‘ป้าพร คนอยากเลือกตั้ง’: เพียง 2 ครั้งที่ฉันสู้ คือตอนนี้และตลอดไป

ภาพโดย: ตะวัน พงศ์แพทย์

.

สัญญาณเลือกตั้งของไทยดูจะชัดขึ้นในรอบ 4 ปี หาก คสช. ไม่กลับคำอีกครั้ง ประชาชนไทยคงได้เห็นกฎหมายเลือกตั้งที่คลอดออกมาแล้ว ใช้ได้จริงราวเดือนกุมภาพันธ์ หรืออาจจะยาวไปถึงเดือนพฤษภาคม 2562 ตามที่ สนช. บางคนออกมาให้ความเห็น

ไม่ต้องติดตามข่าวสารอย่างเกาะติด หลายคนคงพอทราบว่า ครึ่งปีที่ผ่านมามีการชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องของประชาชนในนาม “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” ซึ่งเป็นปฏิกิริยาต่อวาจาสัตย์ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้คำมั่น (เที่ยวที่ 4) ว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้ง

ประชาชนจำนวนหนึ่งจึงนัดจัดทำกิจกรรมเรียกร้องการเลือกตั้งหลายครั้ง ผ่านเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ มาถึงเมษายน พร้อม ๆ ไปกับการถูกคุกคาม ข่มขู่ รวมถึงดำเนินคดีประชาชนจำนวนมาก จนเมื่อถึงเดือนพฤษภาคม กลุ่มคนอยากเลือกตั้งค้างคืนที่ธรรมศาสตร์ ก่อนจะนัดหมายออกเดินอีกครั้ง โดยมีปลายทางเป็นทำเนียบรัฐบาล ท่ามกลางการสกัดกั้นของเจ้าหน้าที่ แต่ถึงที่สุดพวกเขาก็สามารถเดินไปจนไกลสุดที่หน้าประตูสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน

แทนที่จะได้การเลือกตั้งตามที่ให้คำมั่นสัญญาไว้ ผู้มีอำนาจมอบกลับมอบบาดแผลให้พวกเขา เมื่อมีการดำเนินคดีประชาชนไปกว่า 130 คน “MBK39” “PTY12”  “RDN50” “Army57” หรือจะเป็น “UN62” เหล่านี้เป็นทั้งชื่อเรียกคดี และชื่อ “รุ่น” ที่ระบุสถานที่และจำนวนผู้ถูกดำเนินคดี โดยไม่ต้องสร้างเครือข่ายหลักสูตรผู้บริหารที่มีเกลื่อนบ้านเกลื่อนเมือง ในขณะที่บางสำนวนคดียังคงอยู่ในชั้นอัยการ และบางคดีถูกส่งขึ้นบัลลังก์ศาลเป็นที่เรียบร้อย

พรนิภา งามบาง หญิงสูงวัยผ่าน 7 ทศวรรษ จากสมุทรปราการ ถูกดำเนินคดีในชุดคดีคนอยากเลือกตั้ง เป็นคนหนึ่งที่ออกเดินทางเรียกร้องการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง

เธอมักจะสวมเสื้อลายดอก สะพายกระเป๋าเล็ก ๆ สวมริชแบรนด์สีแดงไว้ที่ข้อมือ ไม่ว่าจะเป็นที่ชุมนุม สถานีตำรวจ อัยการ ถึงศาล เป็นที่คุ้นเคยของตำรวจสันติบาล เจ้าหน้าที่ คสช. ผู้ร่วมชุมนุม และคุ้นตาจนไม่แปลกใจหากใครจะเห็นเธออยู่ตรงนั้นเป็นคนแรก ๆ เสมอ

.

.

