เปิดเอกสาร ‘พล.ต.บุรินทร์’ นำส่งคดี RDN50: แจ้งความซ้ำๆ คู่ใช้ IO เพื่อจำกัดเสรีฝ่ายต้าน คสช.

เปิดเอกสารที่ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ อดีตฝ่ายกฎหมายของ คสช. เคยนำส่งเป็นพยานหลักฐานในคดี 6 แกนนำกรณีชุมนุมคนอยากเลือกตั้งที่ถนนราชดำเนิน (RDN50) เอกสารชี้ คสช. ใช้การแจ้งความดำเนินคดีซ้ำๆ ต่อประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อทำให้เกิดความกดดัน สร้างความยุ่งยากสับสน และเป็นการจำกัดเสรีภาพ หวังทำให้การเคลื่อนไหวลดระดับลง ขณะเดียวกันยังระบุถึงข้อเสนอให้ใช้ปฏิบัติการข่าวสาร (IO) ไปคู่กับการดำเนินคดี โดยให้ส่งเนื้อหาต่อประชาชนว่าการชุมนุมของคนอยากเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ เป็นการสร้างความแตกแยกในสังคม

ไม่มีการผลักประชาชนให้เป็นศัตรู?

จากกรณีเมื่อช่วงเช้าวันที่ 27 พ.ย. 62 คณะกรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้ประชุมในประเด็นข้อร้องเรียนเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดีประชาชนโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อกลั่นแกล้งผู้เห็นต่างทางการเมือง นับตั้งแต่การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 การประชุมได้มีพล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผอ.สำนักงานพระธรรมนูญทหารบก และพ.อ.พิทักษ์พล ชูศรี หรือ “เสธ.พีท” ผบ.กรมทหารพรานที่ 22 เข้าชี้แจงต่อ กมธ.

ประเด็นการสอบถามและชี้แจงหนึ่งที่น่าสนใจ คือในหลายปีที่ผ่านมา คสช. ใช้ “กฎหมายปิดปาก” ผู้เห็นต่างทางการเมืองหรือไม่  บีบีซีไทยรายงานว่าพล.ต.บุรินทร์ยืนยันว่า ส่วนตัวไม่เคยไปข่มขู่ไม่ให้ประชาชนออกมาเคลื่อนไหว แต่เมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขั้น ถึงได้รับมอบอำนาจให้ไปแจ้งความดำเนินคดี “เมื่อเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ผมก็ต้องปฏิบัติ ถ้าไม่ปฏิบัติก็มีความผิด” และเวลาพูดถึงฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ส่วนตัวไม่เคยมองประชาชนเป็นศัตรู แต่มองเป็นพลเมือง เป็นพี่น้องประชาชนคนไทยด้วยกัน

“เราไม่มีการผลักประชาชนให้เป็นศัตรูกับเรา ไม่มีประเทศไหน รัฐไหน หรือทหารที่ไหนผลักประชาชนเป็นศัตรู กองทัพต้องอยู่กับประชาชนอยู่แล้ว” ส่วนการไปแจ้งความดำเนินคดี ถือเป็นเรื่องที่ต้องไปติดตามจากพนักงานสอบสวน ไม่เคยมีคำสั่งว่าต้องดำเนินคดีใครหรือไม่

จากชี้แจงดังกล่าว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนอ่านเอกสารฉบับหนึ่ง ในคดีของคนอยากเลือกตั้งที่ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ในฐานะผู้แจ้งความดำเนินคดี ได้เป็นผู้นำมามอบให้กับพนักงานสอบสวนไว้เอง และชี้ถึงแนวทางการดำเนินคดีต่อประชาชนที่แตกต่างจากคำชี้แจงดังกล่าว

การเข้าชี้แจงต่อกมธ.กฎหมายฯ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ และพ.อ.พิทักษ์พล ชูศรี (ภาพโดย Banrasdr Photo)

 

