อัยการยื่นฟ้องจำเลยคดีผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง UN62 รายที่ 40 หลังผ่านมากว่า 3 ปี

วันที่ 27 พ.ค. 64 ที่ศาลแขวงดุสิต พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 ฟ้องนางกนกวรรน อุดทังกันทา หรือชื่อเดิม อาอีซะห์ เสาะหมาน ใน 3 ข้อหาหลัก ได้แก่ มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215, ไม่เลิกมั่วสุม เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 216 และข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ 529/2564 ในคดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 21-22 พ.ค. 61 ซึ่งมีการชุมนุมที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และหน้าองค์การสหประชาชาติ เพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง หรือคดี UN62 หลังเหตุการณ์ผ่านมากว่า 3 ปี โดยกนกวรรณนับเป็นจำเลยรายที่ 40 ในคดีนี้

เหตุแห่งคดีนี้มาจากการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 21-22 พ.ค. 61 ซึ่งผู้ชุมนุมพยายามเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งตามคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ มีการจับกุมแกนนำและผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งระหว่างการชุมนุม และภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าวตำรวจยังออกหมายเรียกผู้ชุมนุมอีก 47 รายด้วย

การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 21-22 พ.ค. 61 

เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 63 กนกวรรณถูกควบคุมตัวตามหมายจับที่จังหวัดลำปาง เนื่องจากไม่ได้ไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก  และถูกนำตัวมายัง สน.ชนะสงคราม กรุงเทพฯ จากนั้นถูกควบคุมตัวในห้องขังของ สน.ชนะสงครามเป็นเวลา 1 คืน ก่อนได้รับการประกันตัวในวงเงิน 50,000 บาท ในวันที่ 17 เม.ย. 63

ในชั้นสอบสวนกนกวรรณถูกแจ้งข้อกล่าวหารวม 5 ข้อหา ได้แก่ มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, ไม่เลิกมั่วสุม เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 และข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 8, มาตรา 11 และมาตรา 19

ในวันนี้ สุทธิชัย สุขวัฒน์นิจกูล พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกนกวรรณต่อศาลแขวงดุสิต เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.529/2564 หลังจากต้องขออนุญาตฟ้องคดีต่ออัยการสูงสุดเนื่องจากไม่ได้ฟ้องคดีภายในระยะเวลาผัดฟ้อง โดยอัยการสูงสุดมีคำสั่งอนุญาตให้ฟ้อง คดีในวันที่ 6 พ.ค. 64 โดยมี นายสรทรรศ สิงหพัศ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ รักษาการในตำแหน่งรองอัยการสูงสุด ซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมาย เป็นผู้ลงนาม

คำฟ้องสรุปได้ว่าระหว่างวันที่ 21 – 22 พ.ค. 61 จำเลยได้ร่วมกันชุมนุมสาธารณะ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ปราศรัยแสดงความคิดเห็นขับไล่และโจมตีการทำงานของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และมีการเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาตร์เพื่อมุ่งหน้าไปยังทำเนียบรัฐบาล ระหว่างการเดินขบวนผู้ชุมนุมได้กีดขวางทางจราจรและทางเข้าออกสถานที่ราชการ นอกจากนั้นยังมีการฉุดกระชากและผลักแนวแผงเหล็กและขว้างปาสิ่งของใส่แนวกั้นของเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมสาธารณะได้ประกาศให้กลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวเลิกการชุมนุมเนื่องจากเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่จำเลยกับพวกไม่ยอมเลิก

ท้ายคำฟ้อง อัยการไม่ได้คัดค้านการให้ประกันตัวจำเลย โดยระบุว่าให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล

อัยการระบุว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามกฎหมายดังนี้

  1. ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง (โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
  2. ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 ไม่เลิกมั่วสุม เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก (โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
  3. ข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ได้แก่ 
    1. กีดขวางทางเข้าออกสถานที่ราชการและสถานศึกษา ตามมาตรา 8 (โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
    2. มีการชุมนุมระหว่างมีคำสั่งห้ามชุมนุมฯ ตามมาตรา 11 (โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
    3. ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้ชุมนุม ตามมาตรา 16 (4) (7) (โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)

เวลา 14.39 น. หลังทนายความยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณา โดยใช้หลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 20,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลแขวงดุสิตมีคำสั่งอนุญาต  โดยไม่กำหนดเงื่อนไขใดๆ

ก่อนหน้านี้ผู้ชุมนุมในคดีนี้ถูกฟ้องไปแล้ว 39 ราย โดย 38 ราย ถูกฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1756/2564 ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค. 61 ใน 5 ข้อหา โดย 3 ข้อหาเป็นข้อหาเดียวกับกนกวรรณ แต่ถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และ ข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 108 และ 114 เรื่องการเดินขบวนและวางสิ่งของกีดขวางการจราจร อีก 2 ข้อหาด้วย

ผู้ถูกฟ้องรายที่ 39 คือนายเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล ถูกฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ 2158/2562 เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 62 ใน 4 ข้อหา เป็นข้อหาเดียวกับจำเลยอีก 38 ราย แต่ไม่ถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เนื่องจากในขณะนั้นคำสั่งดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้ว

โดยคดีที่ถูกฟ้องไปแล้วศาลกำหนดวันนัดสืบพยานคดีในช่วงเดือน มิ.ย. – ส.ค. 64 โดยจะเริ่มสืบพยานนัดแรกในวันที่ 30 มิ.ย. 64 หลังจากวันนี้ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอให้ยกเลิกนัดสืบพยานวันที่ 2 และ 4 มิ.ย. 64 เนื่องจากยังอยู่ในช่วงกักตัว หากอัยการขอรวมคดีและสืบพยานตามกำหนดการดังกล่าว คดีนี้จะใช้เวลาตั้งแต่เกิดเหตุจนถึงสืบพยานเสร็จเป็นเวลากว่า 3 ปี 3 เดือน

X