ตร.บก.ปอท.จับชายวัย 59 ปี จากภูเก็ต แจ้งข้อหา ม.112 ศาลไม่ให้ประกันตัว อ้างเหตุผู้ประกันไม่ใช่ญาติ

21 ม.ค. 2565 เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า พงษ์ (นามสมมติ) วัย 59 ปี ถูกเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เข้าจับกุมตามหมายจับจากบ้านพักใน จ.ภูเก็ต ก่อนถูกนำตัวมาคุมขังไว้ที่ สน.ทุ่งสองห้อง ตั้งแต่ช่วงค่ำของวันที่ 20 ม.ค. 2565 จากการโพสต์เฟซบุ๊กจำนวน 6 โพสต์

“พงษ์” ถูกจับตามหมายจับของศาลอาญาที่ 69/2565 ลงวันที่ 19 ม.ค. 2565 ในความผิดฐาน “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิด เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา” โดยมีชุดจับกุมจากจากทั้ง บก.ปอท., ตำรวจจากภูธรภาค 8, ตำรวจจากภูธรจังหวัดภูเก็ต และ ตำรวจ สภ.เมืองภูเก็ต มีรายชื่อในบันทึกจับกุมรวมกันกว่า 22 นาย

นอกจากนี้ตำรวจยังได้นำหมายค้นของศาลอาญาที่ 29/2565 ลงวันที่ 19 ม.ค. 2565  เข้าค้นห้องเช่าของเขาที่ จ.ภูเก็ต และถูกตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง, คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก 1 เครื่อง, เอทานอลไดร์ฟ 1 อัน และกระดาษจดเนื้อเพลง 1 แผ่น การถูกยึดอุปกรณ์สื่อสารทำให้เขาไม่สามารถติดต่อญาติหรือทนายความได้ 

พงษ์ถูกนำตัวขึ้นเครื่องบินมาที่กรุงเทพฯ ในช่วงเวลาประมาณ 22.00 น. ของวันที่ 20 ม.ค. 2565 ก่อนจะถูกควบคุมตัวไว้ที่ สน.ทุ่งสองห้อง ในคืนนั้น 

เวลาประมาณ 12.00 น. ทนายความเดินทางไปพบ พงษ์ ที่ บก.ปอท. เพื่อเข้าร่วมกระบวนการในชั้นสอบสวน โดยข้อกล่าวหาพงษ์ ระบุว่า เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2565 น.ส.กัญจ์บงกช เมฆาประพัฒน์สกุล ได้มา พบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดําเนินคดีกับผู้ใช้เฟซบุ๊กบัญชีหนึ่ง (ซึ่งไม่ใช่ชื่อสกุลจริงของพงษ์) จำนวน 6 โพสต์ โดย ‘พงษ์’ ถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของแอคเคาท์เฟซบุ๊กดังกล่าว

ข้อความทั้ง 6 โพสต์ เป็นการโพสต์ในช่วงวันที่ 11 ต.ค. – 14 พ.ย. 2564 ในเวลากลางวันและกลางคืน โดยเป็นการโพสต์ข้อความประกอบภาพรัชกาลที่ 10 จำนวน 2 ข้อความ และเป็นการโพสต์ข้อความเพียงอย่างเดียว 4 ข้อความ 

พนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าการโพสต์ข้อความข้างต้น เป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อความที่มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาท และ/หรือดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นการดูหมิ่นพระเกียรติ และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยประการที่น่าจะทําให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติยศ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง โดยเจตนาทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ ซึ่งองค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้  

เมื่อ ‘พงษ์’ ได้พบกับทนายความในชั้นสอบสวน พงษ์ได้ให้การปฎิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยจะส่งคำให้การเพิ่มเติมภายในวันที่ 21 ก.พ. 2565 

อย่างไรก็ตาม ร.ต.อ.ปฐมพงษ์ ชุมมาก พนักงานสอบสวน บก.ปอท. ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลอาญา โดยอ้างเหตุว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบพยานเพิ่มเติมอีก 7 ปาก และรอผลตรวจลายนิ้วมือ-ประวัติการต้องโทษของผู้่ต้องหา พร้อมยังคัดค้านการขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยอ้างว่าคดีมีอัตราโทษสูง ประกอบกับเป็นคดีสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น 

เวลา 16.35 น. ศาลอาญารัชดา ได้อนุญาตให้ฝากขัง ‘พงษ์’ ผ่านทางระบบวิดิโอคอนเฟอเรนซ์ เป็นระยะเวลา 12 วัน ตามคำขอของพนักงานสอบสวน ทั้งได้ยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา ซึ่งขอประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์ 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยศาลให้เหตุผลว่า ผู้ขอประกันมิได้มีความเกี่ยวข้องหรือเป็นญาติกับผู้ต้องหา ทำให้เขาจะถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที 

คำสั่งไม่ให้ประกันตัวลงนามโดยนายอรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา

ข้อมูลเบื้องต้นทราบว่า ‘พงษ์’ ไม่มีครอบครัว เขาอาศัยอยู่คนเดียวในบ้านเช่าและเพิ่งถูกบริษัทเอกชนเลิกจ้างจากงานรับจ้างงานหนึ่ง

ทั้งนี้ หลังการกลับมาบังคับใช้มาตรา 112 อีกระลอก ตั้งแต่ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงวันที่ 21 ม.ค. 2565 พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ไปแล้วอย่างน้อย 168 คน ใน 173 คดี

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

สถิติผู้ถูกคุมขังคดีทางการเมืองในระหว่างต่อสู้คดี

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-65

X