แกนนำคนอยากเลือกตั้งถูกดำเนินคดีกว่า 1 ปีครึ่ง ที่สุดศาลยกฟ้อง

เอกสารฉบับนี้ปรากฏอยู่ในสำนวนคดีแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2561 หรือ “คดี RDN50” ซึ่งมีพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ (ยศในขณะนั้น) รับมอบอำนาจจากพล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าคณะทำงานด้านกฎหมาย ของ คสช. มาเป็นผู้แจ้งความในคดี โดยมีการกล่าวหาทั้งแกนนำผู้จัดการชุมนุม และประชาชนผู้เข้าร่วมการชุมนุม

ในส่วนคดีของแกนนำ มีผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 7 คน ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 แต่ต่อมาได้มีการสั่งแยกการพิจารณาเป็นสองคดี ได้แก่ 1. คดีของแกนนำ 6 คน คือนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, นายกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์, นายอานนท์ นำภา, น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา, นายสุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ และน.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว และ 2. คดีของรังสิมันต์ โรม ซึ่งได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนัดการพิจารณาคดีอยู่ในระหว่างสมัยประชุมสภา ทำให้มีการแยกการพิจารณาออกมา

คดี RDN50 ในส่วนของแกนนำ 6 คน ได้มีการสืบพยานในศาลไปเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2562 โดยมีพยานโจทก์รวม 10 ปาก และพยานจำเลยรวม 7 ปาก ขึ้นเบิกความ

ต่อมา ศาลอาญาได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีไปเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 62 โดยศาลเห็นว่าการชุมนุมของกลุ่มจำเลยเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่มีความรุนแรง ความวุ่นวาย ไม่มีการใช้กำลังบีบบังคับให้รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้อง การชุมนุมมีเนื้อหาหลักเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งในปี 2561 ผู้ชุมนุมไม่ได้มีคำพูดที่รุนแรง การเรียกร้องของจำเลยเป็นการกระทำตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ คำปราศรัยก็เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต การกระทำของจำเลยจึงไม่ได้เป็นไปเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน แม้ถ้อยคำจะไม่เหมาะสมหรือก้ำเกินไปบ้าง แต่ก็เพื่อวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลตามหลักประชาธิปไตย

แม้ศาลจะมีคำพิพากษายกฟ้องดังกล่าว แต่การต่อสู้คดีในกระบวนการชั้นต่างๆ ของกรณีนี้ ก็ใช้เวลากว่า 1 ปี ครึ่ง และคดียังอยู่ระหว่างการรอว่าฝ่ายโจทก์จะยื่นอุทธรณ์คดีอีกหรือไม่

ดูคำพิพากษา ยกฟ้อง 6 แกนนำ RDN50 ศาลชี้ไม่ได้ยุยงปลุกปั่น และเป็นไปตามความมุ่งหมายของ รธน. และดูเส้นทางการต่อสู้คดี ประมวลเส้นทางการพิจารณาคดี RDN: การต่อสู้ของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งราชดำเนิน

 

.

เปิดเอกสารโจทก์: แจ้งความดำเนินคดีซ้ำๆ คู่กับใช้ IO กล่าวหาคนอยากเลือกตั้ง

ประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่งในคดีนี้ ได้แก่ เอกสารที่ฝ่ายโจทก์และผู้กล่าวหานำส่งเข้ามาเป็นพยานหลักฐานในคดี และถูกนำเข้ามาในสำนวนระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาล ซึ่งเนื้อหาของเอกสารมีการวิเคราะห์ในลักษณะที่ชี้ถึงการที่ คสช. ใช้การดำเนินคดีเพื่อมุ่งปราบปรามการแสดงออกทางการเมือง และยังมีการใช้ปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operation หรือ IO) ในการกล่าวหาสร้างภาพใส่ร้ายทางการเมืองต่อประชาชนผู้ชุมนุมอีกด้วย

