16 กรกฎาคม 2562 คณะรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้เข้ารับหน้าที่ ทำให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งยึดอำนาจการปกครองประเทศมาตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 นั้น หมดหน้าที่และอำนาจลง อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลา 5 ปีกว่าที่ คสช.ปกครองประเทศได้ทำลายหลักนิติรัฐหรือหลักการปกครองโดยกฎหมายลงอย่างสิ้นเชิง กลไกต่าง ๆ ในประเทศไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลและทำให้เกิดความรับผิด รวมถึงการร่างรัฐธรรมนูญอย่างซับซ้อนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ คสช. และพวกได้ปกครองประเทศต่อไป (อ่านรายละเอียดใน 5 ปี คสช. พอได้หรือยัง?: ข้อเสนอว่าด้วยการจัดการผลพวงรัฐประหาร )
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร และติดตามสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน เห็นว่าผลพวงซึ่งเกิดจากการใช้อำนาจภายใต้ห้วงเวลาดังกล่าวของ คสช. จะยังดำรงอยู่ทั้งในองค์กร คือ หน่วยงานรัฐและองค์กรอิสระ ในรูปแบบประกาศและคำสั่ง คสช., คำสั่งหัวหน้า คสช., กฎหมายซึ่งผ่านการตราโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวมถึงฉบับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 โดยมีประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้
1. ประกาศและคำสั่ง คสช., คำสั่งหัวหน้า คสช. และกฎหมายซึ่งผ่านการตราโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นั้นยังดำรงอยู่จนกว่าจะมีกฎหมายออกมาแก้ไขหรือยกเลิก
คสช. ได้ออกคำสั่ง คสช. 214 ฉบับ, ประกาศ คสช. 132 ฉบับ และคำสั่งหัวหน้า คสช. 211 ฉบับ รวมทั้งสิ้น 557 ฉบับ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ผ่านพระราชบัญญัติกว่า 444 ฉบับ โดยที่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 นั้น ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช., คำสั่งหัวหน้า คสช.เพียง 70 ฉบับ ทำให้ประกาศและคำสั่ง คสช., คำสั่งหัวหน้า คสช. หรือพระราชบัญญัติที่ผ่านโดย สนช.นั้นจะมีผลต่อไป แม้ คสช.จะหมดอำนาจ กล่าวคือจนกว่าจะมีพระราชบัญญัติแก้ไขหรือยกเลิก เว้นแต่เป็นประกาศหรือคำสั่งซึ่งสามารถยกเลิกได้โดยอำนาจบริหาร
ประกาศ คำสั่ง และพระราชบัญญัติซึ่งออกมาจำนวนมากนั้น ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกคน แต่ออกโดยกลุ่มคนที่ยึดอำนาจการปกครองไปจากประชาชนและพิจารณาในระยะเวลาอันรวดเร็ว อีกทั้งมาตรา 279 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 นั้นได้ยกเว้นความรับผิดใด ๆ และรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญไว้ ประกาศและคำสั่งคสช.จึงไม่อาจตรวจสอบความชอบด้วยการกระทำหรือชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามกลไกปกติได้
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เห็นว่า ประกาศ คำสั่ง และพระราชบัญญัติทั้งหมดควรถูกทบทวนโดยสภาผู้แทนราษฎรโดยเร่งด่วน เพราะหากไม่มีการดำเนินการใด ๆ สิ่งแปลกปลอมดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบยาวนานต่อระบบกฎหมายไทย
2. กลไกที่ยังดำรงอยู่ในรูปหน่วยงานรัฐและองค์กรอิสระ
นอกจากประกาศและคำสั่ง คสช., คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ดำรงอยู่แล้ว คสช.ยังมีส่วนในการแต่งตั้งบุคลากรไว้ในหน่วยงานรัฐ รวมถึงฝ่ายนิติบัญญัติอย่างสมาชิกวุฒิสภา 250 ราย และองค์กรอิสระต่าง ๆ อาทิเช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งกลไกต่าง ๆ เหล่านี้ยังจะคอยสนับสนุนกกลุ่มบุคคลที่เคยเป็น คสช. ซึ่งยังคงอำนาจฝ่ายบริหารในฐานะรัฐบาลต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คสช.ได้เพิ่มอำนาจหน้าที่ งบประมาณ เพิ่มโครงสร้างระดับภาคและระดับจังหวัด ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอรมน.) ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 51/2560 ซึ่งกลไกดังกล่าวยังจะเป็นกลไกสำคัญในการจำกัดเสรีภาพของประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึง “การปรับทัศนคติ” ต่อไป
