จับ “เมนู-ใบปอ-พลอย” ตามหมายจับ ม.112 – พ.ร.บ.คอมฯ เหตุแชร์โพสต์ “งบสถาบันกษัตริย์” จากเพจ “ทะลุวัง” ก่อนศาลให้ประกันตัว

22 เม.ย. 2565 ตั้งแต่เวลา 07.20 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับแจ้งจาก ‘ใบปอ’ หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม “ทะลุวัง” ว่า ตนเอง, ‘เมนู’ สุพิชฌาย์ ชัยลอม และ ‘พลอย’ เบญจมาภรณ์ ซึ่งเป็นเยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปี ถูกตำรวจทางหลวงสกัดด้วยรถยนต์จำนวน 4 คัน บริเวณเขาย้อย จ.เพชรบุรี ขณะกำลังเดินทางพร้อมกลุ่มเพื่อนเพื่อไปพักผ่อน โดยขอดูบัตรประจำตัวประชาชน อ้างว่าเพื่อตรวจสอบว่าในรถมีบุคคลตามหมายจับหรือไม่ แต่ไม่ได้แสดงหมายจับดังกล่าว หลังนักกิจกรรมพยายามขอดูหมายจับ ตำรวจชุดดังกล่าวจึงแจ้งด้วยวาจาว่า มีหมายจับของใบปอ, เมนู และพลอย ทั้ง 3 คนจึงขอนั่งรถคันเดิมตามตำรวจไปเอง โดยชุดจับกุมนำไปยังหน่วยบริการตำรวจทางหลวง อ. ชะอำ เพื่อทำบันทึกจับกุม 

ต่อมา จึงทราบว่าเป็นการจับกุมตามหมายจับศาลอาญาและศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ลงวันที่ 20 เม.ย. 2565 ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดยมีกองกำกับการ 2 บก.ปอท. เป็นผู้ขอออกหมาย ในส่วนของหมายจับศาลอาญาของเมนูและใบปอ ออกโดยผู้พิพากษาณัฐนนท์ ดุจดำเกิง ขณะที่หมายจับศาลเยาวชนฯ ของพลอย ออกโดยผู้พิพากษาสุเทพ ภักดิกมล  


เวลา 10.30 น. ขณะทั้งหมดยังอยู่ที่หน่วยบริการตำรวจทางหลวง ตำรวจได้พยายามขอตรวจค้นอุปกรณ์มือถือและค้นรถ โดยมีการแสดงคำสั่งอนุญาตให้เข้าถึงโทรศัพท์และอุปกรณ์อิเลคโทรนิคของใบปอ, เมนู และพลอย ซึ่งออกโดยศาลอาญา เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2565 โดยมีผู้ร้องคือ ว่าที่พันตำรวจเอกชวินโรจน์ ภีมรัชตธำรงค์ อย่างไรก็ตามทั้ง 3 ได้มีการเจรจาพูดคุยว่าหากต้องการตรวจสอบ ขอให้เดินทางไปถึง บก.ปอท.และได้เจอกับทนายความก่อน ตำรวจจึงยังไม่ได้ตรวจค้นในเวลาดังกล่าว 

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ทนายความยังได้รับแจ้งจากเนติพร (สงวนนามสกุล) สมาชิกกลุ่มทะลุวังที่เดินทางไปด้วยกันว่า คอนโดที่เธอเช่าอยู่ถูกตำรวจนำหมายค้นออกโดยศาลอาญา เลขที่ 280/2565 ลงวันที่ 21 เม.ย. 2565 เข้าตรวจค้นในขณะที่พวกตนไม่ได้อยู่ที่ห้องพัก

เมื่อตรวจสอบพบว่าเป็นการตรวจค้นโดยเจ้าหน้าที่ บก.ปอท. ซึ่งมีนิติบุคคลของคอนโดอนุญาตให้ตำรวจเข้าตรวจค้น หลังตรวจค้นได้ยึดสิ่งของไป 7 รายการ ประกอบด้วย 1.คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค 1 เครื่อง 2.โทรศัพท์มือถือ iphone 1 เครื่อง 3.เสื้อยืดคอกลมสกรีนข้อความ ‘พี่รู้พี่มันเลว’ 44 ตัว 4.เสื้อยืดคอกลมสกรีนข้อความ ‘เล็กยิงพี่ทำไม’ 47 ตัว 5.เสื้อยืดคอกลม สกรีนโลโก้ ‘เพจทะลุ’ วัง 1 ตัว 6.สติกเกอร์ 64 แผ่น 7.กระดาษแสดงความคิดเห็นจำนวน 4 แผ่น 

