สั่งฟ้องคนอยากเลือกตั้งหน้ากองทัพบก 9 คน ศาลนัดตรวจพยาน 13 พ.ค. 62

6 มี.ค. 2562 ที่ศาลอาญารัชดา อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาในกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง 9 คน ในฐานความผิดยุยงปลุกปั่นเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนฯ จากเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้ง บริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพบก เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 61 หรือที่รู้จักกันในชื่อ “คนอยากเลือกตั้ง” (Army57) ขณะที่จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ก่อนที่ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยไม่มีหลักประกัน ตามคำร้องของจำเลย หากผิดสัญญาประกันปรับ 2 แสนบาท และมีคำสั่งนัดตรวจพยานหลักฐาน 13 พ.ค. 2562

ส่วนเอกชัย หงส์กังวาน 1 ในผู้ต้องหาคดีนี้ ซึ่งยังได้รับบาดเจ็บจากการถูกทำร้ายเมื่อวาน ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ อัยการได้นัดแยกฟ้องอีกครั้ง (อ่านเรื่องนี้ใน: ‘เอกชัย’ โดนดักตีหัวแตก หลังให้การกับแพทยสภากรณีพฤติกรรม ‘หมอเหรียญทอง’)

เวลา 10.00 น. จำเลย 9 คน เดินทางมาศาลอาญา ได้แก่ ณัฎฐา มหัทธนา, โชคชัย ไพบูลย์รัชตะ, ธนวัฒน์ พรหมจักร, กาณฑ์ พงษ์ประพันธ์, ศรีไพร นนทรี, ปกรณ์ อารีกุล, รังสิมันต์ โรม, อานนท์ นำภา และสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ยกเว้นเพียงเอกชัย หงส์กังวาน ซึ่งไม่สามารถเดินทางมาตามนัดได้ เนื่องจากได้รับบาดเจ็บจากการถูกทำร้ายบริเวณหน้าสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

จนกระทั่งเวลา 13.00 น. จำเลยทั้ง 9 คน เดินเข้าห้องเวรชี้ บริเวณใต้ถุนศาลอาญา ศาลได้อ่านคำฟ้องของโจทก์ และสอบคำให้การจำเลยทั้ง 9 คน ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ

 

ระบุจำเลยบังอาจกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบท

ในคำบรรยายฟ้องของอัยการระบุว่า ระหว่างวันที่ 10-24 มี.ค. 2561 จำเลยและพวกอีก 47 คน (กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งถูกแยกฟ้องอีกคดีที่ศาลแขวงดุสิต) ร่วมชุมนุมทางการเมืองด้วยการชักชวนให้บุคคลมาร่วมชุมนุม “โค่นล้ม ถอนราก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” ผ่านเฟซบุ๊กของจำเลย

นอกจากนี้ วันที่ 19 มี.ค. 2561 ชลธิชา แจ้งเร็ว หนึ่งในผู่ร่วมชุมนุมมีหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้กำกับการตำรวจนครบาลชนะสงคราม ซึ่งหนังสือแจ้งความประสงค์การชุมนุมสาธารณะดังกล่าว มี 4 ข้อ คือ 1.การชุมนุมมีวัตถุประสงค์คือเรียกร้องการเลือกตั้งที่มีความโปร่งใส 2.ลักษณะการชุมนุมที่จะมีการเดินขบวนมวลชนกว่า 800 คนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปยังหน้ากองบัญชาการ กองทัพบก ผ่านถนนราชดำเนิน 3.จะมีการใช้รถยนต์และเครื่องเสียง 1 คัน และ 4.ระบุรายชื่อผู้ประสานงาน

เมื่อถึงวันที่นัดชุมนุม คือวันที่ 24 มี.ค. 2561 ที่สนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ นายรังสิมันต์ โรม, นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, นายธนวัฒน์ พรหมจักร, น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา, นายกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์, นายเอกชัย หงส์กังวาน, นายโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ, นายอานนท์ นำภา, นายปกรณ์ อารีกุล, และนางศรีไพ นนทรีขึ้นพูดปราศรัยปลุกระดมมวลชนและปลุกปั่นให้เกิดการชุมนุมขับไล่รัฐบาลและ คสช. รวมทั้งเรียกร้องให้มการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายในเดือน พ.ย. 2561 โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องขยายเสียง