สาวพระประแดงสู่ข้อหาแดงฮาร์ดคอร์   

สูจิบัตรของเธอแจ้งเกิดไว้ในปี 2495 ซึ่งเป็นปีมะโรงในช่วงที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเรืองอำนาจ แต่เธอเล่าว่าจริงๆ แล้วเกิดในปี 2487 ในช่วงที่เสรีไทยยังมีอิทธิพล

“ในสมัยนั้นการแจ้งเกิดยังเป็นเรื่องยากลำบาก ทำให้แจ้งเกิดช้า จนป้าอายุจะเข้าเกณฑ์ 7-8 ขวบ จะเข้าโรงเรียนถึงไปแจ้งเกิด เลยเข้าโรงเรียนและวิ่งเล่นแถวพระประแดงมาตลอด เกิดมาป้าก็เป็นคนฝั่งพระประแดง เป็นคนวัดไตรวนาราม”

ส่วนพ่อของเธอมีพื้นเพมาจากมหาสารคาม หนุ่มวัยฉกรรจ์อาศัยความเสี่ยงของชีวิตเลี้ยงดูลูก 4 คน

“เล่นกินว่าอย่างนั้นเถอะ พ่อป้าเป็นคนเล่นการพนัน เล่นไพ่ เล่นไฮโล”

พ่อจากไปตอนที่พรนิภาในวัยสาวได้แต่งงานมีครอบครัวแล้วพอดี และบ้านที่เธอใช้ช่วงเวลาช่วงวัยเยาว์ที่พระประแดง ก็ถูกขายเพื่อทำบุญให้พ่อไป จากนั้นถึงวันที่เธอต้องโยกย้ายตลอดจนถึงปัจจุบัน

“พอมีผัวก็เช่าบ้าน ส่วนพวกพี่ ๆ ก็ล้มหายตายไป เมื่อแต่งงานจึงย้ายมาอยู่โรงงานไพศาล แถวมหาวงศ์-ปู่เจ้าสมิงพราย” โดยหนุ่มช่างอลูมิเนียม ใช้ทักษะการหลอมอลูมีเนียมเปลี่ยนเป็นรายได้มาเพื่อดูแลพรนิภาคนรักของเขา ชดเชยรายได้ที่มาจากการเป็นยามรักษาความปลอดภัยหลังปลดเกษียณ

“เงินที่หามาได้ป้าก็เป็นคนเก็บหมดและเป็นคนแบ่งเงิน เพราะคุยกันก่อนแต่งงาน เราต้องคุยกันก่อนแต่งงานนะ (เธอย้ำให้เห็นความสำคัญในเรื่องนี้) ลุงจะยอมป้าตลอด เขาไม่เคยด่าป้ารุนแรง โกรธกันรุนแรงก็ไม่เคยทำร้ายป้าเลย” แต่คู่ชีวิตของเธอได้จากไป 1 ปี หลังรัฐประหารเที่ยวล่าสุดมาถึง

“ก่อนพ่อจะเสีย ลูกสาวก็แต่งงานแล้วและก็มาอยู่ด้วยกันกับลุงกับป้า ลูกสาวมาแค่เดือนเดียวลุงก็เสีย วันนั้นป้าออกไปซื้อลูกชิ้นกับน้ำพริกปลาทู ออกจากบ้านไปไม่นาน ลูกสาวก็โทรมาว่าพ่อตาลอย เมื่อส่งไปโรงพยาบาล หมอบอกว่าลุงหัวใจล้มเหลว เขาเสียไปเมื่อ 3-4 ปีก่อน”

เหมือนจะง่ายแต่ไม่ง่าย สามีของเธอจากไปในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ไม่มีสินทรัพย์ติดเหลือไว้ บ้านที่ไม่มีอยู่แล้ว ถูกถมไม่เต็มอีก ด้วยรายรับที่หายไปพร้อมหนุ่มใหญ่อลูมิเนียมที่รัก ป้าพรนิภารำลึกถึงวันเก่า ๆ ที่งดงามเป็นวาระเงียบ ๆ ในใจ

“ตอนที่ลุงเค้าอยู่กับป้าไม่เคยลำบาก ตอนนั้นเลี้ยงลูกก็ให้เรียนที่มหาวงศ์และก็ย้ายไปที่สวนส้ม ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็นอะไรไปไม่รู้ แต่ก่อนโรงเรียนค่าเทอมไม่แพง หลังจากนั้นจึงมาอยู่กับลูกสาวจนถึงวันนี้ ซึ่งแต่ก่อนลูกสาวมีสามีแต่เลิกกัน เพราะเมาเหล้า มันมาก็ซ้อมเมียตลอด ส่วนลูกชายคนโตหายสาบสูญไปเลย กว่า 30 ปี เขาไม่เคยมาหา”

….