เอกสารฉบับดังกล่าวอยู่ในสำนวนคดีที่ฝ่ายอัยการโจทก์ ยื่นประกอบการพิจารณาของศาลอาญา โดยศาลรับไว้เป็นหมาย จ.14 ในคดีนี้ มีจำนวน 2 แผ่น ใช้ชื่อว่า “ข้อพิจารณา กรณีกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้าน คสช. ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ ๑๐ ก.พ. ๖๑”  โดยไม่ได้มีการระบุชื่อผู้จัดทำ หน่วยงานที่จัดทำ หรือไม่ได้มีการลงนามโดยเจ้าหน้าที่รัฐคนใด

เอกสาร “ข้อพิจารณา กรณีกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้าน คสช. ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ ๑๐ ก.พ. ๖๑” (สามารถดาวน์โหลดไฟล์เอกสารเป็น PDF ได้ที่ เอกสารโจทก์ คดี RDN50  การเผยแพร่นี้ได้เซ็นเซอร์เนื้อหาของเอกสารส่วนที่ระบุถึงรายชื่อบุคคลที่เข้าร่วมการชุมนุมเอาไว้)

 

เนื้อหาของเอกสารฉบับนี้แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ส่วนแรก เป็นการประมวลสรุปสถานการณ์การชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 61 โดยระบุยอดผู้ชุมนุมประมาณ 400 คน และระบุรายชื่อประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่เข้าร่วม พร้อมสังกัด จำนวน 40 คน เอกสารยังระบุเรื่องแกนนำ 3 ราย ได้แก่ รังสิมันต์ โรม, อานนท์ นำภา และสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ “ได้ใช้ถ้อยคำปราศรัยที่มีเนื้อหาโจมตีรัฐบาลอย่างรุนแรง และพยายามปลุกปั่นให้มีการชุมนุมขับไล่รัฐบาล/คสช. อย่างชัดเจน”

ในส่วนที่สองของเอกสาร ได้มีการวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสียของการแจ้งความดำเนินคดีต่อกลุ่มแกนนำ 6 ราย ซึ่งเอกสารอ้างว่าการกระทำของทั้งหกเป็นความผิดตามมาตรา 116 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ซึ่งในส่วนนี้มีเนื้อหาสำคัญที่สะท้อนถึงการใช้อำนาจของ คสช. หลายประการ

สำหรับข้อดี เอกสารระบุว่า “การปฏิบัติของฝ่ายเราที่ผ่านมาตลอด 3 ปีกับกลุ่มต่อต้าน คสช. พบว่าเมื่อฝ่ายรัฐบาลแจ้งความดำเนินคดีไปแล้ว แต่กลุ่มต่อต้าน คสช. ยังคงเคลื่อนไหวต่อไม่ยุติการเคลื่อนไหว แต่ทางฝ่ายรัฐบาลกลับไม่เคยแจ้งความซ้ำในทันทีแต่อย่างใด ดังนั้น หากครั้งนี้ฝ่ายรัฐบาลดำเนินการแจ้งความซ้ำ และจะแจ้งความซ้ำทุกครั้งที่กลุ่มต่อต้าน คสช. ออกมาเคลื่อนไหว ก็อาจจะส่งผลทำให้แกนนำกลุ่มฯ เกิดความกดดัน และเป็นการจำกัดเสรีในการปฏิบัติของฝ่ายต่อต้าน คสช. ทำให้ระดับความรุนแรงในการปราศรัยปลุกระดมถูกลดระดับลง”

