ไต่สวนถอนประกัน “ใบปอ – เนติพร” พงส.อ้างทำโพลอีก 2 ครั้ง-แชร์โพสต์ “ทะลุวัง” ผิดเงื่อนไขประกัน ศาลเข้าปรึกษาผู้บริหารก่อนเลื่อนฟังคำสั่งไปอาทิตย์หน้า

27 เม.ย. 2565 เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดไต่สวนคำร้องของพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ที่ขอถอนประกัน ‘ใบปอ’ และ ‘เนติพร’ (สงวนนามสกุล) จากกลุ่มทะลุงวัง ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 กรณีทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จที่บริเวณห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 

ในช่วงเช้าวันนี้ พบกลุ่มสื่อมวลชนจำนวนมากร่วมติดตามสถานการณ์อยู่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ ตลอดจนมีเจ้าหน้าที่จากสหประชาชาติ (UN) และสถานทูตเยอรมนี นักกิจกรรมและประชาชน รวมประมาณ 20 คน เดินทางมาเข้าร่วมสังเกตการณ์และให้กำลังใจนักกิจกรรมทั้ง 2 รายในห้องพิจารณาด้วย

เวลา 10.40 น. ที่ห้องพิจารณาคดี  601 ศาลได้ให้พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ผู้ร้อง เข้าเบิกความ และไต่สวนข้อเท็จจริงตามคำร้อง โดยศาลขอให้ผู้ร้องแสดงบัตรประจำตัวหรือบัตรประชาชน แต่พนักงานสอบสวนไม่ได้พกบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่หรือบัตรประชาชนมาแต่อย่างใด 

ก่อนเริ่มการไต่สวน ศาลได้ชี้แจงให้ใบปอ, เนติพร และทนายผู้ต้องหาทราบว่า ในการไต่สวนวันนี้จะทำเหมือนการสืบพยาน และเมื่อไต่สวนเสร็จ ศาลจะเข้าประชุมกับคณะผู้บริหารศาล และขอให้ผู้ต้องหารอฟังคำสั่งต่อไป

การไต่สวนเริ่มขึ้นโดยศาลได้สอบถามพนักงานสอบสวนว่า ในวันที่ 8 ก.พ. 2565 ผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย ได้เข้าชุมนุมแบบใด พนักงานสอบสวนเบิกความว่า ทั้งสองเป็นผู้จัดกิจกรรมทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จที่บริเวณห้างสยามพารากอน โดยมี ‘ใบปอ’ เป็นผู้ถือป้ายโพล และ ‘เนติพร’ เป็นผู้ถือสติกเกอร์แจกจ่ายแก่ประชาชนที่เดินสัญจรผ่านไปมา โดยบนแผ่นป้ายปรากฏช่องแสดงความคิดเห็น 2 ประการ คือ เดือนร้อนและไม่เดือดร้อน โดยมีใบปอเป็นผู้ชักชวนให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นโดยการติดสติกเกอร์ลงในช่องดังกล่าว ส่วนเนติพรเป็นผู้ถือสติกเกอร์เพียงเท่านั้น

ศาลถามต่ออีกว่า หลังจากการยืนถือโพลอยู่บริเวณหน้าสยามพารากอน ผู้ชุมนุมได้เคลื่อนตัวไปที่ไหน อย่างไรบ้าง พนักงานสอบสวนเบิกความตอบว่า ผู้ชุมนุมรวมถึงผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย ได้เคลื่อนตัวไปทำโพลที่หน้าร้าน Sirivannavari หลังจากนั้นก็ย้ายไปที่ลานน้ำพุในห้างดังกล่าว โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของห้างคอยควบคุมอยู่ตลอดเวลา เวลาประมาณ 17.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมและผู้ต้องหาได้เคลื่อนตัวไปที่วังสระปทุม โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยควบคุมความสงบอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากว่าเป็นพื้นที่ควบคุมเข้มงวด และได้มีการตักเตือนและขอให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม ในเวลา 18.30 น.