วันนี้เธออาศัยกับลูกสาวที่มีหน้าที่การงานดี ทำงานการบินที่สุวรรณภูมิ แต่ก็มีค่าใช้จ่ายให้เธอเดือนละเพียง 4,000 บาท นั่นคือค่าใช้จ่ายสำหรับ ค่าอาหาร ค่ายา การเดินทางไปชุมนุม ไปจนถึงขึ้นศาลของคนวัย 70 ทั้ง ๆ ที่ ก่อนหน้านี้ 30-40 ปีอยู่กับสามีที่มีฐานะมั่งคงมาโดยตลอด

“ลูกเต้าไม่ได้มาอยู่ด้วย หรือส่งเงินมาให้ เราอยู่กันสองคนมา มีกินมีใช้อย่างดี มีเงินในกระเป๋าตลอด ตอนที่ลุงเขาเสีย ป้าไม่มีเงินเลย ป้าอยู่บ้านเป็นแม่บ้าน เงินที่หามาได้ลุงก็ให้ป้า”

ให้หลังจากที่สามีได้จากไป ความเป็นอยู่ของสาวพระประแดงเช่นนี้ ดูเหมือนจะไม่มีแรงลมใด ๆ จะพัดให้เธอมาถูกตีตราให้นิยมความรุนแรงได้ จนกระทั่ง….

“อย่าให้เขาออกไปชุมนุมนะ แดงฮาร์ดคอร์ มีอาวุธเต็มบ้านเลย เจ้าของบ้านก็บอกว่า ป้าเป็นผู้หญิงคนเดียว แก่ก็แก่ ลูกผัวก็ไม่มี เขาจะเอาอาวุธที่ไหนมา”

เมื่อเจ้าของบ้านที่เธอเช่าอยู่ เล่าถึงวันที่เจ้าหน้าที่ไปบ้าน ระหว่างเธอออกมาชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ข้อกล่าวหาที่น่ากลัวนี้ มาเยือนโดยไม่ดูฤกษ์ผานาทีใด ๆ แม้จะชีวิตที่ยากลำบากจะถูกซ้ำด้วยข้อกล่าวหาร้ายแรง แต่เธอก็มองการกล่าวหาพล่อย ๆ นี้ด้วยความขำขัน เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เธอเรียกร้องประชาธิปไตย

.

.

ชอบเลือกตั้งอาจจะใช่ แต่ชอบความรุนแรงไหม คงเป็นเรื่องมุสา

“ป้าสนใจการเมืองมานานมาก ตั้งแต่ตอนปี 2519 เหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ ป้าพลัดหลงกับแม่ที่ท่าพระจันทร์ เพราะไปเดินซื้อของ และวิ่งหลบใต้บันไดที่ธรรมศาสตร์ นอนตรงนั้นหลายชั่วโมง เพราะแบบนี้เรื่องสู้ทางการเมือง ป้าจึงไม่ชอบพวกอำมาตย์ชาติชั่ว ป้าไม่ชอบมาตั้งนานแล้ว ตอนนั้นยังไม่มีสีแดง-เหลืองด้วยซ้ำ ตอนนั้นมีแต่นักศึกษาออกมาสู้แล้วถูกจับให้แก้ผ้า ทำทุเรศมาก”

จนถึงสมัยคณะรัฐประหาร รสช. เธอไปอาศัยอยู่กับแม่บุญธรรมแถววัดภูเขาทอง ช่วยแม่ตำน้ำพริกขายแถวนั้น ระหว่างนั้นก็เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในปี 2535 เมื่อประชาชนออกมาเรียกร้องด้วยข้อเสนอสองประการง่าย ๆ คือ 1.ให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง และ 2. ขอไล่ทหารกลับสู่กรมกอง

แม้จะชอบเลือกตั้ง แต่คนที่เธอมอบคะแนนเสียงให้ในเวลานั้น หาใช่บรรดาเซเลปจาก “พรรคเทพ” ไม่ว่าจะเป็น “หนุ่มหล่ออ๊อกฟอร์ด” “มหาจำลอง” หรือ “พ่อใหญ่จิ๋ว” หากแต่เป็นนักการเมืองอนุรักษนิยมฝีปากกล้าอย่างสมัคร สุนทรเวช ที่เมื่อเดินเข้าคูหาเธอจะกากบาทให้แน่นอน