“ยกตัวอย่างกรณีการชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 61 เมื่อเปรียบเทียบกับการชุมนุมเมื่อ 27 ม.ค. 61 จะเห็นได้ว่าลดความรุนแรงในการปราศรัยโจมตีลงไปมาก อีกทั้งการแจ้งความฯ ในลักษณะดังกล่าวยังอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ฝ่ายต่อต้าน คสช. ต้องทิ้งช่วงระยะเวลาในการนัดการชุมนุมครั้งต่อไปให้ห่างออกไปมากขึ้น ดังเช่นล่าสุด ที่ฝ่ายต่อต้าน คสช. ไม่นัดวันเวลาชุมนุมล่วงหน้า ทั้งนี้การแจ้งความดำเนินคดีซ้ำนั้น ควรที่จะมุ่งหวังเพียงเพื่อเพิ่มความกดดันและสร้างความยุ่งยากสับสนให้กับแกนนำฯ มากกว่าที่จะมุ่งหวังเพื่อควบคุมตัวแกนนำไปขังไว้ในเรือนจำ เนื่องจากที่ผ่านมาการคุมขังแกนนำนั้นมักเป็นจุดล่อแหลมของฝ่ายรัฐบาลที่จะถูกกลุ่มสิทธิมนุษยชนในไทย และต่างประเทศ หรือนักวิชาการ สื่อต่างๆ รวมตัวกันออกมากดดันรัฐบาลให้ปล่อยตัวในภายหลัง อันจะส่งผลเสียกับฝ่ายรัฐบาลมากกว่า”

ในส่วนข้อเสียของการดำเนินคดีแกนนำ เอกสารวิเคราะห์ไว้ว่า “หากฝ่ายรัฐบาลเร่งดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มแกนนำ และขยายถึงผู้ร่วมชุมนุมบางส่วนรวดเร็วจนเกินไป อาจเป็นการกระตุ้นให้ฝ่ายต่อต้าน คสช. และมวลชนแนวร่วมสามารถสร้างกระแสต่อต้าน รวมทั้งการปฏิบัติการข่าวสาร (IO) เพื่อปลุกระดมมวลชนให้ลุกฮือในวงกว้างได้อย่างรวดเร็วและง่ายขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมวลชนกลุ่มเสื้อแดงเดิมที่ยังไม่แสดงท่าทีและประชาชนที่ยังวางตัวเป็นกลางกำลังติดตามท่าทีของรัฐบาล และคสช. ว่าจะดำเนินการอย่างไรกับการชุมนุมในครั้งนี้ ดังนั้น การแจ้งความฯ จึงควรต้องดึงระยะเวลาออกไป เพื่อให้มวลชนกลุ่มดังกล่าวซึ่งมีจำนวนมากหันไปสนใจข่าวสารอื่นๆ แทนก่อน แล้วจึงค่อยเริ่มแจ้งความดำเนินคดีต่อไป”

“อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเร่งรัดการแจ้งความหรือยืดระยะเวลาในการแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มแกนนำฯ ฝ่ายรัฐบาลก็ยังคงต้องเตรียมรับแรงกดดันในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มองค์กรต่างประเทศ นักวิชาการ และกลุ่มแนวร่วมสนับสนุนอื่นๆ แต่จะลดระดับความสนใจจากสื่อลงได้ หากเป็นการแจ้งความที่ไม่มีการจับกุมตัวแกนนำไปขังในเรือนจำแต่อย่างใด”

หลังจากพิจารณาข้อดีและข้อเสีย เอกสารฉบับนี้ได้สรุปข้อพิจารณาไว้ว่า “เห็นควรส่งฟ้องดำเนินคดีต่อกลุ่มแกนนำ เนื่องจากเป็นการชุมนุมทางการเมืองปรากฏแกนนำมวลชนที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มคนเสื้อแดง รวมทั้งท่าทีของนักการเมืองพรรคเพื่อไทยก็สนับสนุนการเคลื่อนไหวอย่างชัดเจน ทั้งนี้การส่งฟ้องดำเนินคดีต่อแกนนำฯ ฝ่ายรัฐควรกระทำควบคู่ไปกับการปฏิบัติการข่าวสาร (IO) มุ่งส่งเนื้อหาต่อประชาชนสื่อให้เห็นว่า การชุมนุมดังกล่าวมิใช่การเคลื่อนไหวของพลังบริสุทธิ์ที่มีเพียงนักศึกษา นักวิชาการ แต่เป็นการเคลื่อนไหวที่มีแกนนำมวลชนเสื้อแดงเป็นผู้ขับเคลื่อนเพื่อเป็นการเคลื่อนไหวที่สร้างความแตกแยกในสังคม เกิดความวุ่นวายต่อบ้านเมือง รัฐบาลจึงจำเป็นต้องรักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อให้เกิดบรรยากาศเกื้อกูลต่อการเลือกตั้งตามโรดแมปที่กำหนดไว้”

