28 เม.ย. 2565 เวลา 15.10 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งจาก “ใบปอ” และ “บุ้ง” เนติพร (สงวนนามสกุล) สมาชิกกลุ่ม “ทะลุวัง” ว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางไปยังห้องพักของพวกตน พร้อมมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงร่วมด้วย เบื้องต้นยังไม่ทราบว่าเป็นเหตุจากคดีใด และมีหมายศาลมาด้วยหรือไม่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่แจ้งรายละเอียด ทำให้พวกเธอไม่เปิดประตูให้ตำรวจ
ต่อมา เวลา 16.40 น. หลังทนายความไปถึงคอนโดที่พักดังกล่าวแล้ว ได้ขอดูหมายจากตำรวจ เบื้องต้นทราบว่า ตำรวจมีหมายค้นที่ออกโดยศาลอาญาตลิ่งชันเพื่อพบบุคคลที่ถูกออกหมายจับ รวมทั้งมีหมายจับนักกิจกรรม 3 ราย คือ ใบปอ, เนติพร และ “เมนู” สุพิชฌาย์ ชัยลอม ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่ง สน.บางซื่อ เป็นผู้ขอออกหมาย
ก่อนหน้าที่ทนายความจะเดินทางไปถึง ภายในห้องพักซึ่งมี ใบปอ, เนติพร, เมนู, “พลอย” เบญจมาภรณ์ เยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปี และเพื่อนอีก 1 คน และไม่ยอมเปิดประตูห้องพักให้ตำรวจเข้าเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ชั่วโมง เพื่อรอทนายความ ตำรวจได้พยายามกดดันให้พวกเธอเปิดประตู โดยเนติพรระบุว่า ได้ยินเจ้าหน้าที่พูดว่า นิติบุคคลคอนโดกำลังไปตามช่างมาเปิดประตูซึ่งเป็นระบบดิจิตอล
เหตุการณ์ไลฟ์สดขณะตำรวจพยายามบุกรุก-จับกุม>> (3) Facebook
หลังทนายความตรวจสอบหมายค้นแล้ว ได้แจ้งนักกิจกรรมที่อยู่ในห้องว่า เป็นหมายค้นเพื่อพบบุคคลเท่านั้น เจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิเข้าค้นห้อง และจะไม่มีการเข้าค้นห้องแต่อย่างใด ทำให้ใบปอ, เนติพร และเมนู ซึ่งถูกระบุชื่อว่ามีหมายจับยินยอมเปิดประตูออกจากห้องไปพบตำรวจ
ตำรวจชุดจับกุมได้อ่านหมายจับที่ออกโดยศาลอาญาให้ทั้งสามฟัง โดยพวกเธอรับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับจริง จากนั้นตำรวจแจ้งว่า จะนำตัวทั้งสามคนไปสอบปากคำที่กองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) อย่างไรก็ตาม ก่อนออกเดินทาง โดยเมนูและใบปอ ถูกนำตัวขึ้นรถคันหนึ่ง มีเพื่อนเป็นผู้ไว้ใจติดตามไปด้วย ขณะเนติพรถูกแยกไปอีกคัน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งว่า จะเปลี่ยนไปทำบันทึกจับกุมและสอบปากคำที่ สน.บางซื่อ แทน โดยระหว่างทางเมนูและใบปอได้เปิดกระจกรถและชูสามนิ้วไปตลอดทาง พร้อมตะโกนว่า “ตำรวจจับประชาชน”
แต่เมื่อรถคันที่ควบคุมตัวใบปอและเมนูไปถึง สน.บางซื่อ แล้ว ตำรวจได้ขับออกทางด้านหลัง สน. เขาไปในซอยอินทามระ 4 ทำให้ทั้งสองโต้เถียงกับตำรวจและยืนยันว่าจะไป สน.บางซื่อ เท่านั้น ก่อนลงจากรถ กระทั่งทนายติดตามมาถึง และพูดคุยกับหัวหน้าชุดจับกุม จนในที่สุดทนายนั่งรถไปพร้อมใบปอและเมนูกลับไปที่ สน.บางซื่อ ซึ่งเนติพรถูกควบคุมตัวไปถึงก่อนแล้ว
ต่อมา เวลา 20.00 น. ตำรวจชุดจับกุมได้ทยอยทำบันทึกจับกุมใบปอ, เนติพร และเมนู ซึ่งทั้งสามทราบโดยเบื้องต้นว่า การจับกุมดังกล่าวเกิดจากเหตุ ทำโพลถามความเห็นประชาชนว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่รัฐบาลให้กษัตริย์ใช้อำนาจตามพระราชอัธยาศัย เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2565 ช่วงเย็น บริเวณทางเท้าระหว่างสถานีรถไฟฟ้าหมอชิตกับรถไฟฟ้าใต้ดินจตุจักร