เมื่อรัฐธรรมนูญ 2540 มาถึงไม่นาน เธอเริ่มย้อนความเหมือนคนอื่นว่า “เศรษฐกิจดี มีกินมีใช้ มีเงินใช้ ป้าจะพูดเปรียบเทียบ เอาแค่ทักษิณกับปัจจุบัน มันห่างกันมาก วันนี้ หนูลองเดินดูตลาดอุดมเดช (สมุทรปราการ) ดูสิ สี่โมงแม่ค้าก็น้ำตาคลอเบ้า แกงหม้อตักไม่ได้ถึงสามถุงเลย”

เข้าสู่ยุคการเมืองมวลชน ไม่น่าประหลาดใจ หากสาวใหญ่จะไม่พลาดเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ เธอสวมเสื้อสีแดง สกรีนลายสามเกลอ ‘ณัฐวุฒิ วีระ จตุพร’ สลับคอกลมกับคอปก สวมรองเท้าแตะ ข้อมือใส่ริชแบรนด์สีแดง เดินสู่ถนนราชดำเนิน แน่นอนเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง บริเวณแยกคอกวัว ในวันที่ 10 เมษายน 2553 ก็เริ่มกรีดแผลแรกให้กับพรนิภาอย่างเป็นทางการ

“พอพันธมิตรฯชุมนุม (2551) สมชาย (วงศ์สวัสดิ์) เป็นนายกฯ ป้าก็มาเป็นเสื้อแดงอัตโนมัติ แต่ยังไม่ได้ออกมาชุมนุม จนเมื่อเขาเริ่มนัดชุมนุมตรงคลองผดุงกรุงเกษม ก็เริ่มออกไปร่วมด้วย หลังจากนั้นก็ไปฟังจตุพรพูด ณัฐวุฒิพูด เขาพูดสนุก พูดเรื่องจริง ตอนนั้นไม่ยอมกลับบ้านเลย จนโดนตีที่แยกคอกวัว วันเดียวกับที่วสันต์ถูกยิง (วสันต์ ภู่ทอง หนึ่งในผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงที่เสียชีวิตจากปฏิบัติการขอคืนพื้นที่)”

“ฉันอยู่ที่นั่น มีผู้ชายคนหนึ่งเขาไปได้คีมมา ใต้เบาะมอเตอร์ไซค์ เอาไปไขแหวนรถถัง มีคนตะโกนบอกว่าพี่อย่าเข้าไปใกล้นะ มันหลุดแล้ว ประตูรถถังจะพังลงมาใส่ เรายึดมาได้ ก็เอามานั่งแกะ ไม่ให้มันมายิงเราอีก”

แม้จะชอบไปอยู่แถวหน้า แต่ภารกิจสำคัญของสาวเสื้อแดงคนนี้กลับสำคัญกว่านั้น เธอบอกว่าส่วนใหญ่เดินแจกน้ำ แจกผ้าเย็นมากกว่า และก็จะไปเช้าเย็นกลับ ตอนชุมนุมที่ผ่านฟ้า-ราชประสงค์ ก็จะทำกับข้าวไว้ตอนเช้าให้สามีไว้กินก่อนออกไปทำงาน กับข้าวก็จะเป็นทอดปลา ทำแกง หุงข้าวไว้ เสร็จสรรพพร้อมมื้อเช้า-มื้อเที่ยง-มื้อเย็น

“ฉันบอกเขาว่าอันนี้เอาไว้กินตอนเช้า อันนี้ไว้กินตอนเที่ยงนะ กินแล้วก็นอนนะ อุ่นข้าวไว้นะ ฉันก็จะออกไปนั่งมอเตอร์ไซค์ ขึ้นรถเมล์ เมื่อก่อนจะมีรถเมล์ฟรีสาย 25 บางทีก็ไปนั่งสาย 2 ตรงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งถ้าเราชุมนุมจะไปไม่ถึงก็ต้องเดินต่อ ไปเองมาเอง อาศัยไปเจอเพื่อนที่ชุมนุม”