 

พนักงานสอบสวนยืนยันเอกสารนำส่งโดย พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ

จากการสืบพยานคดีนี้ในชั้นศาล ร.ต.อ.สุวิทย์ มันหาท้าว พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง และร่วมเป็นคณะพนักงานสอบสวนในคดี ได้เบิกความถึงที่มาที่ไปของเอกสารนี้ไว้อย่างชัดเจน ว่าเมื่อวันที่ 13 และ 14 ก.พ. 2561 ร.ต.อ.สุวิทย์ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนเวรอยู่ในวันดังกล่าว และได้มี พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ รับมอบอำนาจจาก คสช. มาแจ้งความดำเนินคดีกับนายรังสิมันต์ โรม และจำเลยทั้งหกคน จากเหตุการณ์ชุมนุมของคนอยากเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2561

ร.ต.อ.สุวิทย์ได้เป็นผู้สอบปากคำพ.อ.บุรินทร์เอาไว้ และพ.อ.บุรินทร์ได้มอบพยานหลักฐานในคดีให้กับพนักงานสอบสวน โดยมีทั้งภาพถ่ายการชุมนุม บันทึกการถอดเทปคำปราศรัยของแกนนำในการชุมนุม รายชื่อผู้เข้าร่วมชุมนุม และภาพถ่ายหน้าเฟซบุ๊กประชาสัมพันธ์การชุมนุม

ร.ต.อ.สุวิทย์ได้เบิกความตอบอัยการถามเอง ว่าพ.อ.บุรินทร์เป็นผู้นำมาเอกสารหมาย จ.14 นี้ มามอบให้พร้อมกับเอกสารหลักฐานต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น

ร.ต.อ.สุวิทย์ยังเบิกความถึงเอกสารฉบับนี้ ขณะตอบคำถามทนายจำเลยถามค้านด้วยว่าในขณะที่พ.อ.บุรินทร์นำเอกสารหลักฐานมามอบให้นั้น ตนได้แจ้งให้พ.อ.บุรินทร์ลงชื่อรับรองในเอกสารทุกแผ่น แต่ไม่ทราบว่าทำไมเอกสารหมาย จ.14 ที่นำมาส่งด้วย จึงไม่มีลายมือชื่อของพ.อ.บุรินทร์ รับรองไว้ แม้เอกสารดังกล่าวไม่ใช่ความเห็นของพนักงานสอบสวนในคดีนี้ แต่ยืนยันว่าเป็นความเห็นของฝ่ายทหารที่พ.อ.บุรินทร์ เป็นผู้ส่งมา

ร.ต.อ.สุวิทย์ ยังเบิกความด้วยว่าพนักงานสอบสวนไม่ได้มีการสอบถามพ.อ.บุรินทร์ เกี่ยวกับความเห็นที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.14 นี้ และคณะพนักงานสอบสวนก็ไม่ได้เรียกพ.อ.บุรินทร์ มาให้รับเอกสารฉบับนี้คืนไป

ขณะเดียวกัน แม้ทางพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ จะไม่ได้มีการเบิกความถึงเอกสารฉบับนี้ระหว่างการสืบพยานในชั้นศาล นายทหารนายนี้ยืนยันแต่เพียงว่าตนนำแผ่นซีดีบันทึกภาพการชุมนุม บันทึกถอดเทปคำปราศรัย รายชื่อแกนนำและผู้ชุมนุม ภาพถ่ายบุคคลและภาพถ่ายหน้าเฟซบุ๊กมาส่งให้พนักงานสอบสวนระหว่างการแจ้งความดำเนินคดี