เมื่อเนติพรได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่นิติบุคคล เจ้าหน้าที่ได้ระบุว่า มีการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นจริงและมีแนวโน้มที่จะยกเลิกสัญญาเช่าเนื่องจากเธอและเพื่อนอาจเป็นผู้กระทำความผิดอาญา 

ในระหว่างที่ทั้งหมดถูกควบคุมตัวไว้เพื่อทำบันทึกจับกุมที่ป้อมตำรวจหน่วยบริการทางหลวง อ.ชะอำ โดยไม่มีทนายความร่วมอยู่ในกระบวนการดังกล่าวด้วย ทั้ง 3 ได้เจรจาขอขับรถไปยัง บก.ปอท. ด้วยตนเอง โดยมีตำรวจขับรถตามไป แต่ตำรวจไม่ยินยอม ท้ายที่สุดใบปอ, เมนู และพลอย จึงต้องขึ้นรถตู้ที่ตำรวจจัดเตรียมไว้ โดยมีตำรวจ 5 นาย นั่งรถไปด้วย เป็นชาย 2 หญิง 3 โดยออกเดินทางในเวลาประมาณ 12.30 น.

ช่วงเวลาประมาณ 13.30 น. บริเวณหน้า บก.ปอท. มีการใช้แบริเออร์ปิดทางเข้า โดยให้เข้า-ออกทางเดียว พร้อมมีเจ้าหน้าที่ตรึงกำลังอยู่หน้าทางเข้า-ออก จำนวนประมาณ 10 คน โดยมีประชาชนทยอยเดินทางมาติดตามการจับกุมตัว ใบปอ เมนู และพลอย มายัง บก.ปทอ. ซึ่งย้ายอยู่ภายในบริเวณเดียวกับกองบังคับการตำรวจปราบปราม

กระทั่งเวลา 15.16 น. ใบปอ เมนู และพลอย ถูกนำตัวมาถึง บก.ปอท. โดยได้พบกับทนายความเป็นครั้งแรก ตำรวจได้ยื่นคำร้องขอฝากขัง เมนูและใบปอต่อศาลอาญาผ่านระบบวิดิโอคอนเฟอเรนซ์ ขณะที่พลอยถูกแยกตัวไปตรวจสอบการจับกุมและขอออกหมายควบคุมตัวที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง 

พนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอท. ร.ต.อ.รัชฎ์วิทย์ สิทธิโชค ได้ระบุรายละเอียดพฤติการณ์คดีในคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 ว่า 

เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2565 ปิยกุล วงษ์สิงห์ ผู้กล่าวหา ได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดําเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ใช้เฟซบุ๊ก ผู้ดูแล หรือผู้บริหารเพจ “ทะลุวัง ThaluWang” ที่มีการโพสต์ข้อความในความผิดฐาน “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์” อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ “นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” 

โดยผู้กล่าวหาให้การว่า เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2565 เวลาประมาณ 20.30 น. ขณะที่ผู้กล่าวหาเข้าใช้เฟซบุ๊ก และเข้าไปดูที่เพจ “ทะลุวัง ThaluWang” พบว่า มีการโพสต์ข้อความว่า “งบสถาบันกษัตริย์ปี 2565 ตลอดระยะเวลาที่รัฐบาลเผด็จการอุ้มชูสถาบันกษัตริย์ไว้นั้น จากตัวเลขที่ถูกเปิดเผยเมื่อปีก่อน ว่างบสถาบันกษัตริย์มีประมาณ 3 หมื่นกว่าล้านบาท แต่ในความเป็นจริงงบสถาบันกษัตริย์ตลอดทั้งปีนี้มีจํานวนประมาณ 4 หมื่นกว่าล้านบาท โดยเบื้องต้นใช้จ่ายไปกับ..” 

