องค์กรและบุคคลที่มีชื่อแนบท้าย เรียกร้องรัฐบาลไทยให้สอบสวนและยุติการโจมตีทางอินเตอร์เน็ตด้วยข้อมูล ที่บิดเบือนและได้รับการสนับสนุนโดยรัฐอันมีเป้าหมายเป็น นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมทางการเมือง นักวิจารณ์ด้านสังคม และนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลโดยทันที
ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ส.ส.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ถูกยุบไปแล้วนั้น ได้อภิปรายเผยให้เห็นหลักฐานหลายประการว่ากองทัพและรัฐบาลไทยได้ใช้ปฏิบัติการข่าวสารออนไลน์ (Information Operation หรือ IO) เพื่อโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมทางการเมือง นักการเมือง และบุคคลสาธารณะที่สำคัญอื่นๆ โดยในบรรดาหลักฐานต่าง ๆ ประกอบด้วยหนังสือรายงานผลการปฏิบัติการข่าวสารที่จัดทำโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี และหนังสือบันทึกข้อความของกองทัพภาคที่ 2 วีดิโอการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งมีส่วนร่วมในปฏิบัติการข่าวสาร โดยเป็นการใช้โซเชียลมีเดียเผยแพร่ข้อมูลเท็จ เพื่อโจมตีผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และมีการเปิดเผยคิวอาร์โค้ดของกลุ่มไลน์ของเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติการข่าวสารดังกล่าว
การโจมตีทางออนไลน์เหล่านี้ ยังมีเป้าหมายเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งทำงานในประเด็นเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนใต้ โดยกล่าวหาว่าบุคคลเหล่านี้เป็นพวก “ชังชาติ” และ “ผู้ทรยศต่อชาติ” โดยเว็บไซต์ที่มีชื่อว่า pulony.blogspot.com เผยแพร่ข่าวสารอย่างสม่ำเสมอเพื่อโจมตีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เช่น อังคณา นีละไพจิตร, พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และอัญชนา หีมมิหน๊ะ โจมตีนักกิจกรรมทางการเมือง นักวิจารณ์ทางสังคม และนักกิจกรรม ด้านประชาธิปไตย เช่น ณัฏฐา มหัทธนา, สฤณี อาชวานันทกุล และกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ซึ่งต่างตกเป็นส่วนหนึ่งของบัญชีโซเชียลมีเดีย “ที่ถูกเฝ้าติดตาม” ทั้งยังมีการสร้างบัญชีโซเชียลมีเดียปลอมหลายร้อยบัญชี เพื่อตอบโต้อย่างก้าวร้าวต่อผู้วิจารณ์รัฐบาลและเผยแพร่การโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังได้เผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวกับปฏิบัติการข่าวสาร เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ซึ่งปรากฎเป็นเอกสารที่ยื่นโดย พลตรีบุรินทร์ ทองประไพ อันเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลประกอบการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้จัดและผู้เข้าร่วมการชุมนุมอย่างสงบในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 เอกสารดังกล่าวระบุถึงบทบาทของ “ไอโอ” ในการเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับผู้จัดการประท้วง และทำให้สาธารณชนหลงเชื่อว่าการชุมนุมโดยสงบเหล่านี้ไม่ได้จัดขึ้นโดยกลุ่มนักศึกษา หากมีเบื้องหลังเป็นกลุ่มคนเสื้อแดง
องค์กรและบุคคลในรายชื่อแนบท้าย ขอเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ดำเนินการสอบสวนอย่างรวดเร็วและอย่างเต็มที่เพื่อให้ได้มาซึ่งความจริง ต่อปฏิบัติการข่าวสารที่ได้รับการสนับสนุนของรัฐนี้อันมุ่งเผยแพร่ข้อมูลเท็จและยุยง ให้เกิดความไม่ไว้วางใจและความแตกแยกในบรรดาประชาชนคนไทย เราเห็นว่ารัฐบาลไทยต้องรับผิดชอบต่อประชาชนผู้เสียภาษี โดยการเปิดเผยเอกสารและข้อมูลทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการข่าวสารนี้ รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อผู้ที่ถูกปฏิบัติการนี้ และหยุดปฏิบัติการนี้โดยทันที อีกทั้ง บรรดาผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์เอง ต้องรับผิดชอบปิดบัญชีปลอมที่จัดทำขึ้นอย่างไม่ถูกต้องโดยรัฐเป็นผู้สนับสนุนเหล่านี้
ประการสุดท้าย เราเรียกร้องรัฐบาลไทย โดยเฉพาะกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
(กอ.รมน.) ให้ยุติการเผยแพร่ข้อมูลเท็จและการยุยงใด ๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมทางการเมือง นักการเมืองฝ่ายค้าน และบุคคลสาธารณะโดยทันที เพื่อเป็นการให้ความเคารพต่อเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนคนไทย และเคารพต่อหลักการสิทธิมนุษยชนและการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR)
องค์กรร่วมลงนาม
- ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (Thai Lawyers for Human Rights)
- มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Cultural Foundation)
- มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (Community Resource Centre Foundation)
- สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (Human Rights Lawyers Association)
- ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น (Center for Protection and Revival of Local Community Rights)
- กลุ่มด้วยใจ
- องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP)
- เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD)
- มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
- สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
- โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLAW)
- เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนภาคใต้
- สื่อเถื่อน
- เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล
- มูลนิธิภาคใต้สีเขียว
- สมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน
- สมาคมผู้บริโภคสงขลา
- สมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา
- เครือข่ายเทใจให้เทพาหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน
- เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (Permatamas)
- ศูนย์สร้างจิตสํานึกนิเวศวิทยา
- คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ
(กป.อพช.เหนือ) - คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือตอนล่าง
(กป.อพช.นล.) - คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนอีสาน (กป.อพช.อีสาน)
- คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้)
- คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.ชาติ)
- กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน (Land Watch Thai)
- กลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Watch)
- กลุ่มศึกษาเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน)
- โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่
- กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
- เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่
บุคคลร่วมลงนาม
- ทิตศาสตร์ สุดแสน
- เฉลิมศรี ประเสริฐศรี
- สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
- วันชัย พุทธทอง
- สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ
- ธีรวัฒน์ ขวัญใจ
- สายฝน สิทธิมงคล
- เกื้อ ฤทธิบูรณ์
- ฐิตารัตน์ แก้วศรี
- ชนาง อาภารักษ์
- สมบูรณ์ คำแหง
- กรรณิการ์ แพแก้ว
- วรา จันทร์มณี
- สุพรรษา มะเหร็ม
- ประสิทธิ์ชัย หนูนวล
- เอกชัย อิสระทะ
- บัณฑิต ไกรวิจิตร
- อันธิฌา แสงชัย
- กฤษดา ขุนณรงค์
- สุไรนี สายนุ้ย
- ดวงยิหวา อุตรสินธุ์
- วัชระ ทิพทอง
- พริษฐ์ ชมชื่น