู่ร่องรอยของวิถีทางประชาธิปไตย และพวกเขาจะยังคงยืนยันในเจตนารมณ์นี้ไม่เสื่อมคลาย
“กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” จำนวน 130 คน คือ กลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวกดดันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้คสช. จัดการเลือกตั้งเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ประชาธิปไตย แต่สิ่งที่พวกเขาได้รับต่อมาพกลับเป็นการถูกเจ้าหน้าที่รัฐตั้งข้อหาทางอาญา โดยมีการดำเนินคดีในช่วง 6 เดือนแรกของปี 61 รวมทั้งสิ้น 6 คดี ได้แก่ คดีคนอยากเลือกที่สกายวอล์กหน้าห้างสรรพสินค้า MBK (MBK39), คดีคนอยากเลือกตั้งที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน (RDN50), คดีคนอยากเลือกตั้งหน้ากองบัญชาการกองทัพบก (ARMY57), คดีคนอยากเลือกตั้งหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU06), คดีคนอยากเลือกตั้งที่พัทยา (PATTAYA12), และคดีคนอยากเลือกตั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และหน้าองค์การสหประชาชาติ (UN62)
ล่วงมาจนถึงก่อนการเลือกตั้ง มี.ค. 62 กลุ่มคนอยากเลือกตั้งต่างทยอยถูกสั่งฟ้องตามลำดับ ดังนี้ คดี RDN50 แกนนำ จำนวน 7 คน ถูกสั่งฟ้องเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 61, คดี MBK39 แกนนำ จำนวน 8 คน ถูกสั่งฟ้องวันที่ 1 พ.ย. 61 โดยก่อนหน้านี้อัยการได้สั่งฟ้องวีระ สมความคิด แยกเป็นอีกคดีเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 61, คดี PATTAYA12 ทุกคนถูกฟ้องในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 62, และสุดท้ายคดี ARMY57 แกนนำจำนวน 10 คน ถูกสั่งฟ้องเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 62 และตามติดมาด้วยการฟ้องเอกชัย หงส์กังวานเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 62
อนึ่ง ข้อมูลนี้อัพเดทถึงวันที่ 15 พ.ค. 62
1.คดีคนอยากเลือกที่สกายวอล์กหน้าห้างสรรพสินค้า MBK (MBK39)
คดีนี้มีผู้ต้องหา 39 คน แบ่งเป็นกลุ่มแกนนำซึ่งถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ร่วมกับข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ จำนวน 9 คน ซึ่งอัยการสั่งฟ้องกลุ่มนี้แล้วเมื่อเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2561 ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ จำนวน 30 คน อยู่ระหว่างรอฟังคำสั่งว่าอัยการมีคำสั่งฟ้องหรือไม่
อย่างไรก็ตามมี 2 คน ที่คดีได้มีคำพิพากษาแล้ว เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ ได้แก่ นพพร นามเชียงใต้ และนพเก้า คงสุวรรณ ที่ศาลแขวงปทุมวันพิพากษาว่ามีความผิด ลงโทษจำคุก 12 วัน แต่ให้รอการลงโทษ 1 ปี โดยคดีของนพพรสิ้นสุดแล้วเนื่องจากไม่อุทธรณ์ต่อ ขณะที่นพเก้าคดียังคงอยู่ระหว่างชั้นอุทธรณ์
2.คดีคนอยากเลือกตั้งที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน (RDN50)
คดีนี้มีผู้ต้องหา 50 คน แบ่งเป็นกลุ่มแกนนำซึ่งถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ร่วมกับข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 จำนวน 7 คน และกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 จำนวน 43 คน ในส่วนของแกนนำเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 62 ศาลได้รวมคดีของรังสิมันต์ โรม ที่ขึ้นสู่การพิจารณาในชั้นศาลที่ศาลอาญาแล้วและคดีของแกนนำที่เหลืออีก 6 คน ทำให้คดีทั้งสองกลุ่มอยู่ระหว่างการสืบพยาน
ทั้งนี้ ยังมีโชติศักดิ์ อ่อนสูง ที่คดียังอยู่ในชั้นอัยการ ส่วนพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ซึ่งปรากฏชื่อในข่าวว่าเป็นหนึ่งในผู้ถูก คสช. แจ้งความดำเนินคดี ยังไม่มีการแจ้งข้อหาตั้งแต่ชั้นตำรวจ
3.คดีคนอยากเลือกตั้งหน้ากองบัญชาการกองทัพบก (ARMY57)
คดีนี้มีผู้ต้องหา 57 คน แบ่งเป็นกลุ่มแกนนำซึ่งถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกับข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ, และ พ.ร.บ.การจราจรทางบก จำนวน 10 คน และกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ, และ พ.ร.บ.การจราจรทางบก จำนวน 47 คน ทั้งสองกลุ่มอยู่ระหว่างการสืบพยาน
4.คดีคนอยากเลือกตั้งหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU06)
คดีนี้ กลุ่มผู้ชุมนุม 6 คน ถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมือง ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จากการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 62 ศาลแขวงเชียงใหม่ยกฟ้องผู้ชุมนุมในข้อหาชุมนุมทางการเมืองด้วยเหตุกฎหมายยกเลิก แต่ปรับ 100 บาท ในข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต คดีนี้จึงสิ้นสุดจากการกระบวนการยุติธรรม
5.คดีคนอยากเลือกตั้งที่พัทยา (PATTAYA12)
คดีนี้ กลุ่มผู้ชุมนุม 12 คน ถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมือง ใน 2 ข้อหาคือ ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ จากการชุมนุมริมหาดพัทยา บริเวณหน้าสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัลพัทยา คดีนี้อัยการแขวงพัทยาสั่งฟ้องผู้ชุมนุมด้วยข้อหาเดียวคือข้อหาไม่แจ้งการชุมนุม เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 62 คดีนี้จึงอยู่ระหว่างการสืบพยานในข้อหาดังกล่าว
6.คดีคนอยากเลือกตั้งหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และหน้าองค์การสหประชาชาติ (UN62)
คดีนี้มีผู้ต้องหา 62 คน แบ่งเป็นกลุ่มแกนนำซึ่งถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ในจำนวนนี้มี 9 คนที่ถูกตั้งข้อหาลักทรัพย์ ร่วมกับข้อหามั่วสุมให้เกิดความวุ่นวายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 มาตรา 216, ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ, และ พ.ร.บ.การจราจรทางบก จำนวน 21 คน และกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกตั้งข้อหามั่วสุมให้เกิดความวุ่นวายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 มาตรา 216, ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ, และ พ.ร.บ.การจราจรทางบก จำนวน 41 คน
สำหรับกลุ่มแกนนำ ทั้งหมดจะรับทราบว่าอัยการจะสั่งฟ้องหรือไม่ในวันที่ 21 พ.ค. นี้ ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวน 38 คน คดีขึ้นสู่ชั้นศาลแล้ว ยกเว้นเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล ที่คดียังอยู่ในชั้นอัยการ, ชเนศ ชาญโลหะ ที่มีคำสั่งไม่ฟ้องคดี, และอาอิซะฮ์ เสาะหมาน ที่ยังตามตัวมารับทราบข้อหาไม่ได้
ย้อนดูรายงานความคืบหน้ากลุ่มคดีคนอยากเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2561: คดีคนอยากเลือกตั้งอยู่ตรงไหนในกระบวนการยุติธรรม?