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เห็นว่า นอกจากการทบทวนกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งรวมถึงการทบทวนที่มา อำนาจหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ด้วยแล้ว ประชาชนยังมีหน้าที่ในการติดตามตรวจสอบการทำหน้าที่ของหน่วยงานและองค์กรอิสระว่าได้ทำหน้าที่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และสอดคล้องกับการปกครองในประชาธิปไตยหรือไม่
3. อำนาจในการควบคุมตัวพลเรือนยังอยู่ที่ทหาร
แม้ว่าตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) ซึ่งเป็นฐานที่มาของอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. จะกำหนดให้โครงสร้างของ กอ.รมน. ส่วนหนึ่งประกอบด้วยพลเรือน และไม่ได้ให้อำนาจในการควบคุมตัวบุคคลไว้ก็ตาม แต่ก็มีหน่วยงานความมั่นคงรวมถึงทหารเป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งจะกลายเป็นกลไกสำคัญภายหลังการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม “อำนาจในการควบคุมตัวพลเรือนไม่เกิน 7 วัน” นั้นยังคงอยู่ที่เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยและเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และ คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2559 ซึ่งไม่ได้ถูกยกเลิกไปตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับสุดท้ายแต่อย่างใด (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ทหารยังคงอำนาจควบคุมตัวพลเรือน : ข้อสังเกตต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 เรื่อง การยกเลิกประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. บางฉบับที่หมดความจำเป็น) หากอำนาจในการควบคุมตัวพลเรือนไม่จำเป็น คสช.ก็ย่อมต้องให้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2562 มีผลในการยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 ไปพร้อมกันกับฉบับอื่น ๆ ด้วย การคงอยู่ของคำสั่งดังกล่าวนั้นจึงแสดงถึงเจตนาในการควบคุมประชาชนต่อไป
นอกจากนี้ ความซ้อนทับของบุคลากร ทั้ง กอ.รมน. และเจ้าพนักงานตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ย่อมทำให้เกิดความสับสน ความไม่แน่นอนชัดเจนแก่ประชาชน รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ซึ่งเกิดขึ้นให้เห็นบ่อยครั้งจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และกฎอัยการศึกร่วมกันในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เห็นว่า ต้องดำเนินการยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2559 โดยทันที กรณีเกิดการกระทำความผิด หรือเกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดำเนินการไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่จำเป็นต้องคงอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2559 ไว้ และหากเจ้าหน้าที่ทหารซึ่ง คสช. แต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย และเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม ใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2559 ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบก็สามารถตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ได้ เนื่องจากองค์กรซึ่งให้อำนาจนั้นไม่ได้ดำรงอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม กรณีที่กล่าวเป็นเพียงผลพวงบางส่วนจากการรัฐประหารซึ่งจะดำรงอยู่ แม้ คสช.จะหมดอำนาจหน้าที่ลงแล้ว แต่ในทางปฏิบัติผู้กุมอำนาจการปกครองยังเป็นกลุ่มเดิม ยังมีบุคลากรทั้งหน่วยงานรัฐและองค์กรอิสระสนับสนุน รวมถึงกฎหมายที่ให้อำนาจและรัฐธรรมนูญที่ยกเว้นความรับผิดไว้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอเรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎรและประชาชนร่วมกันตรวจสอบ ผลักดันการแก้ไขกฎหมาย และจัดการผลพวงดังกล่าว เพื่อให้ประเทศกลับสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยและเป็นนิติรัฐอย่างแท้จริง
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน