29 ส.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีมาตรา 112 และ 116 ของ 8 นักกิจกรรม จากกรณีทำโพลขบวนเสด็จที่ห้างสรรพสินค้าพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 หลังในนัดครั้งแรก ทนายความได้ขอเลื่อนคดี เนื่องจากบุ้งและใบปอ ซึ่งขณะนั้นถูกคุมขังในเรือนจำ อาการทรุดกลางห้องพิจารณาคดี จนไม่สามารถรับฟังการพิจารณาใดๆ ในวันดังกล่าวได้
ในคดีนี้ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ได้ยื่นฟ้องคดี นักกิจกรรม 8 คน ได้แก่ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์, “บุ้ง” เนติพร, “ใบปอ” ณัฐนิช, ฐากูร, วรเวช, “บีม ณัฐกรณ์ (สงวนนามสกุล), “นุ้ย” (นามสมมติ) และ “แบม” (นามสมมติ) เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2565 จากนั้นศาลได้มีคำสั่งให้ประกันจำเลย 6 คนระหว่างการพิจารณาคดี
ส่วนของจำเลยอีก 2 ราย คือ “ใบปอ”และ “บุ้ง” ซึ่งถูกถอนประกันไปก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2565 หลังจากทนายความเข้ายื่นขอประกันตัวเป็นครั้งที่ 8 ศาลถึงมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันจำเลยทั้งสอง โดยวางหลักทรัพย์ประกันเป็นจำนวนเงินคนละ 200,000 บาท พร้อมตั้งพี่สาวของบุ้งเป็นผู้กำกับดูแลนักกิจกรรมทั้งสองคน
.
เวลา 09.30 น. บรรยากาศหน้าห้องพิจารณคดี 404 เต็มไปด้วยความเข้มงวดของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาล โดยมีการตรวจค้นสัมภาระของผู้เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี
ต่อมาเวลา 09.50 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดี โดยอ่านคำฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์ให้จำเลยทั้ง 8 คนทราบ ก่อนจำเลยทั้งหมดยื่นคำให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยศาลให้วรเวช หรือจำเลยที่ 6 และ บีม ณัฐกรณ์ จำเลยที่ 8 ในคดีนี้แสดงตัว
ทั้งนี้ ศาลให้วรเวชยอมรับว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับในคดีอื่นและขอให้เพิ่มโทษ ส่วนจำเลยที่ 8 ให้รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีอื่น ซึ่งโจทก์ขอให้นับโทษต่อ
โจทก์แถลงต่อศาลว่า ในคดีนี้มีพยานหลักฐานที่นำส่งต่อศาลจำนวน 19 อันดับ โดยมีพยานวัตถุรวม 2 อันดับ ก่อนที่ทนายความและจำเลยทั้ง 8 คน จะแถลงว่าไม่มีพยานเอกสารหรือพยานวัตถุที่จะให้โจทก์ตรวจหรือนำส่งต่อศาล เนื่องจากพยานหลักฐานทั้งหมดจะเป็นพยานที่ต้องให้ศาลออกหมายเรียกเท่านั้น
ในการตรวจพยานหลักฐาน อัยการโจทก์แถลงว่าจะนำสืบพยานรวม 19 ปาก อาทิเช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล 6, เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการตำรวจสันติบาล, ผู้สืบสวนการข่าวกรอง, เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของห้างสยามพารากอน และเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร ซึ่งจะมาเบิกความในส่วนของการจัดการอารักขาให้พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นต้น โดยขอใช้เวลาสืบพยานเป็นระยะเวลา 4 นัด
ส่วนทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่า ต้องการสืบพยานทั้งหมดรวม 34 ปาก โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก นักวิชาการที่จะมาให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ กลุ่มที่สอง คือพยานผู้อยู่ในเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุ กลุ่มที่สาม คือ ผู้แสดงความเห็นในแบบสำรวจทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และกลุ่มที่สี่ คือ ผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนการรักษาความปลอดภัยในขบวนเสด็จ ขอใช้เวลาในการสืบพยานรวม 10 นัด
เวลา 10.50 น. ศาลอ่านรายงานกระบวนพิจารณาคดี โดยกำหนดการสืบพยานรวมทั้งหมด 14 นัด และให้โจทก์และจำเลยไปกำหนดวันนัดวันที่ศูนย์นัดความของศาล
ต่อมา คู่ความตกลงกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์เป็นวันที่ 5 – 8 ก.ย. 2566 โดยสืบพยานจำเลยวันที่ 24 – 27, 31 ต.ค. 2566 และวันที่ 16 – 17, 28 – 30 พ.ย. 2566
.
ย้อนอ่านคำฟ้องคดีนี้