พนักงานสอบสวนเบิกความต่อว่า จนกระทั่งในวันที่ 10 มี.ค. 2565 เจ้าหน้าที่ได้มีการนำตัวผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหาและฝากขังต่อศาล โดยศาลได้อนุญาตให้ฝากขัง จากนั้นทนายความได้ยื่นเรื่องขอประกันตัว ศาลได้อนุญาตให้ประกันโดยมีเงื่อนไขระบุว่า “ห้ามทำกิจกรรมใดๆ ที่จะสร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดจนห้ามโพสต์ข้อความหรือชักชวนให้ประชาชนพูดถึงสถาบันฯ ในทางเสื่อมเสีย ตลอดจนสร้างความวุ่นวายให้กับบ้านเมือง”

พนักงานสอบสวนแถลงต่อศาลต่อไปว่า ต่อมา ในวันที่ 13 มี.ค. 2565 มีรายงานการสืบสวนจากกองกำกับการสืบสวนสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ว่า ผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย ได้จัดกิจกรรมทำโพลสอบถามประชาชนในบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเรื่อง “ขบวนเสด็จ ม็อบชาวนา ปัญหาหนี้สิน การผูกขาดที่ดิน โดยกลุ่มทุน-ศักดินา” โดยตั้งคำถามในโพลว่า “คุณยินดีที่จะยกบ้านของคุณให้กับราชวงศ์หรือไม่” โดยปรากฏตัวเลือก 2 ประการ คือ ยินดีและไม่ยินดี ทั้งนี้ ผลโพลดังกล่าวได้นำไปใช้ในการยื่นถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์ในกรณีที่ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เวนคืนที่ดินในชุมชนตลาดเฉลิมลาภด้วย

รายงานการสืบสวนยังระบุอีกว่า ในวันที่ 21 มี.ค. 2565 ใบปอได้ถ่ายรูปคู่กับพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในลักษณะท่าทางที่ไม่เหมาะสม อันเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการสำรวจโพลความคิดเห็นของประชาชนต่อการจ่ายภาษีให้กับราชวงศ์ที่ราชประสงค์ เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2565 และการแชร์โพสต์ของใบปอจากเพจ “ทะลุวัง -ThaluWang” ในหลายๆ ครั้ง 

เวลา 12.20 น. ศาลสอบถามพนักงานสอบสวนจนจบ แต่ทนายผู้ต้องหายังไม่ได้ถามค้าน ศาลให้เลื่อนไปไต่สวนต่อในช่วงบ่าย

ในเวลา 13.30 น. ศาลได้ให้ทนายผู้ต้องหาถามค้านพนักงานสอบสวน โดยทนายได้ถามว่า ในโพลของกิจกรรมเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 มีตัวเลือก 2 ประการ คือ เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นการสำรวจความเดือดร้อนของประชาชนจากขบวนเสด็จที่ไม่ได้มีการบังคับหรือเชิญชวนให้ใครต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งใช่หรือไม่ พนักงานสอบสวนตอบว่า ถูกต้อง ผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย ไม่ได้มีการบังคับให้ประชาชนที่สัญจรผ่านไปมาต้องเข้ามาทำโพล

จากนั้นทนายความได้ยกพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งทรงตรัสไว้ว่า “หากขบวนเสด็จได้สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน ขอให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายอำนวยความสะดวกให้ประชาชนด้วย” และได้ถามกับผู้ร้องว่า การทำกิจกรรมของผู้ต้องหาจะเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ได้อย่างไรในเมื่อกษัตริย์ทรงได้ตระหนักรู้และตรัสไว้เช่นเดียวกันแบบนั้น

ทนายความยังได้ถามพนักงานสอบสวนที่ยื่นคำร้องขอถอนประกันถึงข้อกล่าวหาที่ว่า การแชร์ข้อความจากเพจ “ทะลุวัง” ลงเฟซบุ๊กส่วนตัวของผู้ต้องหา เป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และทำผิดเงื่อนไขการประกันตัวว่า พยานทราบถึงความสัมพันธ์ของเพจกับผู้ต้องหาหรือไม่ พนักงานสอบสวนตอบว่าไม่ทราบ และไม่มีหลักฐานถึงความเกี่ยวข้องของแอดมินเพจดังกล่าวกับผู้ต้องหาทั้งสอง 

