ฟ้องแล้ว! คดี 112-พ.ร.บ.คอมฯ ผู้ป่วยจิตเวช วัย 28 โพสต์ข้อความพร้อมภาพพาดพิง ร.10 รวม 4 โพสต์  

เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2565 ที่ ศาลอาญา พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สุภิสรา (สงวนนามสกุล) หญิงวัย 28 ปี ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 กล่าวหาว่าโพสต์เฟซบุ๊กที่มีภาพและข้อความในทำนองหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จำนวน 4 โพสต์ ในช่วงวันที่ 6-7 ม.ค. 2564

คดีนี้มี วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ แอดมินแฟนเพจ “เชียร์ลุง” เป็นผู้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)  เมื่อต้นปี 2564  

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2564 สุภิสราถูกตำรวจ บก.ปอท. จับกุมถึงบ้านพักตามหมายจับของศาลอาญา ก่อนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในวันต่อมาด้วยเงินสด 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ 

ทั้งนี้ ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน สุภิสราได้ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยไม่มีทนายความเข้าร่วม โดยพ่อของเธอได้ให้การว่า สุภิสราเป็นผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมาแล้ว 2 รอบ ก่อนเกิดเหตุก็เพิ่งเข้าการรักษาที่โรงพยาบาลมา 3 เดือน พร้อมกับยื่นเอกสารแสดงการเข้ารักษาในโรงพยาบาลจิตเวชเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาดำเนินคดีของพนักงานสอบสวน 

อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวน บก.ปอท. และอัยการมีคำสั่งฟ้องสุภิสราในที่สุด

อัยการฟ้อง 4 โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุเป็นการด่า ร.10 ว่าเป็นผู้มักมากในกามคุณ ผิดตาม ม.112- พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ม.14(3) 

อานนท์ ปราการรัตน์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 บรรยายคำฟ้องมีใจความโดยสรุปว่า ในคดีนี้จําเลยได้กระทําความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ เมื่อวันที่ 6-7 ม.ค. 2564 จำเลยได้โพสต์ข้อความพร้อมลงพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ลงในเฟซบุ๊กของจำเลย จำนวน 4 โพสต์

โดยอัยการระบุว่า ข้อความพร้อมภาพที่จำเลยโพสต์นั้นเพื่อให้ประชาชนทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจได้ว่า เป็นการด่ารัชกาลที่ 10 ด้วยการเปรียบเทียบว่า เป็นบุคคลที่มักมากในกามารมณ์ หมกมุ่นในเรื่องกาม เป็นการดูหมิ่น เหยียดหยามพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นประมุขทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ โดยประการที่น่าจะทําให้พระมหากษัตริย์ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง 

ทั้งเป็นการปลุกปั่นทําให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดและจูงใจให้ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ จนอาจนํามาซึ่งความเกลียดชัง ก่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดออกมาล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน โดยจําเลยรู้อยู่แล้วว่าข้อมูลที่จําเลยโพสต์นั้น เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร 

ทั้งนี้ อัยการบรรยายถึงโพสต์ที่ 4 ว่า จำเลยได้โพสต์ข้อความประกอบกับภาพรัชกาลที่ 10 ที่มี “การตัดต่อ” เครื่องทรงของรัชกาลที่ 10 ให้เป็นชุดที่ไม่สุภาพและไม่เหมาะสม และมีการเพิ่มเติมรอยสัก โดยปรากฏภาพในเอกสารแนบท้ายคำฟ้อง เป็นภาพรัชกาลที่่ 10 ในชุดเสื้อครอปท็อปสีดำ และเจ้าคุณพระสินีนาฏฯ ในชุดเสื้อครอปท็อปสีขาว 

ท้ายคำฟ้องพนักงานอัยการยังได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยระหว่างพิจารณาคดี โดยอ้างเหตุว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี

การกระทำของสุภิสราอัยการถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14  

เมื่อสุภิสราเข้ารายงานตัวตามสัญญาประกันเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565 ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้หลักประกันเดิมในชั้นสอบสวน เป็นเงินสดจำนวน 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ และได้นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 4 เม.ย. 2565 เวลา 09.00 น.

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ตั้งแต่หลังการชุมนุมเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 จนถึงวันที่ 2 ก.พ. 2565 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 169 ราย ใน 176 คดี ในจำนวนนี้มีอย่างน้อย 3 ราย ซึ่งมีอาการทางจิตเวช  

ฐานข้อมูลคดี

คดี 112 “สุภิสรา” ผู้ป่วยจิตเวช โพสต์ 4 ข้อความพร้อมภาพพาดพิง ร.10

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ปอท. บุกจับหญิงวัย 28 ที่บ้าน แจ้ง “ม.112-พ.ร.บ.คอมฯ” กล่าวหาว่าโพสต์พาดพิงสถาบันกษัตริย์ ขณะพ่อให้การเจ้าตัวมีอาการป่วยทางจิต

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-65

X