อัยการสั่งไม่ฟ้อง “เอกชัย” คดีพ.ร.บ.คอมฯ โพสต์เฟซบุ๊กไทยแพ้สมรภูมิร่มเกล้า

วานนี้ (27 ส.ค. 62) นายเอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรม ได้รับเอกสารแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องคดีจากสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 ในคดีที่เขาถูกกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 กรณีโพสต์เฟซบุ๊กว่าไทยแพ้สงครามในสมรภูมิร่มเกล้า โดยอัยการเห็นว่าการกล่าวถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ย่อมอยู่ในวิสัยของประชาชนที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้ และข้อความไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคง หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนก

สำหรับคดีนี้ มี พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ รับมอบอำนาจจาก คสช. มากล่าวโทษเอกชัยที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) กรณีเขาได้โพสต์[simple_tooltip content=’ตามบันทึกแจ้งข้อหาระบุว่าเป็นข้อความวันที่ 15 ม.ค. 2561
“- สงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นส่งกองทัพเข้าไทย ไทยยอมแพ้ญี่ปุ่นจึงเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ และฝ่ายอักษะก็แพ้สงครามให้กับฝ่ายสัมพันธมิตร
– สงครามเกาหลี ไทยส่งทหารเข้าร่วมกับฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ แต่ฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ก็ไม่ชนะจนเกาหลีต้องแบ่งเป็น 2 ประเทศ
– สงครามเวียดนาม ไทยส่งทหารเข้าร่วมกับฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ แต่ฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์แพ้สงครามจนทำให้เวียดนามเหนือยึดครองเวียดนามใต้
– สงครามกัมพูชา-เวียดนาม เวียดนามไล่ล่าฝ่ายเขมรแดงจนข้ามเขตแดนไทยที่ช่องบก (จ.อุบลราชธานี) แม้ไทยจะผลัดดันเวียดนาม (แทบไม่ได้รบ) ออกไปได้ แต่เป็นเพราะเวียดนามขาดกำลังบำรุง-เสบียง
– สมรภูมิร่มเกล้า ไทยแพ้สงครามให้กับลาวจนเสียดินแดนหมู่บ้านร่มเกล้า (จ.พิษณุโลก)
.
.
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพไทยไม่เคยชนะสงครามแม้แต่ครั้งเดียว ทหารไทยเก่งแต่รัฐประหาร และรังแกคนที่อ่อนแอกว่า”‘]ข้อความบนเฟซบุ๊ก[/simple_tooltip] ซึ่งผู้กล่าวโทษเห็นว่าเป็นข้อมูลเท็จในส่วนที่ว่า “สมรภูมิร่มเกล้า ไทยแพ้สงครามให้กับลาวจนเสียดินแดนหมู่บ้านร่มเกล้า (จ.พิษณุโลก)” เนื่องจากผู้กล่าวหาเห็นว่าในสมรภูมิบ้านร่มเกล้าไทยไม่ได้แพ้สงคราม และไม่ได้เสียดินแดนแก่ประเทศลาว

พ.อ.บุรินทร์ ยังกล่าวโทษเอกชัยอีกในข้อความว่า “หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพไทยไม่เคยชนะสงครามแม้แต่ครั้งเดียว ทหารไทยเก่งแต่รัฐประหาร และรังแกคนที่อ่อนแอกว่า” โดยเห็นว่าเป็นข้อมูลเท็จเช่นกัน โดยยกตัวอย่างสงครามระหว่างไทย-กัมพูชา กรณีปัญหาเรื่องเขาพระวิหารในปี 2551-54 ว่าประเทศกัมพูชาเป็นฝ่ายเจรจาสงบศึกกับฝ่ายไทย จึงถือว่าไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบในการสู้รบ ผู้กล่าวหาเห็นว่าข้อความของเอกชัยเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 14 (2)  (ดูข้อกล่าวอ้างของผู้กล่าวหาเพิ่มเติม)