ทนายความจึงแถลงต่อศาลว่า การกล่าวหาด้วยโพสต์ข้อความจากเพจทะลุวัง ไม่ได้หมายความว่าผู้ต้องหาจะเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว หากจะแจ้งดำเนินคดีก็ต้องทำการแจ้งความกับผู้แชร์คนอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่เพียงผู้ต้องหาในคดีนี้เท่านั้น

หลังจากทนายผู้ต้องหาหมดคำถาม ผู้ต้องหาได้แถลงขออนุญาตเบิกความถึงข้อเท็จจริงด้านการศึกษาของตนที่มีความเกี่ยวข้องกับการสำรวจความคิดเห็นและปัญหาของประชาชน เพื่อนำไปพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่อไป โดยการทำโพลต่างๆ ที่ปรากฏต่อสาธารณชนนั้นเป็นการเรียนรู้และเป็นประโยชน์ในเชิงวิชาการในการศึกษาและการทำงานของตัวผู้ต้องหาเอง ซึ่งผู้ต้องหาได้แถลงว่า “การสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันฯ แต่เป็นการทำไปเพื่อให้เห็นความสุจริต และเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองที่พึงมี ซึ่งสามารถกระทำได้ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย”

อีกทั้งในการทำกิจกรรมสำรวจความคิดเห็นทั้งสองครั้งที่พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน อ้างถึง ก็ไม่ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีจาก สน.พญาไท และ สน.ลุมพินี  ซึ่งเป็นท้องที่ที่ผู้ต้องหาเข้าไปทำกิจกรรมอีกด้วย

ราว 15.00 น. หลังเสร็จการไต่สวน ศาลแจ้งให้รอฟังคำสั่งภายในวันนี้โดยบันทึกลงในรายงานกระบวนพิจารณาด้วย ก่อนออกจากห้องพิจารณาไปประชุมกับคณะผู้บริหารตามที่ได้แจ้งไว้ก่อนเริ่มการไต่สวน

หลังจากทุกคนให้ห้องพิจารณารออยู่กว่า 1 ชั่วโมง ประมาณ 16.30 น. ศาลได้กลับมาที่ห้องพิจารณาและขอแก้ไขรายงานกระบวนพิจารณาจากให้รอฟังคำสั่งวันนี้ เป็นนัดฟังคำสั่งในวันที่ 3 พ.ค. 2565 โดยไม่ได้ชี้แจงเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงคำสั่งดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าในระหว่างการไต่สวนคำร้องถอนประกัน ศาลได้ใช้คำว่า ‘ชุมนุม’ แทนคำว่า ‘กิจกรรมทำโพลสำรวจ’ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ผู้ต้องหาและทนายความได้แถลงต่อศาลว่าลักษณะของการทำกิจกรรมของกลุ่มผู้ต้องหานั้นไม่ได้เป็นไปในรูปแบบของการชุมนุม หากแต่เป็นเพียงการเดินสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไป และไม่ได้ก่อให้เกิดความวุ่นวายหรือความไม่สงบต่อบ้านเมืองแต่อย่างใด

.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

เลื่อนนัดไต่สวนถอนประกัน “ใบปอ-เนติพร” คดี ม.112 ทำโพลขบวนเสด็จ ไปวันที่ 27 เม.ย.

จับ “เมนู-ใบปอ-พลอย” ตามหมายจับ ม.112 – พ.ร.บ.คอมฯ เหตุแชร์โพสต์ “งบสถาบันกษัตริย์” จากเพจ “ทะลุวัง” ก่อนศาลให้ประกันตัว | 

ตร.แจ้ง ม.112-116 ต่อ 5 ประชาชน-1 เยาวชน เหตุทำโพลความเดือดร้อนขบวนเสด็จ ศาลรับฝากขัง เรียกเงินประกันรวม 1,020,000 บาท ภายใต้เงื่อนไข | ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

X