“ปกติ ฉันจะเอาแต่เพื่อนที่ไม่งอแง คือถ้าไปแล้ว บอกกลับเถอะ อยู่ไม่ได้ ลูกต้องกินข้าว แบบนี้งอแง ฉันไม่คบ ฉันเลยชอบไปเดี่ยว จะไปกี่โมง กลับกี่ทุ่มก็ได้”

“พอโดนฆ่า (การสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์) ฉันเข้าไปหลบในวัดปทุม คนบางน้ำเปรี้ยวเขาตัวใหญ่และอ้วน โดนยิง ไปหาหมอก็ไม่ได้ มียาพาราเซตามอลอยู่กระปุกหนึ่งก็ให้เขากินไปเลย แต่เขาก็ยังปวด ไปขอยาเต๊นท์พยาบาลสามครั้ง คล้อยหลังนิดเดียวก็มีเสียงปืนยิงพยาบาล”

เธอเล่าว่าก่อนรัฐประหาร 2557 ก็ไปชุมนุมกับเสื้อแดงเรียกร้องเลือกตั้ง เคยเดินทางมาถึงพระโขนงก็มีคนดักตีแล้วกักไม่ให้ไปชุมนุม พอรอดเข้าไปชุมนุมที่ราชมังคลาฯ ได้ “ครั้งนั้นน่ากลัวมาก มีเสียงปืน เสียงระเบิดอยู่ข้างนอกตลอด อาจารย์ธิดากำลังพูด มีคนถูกยิง เป็นผู้ชายที่กำลังซื้อขนมจีน บอกให้ลูกยืนรอ ก็มีกระสุนปืนยิงใส่เขา ตอนที่ตาย ผ้าคลุมหน้า ลูกก็นั่งเฝ้าทั้งคืน ตรงนั้นออกไปไหนไม่ได้เพราะมีฝ่ายตรงข้ามล้อม รอจนเช้าณัฐวุฒิ ประกาศยุติชุมนุมจึงทยอยกันกลับ วันนั้นป้าถึงบ้านบ่ายสาม ลุงถามว่ากลับมาแล้วรึ เขาเป็นห่วงแต่ก็ไม่ห้ามฉัน”

….

สภาวะความขัดแย้งทางความคิดเช่นนี้เป็นสิ่งที่นักสู้อย่างเธอเผชิญเป็นประจำ ในช่วงที่ชุมนุมกับเสื้อแดงใหม่ ๆ เคยโดนแท็กซี่ไล่ลงสองครั้ง เพราะเธอสวมเสื้อแดง เธอจึงไม่จ่ายค่าโดยสาร หลังจากนั้นเธอโทรเข้าศูนย์ฯ จนโชเฟอร์ถูกพักงานเจ็ดวัน เพราะแท็กซี่ไล่ผู้โดยสารลงข้างทาง ก่อนที่คนถูกร้องจะโทรหาเจ้าทุกข์ ขอให้ไปถอนแจ้งเรื่อง เพราะลูกเมียลำบาก

“เธอจะเป็นเสื้อเหลือง ฉันไม่ว่า แต่เธอต้องเอาเงินค่าโดยสารจากผู้โดยสารไม่ใช่เห็นฉันเป็นแดง คุณไล่ฉันลง มันไม่ถูกต้อง” เธอย้อนความถึงแท็กซี่เสื้อเหลืองคนนั้น

การไปชุมนุมทุกที่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มักจะเป็นการสื่อสารผ่านโซเชี่ยลมีเดีย หรือสื่อออนไลน์ แต่การรับรู้ข่าวของเธอส่วนใหญ่กลับมาจากการโทรศัพท์ ราคาที่มองปราดเดียวไม่น่าจะเกิน 500 บาท บางครั้งเธอเลือกจะจดใส่สมุดโน้ตเล็ก ๆ สีแดงและกระดาษเปล่า โดยติดตามข่าวสารผ่านทีวี วิทยุ ที่เป็นรายการของคนเสื้อแดง

