ฝากขังต่ออีก 7 วัน “ใบปอ – เนติพร” คดี ม.112 ศาลชี้พนักงานสอบสวนจำเป็นต้องรอผลตรวจสอบประวัติพิมพ์ลายมือผู้ต้องหาก่อน

6 พ.ค. 65 เวลา 13.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง “ใบปอ – เนติพร” (สงวนนามสกุล) จากกลุ่มทะลุวัง ผู้ต้องหาในคดี ม.112 กรณีทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จที่บริเวณห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565  ซึ่งเป็นการฝากขังในผัดที่ 6 ต่ออีก 7 วัน แม้ทนายจะยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังต่อก็ตาม

ในช่วงบ่ายวันนี้ บรรยากาศหน้าศาล ไม่มีสื่อมวลชนติดตามสถานการณ์ เนื่องมาจากการนัดไต่สวนคัดค้านฝากขังในครั้งนี้ เกิดขึ้นอย่างฉุกละหุก ส่วนบรรยากาศหน้าห้องพิจารณาคดี 604 ยังคงเต็มไปด้วยความเข้มงวด โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตรวจตราผู้เข้าร่วมฟังพิจารณาคดีอย่างใกล้ชิด โดยมีเพื่อนของผู้ต้องหาเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วยจำนวน 1 คน

ก่อนเริ่มการไต่สวน เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้เดินทางมาพร้อมผู้ต้องหาซึ่งสวมใส่ชุดนักโทษหญิงในแดนแรกรับมาด้วยในวันนี้ รวมทั้งหมด 4 นาย และมีความเข้มงวดตลอดระยะเวลาที่ผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย ได้พูดคุยกับทนายความและทักทายกับเพื่อนผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์ 

เวลา 13.40 น. ศาลได้อ่านคำร้องขอฝากขังที่พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้ยื่นขอ ก่อนที่จะให้พนักงานสอบสวนผู้ร้องขึ้นเบิกความ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องในคำร้องดังกล่าว

ต่อมา ศาลให้ทนายความขึ้นถามค้าน ทนายได้แถลงว่าคดีนี้เหลือเพียงการรอผลตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหา และรอเสนอสำนวนให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งฟ้อง ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้อีก 

ก่อนทนายสอบถามพนักงานสอบสวนว่า ลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหาทั้ง 2 รายนั้น ได้ไปตั้งแต่ในวันที่แจ้งข้อกล่าวหาแล้วใช่หรือไม่ ซึ่งพนักงานสอบสวนผู้ร้องได้ตอบว่า ใช่

ในคำร้องคัดค้านการฝากขังยังระบุด้วยว่า ในคดีนี้ไม่มีเหตุหรือความจำเป็นที่จะออกหมายขังผู้ต้องหาไว้อีกต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามมาตรา 71 และมาตรา 66 โดยมีใจความสำคัญระบุว่า “เมื่อได้ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาแล้ว ในระยะใดระหว่างสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ตามมาตรา 87 หรือมาตรา 88 ก็ได้ และให้นำบทบัญญัติในมาตรา 66 มาบังคับใช้โดยอนุโลม ดังนั้น พนักงานสอบสวนจะใช้ดุลพินิจพิจารณาว่ามีเหตุที่จะขอให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาไว้หรือไม่ จึงต้องพิจารณาตามมาตรา 66 ประกอบด้วยเป็นสำคัญ ซึ่งคดีนี้ผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์จะหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุภยันตรายประการอื่น”

ทนายความยังแถลงในคำร้องว่า พฤติการณ์ที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหานั้น เป็นเพียงการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยเป็นการชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีเหตุความวุ่นวายหรือสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือร่างกายผู้ใด กิจกรรมดังกล่าวที่ถูกกล่าวหาไม่ใช่การก่อเหตุอันตราย ซึ่งผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ต่อมาในเวลา 14.20 น. ศาลได้อ่านรายงานกระบวนพิจารณา ก่อนจะออกจากห้องพิจารณาเพื่อปรึกษากับคณะผู้บริหารศาล และให้ผู้ต้องหารอฟังคำสั่งต่อไป

และในเวลา 14.45 น. ศาลได้มีคำสั่งว่า “พิเคราะห์เหตุตามคำร้องขอฝากขังและคำคัดค้านของทนายผู้ต้องหาแล้ว เห็นว่าคดีนี้พนักงานสอบสวนผู้ร้องขอให้ฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 6 หลังจากได้ร้องขอให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาตาม ประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา มาตรา 134 แล้ว และเมื่อผู้ร้องยืนยันว่าพนักงานสอบสวนจำเป็นที่จะต้องรอผลการตรวจสอบประวัติพิมพ์ลายนิ้วมือผู้ต้องหา และเสนอสำนวนต่อผู้บังคับบัญชาพิจารณา อันเป็นกรณีการสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จกรณีจึงมีเหตุจำเป็นเพื่อทำการสอบสวนหรือฟ้องคดี ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 

“ส่วนเหตุตามคำร้องคัดค้านของทนายความ ลงวันที่ 5 พ.ค. 65 นั้น ไม่ต้องตามข้อกฎหมายดังกล่าว แต่เมื่อพิจารณาถึงเหตุจำเป็นที่ผู้ร้องจะต้องทำการสอบสวน ประกอบกับผู้ต้องหาถูกคุมขัง จึงอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาต่ออีก 7 วัน และกำชับให้ผู้ร้องเร่งสอบสวนให้แล้วเสร็จ” ผู้พิพากษาที่ลงนามในคำสั่ง คือ นายตระการ สุรมณี

เมื่อเสร็จสิ้นการพิจารณา ใบและเนติพรได้ถูกนำตัวกลับทัณฑสถานหญิงกลางทันที โดยตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. จนถึงวันที่ 6 พ.ค. 2565 ผู้ต้องหาทั้ง 2 รายถูกคุมขังมาแล้ว 4 วัน 

.

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ศาลสั่งถอนประกัน “ใบปอ – เนติพร” ผู้ต้องหา ม.112 คดีทำโพลขบวนเสด็จ ชี้สร้างความวุ่นวายกับกลุ่มผู้ชุมนุมอื่น ผิดเงื่อนไขประกัน

บันทึกเยี่ยม ‘ใบปอ’ และ ‘เนติพร’: กำลังใจยังดี ฝากขอบคุณทุกคนข้างนอกที่ยังยืนหยัดร่วมต่อสู้

X