ในระหว่างการทำบันทึกจับกุม ได้มีเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) มาที่ สน.บางซื่อ และพยายามจะขอตรวจโทรศัพท์ของทั้งสามคน โดยอ้างว่ามีหมายขอเข้าถึงข้อมูล แต่ไม่ได้มีการแสดงหมายดังกล่าวให้ดูแต่อย่างใด ทั้งสามคนจึงปฏิเสธคำสั่งของเจ้าหน้าที่ ไม่อนุญาตให้ตรวจค้นมือถือ
สำหรับบันทึกจับกุมครั้งนี้ ระบุว่าการจับกุมอยู่ภายใต้การอำนวยการของ พ.ต.อ.กฤษฎางค์ จิตตรีพล ผู้กำกับ สน.บางซื่อ และ พ.ต.อ.อัครพล โยทะ ผกก.สส.บก.น.2 โดยมีชุดจับกุมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก กก.สส.บก.น.2 และ สน.บางซื่อ กว่า 10 นาย
ในชั้นจับกุม ใบปอ, เนติพร, และเมนูได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา รวมถึงไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุมข้างต้น
.
ตร.แจ้ง 112 “ใบปอ-เนติพร-เมนู” เหตุทำโพลถามเห็นด้วยหรือไม่รัฐบาลให้กษัตริย์ใช้อำนาจตามพระราชอัธยาศัย
ในการสอบปากคำ พ.ต.ท.สุภัทร เหมจินดา พนักงานสอบสวน สน.บางซื่อ ได้ระบุรายละเอียดพฤติการณ์คดีว่า
ก่อนเกิดเหตุทางเฟซบุ๊กของกลุ่ม “ทะลุวัง” ได้ประกาศจัดกิจกรรมสํารวจความคิดเห็นหัวข้อเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ โดยต่อมา เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2565 เวลาประมาณช่วงเย็น ใบปอ, เนติพร, สุพิชฌาย์ และเบญจมาภรณ์ได้ร่วมกันจัดทํากิจกรรมโพลสํารวจความคิดเห็นโดยมีการแจกสติกเกอร์ให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่บริเวณทางเท้าหน้าสถานีรถไฟฟ้า MRT จตุจักร เพื่อให้ประชาชนนํามาติดแสดงความคิดเห็นบนแผ่นกระดาษซึ่งมีข้อความว่า “คุณเห็นด้วยหรือไม่ ที่รัฐบาลอนุญาตให้กษัตริย์ใช้อํานาจได้ตามอัธยาศัย” ลงในช่องเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย
โดยมีใบปอและสุพิชฌาย์ เป็นผู้ถือป้ายข้อความและแจกสติกเกอร์ เบญจมาภรณ์ทําหน้าที่คอยพูดเชิญชวนและช่วยแจกสติกเกอร์ให้ประชาชนเพื่อแสดงความคิดเห็น ส่วนเนติพรคอยเดินติดตามและช่วยถือของให้ โดยทั้งหมดได้ทํากิจกรรมโพลดังกล่าวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ย่านจตุจักร, ทางเชื่อมสถานีรถไฟฟ้า BTS ห้าแยกลาดพร้าว, รถไฟฟ้า BTS สนามเป้า และบริเวณใต้พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 หน้ากองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ โดยตลอดทางได้มีการแถลงต่อสื่อมวลชนอิสระที่ติดตามการทํากิจกรรมดังกล่าวด้วย
จากการตรวจสอบพบว่า ข้อความการทํากิจกรรมโพลและการพูดแถลงต่อสื่อมวลชนดังกล่าว เป็นการกระทําที่ใส่ความให้ร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า พระมหากษัตริย์ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปิดปากประชาชน เป็นการเขียนโพลสํารวจความคิดเห็นที่ถามถึงอํานาจของกษัตริย์ และเป็นการทําโพลที่ไม่ตรงกับความจริง อันเป็นการไม่สมควร เป็นการล่วงอํานาจ อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์
หลังจากจัดกิจกรรมเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งสี่คนได้ยังได้มีการแถลงสรุปผลอ้างอิงในนามกลุ่มทะลุวัง เป็นการแสดงให้เห็นว่า ใบปอ, เนติพร, สุพิชฌาย์ และเบญจมาภรณ์ เป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่ม “ทะลุวัง ThatuWang” และมีการจัดทํากิจกรรมในลักษณะดังกล่าว
พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาใบปอ, เนติพร และเมนู 1 ข้อหา คือ “ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทั้งสามให้การปฏิเสธ และจะให้การเป็นหนังสือภายใน 30 วัน
.
