จากกรณีคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญผู้แทนของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) มาร่วมประชุมชี้แจง เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของกอ.รมน. โดยกรรมาธิการฯ เป็นผู้ตั้งประเด็นสอบถาม
จากการติดตามบันทึกการประชุมของกรรมาธิการฯ ในนัดดังกล่าว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่ามีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่ และบทบาทของกอ.รมน.
โดยตัวแทนของ กอ.รมน. ที่เข้าร่วมชี้แจงต่อกรรมาธิการฯ ทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร รวมทั้งสิ้น 6 นาย นำโดยพลโทพีระ ฉิมปรี รองเลขาธิการกอ.รมน. และพลตรีนพนันต์ ชั้นประดับ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง ของกอ.รมน.
กอ.รมน. แจง ไม่มีเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และ 13/2559 แล้ว
ประเด็นหนึ่งที่ทางคณะกรรมาธิการฯ ได้สอบถามตัวแทนของกอ.รมน. ได้แก่ เรื่องคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558, ฉบับที่ 13/2559 และ ฉบับที่ 51/2560 ว่ายังมีผลบังคับใช้อยู่หรือไม่ เพราะเหตุใด
ทางตัวแทนของ กอ.รมน. ได้ชี้แจงประเด็นคำถามดังกล่าวว่าคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 และ 13/2559 ยังคงมีอยู่ แต่ไม่มีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติ เนื่องจากกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ได้ออกคำสั่งให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2562 หรือวันที่ คสช. ยุติบทบาท พร้อมกับการสาบานของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ อันเป็นผลให้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการตามคำสั่งดังกล่าวแล้ว
ภาพโฆษก กมธ. ความมั่นคงฯ แถลงข่าวหลังการชี้แจงของตัวแทนกอ.รมน. (ภาพจากเว็บไซต์รัฐสภา)
คำชี้แจงยังไม่ชัดเจน: เจ้าพนักงานตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้ง 2 ฉบับยังดำรงอยู่หรือไม่?
สำหรับคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 นั้น เป็นคำสั่งที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารในลักษณะเดียวกับกฎอัยการศึก โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ทหารที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อป้องปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ความมั่นคงของรัฐ อาวุธปืน และการฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ต่างๆ มีอำนาจในการเข้าตรวจค้น ยึด และควบคุมตัวบุคคลไม่เกินเจ็ดวัน โดยไม่ต้องมีหมายของศาล และให้อำนาจเรียกบุคคลมารายงานตัว มาให้ถ้อยคำหรือส่งมอบเอกสาร รวมทั้งให้อำนาจเข้าร่วมการสอบสวนกับพนักงานสอบสวนด้วย
ขณะเดียวกัน คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 13/2559 หรือที่ถูกเรียกกันว่าเป็น “คำสั่งปราบปรามผู้มีอิทธิพล” มีลักษณะการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม ในลักษณะเดียวกันกับคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 โดยมีการกำหนดฐานความผิดอื่นๆ ที่กว้างขวางกว่าแนบท้ายคำสั่ง
จนถึงปัจจุบัน คำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้งสองฉบับ ก็ยังดำรงอยู่ มีเพียงการออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 9/2562 ให้ยกเลิกความผิดในข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 ที่กำหนดห้ามการชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปเท่านั้น แต่ในข้ออื่นๆ ของคำสั่ง ก็ยังไม่ได้มีการยกเลิกไปแต่อย่างใด
จากคำชี้แจงของตัวแทน กอ.รมน. ดังกล่าวข้างต้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่ายังมีความไม่ชัดเจนว่าก่อน คสช. ยุติบทบาทนั้น ได้มีการออกคำสั่งให้ “เจ้าพนักงาน” ตามคำสั่งฉบับใดพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากคำสั่งสองฉบับนี้กำหนดชื่อเรียกเจ้าพนักงานไว้แตกต่างกัน ได้แก่ “เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” ตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 และ “เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม” ตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 13/2559
ทั้ง “เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” และ “เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม” นั้น ตามคำสั่งทั้งสองฉบับระบุว่าเป็นเจ้าหน้าที่ทหารชั้นร้อยตรีที่ต้องได้รับการแต่งตั้งจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้า คสช.
