กอ.รมน. กล่าวหา ‘ชินวัตร-อดีตการ์ด’ ฐาน ‘หมิ่นประมาท’ เหตุโพสต์เรื่องอุ้มการ์ดปลดแอก เมื่อต้นปี 64

เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2564 ที่ สน.สามเสน ‘ไบรท์’ ชินวัตร จันทร์กระจ่าง และ “จ่ามะลิ” (นามสมมติ) ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” จากการโพสต์เกี่ยวกับอุ้มการ์ดราษฎร เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2564  โดยมี พ.อ.เดชาวุธ ฟุ้งลัดดา รับมอบอำนาจจาก กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) เป็นผู้กล่าวหา

ชินวัตร นักกิจกรรมจากจังหวัดนนทบุรี ได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาครั้งที่ 2 ลงวันที่ 1 พ.ย. 2564  ส่วน “จ่ามะลิ” การ์ดในการชุมนุมช่วงปี 2563 ได้รับหมายเรียกครั้งที่ 3 ลงวันที่ 1 พ.ย. 2564 ตามลำดับ จึงได้นัดหมายเดินทางเข้ารับทราบข้อหา พร้อมทนายความ

เวลา 13.30 น. พนักงานสอบสวน พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ จันทร์ทอง ตําแหน่ง สารวัตร (สอบสวน) สน.สามเสน ได้แจ้งข้อกล่าวหากับชินวัตร ระบุพฤติการณ์แห่งคดีโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2564 ชินวัตรได้หมิ่นประมาทกองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยการนําเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จในบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ ” ไบรท์ ราษฎร” โดยพิมพ์ข้อความเป็นตัวอักษรว่า “กอ.รมน.หยุดใช้ความป่าเถื่อน อุ้มเพื่อนเรากลางดึก #ปล่อยเพื่อนเราเดี๋ยวนี้ ก่อนที่จะกลายเป็นน้ําผึ้งหยดเดียว” ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเข้าอ่านได้ 

ผู้กล่าวหาอ้างว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการใส่ความ กอ.รมน. เป็นข้อความอันเป็นเท็จ และนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง ทำให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นความจริง  กอ.รมน. ไม่เคยกระทําการใดเหนือกฎหมายหรือกระทําการอันผิดศีลธรรมอันดี หรือเป็นการรบกวนความสงบสุขของประชาชน อันที่จะเรียกได้ว่า เป็นการกระทําที่ป่าเถื่อน และไม่ได้ไปอุ้มพานายมงคล หรือเยล สันติเมธากุล

จากการตรวจสอบของ สภ.เมืองสมุทรปราการ แล้ว นายมงคลฯ ไม่ได้ถูกอุ้ม ไปแต่อย่างใด จึงเป็นการใส่ความ กอ.รมน. ต่อบุคคลที่สามด้วยข้อความอันเป็นเท็จ โดยการโฆษณา โดยบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ โดยประการที่น่าจะทําให้กองอํานวยการรักษาความสงบภายในราชอาณาจักร ได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือ ถูกเกลียดชัง กอ.รมน.จึงมอบอำนาจให้ผู้กล่าวหามาแจ้งความร้องทุกข์

.

ทางด้าน “จ่ามะลิ” ได้ถูกกล่าวหาแยกเป็นอีกคดีหนึ่ง โดยมี ร.ต.อ.สมบัติ แสงมณี ตําแหน่ง รองสารวัตร (สอบสวน) แจ้งข้อกล่าวหา 

ข้อกล่าวหาระบุว่า เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2564 เวลาประมาณ 9.00 น. ผู้ต้องหาพร้อมพวกประมาณ 30 คน เดินทางไปที่หน้า กอ.รมน. ถนนนครราชสีมา แขวงดุสิต กรุงเทพฯ โดยได้ร้องว่า “กอ.รมน. อุ้มนายมงคลหรือเยล สันติเมธากุล เพื่อนของเราไป ให้ปล่อยเพื่อนของเรา และให้เอาคนอุ้มมา” อันเป็นการใส่ความ กอ.รมน. โดยอ้างว่าหน่วยงานกองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้ควบคุมตัว นายมงคล หรือเยล สันติเมธากุล ทําให้บุคคลอื่นหรือประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นความจริง กอ.รมน. ได้รับความเสียหาย จึงมอบอำนาจให้ผู้กล่าวหาแจ้งความร้องทุกข์

ทั้งสองคนได้ถูกแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 ทั้งคู่ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือใน 15 วัน โดยชินวัตรปฏิเสธการลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา  

ทั้งสองคนยังได้ให้การไว้ในเบื้องต้นว่า ข้อความที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นการแสดงออกด้วยความสุจริต  และมีความเป็นห่วงต่อผู้ถูกกระทำละเมิดอันมิชอบด้วยกฏหมายในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่มีความตระหนักถึงความถูกต้องยุติธรรมเท่านั้น และไม่ได้เป็นการกุข่าวขึ้นมาเอง โดยตนได้รับทราบข้อมูลมาจากการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ที่เผยแพร่สาธารณะ  จึงแสดงความคิดเห็นติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้โดยชอบธรรม หาได้มีเจตนาทำให้หน่วยงานของผู้กล่าวหาต้องเสียหายแต่อย่างไร โดยหน่วยงานของรัฐเอง พึงมีหน้าที่ชี้แจง ทำความเข้าใจ และเปิดเผยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นให้กระจ่างกับประชาชน ก็จะเป็นที่หมดข้อสงสัยแก่สาธารณชนโดยทั่วไป  ดังนั้นการกระทำของตนจึงหาได้มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

ทั้งนี้ กรณีการหายตัวไปของ “เยล” มงคล สันติเมธากุล ที่ถูกระบุว่าเป็นสมาชิกกลุ่มการ์ดราษฎร เกิดขึ้นเมื่อช่วงค่ำวันที่ 16 มกราคม 2564 โดยมงคลมีการโพสต์ข้อความขอความช่วยเหลือ และมีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อออนไลน์ว่ามีบุคคลใช้โทรศัพท์มือถือของมงคลแชทข่มขู่เพื่อน โดยอ้างตัวว่ามาจาก กอ.รมน. จึงได้มีกระแสการติดตามหาตัวในมงคลเกิดขึ้น ต่อมาทาง กอ.รมน. ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว

.

X