อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี 13 นักกิจกรรม #ศุกร์13ไล่ล่าทรราช ชี้ไม่ได้ชุมนุมในที่แออัด ไม่มีพฤติการณ์ยุยงให้เกิดความไม่สงบ

พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีของนักกิจกรรม 13 คน ที่ถูกกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมที่ใช้ชื่อว่า #ศุกร์13ไล่ล่าทรราช หรือ #ม็อบ13สิงหา64 ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มทะลุฟ้า ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ชี้ไม่มีพยานหลักฐานว่าทั้ง 13 คนเป็นผู้จัดกิจกรรม เพียงขึ้นเวทีปราศรัยแสดงความคิดเห็นถึงข้อเรียกร้องที่ประชาชนสามารถกระทำได้ ไม่มีพฤติการณ์ยุยงให้เกิดความไม่สงบ กิจกรรมเกิดขึ้นในที่โล่งกว้าง อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่มีสภาพแออัด

สำหรับคดีนี้ มีผู้ถูกกล่าวหารวม 13 คน ได้แก่ ธนชัย เอื้อฤาชา, เอกชัย หงส์กังวาน, ธนกร ทองอนันต์, จิตริน พลาก้านตง, นวพล ต้นงาม, ทรงพล สนธิรักษ์, กตัญญู หมื่นคำเรือง, ณัฐภูมิ สระทองออ, พรนิภา งามบาง, พระประนมกร ประณีต, วีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล, จตุพร แซ่อึง และ ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย

หลังการชุมนุมทั้งหมดถูกตำรวจ สน.พญาไท ออกหมายเรียก จึงได้ทยอยเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2564  แต่มีกรณีของพระประนมกร ที่ไม่ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา เนื่องจากออกธุดงค์ ทำให้ไม่ทราบว่ามีการออกหมายเรียก ต่อมาตำรวจไปขอศาลออกหมายจับ และเข้าจับกุมพระประนมกร เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2565 จากจังหวัดศรีสะเกษ รวมทั้งมีการนิมนต์พระเจ้าอาวาสวัดกลางภูสิงห์ มาทำพิธีลาสิกขาให้พระประนมกรด้วย หรือที่เรียกว่า “จับศึก”

.

.

หลังคดีผ่านไปกว่า 1 ปี ล่าสุด พนักงานอัยการฝ่ายคดีศาลแขวง 3 ได้มีหนังสือลงวันที่ 26 ก.ย. 2565 แจ้งคำสั่งไม่ฟ้องคดีนี้อย่างเด็ดขาดกลับมายังผู้กำกับการ สน.พญาไท แล้ว 

เนื้อหาคำสั่งไม่ฟ้องโดยสรุประบุในสามประเด็นหลัก ได้แก่ 

1. พิจารณาแล้วเห็นว่าความผิดฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 28 และ 30 บัญญัติโดยใช้คำว่า “ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค…” และ “ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าคน…” โดยไม่ได้ระบุห้ามการเข้าร่วมทำกิจกรรมแต่อย่างใด

ดังนั้น ผู้ที่จะเป็นผู้กระทำผิดจึงมีได้แต่เพียงผู้จัดให้มีกิจกรรมการชุมนุมตามข้อกำหนดดังกล่าวเท่านั้น โดยคดีปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานยืนยันว่าผู้ต้องหาทั้งสิบสามเข้าร่วมชุมนุมในการทำกิจกรรมตามวันเวลาเกิดเหตุเท่านั้น จึงรับฟังไม่ได้ว่าทั้งสิบสามเป็นผู้จัดกิจกรรม

2. ส่วนความผิดฐานร่วมกันฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ฉบับที่ 9 ข้อ 3 ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่ที่มีการประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยประกาศดังกล่าวเป็นกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์ต่ำกว่าข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งยังอาศัยอำนาจตามข้อกำหนดดังกล่าวในการบัญญัติข้อห้ามดังกล่าว