ในโลกที่หมุนด้วยข่าวสาร ความเป็นจริงคือจะกระตือรือร้นแค่ไหน แต่การสื่อสารช่องทางนี้ ก็ทำให้พลาดนัดสำคัญได้เช่นกัน

“ล่าสุดฉันไม่ได้ไปรับน้องแหวน (พยาบาลอาสาและพยานปากเอกในคดี 6 ศพวัดปทุมวนาราม ที่เพิ่งได้รับการประกันตัวออกมาจากเรือนจำ) เราอยากไป แต่ก็ไม่ได้มีใครโทรบอก เสียใจไม่ได้ไปรับ เพราะเราไม่ได้ใช้แอพไลน์ เฟสบุ๊ค”

.

ในวันที่อยากเลือกตั้งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

ถ้าเรามีชีวิตย้อนไปช่วงที่พรนิภา ตำน้ำพริกช่วยแม่บุญธรรม อยู่แถววัดภูเขาทองคงนึกไม่ออกแน่ว่า อีกราว 30 ปีต่อมา ประเทศที่เคยรณรงค์ให้ “เลือกตั้งเป็นหน้าที่ พลเมืองดีไปใช้สิทธิ” จะมีคนที่ถูกดำเนินคดีเพราะอยากเลือกตั้ง หมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหาแรกที่ชื่อ “MBK39” ก็มาหาเธอ

“ตอนแรกโดนคดีตกใจ ตอนนั้นไม่รู้ว่าโดนคดีอะไร เพราะไปเดินสกายวอล์ก ทำไมต้องโดนคดีก็แปลกใจ อีเหี้ย MBK39 ก็โดนอีกแล้ว เพื่อนโทรมาบอก”

ต่อจากนี้ เราจึงได้เห็นเสื้อรุ่นของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง มีเสื้อที่ออกแบบลายกันเองของผู้ต้องหาในคดีคนอยากเลือกตั้งต่าง ๆ ตั้งแต่กลุ่มชุมนุมที่หน้าห้างสรรพสินค้า MBK, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, หรือกองบัญชาการกองทัพบก เธอเริ่มสะสมเสื้อและสวมมันทุกครั้งที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง

“แต่ก่อนเขารณรงค์ให้ไปเลือกตั้ง ตอนนี้อยากเลือกตั้งก็ผิดกฎหมาย ทำไมป้าถึงไปหนะหรอ เพราะป้ารักประชาธิปไตย ตอนนี้มันจึงเลยความกลัวไปแล้ว”

ตอนนี้ความรักในประชาธิปไตย ดูเหมือนจะทำให้เธอมีคดีที่ตัวเองเป็นจำเลยอยู่ถึง 4 คดี คือ MBK RDN Army ที่เธอเรียกมันว่า “บุกรังโจร” รวมถึงคดี UN ที่มาจากการชุมนุมเรียกร้องเลือกตั้งครั้งล่าสุด ซึ่งเป็นการชุมนุมยาวที่เธอไม่ได้หลับได้นอน

“ฝนมันตกแมลงมันเยอะ ป้านอนไม่ได้ ไปนอนทับฉี่คนเมา เรื่องของเรื่อง เหม็น ขนาดกางเกงแห้งแล้ว อยากกลับบ้าน มีสองผัวเมียบอกป้าว่า ป้าพรอย่าเพิ่งกลับ กลับกลางคืนไม่ได้ กลับเช้านะ พอเช้ามาเลยกลับ รุ่งขึ้นเพื่อนโทรมาบอก อีเหี้ยโดนอีกแล้ว”

“คนเราพูดไม่เป็นคำพูดไม่ได้ กับประชาชนต้องให้ความน่าเชื่อถือคำไหนคำนั้น ที่เราเดินออกจากธรรมศาสตร์ไปบุกรังเหี้ย ก็ไปเพราะเรื่องนี้ ระหว่างที่เดินไป ฉันก็ตะโกนจะไปบุกรังเหี้ย ก็มี กอ.รมน. โทรมาบอก พูดดี ๆ หน่อยสิป้า อย่าแรงสิ ฉันยังจดเบอร์มันไว้อยู่นี่” เธอทวงคำสัตย์ของผู้นำรัฐประหาร พร้อมหยิบสมุดโน้ตสีแดงที่พกติดตัวออกมากางหมายเลขโทรศัพท์เจ้าหน้าที่ที่โทรหาเธอ ซึ่งมีไม่น้อยกว่า 10 คน