โจทก์เห็นว่า เมื่อผู้ชุมนุมแจ้งการชุมนุมแล้วจะต้องดำเนินการชุมนุมไปตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อไม่ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชน หรือทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนเกินที่พึงคาดหมาย แต่ระหว่างการเดินขบวน ผู้ชุมนุมได้เดินล้ำเข้าไปในช่องจราจรซึ่งเป็นที่สาธารณะ ก่อความไม่สะดวกแก่ประชาชน อีกทั้งผู้ชุมนุมยังได้เลิกชุมนุมเกินเวลาที่แจ้งการชุมนุมไว้

 

คำปราศรัยของจำเลยมีลักษณะยุยงปลุกปั่นให้มวลชนไล่ คสช. 

ในคำบรรยายฟ้อง ระบุว่าการปราศรัยของจำเลยทั้ง 10 คน มิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต แต่เป็นการปลุกระดมมวลชนหรือปลุกม๊อบ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด่างกระเดื่องในหมู่ประชาชนและทหาร ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หากเลี้ยงกระแสมวลชนไว้ได้ก็จะทำให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ซึ่งก่อให้เกิดภาพลักษณ์ในเชิงลบกับรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

สำหรับคำปราศรัยที่ถูกนำมาประกอบในคำบรรยายฟ้องของโจทก์ มีตัวอย่างที่สำคัญดังนี้

รังสิมันต์ โรม ปราศรัยว่า “การที่เราไปที่กองทัพวันนี้นะครับ คือการกดดันอย่างหนึ่งเพื่อให้เราได้สิ่งที่เราต้องการมากที่สุด … ข้อเรียกร้องของเรา 3 ข้อนะครับ เลือกตั้งปีนี้พฤศจิกายนใช่ไหมครับ สองยุบ คสช. นะครับ แล้วก็เป็นรัฐบาลรักษาการณ์”

สิรวิชญ์ เสรีธวัฒน์ ปราศรัยว่า “วันนี้เราเห็นแก่ผลประโยชน์ของประเทศชาติบ้านเมือง เรายื่นข้อเสนอและสิ่งที่เป็นสำคัญและเป็นหน้าที่หลักของกองทัพคือกลับไปทำหน้าที่ของตัวเอง ไม่ใช่หน้าที่บริหารประเทศ”

ธนวัฒน์ พรหมจักร ปราศรัยว่า “การเดินครั้งนี้ เราจะเรียกร้องให้ทหาร ให้กองทัพหวนนึกถึงคำปฏิญาณของตน กระตุ้นมโนธรรมของพวกที่อาจหลงลืมไป เพราะผู้นำเพียงไม่กี่คน ผู้นำที่ชั่วช้าไร้ศีลธรรมเพียงไม่กี่คนที่ทำให้กองทัพแปดเปื้อน” และ

ณัฎฐา มหัทธนา ได้ปราศรัยว่า “เพื่อเป็นสัญลักษณ์ปัดเป่าความชั่วร้าย ปัดเป่าการใช้อำนาจตามอำเภอใจ ปัดเป่าการละเมิดหลักนิติธรรม ปัดเป่าการคอรัปชั่นและใช้เงินงบประมาณอย่างสุรุ่ยสุร่ายไร้การตรวจสอบ ปัดเป่าการตั้งข้อหาผิดหลักประชาชน ปัดเป่าการใช้กำลังข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ ลงพื้นที่ในโครงการไทยนิยมยั่งยืนตามหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อกรุยทางในการสืบทอดอำนาจ คสช.”

 

โจทก์อ้างจำเลยไม่ให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่

นอกจากนี้ โจทก์เห็นว่าในระหว่างที่ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปตามถนนราชดำเนิน มุ่งหน้าไปยังกองบัญชาการกองทัพบก ได้มีการใช้รถยนต์และเครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ และยังมีการเดินบนผิดถนนราชดำเนินอันเป็นที่สาธารณะ เมื่อเจ้าหน้าที่ประกาศขอความร่วมมือ จำเลยกลับไม่ให้ความร่วมมือ แต่ยังปลุกระดมมวลชนตลอดทางจนถึงหน้ากองบัญชาการกองทัพบก ดังปรากฏในตัวอย่างคำปราศรัยต่อไปนี้