ดังนั้น ในการพิจารณาว่าการกระทำใดจะเป็นความผิดตามประกาศและคำสั่งดังกล่าว จะต้องเป็นการชุมนุมทำกิจกรรมในสถานที่แออัดด้วย ซึ่งหมายถึงเป็นสถานที่ที่มีผู้ชุมนุมอยู่หนาแน่นตลอดพื้นที่ จนเป็นเหตุให้บุคคลที่เข้าร่วมชุมนุมในสถานที่ดังกล่าวไม่สามารถเว้นระยะห่างระหว่างกันได้ จนมีสภาพแออัดอันเสี่ยงใกล้ชิดสัมผัสและแพร่เชื้อโคโรน่าไวรัส 2019 

ในเอกสารสำนวนการสอบสวนพบว่า บริเวณที่จัดการชุมนุมเป็นพื้นที่กว้าง เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก สถานที่ชุมนุมจึงไม่มีสภาพเป็นสถานที่แออัด การกระทำของผู้ต้องหาทั้งสิบสามจึงไม่เป็นความผิดตามประกาศฯ ดังกล่าว 

3. ผู้ชุมนุมทั้งสิบสามขึ้นเวทีปราศรัยเพื่อแสดงความคิดเห็น และแสดงออกถึงข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมผ่านทางการทำกิจกรรมรวมกลุ่มโดยทั่วไปเท่านั้น ซึ่งประชาชนสามารถกระทำได้ ทั้งยังยุติการชุมนุมเอง โดยไม่มีพฤติการณ์ใดอันเป็นการแสดงว่ามีการยุยงให้เกิดความไม่สงบ และไม่ปรากฏเหตุการณ์ปะทะหรือขัดแย้งกับเจ้าพนักงานตามกฎหมาย พฤติการณ์ยังไม่พอฟังว่าผู้ต้องหาทั้งสิบสามกระทำความผิดตามข้อหา คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง

คำสั่งลงนามโดย พ.ต.ท.ธรรมปพนธ์ วงศ์ชนะภัยพาล อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

.

สำหรับกิจกรรม “ศุกร์ 13 ไล่ล่าทรราช” กลุ่มทะลุฟ้านัดหมายมวลชนเพื่อเดินคล้องแขนเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปยังบ้านพักของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อเรียกร้องให้ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเมื่อถึงแยกดินแดง พบว่ามีแนวตู้คอนเทนเนอร์ที่ตำรวจนำมาวางขวางเส้นทางยาวกว่า 100 เมตร มวลชนจึงปักหลักปราศรัยและดำเนินกิจกรรมภายใต้กรอบสันติวิธี แต่ไม่นานเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนได้ตอบโต้มวลชนด้วยการยิงแก็สน้ำตาและกระสุนยาง ทำให้กลุ่มทะลุฟ้าประกาศยุติการชุมนุมลงในเวลา 17.25 น. โดยยังไม่ได้เคลื่อนขบวนไปถึงบ้านพักของนายกฯ แต่อย่างใด

ระหว่างการชุมนุมดังกล่าว “ลูกนัท” ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย ถูกกระสุนแก็สน้ำตาเข้าบริเวณเบ้าตาด้านขวาจนได้รับบาดเจ็บ หลังเข้ารับการผ่าตัดและรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลไม่นาน ลูกนัทได้ออกมาเปิดเผยพร้อมกับใบรับรองแพทย์เพื่อยืนยันว่าดวงตาข้างขวาที่ถูกยิงดังกล่าวไม่สามารถมองเห็นได้ 

ทั้งนี้ นอกจากคดีของนักกิจกรรม 13 คนดังกล่าว ยังมีเยาวชน 1 ราย ได้แก่ “สายน้ำ” ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมวันเดียวกันนี้ด้วย โดยที่คดีของสายน้ำ อัยการกลับมีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางไปแล้ว เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2565 ขณะนี้อยู่ระหว่างรอนัดตรวจพยานหลักฐาน

จนถึงปัจจุบันมีคดีจากการชุมนุมในช่วงปี 2563-65 ที่ถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้วอย่างน้อย 28 คดี ซึ่งยังนับเป็นส่วนน้อย เมื่อเทียบกับคดีที่ต้องมีการต่อสู้คดีในชั้นศาลต่อไป

.

ดูตาราง สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง

อ่านสรุปสถานการณ์คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แม้ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุม กว่า 574 คดี ยังต้องต่อสู้ต่อ

.

X