ไม่เพียงแค่โทรหาเท่านั้น  ช่วงชุมนุมกับคนอยากเลือกตั้งมีเจ้าหน้าที่ทหารไปหาที่บ้านตลอด เฉกเช่นบ้านของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งอีกหลายคน “เขาไปบ้านตามบัตรประชาชน เจ้าของบ้านที่ชื่อป้าอยู่ทะเบียนบ้านเขา โทรมาถามว่า ตอนนี้อยู่ไหน เสียงเขาดุ ๆ ฉันบอกว่าไม่ได้อยู่บ้านตอนนี้อยู่ธรรมศาสตร์ เขาสวนกลับมา ‘ว่าแล้วนะทหารมาตั้ง 5 คน’”

“ฉันก็ด่าไป ไปบุกบ้านเค้ากลางคืน ซี้ซั้ว บ้านหลังนั้นฉันอยู่แต่ชื่อ ถ้าเกิดอะไรขึ้นฉันไม่รับรองนะ ฉันเป็นคนจรจัด ถ้าจะไปหาฉัน ง่าย ๆ แค่รู้ข่าวว่ามีชุมนุมที่ไหน ให้ไปหาฉันที่นั่น”

….

จนถึง ณ ขณะนี้ คดี RDN50 และ Army57 (ส่วนของผู้ชุมนุม) ที่พรนิภา คำบาง เป็นจำเลย อยู่ระหว่างรอฟังคำสั่งศาลในสองประเด็น คือ

หนึ่ง ทนายความยื่นคำร้องขอให้ศาลแขวงวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในข้อกฎหมาย ว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 ข้อ 12 ได้ถูกยกเลิกไปแล้วด้วยการตรา พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 โดยหากศาลเห็นว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวถูกยกเลิกและใช้แทนคำสั่งที่ 3/58 ข้อ 12 แล้ว คำสั่งของหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 จะไม่ถูกนำมาพิจารณาในคดีนี้

และสอง เป็นการยื่นคำร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยว่าคำสั่งของหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 ขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 โดยระหว่างนี้ศาลจะนำคำร้องของทนายความจำเลยไปพิจารณา ล่าสุดศาลแขวงดุสิตได้เลื่อนฟังคำสั่งไปวันที่ 20 พฤศจิกายน

แม้ว่าคดีนี้ศาลจะอนุญาตให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้และไม่รู้ว่าผลจะลงเอยเช่นไร แต่พรนิภายังยืนยันว่าจะเดินทางมาตามนัดหมายคดีของคนที่ได้รับเกียรติว่าเป็น ‘แดง ฮาร์ดคอร์’ อย่างเธอ

ทุกนัดเธอเตรียมตัวด้วยการเตรียมอุปกรณ์การรวมกลุ่ม เสื้อที่มีสัญลักษณ์คนอยากเลือกตั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเสื้อรุ่นที่ผู้ต้องหาคดีคนอยากเลือกตั้งทำจำหน่าย และสวมริชแบรนด์ ออกไปก่อนเวลานัดชุมนุมในเวลาเช้าตรู่ เผื่อเวลานั่งมอเตอร์ไซค์ไปปากซอยแล้วต่อด้วยรถเมล์ป้ายแรก ไปสุดสายที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนจะต่อรถเมล์ไปศาลแขวงดุสิต ที่ศรีย่าน

จำเลยคดีคนอยากเลือกตั้งคนนี้อธิบายว่าอย่างน้อยที่สุด เพื่อให้กำลังใจเพื่อนจำเลยคนอยากเลือกตั้ง และทนายความที่ยังคงต่อสู้คดี

คำยืนยันของป้าเช่นนี้เองช่วยบอกเราอย่างเรียบง่ายโดยไม่หลบตา แม้ว่าจะถูกดำเนินคดีถึง 4 คดีแล้ว แต่ดูเหมือนมีเพียง 2 ครั้งเท่านั้น ที่เธอจะต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย นั่นคือตอนนี้และตลอดไป

.

X