เอกชัย หงส์กังวาน ปราศรัยว่า “จะขอจุดธูปเพื่อสะกดความชั่วร้ายต่าง ๆ ที่ตอนนี้กำลังครอบงำประเทศ สิ่งชั่ว ๆ ทั้งหลาย ที่เป็นอุปสรรคในการเลือกตั้ง ขอให้เหตุการณ์เลวร้ายเหล่านี้ผ่านพ้นไป”

เช่นเดียวกับคำปราศรัยของโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ ซึ่งถูกนำมาบรรยายฟ้องด้วยเช่นกันระบุว่า “ขอให้กลิ่นธูปนี้ลอยไปถึงจมูกผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ประชาชนรู้หมดแล้วว่ารัฐบาลที่มาจากประชาชนดูแลประชาชนได้ดีกว่ารัฐบาลเผด็จการทหาร”

ศรีไพร นนทรีย์ ปราศรัยว่า “การโกงทุกวันนี้ เวลาเราพูดเรื่องโกง พวกเราพูดไม่ได้ เมื่อเราพูดไม่ได้เรื่องทุจริตคอรัปชั่น รัฐบาลที่ถือปืนเข้ามาปล้นประชาชนจะต้องออกไป”

 

ฟ้อง 4 ข้อหา มีตั้งแต่กีดขวางจราจร ถึงยุยงปลุกปั่นฯ

โจทก์เห็นว่าการปราศรัยของจำเลย เป็นการกระทำที่ปรากฏด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด โดยจำเลยร่วมกันใช้รถยนต์ติดเครื่องขยายเสียงโจมตีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัยและร่วมกันปลุกระดมมวลชน ก่อให้เกิดภาพลักษณ์เชิงลบแก่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นการยุยง ปลุกปั่น สร้างความแตกแยกระหว่างประชาชนที่เห็นต่างกับรัฐบาล

ดังนั้นจึงฟ้องดำเนินคดีทั้งสิ้น 4 ข้อหาได้แก่ 1.ข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (2) (3), 2.เดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมหลัง 6 โมงเย็นโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ, ไม่เลิกชุมนุมตามเวลาที่ผู้จัดชุมนุมแจ้งไว้ ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ พ.ศ. 2558, 3.โฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ ตามมาตรา 4 ของพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 และ 4.ร่วมกันเดินขบวนขวางการจราจร ตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 108, 114

ในเวลาต่อมาทนายความของจำเลยทั้ง 8 คน ได้ยื่นคำร้องให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย โดยไม่มีหลักทรัพย์ โดยระบุเหตุผลว่าคดีนี้เป็นการคดีที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกเพื่อวิพากษ์ วิจารณ์รัฐบาลโดยสุจริต อีกทั้งยังเป็นการรวมกลุ่มของปัจเจกชน โดยเป็นวิธีการแสดงออกซึ่งเจตจำนงของมวลชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เพื่อกระตุ้นเตือนรัฐบาล ให้ตะหนักถึงความสำคัญของการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปในทางที่ถูกที่ควรและเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ขณะเดียวกันจำเลยทั้งหมดยังมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ศาลมีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว โดยไม่มีหลักทรัพย์ แต่หากจำเลยผิดสัญญาจะถูกสั่งปรับเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท โดยนัดตรวจพยานหลักฐาน วันที่ 13 พ.ค. 62

 

ความเป็นมาของการชุมนุมคนอยากเลือกตั้งหน้ากองทัพบก

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นท่ามกลางการชุมนุมของคนอยากเลือกตั้งตลอดเดือน ม.ค. – พ.ค. 61 ซึ่งเป็นการนัดชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งต่อเนื่องอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เฉพาะการชุมนุมที่เป็นที่มาในคดีนี้เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 61 เมื่อจำเลยได้จัดกิจกรรม “รวมพลถอนราก คสช.” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ท่ามกลางผู้ชุมนุมกว่า 350 คน ก่อนที่ต่อมาพนักงานสอบสวนได้กล่าวหาว่า รังสิมันต์ โรม และสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ กล่าวชักชวนและนัดให้มวลชนรวมตัวกันอีกครั้งในวันที่ 24 มี.ค. 61

ในวันที่ 24 มี.ค. ตำรวจเตรียมกำลังบริเวณสนามหลวงและรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีการตรวจวัตถุระเบิดบริเวณ ถ.ราชดำเนิน เนื่องจากมีนัดรวมตัวคนอยากเลือกตั้ง ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อเดินหน้าสู่กองบัญชาการกองทัพบก

