6 ก.ค. 61 เวลา 9.30 น. ที่ศาลแขวงดุสิต พนักงานอัยการศาลแขวงดุสิตได้นัดหมายผู้ต้องหาในคดีชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และหน้าองค์การสหประชาชาติ ในช่วงกิจกรรมครบรอบ 4 ปี การรัฐประหาร เมื่อวันที่ 21-22 พ.ค. 61 หรือคดี “UN62” เพื่อสั่งฟ้องคดีต่อศาล
อัยการนัดสั่งฟ้องคดี ‘UN62’ 6 ก.ค.นี้ – ตร.ไม่ฟ้อง ผตห. 1 ราย เหตุไม่ได้ไปชุมนุม แต่ถูกทหารแจ้งความ
ในวันนี้ อัยการได้นัดหมายผู้ต้องหาจำนวนทั้งหมด 39 คน เพื่อฟังคำสั่งฟ้องคดี แต่ผู้ต้องหา 1 ราย ได้แก่ นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดภารกิจ ทำให้ไม่สามารถเดินทางมาในวันนี้ได้ จึงได้ทำหนังสือขอเลื่อนการฟังคำสั่งอัยการมายื่นไว้ก่อนแล้ว อัยการจึงยื่นฟ้องผู้ต้องหาเหลือจำนวน 38 ราย ต่อศาลแขวงดุสิต
ภาพผู้ถูกดำเนินคดีขณะเข้ารายงานตัวกับอัยการเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 61
สำหรับการยื่นฟ้อง อัยการได้ฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดใน 5 ข้อหาหลัก ได้แก่
- ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง
- ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 216 ไม่เลิกมั่วสุม เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก
- ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
- ข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ได้แก่ กีดขวางทางเข้าออกสถานที่ราชการและสถานศึกษา ตามมาตรา 8 (1)(3), มีการชุมนุมระหว่างมีคำสั่งห้ามชุมนุมฯ ตามมาตรา 11, ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้ชุมนุม ตามมาตรา 16 (1)(4)(7)(9) และไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขและคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตามมาตรา 19
- ข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 108 และ 114 เรื่องการเดินขบวนและวางสิ่งของกีดขวางการจราจร
อัยการยังได้บรรยายฟ้องถึงการชุมนุมเมื่อวันที่ 21-22 พ.ค. 61 ว่าเป็นการชุมนุมทางการเมืองซึ่งมีวัตถุประสงค์ปราศรัยแสดงความคิดเห็น ขับไล่และโจมตีการทำงานของรัฐบาลและคสช. เรียกร้องให้กองทัพเลิกสนับสนุนและเลิกปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล เรียกร้องให้ทหารไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตนที่ชอบด้วยกฎหมาย และให้ทหารออกมายืนเคียงข้างกับผู้ชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาลและคสช. ซึ่งเป็นการยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนและข้าราชการทหารเกิดความกระด้างกระเดื่อง
อัยการได้บรรยายฟ้องโดยสรุปถึงเหตุการณ์ชุมนุมพร้อมระบุว่าจำเลยทั้ง 38 ไม่ได้รับอนุญาตให้ชุมนุมทางการเมืองจากหัวหน้าคสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย มีการเคลื่อนย้ายการชุมนุมก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะอันเป็นที่ชุมนุม และทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน กีดขวางทางเข้าออกสถานที่ทำการพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ และสถานศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กีดขวางการจราจาร และได้บังอาจร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยร่วมกันใช้รถยนต์ขับขี่เข้าชนแนวแผงเหล็ก ร่วมกันใช้มือยื้อยุดฉุดกระชากและผลักแนวแผงเหล็กได้รับความเสียหาย เจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมสาธารณะได้รับบาดเจ็บจำนวนหลายนาย และเมื่อเจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมสาธารณะได้ออกคำสั่งให้เลิก จำเลยทั้ง 38 คนไม่ยอมเลิกการชุมนุม อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย
ศาลแขวงดุสิตได้รับฟ้องคดีนี้ไว้ จำเลยทั้งหมดจึงได้ถูกนำตัวเข้าไปยังห้องเวรชี้ เพื่อรอการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว ก่อนที่เวลาประมาณ 12.25 น. ศาลแขวงดุสิตจะอนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยทั้ง 38 คน โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ประกัน เนื่องจากจำเลยทั้งหมดมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนี
ศาลแขวงดุสิตได้กำหนดวันนัดพร้อมคดีต่อไปในวันที่ 20 ส.ค. 61 เวลา 9.00 น.
ภาพเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 61
สำหรับคดีนี้มี พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ คณะทำงานด้านกฎหมายของ คสช. เป็นผู้ได้รับมอบอำนาจจาก คสช. เข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวน 41 ราย และผู้ที่ถูกออกหมายเรียกได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.นางเลิ้ง เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 61
ก่อนหน้านี้ พนักงานสอบสวนได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีในส่วนของนายชเนศ ชาญโลหะ คนเสื้อแดงในจังหวัดระยองและเป็นหนึ่งในผู้ต้องหา ซึ่งให้การตั้งแต่ต้นว่าไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทั้งสองวันดังกล่าวแต่อย่างใด แต่กลับถูกแจ้งความดำเนินคดี
ส่วนผู้ถูกออกหมายเรียกอีก 1 ราย ได้แก่ น.ส.อาอิซะห์ เสาะหมาน ไม่ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาพร้อมกันกับผู้ถูกออกหมายเรียกคนอื่นๆ จนถึงปัจจุบัน ทำให้ต่อมาพนักงานสอบสวนได้มีการขออำนาจศาลในการออกหมายจับแล้ว
หากนับตั้งแต่วันแจ้งข้อกล่าวหาจนถึงการสั่งฟ้องของอัยการในวันนี้เป็นเวลา 1 เดือนพอดี โดยที่อัยการเพิ่งได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ จำเลยหนึ่งรายในคดีนี้ คือนางสาวนีรนุช เนียมทรัพย์ ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แม้จะให้การยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้ชุมนุมตามที่ถูกกล่าวหา แต่ไปปฏิบัติหน้าที่เก็บข้อมูลและสังเกตการณ์การชุมนุมในฐานะเจ้าหน้าที่ของศูนย์ทนายฯ โดยในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ผู้ต้องหาได้มีการแขวนบัตรและสวมเสื้อเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายฯ เพื่อแสดงตัวตามปกติของการปฏิบัติงานแล้ว แต่ก็ยังมีการสั่งฟ้องจำเลยรายนี้ในที่สุด
อ่านเพิ่มเติม
คสช.แจ้งความ “คนอยากเลือกตั้ง” มธ.+UN และผู้สังเกตการณ์ชุมนุมจากศูนย์ทนายฯ รวม 62 คน
ตร.แจ้งหลายข้อหา กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง หลังแจ้งปล่อยตัวกลับหมด ไม่ส่งศาลขอฝากขัง
อัยการนัดสั่งฟ้องคดี ‘UN62’ 6 ก.ค.นี้ – ตร.ไม่ฟ้อง ผตห. 1 ราย เหตุไม่ได้ไปชุมนุม แต่ถูกทหารแจ้งความ