แต่โดยปกติแล้วในการดำเนินคดี พยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ทั้งหมดในสำนวน จะถูกรวบรวมมาจากพนักงานสอบสวน ก่อนนำส่งให้กับพนักงานอัยการใช้ในการพิจารณาสั่งคดี และใช้ในการนำสืบพยานหลักฐานในชั้นศาล ฉะนั้นแล้วคำเบิกความของพนักงานสอบสวนในคดี จึงยืนยันที่มาที่ไปของเอกสารฉบับนี้ ที่เข้ามาอยู่ในสำนวนคดีนี้ได้อย่างชัดเจน

(ภาพถ่ายโดย Banrasdr Photo)

 

เอกสารสะท้อนการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง และใช้ IO ต่อประชาชน ในยุคคสช. 

จากเนื้อหาของเอกสารฉบับดังกล่าวนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่ามีข้อสังเกตเบื้องต้น ดังต่อไปนี้

1. ในการวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสียของการดำเนินคดี เอกสารได้มีการแยกคู่ตรงข้ามอย่างชัดเจน ระหว่าง “ฝ่ายเรา” ซึ่งหมายถึง ฝ่าย คสช. และรัฐบาล กับฝ่ายประชาชนที่ออกมา “ต่อต้าน” หรือเคลื่อนไหวทางการเมือง ในกรอบการวิเคราะห์ลักษณะนี้จึงทำให้ประชาชน ซึ่งในกรณีนี้คือกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง กลายเป็น “ฝ่ายตรงข้าม” ของรัฐบาลและกองทัพ หรือหากมองจากมุมทางการทหารแล้ว เท่ากับว่าทาง คสช. มองว่าประชาชนที่ออกมาแสดงออกต่อต้านดังกล่าว คือ “ศัตรู” ที่ต้องสู้รบด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อหยุดยั้งและป้องปรามการเคลื่อนไหวเอาไว้

2. เนื้อหาของเอกสาร ยังชึ้ถึงการใช้การแจ้งความทางกฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อทำให้การชุมนุมหรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองต้องยุติลง หรือเป็นไปได้ยากขึ้น เพราะแกนนำหรือผู้ชุมนุมเผชิญกับความกดดัน เผชิญกับข้อจำกัดมากขึ้น เนื่องจากถูกจำกัดเสรีภาพ จากการถูกดำเนินคดี

เนื้อหาของเอกสาร จึงชี้ให้เห็นถึงการใช้การดำเนินคดีทางกฎหมาย เพื่อปิดปากนักกิจกรรมและผู้เห็นต่าง เพื่อเป็นการสร้างภาระต่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง (SLAPP: Strategic Lawsuit Against Public Participation) อย่างชัดเจน โดยผู้ดำเนินการแจ้งความตระหนักดีถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในการดำเนินคดีในลักษณะนี้ และไม่ได้สนใจผลลัพธ์อย่างผลการพิจารณาคดีของศาล หรือการคุมขังผู้ถูกกล่าวหา แต่สนใจความได้เปรียบทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นจากการใช้กระบวนการทางกฎหมายเป็นเครื่องมือ

มุมมองในลักษณะนี้ ทำให้ “กฎหมาย” กลายไปเป็นเพียงเครื่องมือของผู้มีอำนาจ นำมาใช้ตามอำเภอใจ เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองที่ตนต้องการ ไม่ใช่การใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับชีวิตของพลเมืองในรัฐ และเป็นการทำลายหลักการพื้นฐานในการใช้กฎหมายของระบอบนิติรัฐ

จะเห็นได้ว่าในยุค คสช. เกิดการนำ “กฎหมาย” ทั้งประกาศ-คำสั่ง คสช. ที่คณะรัฐประหารประกาศออกมาเอง, กฎหมายอาญาบางมาตราที่มีอยู่เดิม และกฎหมายที่ออกใหม่โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่คณะรัฐประหารแต่งตั้ง มาใช้แจ้งความดำเนินคดีต่อประชาชนผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองจำนวนมาก และยังมีการใช้ศาลทหารพิจารณาคดีของพลเรือน (ดูสถิติคดีที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกตลอด 5 ปีของ คสช.) ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ยังดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน เอกสารฉบับนี้จึงชี้ให้เห็นถึงเบื้องหลังวิธีคิดบางส่วน ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เหล่านี้ขึ้น