16.10 น. ที่สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จำเลยได้ปราศรัยบนรถ 6 ล้อ ติดเครื่องขยายเสียง และติดแผ่นป้ายไวนิล “รวมพลังถอนราก คสช.” โดยมีเนื้อหาโจมตีการทำงานและ คสช. มีการทุจริต ใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรม และมีการโจมตีรัฐบาลและ คสช. เกี่ยวกับเรื่องที่มีการเลื่อนการเลือกตั้ง พร้อมกับชักชวนให้ประชาชนออกมาร่วมชุมนุมขับไล่ คสช.

17.45 น. ขณะที่ผู้ชุมนุมประมาณ 300 คนเริ่มเดินเท้าออกจาก ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไปยังกองทัพบก มีเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 150 นาย ตั้งแถวกั้นตลอดเส้นทางการเดินทาง

ต่อมามีการประกาศเรียกกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อเคลื่อนขบวนไปยังกองบัญชาการกองทัพบก โดยผู้ร่วมชุมนุมสลับกันขึ้นปราศรัยขับไล่รัฐบาล ไปตลอดเส้นทาง จนกระทั่ง 18.20 น. ตำรวจตั้งแถวกั้นผู้ร่วมกิจกรรมรวมพลคนอยากเลือกตั้งที่เดินอยู่บนผิวถนนช่องซ้ายสุดของ ถ.ราชดำเนิน บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขณะที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยล้อมรั้วเหล็กและตรึงกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจแน่นหนา

19.00 น. ตำรวจตั้งแผงเหล็กกั้นบริเวณ ถ.ราชดำเนินนอก เพื่อไม่ให้ผู้ร่วมกิจกรรมรวมพลคนอยากเลือกตั้งเดินเข้าไปถึงบริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพบก แต่ผู้ชุมนุมก็สามารถผ่านเข้าไปถึงบริเวณรั้วด้านข้างได้

19.25 น. กลุ่มคนอยากเลือกตั้งปักหลักอยู่ด้านข้างกองบัญชาการกองทัพบก และพับจรวดกระดาษพยายามปาเข้าไปภายในกองบัญชาการกองทัพบก ด้านตำรวจประกาศให้ยุติกิจกรรม และประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงให้กลุ่มคนอยากเลือกตั้งยุติการชุมนุม เนื่องจากเป็นการชุมนุมที่ผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ฝ่าฝืนเงื่อนไขที่ห้ามผู้ชุมนุมอยู่บนผิวการจราจร ห้ามใช้เครื่องขยายเสียง

ต่อมาแกนนำผู้ชุมนุมได้มีการเจรจาเพื่อขอขยายเวลาชุมนุม ขณะที่ผู้ชุมนุมบางส่วนได้เข้าไปมอบดอกกุหลาบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ก่อนจะประกาศยุติการชุมนุมเวลา พร้อมนัดหมายมาชุมนุมอีกครั้งวันที่ 5 พ.ค. 2561

อย่างไรก็ตามวันที่ 1 เม.ย. 2561 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ได้มอบหมายให้ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารปฏิบัติการประจำกองบัญชาการกองทัพบก ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมายส่วนงานการรักษาความสงบแห่งชาติ มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้บังคับบัญชา เดินทางเข้าพบ พนักงานสอบสวนสน.ชนะสงคราม เพื่อร้องทุกกล่าวโทษ กาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ กับพวก รวม 57 คน โดยแบ่งเป็นแกนนำ 10 คน และผู้เข้าร่วมชุมนุมที่เหลืออีก 47 คน ปัจจุบันเหลือ 46 คน เนื่องจากนฤมล วรุณรุ่งโรจน์ 1 ในผู้ชุมนุมที่ถูกดำเนินคดีได้เสียชีวิตไป

ขณะที่ในส่วนของจำเลยอีก 46 คน ที่แยกฟ้องและดำเนินคดีที่ศาลแขวงดุสิตนั้นศาลได้มีคำสั่งนัดสืบพยานนัดแรกเดือนพ.ค. 62  (อ่านเรื่องนี้ใน: ศาลแขวงนัดฟังคำพิพากษา “RDN50” 3 พ.ค.  ส่วน “Army57” สืบพยานนัดแรก 3 พ.ค.)

 

 

X