เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการในคดีของ “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง นักกิจกรรมจากนนทบุรี กรณีที่เขาถูกทาง กอ.รมน. กล่าวหา “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” จากการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับการอุ้มการ์ดราษฎร
คดีนี้มี พ.อ.เดชาวุธ ฟุ้งลัดดา รับมอบอำนาจจาก กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) เป็นผู้กล่าวหาไว้ที่ สน.สามเสน จากกรณีชินวัตรได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2564 ว่า “กอ.รมน. หยุดใช้ความป่าเถื่อน อุ้มเพื่อนเรากลางดึก #ปล่อยเพื่อนเราเดี๋ยวนี้ ก่อนที่จะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว”
เหตุของการโพสต์ดังกล่าว เกิดขึ้นหลังมีการเผยแพร่ข้อมูลในโลกออนไลน์ถึงกรณีการหายตัวไปของ “เยล” มงคล สันติเมธากุล ที่ถูกระบุว่าเป็นสมาชิกกลุ่มการ์ดราษฎร เมื่อช่วงค่ำวันที่ 16 ม.ค. 2564 โดยระบุว่ามีบุคคลใช้โทรศัพท์มือถือของมงคลแชทข่มขู่เพื่อน อ้างตัวว่ามาจาก กอ.รมน. จึงได้มีกระแสการติดตามหาตัวในมงคลเกิดขึ้น ต่อมาทาง กอ.รมน. ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว
>> กอ.รมน. กล่าวหา ‘ชินวัตร-อดีตการ์ด’ ฐาน ‘หมิ่นประมาท’ เหตุโพสต์เรื่องอุ้มการ์ดปลดแอก เมื่อต้นปี 64
.
หลังพนักงานสอบสวน สน.สามเสน ส่งสำนวนคดีนี้ให้กับอัยการ ล่าสุดพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 ได้มีหนังสือลงวันที่ 31 พ.ค. 2565 แจ้งคำสั่งไม่ฟ้องอย่างเด็ดขาดถึงพนักงานสอบสวน โดยคดีใช้ระยะเวลาราว 7 เดือนเศษจึงสิ้นสุดลง นับแต่วันที่ชินวัตรเข้ารับทราบข้อกล่าวหา
สำหรับคำวินิจฉัยของอัยการในคดีนี้ เห็นว่าเนื่องจากมีข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีสื่อมวลชนรายงานข่าวว่านายมงคล สันติเมธากุล เพื่อนของผู้ต้องหา ได้ถูกบุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. ควบคุมตัวไปหลังจากที่นายมงคลโพสต์ข้อความบนบัญชีเฟซบุ๊กว่า “ช่วยด้วย” อีกทั้งในช่วงเวลาดังกล่าว หน่วยงานของผู้เสียหายก็ไม่ได้ออกมาให้ข่าวหรือปฏิเสธข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด
จึงเป็นเหตุให้ผู้ต้องหาสำคัญว่านายมงคลถูกควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยผู้เสียหาย จึงได้โพสต์ข้อความลงบนบัญชีเฟซบุ๊กของผู้ต้องหาดังกล่าว ซึ่งแม้จะมีการกล่าวถึง กอ.รมน. ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเข้าใจได้ว่าหมายถึง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ว่าใช้อำนาจจับกุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ไม่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชนที่พบเห็นข้อความดังกล่าวนั้น ถือเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตในฐานะที่ตนก็มีความสัมพันธ์ในฐานะเพื่อนกับนายมงคล ที่ต้องการให้ผู้เสียหายปล่อยตัวนายมงคล ที่ถูกจับกุมไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันถือว่าเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ และเป็นการแสดงออกเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตน หรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 การกระทำของผู้ต้องหาจึงยังไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามที่ถูกกล่าวหา
คำสั่งไม่ฟ้องลงนามโดย นางสาวกชพรพรรณ วณิชยาชัยสิริ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด
.
นอกจากคดีของชินวัตร ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมีนาคม 2565 อัยการศาลแขวงดุสิตก็ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีของ “จ่ามะลิ” (นามสมมติ) อดีตการ์ดในการชุมนุมช่วงปี 2563 ซึ่งถูกกล่าวหาหมิ่นประมาท กอ.รมน. ในลักษณะเดียวกันนี้ แต่คดีดังกล่าว เหตุในการสั่งไม่ฟ้องเป็นเรื่องที่หนังสือมอบอำนาจของ กอ.รมน. ไม่ได้ระบุให้ผู้กล่าวหามีอำนาจแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจในการสอบสวนคดีนี้ และอัยการก็ไม่มีอำนาจฟ้องคดี
ผลของคำสั่งทั้งสองของอัยการ ทำให้คดีที่เกี่ยวเนื่องกับข้อกล่าวหาหมิ่นประมาท กอ.รมน. ทั้งสองคดีสิ้นสุดลง
.