3. เนื้อหาในเอกสารแสดงถึงความตระหนักเป็นอย่างดี ว่าการดำเนินคดีกับแกนนำหรือผู้ชุมนุมทางการเมือง รวมทั้งการคุมขังแกนนำในเรือนจำ นับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษชน จึงต้องมีการประเมินถึงแรงกดดันที่จะเกิดขึ้นจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน หรือนักวิชาการ หากมีการดำเนินการแจ้งความหรือการคุมขังแกนนำเกิดขึ้น โดยมีการกล่างถึง “ยุทธวิธี” ต่างๆ เพื่อลดแรงกดดันดังกล่าว เช่น การมุ่งดำเนินคดีอย่างเดียวโดยไม่ต้องคุมขัง หรือการดึงระยะเวลาการแจ้งความออกไปหลังการชุมนุม เพื่อให้ประชาชนหันไปสนใจข่าวสารอื่นๆ แทนก่อน

4. เนื้อหาเอกสารระบุชัดเจนถึงการเสนอให้นำปฏิบัติการข่าวสาร (IO) มาใช้ต่อประชาชน โดยระบุข้อพิจารณาว่านอกจากการดำเนินคดี ควรมีการสร้างเนื้อหาในลักษณะโจมตีต่อกลุ่มผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง ว่าไม่ใช่พลังบริสุทธิ์ มีแกนนำเสื้อแดงเป็นผู้ขับเคลื่อน เป็นการสร้างความแตกแยกในสังคม การดำเนินคดีจึงกลายเป็นวิธีการรักษาความสงบเรียบร้อยของรัฐบาล

ตามหลักการนั้น ปฏิบัติการข่าวสารเป็นยุทธการทางทหารที่ใช้ต่อข้าศึกศัตรู โดยเป็น “ปฏิบัติการที่มุ่งสร้างผลกระทบหรืออิทธิพลต่อกระบวนการตกลงใจ ข่าวสาร ระบบสารสนเทศ ของฝ่ายตรงข้าม หรือกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ รวมไปถึงปฏิบัติการเพื่อป้องกันข่าวสารและระบบสารสนเทศของฝ่ายเรา” โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้ “ฝ่ายเรา” อยู่ในสถานะที่ “เหนือกว่า” ฝ่ายตรงข้าม  คำถามสำคัญคือเป็นเรื่องสมควรหรือไม่ ที่ คสช. หรือกองทัพ นำปฏิบัติการทางการทหารที่เป็นเรื่องของการทำสงคราม มาดำเนินการกับประชาชนพลเรือนของตนเองในลักษณะนี้

ตลอด 5 ปีกว่าที่ผ่านมา ที่คสช. และกองทัพ ยึดอำนาจทางการเมือง มักจะกล่าวอ้างถึงการพยายามสร้างความปรองดอง สร้างความสามัคคี ยุติการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมืองซึ่งดำเนินมากว่าทศวรรษในการเมืองไทย หากแต่มุมมองของ คสช. และกองทัพเอง ปรากฏการณ์การใช้การดำเนินการทาง “กฎหมาย” และปฏิบัติข่าวสารต่อประชาชนในลักษณะนี้ กลับมีการแบ่งแยก “ฝ่ายเรา” กับ “ฝ่ายตรงข้าม” เสียเอง

เอกสารฉบับนี้จึงยืนยันว่า คสช. เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมือง เป็นผู้ใช้ “กฎหมาย” ในลักษณะละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน เพื่อประโยชน์ทางการเมือง และข้อกล่าวอ้างเรื่องการสร้างความปรองดองและความสงบเรียบร้อย จึงเป็นเพียง “วาทกรรมทางการเมือง” ประเภทหนึ่งเท่านั้น

 

X