หัวหน้า คสช. ได้เคยมีการออกคำสั่งที่มอบอำนาจการแต่งตั้งเจ้าพนักงานตามคำสั่งทั้งสองฉบับ ได้แก่ คำสั่งคสช. ที่ 7/2558 ซึ่งหัวหน้าคสช. มอบอำนาจให้กับเลขาธิการ คสช. และผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (ผบ.กกล.รส.) ของกองทัพภาคต่างๆ ในการแต่งตั้ง “เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” และคำสั่งคสช. ที่ 3/2559 ซึ่งหัวหน้า คสช. ได้มอบอำนาจการแต่งตั้ง “เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม” ให้กับทั้งเลขาธิการ คสช. และ ผบ.กกล.รส. เช่นเดียวกัน
ทางผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยทั้งในระดับส่วนกลาง และกองทัพภาคต่างๆ จึงมีอำนาจในการออกคำสั่งให้เจ้าพนักงานฯ ที่เคยได้รับการแต่งตั้ง ให้พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ได้
ด้วยชื่อเรียก “เจ้าพนักงาน” ที่แตกต่างกัน ทำให้คำชี้แจงดังกล่าวของตัวแทน กอ.รมน. ยังมีความคลุมเครือว่าการออกคำสั่งโดย กกล.รส. นั้น หมายถึงให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 พ้นจากหน้าที่เพียงฉบับเดียว หรือหมายถึงเจ้าพนักงานฯ ในคำสั่งทั้งสองฉบับแล้ว
นอกจากนั้นแล้ว ยังไม่ชัดเจนว่าการออกคำสั่งดังกล่าวเป็นไปในระดับผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งหมายถึงผู้บัญชาการทหารบก หรือในระดับผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยของกองทัพภาค
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงเห็นว่า กอ.รมน. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรจะเปิดเผยและเผยแพร่คำสั่งให้เจ้าพนักงานฯ พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวทั้งหมดทุกฉบับ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ และเพื่อยืนยันให้ชัดเจนว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ทหารคนใดอีกที่มีอำนาจปฏิบัติตามคำสั่งทั้งสองฉบับแล้วจริงๆ
ขณะเดียวกัน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังเห็นว่าเพียงการให้เจ้าพนักงานฯ ตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ทั้งสองฉบับพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่เพียงเท่านั้น ยังหาได้เพียงพอแต่อย่างใด หากรัฐสภาจำเป็นต้องมีการผลักดันการยกเลิกคำสั่งทั้งสองฉบับนี้ ซึ่งยังเป็นมรดกตกทอดของการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารอยู่จนถึงปัจจุบัน
รวมทั้งจำเป็นต้องหาช่องทางอื่นๆ ต่อไปในการผลักดันการตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ทหารตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ทั้งสองฉบับย้อนหลัง เนื่องจากการกล่าวอ้างอำนาจตามคำสั่งทั้งสองฉบับดังกล่าว ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง ในตลอดช่วงยุค คสช. เรืองอำนาจ
อ่านเพิ่มเติมในรายงาน คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 : “อำนาจพิเศษ” ในสถานการณ์ปกติ และดาวน์โหลด “ข้อเสนอต่อการจัดการผลพวงรัฐประหาร” ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ที่ https://tlhr2014.com/?wpfb_dl=112
.
กอ.รมน. แจงได้รับการส่งมอบข้อมูลและภารกิจจาก คสช. แต่ขับเคลื่อนตาม “กฎหมายปกติ”
อีกประเด็นหนึ่งที่คณะกรรมาธิการฯ ชุดความมั่นคงแห่งรัฐฯ ได้ตั้งคำถามต่อตัวแทนของ กอ.รมน. นั้น เป็นการสอบถามเกี่ยวกับคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 51/2560 ซึ่งเป็นคำสั่งในการปรับแก้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักรฯ อันเป็นกฎหมายที่จัดโครงสร้างและให้อำนาจ กอ.รมน. ในด้านต่างๆ ไว้
ตัวแทนของกอ.รมน. ได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ ว่าคำสั่งฉบับดังกล่าวเป็นการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปยังส่วนภูมิภาค เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่โดยวิธีการบูรณาการส่วนราชการระดับภูมิภาค และระดับจังหวัด อย่างไรก็ดี กอ.รมน. เป็นส่วนราชการฝ่ายบริหารภายใต้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 จึงถือได้ว่าไม่มีความสัมพันธ์ หรือเกี่ยวข้องในทางกฎหมายกับ คสช. แต่อย่างใด