เอกชัย ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีนี้เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 62 โดยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พร้อมยืนยันว่าข้อความที่โพสต์เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จ ไม่มีลักษณะจะกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของประเทศ หรือจะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกของประชาชนแต่อย่างใด

ต่อมา พนักงานสอบสวนได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องคดีนี้ และได้ส่งสำนวนคดีให้พนักงานอัยการพิจารณา แต่อัยการได้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ เนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง ทำให้คดีนี้ต้องส่งสำนวนไปให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติพิจารณา จนกระทั่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่เห็นแย้งกับความเห็นของพนักงานอัยการ ทำให้คดีนี้มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีในที่สุด

สำหรับคำสั่งไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการ มีคำวินิจฉัยโดยนายศราวุฒิ แขวงเมฆ พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 เห็นว่าข้อความที่ผู้ต้องหาโพสต์ลงในหน้าบัญชีเฟซบุ๊ก ทั้งสองเหตุการณ์เป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ย่อมอยู่ในวิสัยของประชาชนที่จะวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นๆ ได้ และไม่ว่าข้อความที่ผู้ต้องหาโพสต์ดังกล่าวจะเป็นความจริงหรือเป็นความเท็จ ก็ไม่ใช่ข้อความที่ถึงขนาดที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน เนื่องจากข้อความดังกล่าวนั้นเป็นเพียงข้อความที่แสดงถึงความไม่พอใจในการปฏิบัติหน้าที่ของทหาร เป็นการแสดงความคิดเห็นและความเชื่อของตน เกี่ยวกับข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ซึ่งข้อความดังกล่าวประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบค้นคว้าถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ เช่นเดียวกับเหตุการณ์สำคัญอื่นๆ ในประวัติศาสตร์ การโพสต์ข้อความของผู้ต้องหาเป็นการแสดงความคิดเห็น ติชม วิพากษ์วิจารณ์ และแสดงความรู้สึกของตนเกี่ยวกับเหตุการณ์ซึ่งเกี่ยวข้องกับทหาร เชื่อมโยงมาถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ตามระบอบประชาธิปไตย และตามมาตรฐานของวิญญูชนทั่วไป แล้วข้อความดังกล่าวก็ไม่ถึงกับอาจทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความรู้สึกไม่ให้ความเชื่อถือ หรือก่อให้เกิดการไม่ให้ความร่วมมือกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ทหาร จึงมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี

 

จบไป 1 จาก 8 คดีของเอกชัย

สำหรับเอกชัย หงส์กังวาน จนถึงปัจจุบัน ถูกดำเนินคดีจากการเคลื่อนไหวทำกิจกรรม และการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วทั้งหมด 8 คดี ได้แก่

  • คดีร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง 3 คดี ได้แก่ คดี MBK39, คดี Army57 และคดี UN62
  • คดีแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน กรณีแจ้งความเอาผิด พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. จากคำให้สัมภาษณ์ไม่รับประกันว่าจะมีการรัฐประหาร
  • คดีไม่แจ้งจัดการชุมนุมฯ จากกิจกรรมเปิดเพลง “ประเทศกูมี” บริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพบก
  • คดีหมิ่นประมาทกองทัพ โดยเนื้อหาโดยสรุปว่าที่การเลือกตั้งช้าเพราะ คสช.และ กกต.โยนเรื่องไปมา และวิจารณ์ว่ากองทัพไม่เคยรบชนะตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และเรียกร้องไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
  • คดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีโพสต์เฟซบุ๊กเรื่องเพศสัมพันธ์ในเรือนจำ เข้าข่ายลามกอนาจาร
  • คดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีโพสต์เฟซบุ๊กเรื่องไทยแพ้สมรภูมิร่มเกล้า

นอกจากคดีโพสต์เรื่องสมรภูมิร่มเกล้า ซึ่งมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีเด็ดขาดแล้ว คดีอื่นๆ ของเอกชัยอีกทั้งหมด 7 คดี ยังอยู่ในระหว่างการต่อสู้คดี

 

X