อัยการยุติคดี “อดีตการ์ด” ถูกกล่าวหาหมิ่น กอ.รมน. ชี้หนังสือมอบอำนาจผู้เสียหาย ไม่ได้ระบุให้อำนาจดำเนินคดีผู้ต้องหา

วันที่ 23 มี.ค. 2565 “จ่ามะลิ” (นามสมมติ) อดีตการ์ดในการชุมนุมช่วงปี 2563 ซึ่งถูกกล่าวหาในคดีหมิ่นประมาทกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้รับหนังสือแจ้งยุติการดำเนินคดีของพนักงานอัยการศาลแขวงดุสิต ด้วยเหตุว่าอัยการพบว่าหนังสือมอบอำนาจของ กอ.รมน. ไม่ได้ระบุให้ผู้กล่าวหามีอำนาจแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจในการสอบสวนคดีนี้ และอัยการก็ไม่มีอำนาจฟ้องคดี

สำหรับคดีนี้ เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2564 “จ่ามะลิ” ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” ที่ สน.สามเสน จากกรณีกล่าวหาว่า กอ.รมน. เกี่ยวข้องกับกรณีอุ้มนายมงคล สันติเมธากุล หรือ “เยล” โดยมี พ.อ.เดชาวุธ ฟุ้งลัดดา รับมอบอำนาจจาก กอ.รมน. เป็นผู้กล่าวหา

ผู้กล่าวหาอ้างว่าพฤติการณ์ของจ่ามะลิ ที่เดินทางไปหน้า กอ.รมน. เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2564 พร้อมอ้างว่า กอ.รมน. ได้ควบคุมตัวนายมงคล สันติเมธากุล ทําให้บุคคลอื่นหรือประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นความจริง กอ.รมน. ได้รับความเสียหาย จึงมอบอำนาจให้ผู้กล่าวหาแจ้งความร้องทุกข์

>> กอ.รมน. กล่าวหา ‘ชินวัตร-อดีตการ์ด’ ฐาน ‘หมิ่นประมาท’ เหตุโพสต์เรื่องอุ้มการ์ดปลดแอก เมื่อต้นปี 64

.

ต่อมาหลังพนักงานสอบสวน สน.สามเสน ส่งสำนวนให้กับอัยการเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2564 อัยการได้นัดฟังคำสั่งและนัดผู้ต้องหามารายงานตัวเดือนละหนึ่งครั้งเรื่อยมา จนในเดือน มี.ค. 2565 อัยการจึงแจ้งการยุติการดำเนินคดีกับผู้ต้องหา รวมเวลาพิจารณาราว 3 เดือนเศษ

สำหรับหนังสือแจ้งยุติการดำเนินคดีลงวันที่ 3 มี.ค. 2565 อัยการศาลแขวงดุสิตได้มีคำสั่งยุติการดำเนินคดี “จ่ามะลิ” โดยระบุเหตุว่า เนื่องจากข้อความในหนังสือมอบอำนาจที่ผู้เสียหายทำขึ้นนั้น ไม่ได้ระบุให้มีอำนาจแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ต้องหา ทั้งที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดมาตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค. 2564 ซึ่งเป็นวันที่พบว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดต่อ กอ.รมน. จึงไม่ชัดแจ้งว่าผู้เสียหายมีเจตนาที่จะให้ผู้ต้องหาได้รับโทษ จึงไม่เป็นคำร้องทุกข์โดยถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (7) ถือว่าผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีในความผิดต่อส่วนตัวแก่ผู้ต้องหา

พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจในการสอบสวนคดีนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 และพนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 120 ดังนั้น เมื่อการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทเป็นความผิดต่อส่วนตัว และผู้เสียหายไม่ได้มีการร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเข้าเงื่อนไขระงับคดีตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2563 ข้อ 48 (9)

.

นอกจากคดีของ “จ่ามะลิ” แล้ว ยังมีคดีของ “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง ที่ถูกกล่าวหาในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ที่ สน.สามเสน เช่นกัน โดยชินวัตรถูกกล่าวหาจากพฤติการณ์การโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กกล่าวหา กอ.รมน. ว่าเกี่ยวข้องกับการอุ้มนายมงคลในช่วงดังกล่าวเช่นเดียวกัน โดยคดีนี้ยังอยู่ในชั้นพนักงานอัยการ

สำหรับ กรณีการหายตัวไปของ “เยล” มงคล สันติเมธากุล ที่ถูกระบุว่าเป็นสมาชิกกลุ่มการ์ดราษฎร เกิดขึ้นเมื่อช่วงค่ำวันที่ 16 ม.ค. 2564 โดยมงคลมีการโพสต์ข้อความขอความช่วยเหลือ และมีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อออนไลน์ว่ามีบุคคลใช้โทรศัพท์มือถือของมงคลแชทข่มขู่เพื่อน โดยอ้างตัวว่ามาจาก กอ.รมน. จึงได้มีกระแสการติดตามหาตัวในมงคลเกิดขึ้น ต่อมาทาง กอ.รมน. ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว

ทั้งจ่ามะลิและชินวัตร ให้การยืนยันว่าพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหา เป็นการแสดงออกด้วยความสุจริต และมีความเป็นห่วงต่อผู้ถูกกระทำละเมิดอันมิชอบด้วยกฏหมายในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่มีความตระหนักถึงความถูกต้องยุติธรรมเท่านั้น และไม่ได้เป็นการกุข่าวขึ้นมาเอง โดยได้รับทราบข้อมูลมาจากการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ จึงแสดงความคิดเห็นติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้โดยชอบธรรม หาได้มีเจตนาทำให้หน่วยงานของผู้กล่าวหาต้องเสียหายแต่อย่างไร โดยหน่วยงานของรัฐเอง พึงมีหน้าที่ชี้แจง ทำความเข้าใจ และเปิดเผยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นให้กระจ่างกับประชาชน ก็จะเป็นที่หมดข้อสงสัยแก่สาธารณชนโดยทั่วไป

.

X