ตัวแทนกอ.รมน. ยังระบุว่า คสช. ได้ดำเนินการส่งมอบข้อมูลและการขับเคลื่อนภารกิจเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงภายในให้แก่ กอ.รมน. คือภารกิจช่วยเหลือประชาชนและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตลอดจนปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคง เช่น สาธารณภัย ยาเสพติด แรงงานต่างด้าว เป็นต้น โดยรับผิดชอบขับเคลื่อนตามกฎหมายปกติต่อไป
ประเด็นที่ไม่ได้ถูกชี้แจง: การเพิ่มอำนาจและบทบาทของกอ.รมน. จากมาตรา 44
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าหากพิจารณาคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 51/2560 จะพบว่าหาใช่เรื่องการกระจายอำนาจหรือการบูรณาการส่วนราชการตามคำชี้แจงดังกล่าว แต่มีลักษณะเป็นการขยายขอบเขตอำนาจของ กอ.รมน. ในด้านต่างๆ ออกไป ทั้งในด้านการขยายนิยามของ “ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร”, การกำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการ กอ.รมน. ในระดับภาคและจังหวัด โดยรวมบุคลากรในส่วนราชการต่างๆ ทั้งตำรวจ อัยการ หน่วยงานทางปกครอง เข้ามาในองค์ประกอบ ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจเหนือข้าราชการพลเรือนหลายหน่วยงานภายใต้องค์ประกอบนี้
ทั้งยังมีการกำหนดอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. ระดับภาค และจังหวัด ให้เพิ่มขึ้นกว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ พ.ศ. 2551 อาทิ การให้อำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน.จังหวัด เข้าไปกำหนดแนวทางในการจัดทำแผนรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด และพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดและแผนงานโครงการด้านอื่นๆ หรือเข้าร่วมพิจารณาให้ความเห็นชอบกับโครงการด้านเศรษฐกิจและสังคมของทุกส่วนราชการได้ด้วย รวมถึงยังมีอำนาจ “เชิญ” เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลใดมาให้ข้อมูล หรือจัดส่งข้อมูลพร้อมหลักฐานประกอบ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการของคณะกรรมการ
นอกจากนั้น แม้ กอ.รมน. จะเป็นส่วนราชการฝ่ายบริหารภายใต้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ก็มีลักษณะโครงสร้างหลักเป็นทหาร โดยมีผู้บัญชาการทหารบกเป็นรองผอ.กอ.รมน. และเสนาธิการทหารบก เป็นเลขาธิการกอ.รมน. หรือในระดับกอ.รมน.ภาค ก็กำหนดให้แม่ทัพภาคเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงในภาค
ในยุค คสช. นั้น กอ.รมน. ก็หาได้ไม่มีความสัมพันธ์ หรือเกี่ยวข้องในทางกฎหมายกับ คสช. แต่อย่างใด โดยตามประกาศคสช. ที่ 22/2557 เรื่องการจัดส่วนงาน การกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้กำหนดให้ กอ.รมน. นั้น เป็น 1 ใน 5 หน่วยงาน ที่ขึ้นตรงต่อ คสช.
อำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. ในปัจจุบันนี้ แม้ คสช. จะยุติบทบาทไปแล้ว จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าขับเคลื่อนไปตาม “กฎหมายปกติ” เพราะคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 51/2560 ซึ่งออกโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาศัยอำนาจมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ยังคงดำรงอยู่ และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างขององค์กรนี้หลายประการที่ยังดำเนินสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน ก็เกิดขึ้นภายใต้ยุค คสช.
กอ.รมน. ยังระบุถึงการได้ดำเนินการรับมอบ “ข้อมูล” และภารกิจต่อมาจาก คสช. ในแง่นี้บทบาทของ กอ.รมน. จึงมีลักษณะเป็นส่วนหนึ่งของการ “สืบทอดอำนาจ” ของ คสช. ต่อมานั่นเอง และยังขยายภารกิจควบคุมกิจการพลเรือนมากยิ่งขึ้นไปกว่าก่อนหน้ายุค คสช. อีกด้วย
การจัดการยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 51/2560 รวมถึงแก้ไข พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักรฯ จึงเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของการปฏิรูปกองทัพหรือหน่วยงานภาคมั่นคงให้เป็นประชาธิปไตยต่อไปในอนาคต
อ่านประเด็นการเพิ่มอำนาจและบทบาทกอ.รมน. ใน อำนาจทหารเหนือพลเรือนยังคงอยู่: ส่อง 5 ประเด็น การปรับบทบาท กอ.รมน. หลังยุค คสช.