ต่อมาเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2565 ผู้กล่าวหาได้มาให้การเพิ่มเติม เพื่อกล่าวหาผู้ใช้เฟซบุ๊กจํานวน 3 บัญชีที่แชร์โพสต์ข้างต้นเมื่อวันที่ 30 และ 31 มี.ค. 2565 ประกอบด้วย เฟซบุ๊กของใบปอ, พลอย และ เมนู โดยเห็นว่า เป็นการกล่าวหาพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระญาติ รวมทั้งในหลวงรัชกาลที่ 10 ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง โดยมีเจตนาทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพนับถือ อย่างชัดแจ้ง โดยมิได้เกรงกลัวต่อความผิดอาญาแผ่นดินแต่อย่างใด

จากการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่า ใบปอ, เมนู  และพลอย เป็นสมาชิกของ “กลุ่มทะลุวัง” ซึ่งเป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นโดยคณะบุคคลที่มีแนวความคิดต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกับกลุ่มคณะราษฎร ที่เรียกร้องให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยมีการทํากิจกรรมทางการเมืองเชิงสัญลักษณ์เพื่อต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ มีการเผยแพร่แนวคิดและกิจกรรมผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจชื่อ “ทะลุวัง-ThaluWang” มีวัตถุประสงค์ในการลดทอนความศรัทธาเชื่อถือของประชาชน ด้อยค่า สร้างความเสื่อมเสียให้เกิดขึ้นกับสถาบันพระมหากษัตริย์ 

โดยใบปอ เมนูและพลอย เป็นสมาชิกที่แสดงตนทํากิจกรรมต่อต้านสถาบันภาคพื้นดิน แล้วกลุ่มบุคคลที่ปกปิดตัวตนก็จะนําภาพถ่าย และคลิปวีดีโอ ที่มีการทํากิจกรรมไปเผยแพร่ทางออนไลน์ ผ่านบัญชีเฟซบุ๊ก 

พฤติการณ์ของใบปอกับพวกจึงมีรูปแบบเป็นการกระทําความผิดในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทําโดยมี เจตนามุ่งหมายในวัตถุประสงค์เดียวกัน เพื่อเผยแพร่แนวคิดต่อต้าน ด้อยค่า บิดเบือน ลดทอนความน่าเชื่อถือศรัทธาของประชาชน สร้างความเสื่อมเสียให้เกิดขึ้นกับสถาบันพระมหากษัตริย์


เวลา 17.10 น. ภายหลังศาลอาญาอนุญาตให้ฝากขัง และนายประกันอาสาได้ยื่นประกันเมนูและใบปอ ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างสอบสวน ตีราคาหลักประกันคนละ 100,000 บาท ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลยังกำหนดเงื่อนไข “ห้ามกระทำการใดๆ ในลักษณะหรือทำนองเดียวกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ หรือห้ามเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง หรือกระทำการหรือร่วมกิจกรรมใดๆ ในอันที่จะทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราว และรายงานตัวต่อศาลทุก 30 วัน จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง มิฉะนั้นจะถือว่าผิดสัญญา”

ทั้งนี้เจ้าหน้าได้ปิดชื่อผู้พิพากษาที่มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวเมนูและใบปอในวันนี้

ขณะเดียวกันในเวลา 17.30 น. ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ศาลได้ทำการตรวจสอบการจับพลอย โดยลงความเห็นว่า การจับกุมชอบด้วยกฎหมาย ก่อนจะออกหมายควบคุมตัว อย่างไรก็ตาม ศาลได้อนุญาตให้พลอยได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์จำนวน 20,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยมีผู้ปกครองเป็นนายประกัน

การจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาในครั้งนี้ ทำให้คดีในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พุ่งขึ้นเป็น 201 คดี นับตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 2563 – 22 เม.ย. 2565 โดยคดีนี้เป็นคดีตามมาตรา 112 คดีที่ 2 ของเมนูและใบปอ ขณะที่ “พลอย” เบญจมาภรณ์ กลายเป็นเยาวชนคนที่ 15 ซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหาดังกล่าว

>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-65

X