ศาลให้ประกัน วางเงิน 90,000 บาท สั่งติด EM ไม่ให้ออกนอกเคหสถาน วันละ 14 ชั่วโมง
หลังจากสอบคำให้การเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งใบปอ, เนติพร และเมนูได้ถูกคุมขังที่ สน.บางซื่อ 1 คืน ก่อนในวันที่ 29 เม.ย. 2565 พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขออำนาจศาลอาญาฝากขังผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ พร้อมคัดค้านการประกันตัวโดยระบุว่าเป็นความผิดเกี่ยวกับมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หากปล่อยตัวชั่วคราวไปอาจไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หรือกระทำความผิดในลักษณะซ้ำเดิมอีกได้
ด้านทนายความได้ยื่นคำร้องต่อศาลคัดค้านการฝากขัง และขอให้เรียกพนักงานสอบสวนไต่สวน รวมทั้งคัดค้านการไต่สวนผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ โดยให้พนักงานสอบสวนนำตัวใบปอ, เนติพร และเมนูไปร่วมการไต่สวนที่ศาล โดยในช่วงกลางคืน ทนายความก็ได้ขอให้พนักงานสอบสวนลงบันทึกประจำไว้ด้วยว่า ขอคัดค้านการฝากขังผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์หรือระบบจอภาพ
อย่างไรก็ตาม ในราวเที่ยงวัน ศาลได้ทำการคอนเฟอเรนซ์มาที่ สน.บางซื่อ และสอบถามใบปอ, เนติพร และเมนู ว่าจะคัดค้านการฝากขังหรือไม่ โดยไม่ได้แจ้งให้ทนายความซึ่งรอฟังคำสั่งอยู่ที่ศาลอาญาว่าศาลจะมีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้องขอฝากขังหรือไม่ได้ทราบ ทั้งนี้ ทั้งสามคนได้คัดค้านการฝากขัง โดยอ้างเหตุผลว่าพวกตนไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี ไม่ได้ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน แต่ศาลค้านว่าพฤติการณ์ข้างต้นไม่ได้เป็นเหตุที่จะให้ศาลอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ฝากขัง ภายหลังทั้งสามพยายามบอกต่อศาลหลายครั้งว่า คัดค้านการฝากขัง แต่ศาลบอกให้ยอมรับโดยระบุว่า จะให้ประกันตัว ทั้งสามจึงกล่าวขอบคุณศาล ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผัดแรกเป็นเวลา 12 วัน
หลังทนายความทราบคำสั่งให้ฝากขัง ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางเงินสดคนละ 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์เป็นหลักประกัน
ต่อมา ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในวงเงินที่ทนายความยื่นขอไป พร้อมกำหนดเงื่อนไขว่า ห้ามกระทําการในทํานองเดียวกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรือเกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์, ให้ติด EM, ห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 16.00 น. ถึง 06.00 น. ของวันใหม่ และให้มารายงานตัวต่อศาลทุก 30 วัน จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ทั้งนี้ ในการแจ้งพฤติการณ์คดีและคำร้องของฝากขังปรากฏชื่อของ “พลอย” เบญจมาภรณ์ ซึ่งเป็นเยาวชนด้วย ซึ่งพนักงานสอบสวนจะออกเป็นหมายเรียกให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาต่อไป
การจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาในครั้งนี้ ทำให้คดีในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พุ่งขึ้นเป็น 204 คดี นับตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 2563 – 29 เม.ย. 2565 โดยคดีนี้เป็นคดีตามมาตรา 112 คดีที่ 3 ของเมนูและใบปอ รวมทั้งพลอย ขณะที่ “เนติพร” เป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 2
>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-65
.