ยื่นฟ้อง “ม.112 – ม.116” 8 นักกิจกรรม – สื่ออิสระ แล้ว กรณีทำ “โพลขบวนเสด็จ” ที่พารากอน ก่อนศาลต่อประกัน 6 ราย โดยติด EM แต่ยังไม่ให้ประกัน “ใบปอ – บุ้ง” จากกลุ่มทะลุวัง

2 มิ.ย. 2565 ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดสอบคำให้การจำเลย 8 คน ในคดีมาตรา 112 และ 116 จากกรณีทำโพลขบวนเสด็จที่พารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 หลังพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 30 พ.ค. ที่ผ่านมา จากนั้น ศาลมีคำสั่งให้ประกันจำเลย 6 คนระหว่างพิจารณาคดี ได้แก่ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์, ฐากูร (สงวนนามสกุล), วรเวช (สงวนนามสกุล), “บีม” ณัฐกรณ์ (สงวนนามสกุล), “นุ้ย” (นามสมมติ) และ “แบม” (นามสมมติ) โดยกำหนดเงื่อนไข ติดกำไล EM ห้ามทำกิจกรรมหรือกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้อง อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ฯลฯ

ในส่วนของจำเลยอีก 2 ราย คือ “ใบปอ” (นามสมมติ) และ “บุ้ง” เนติพร (สงวนนามสกุล) ศาลยังคงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว ระบุเหตุผลว่าจำเลยทั้งสองเคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปแล้ว แต่ผิดเงื่อนไขประกันหากปล่อยตัวไปเกรงว่าจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น

คดีนี้สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 ทานตะวัน และใบปอได้ร่วมกันชูป้ายโพลที่มีข้อความว่า “คุณคิดว่า ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่” โดยมี 2 ตัวเลือก คือ เดือดร้อนและไม่เดือดร้อน ในบริเวณห้างสยามพารากอน และมีการแจกสติ๊กเกอร์ให้ประชาชนที่สัญจรผ่านไปมา เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นบนโพล โดยมีประชาชนทยอยเข้าร่วมกิจกรรม และมีสื่ออิสระไลฟ์สดรายงานข่าว จากนั้นกลุ่มนักกิจกรรมได้เดินไปยังจุดต่างๆ รวมทั้งพยายามเดินไปทำกิจกรรมที่บริเวณด้านหน้าวังสระปทุม โดยมีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบพยายามเข้าแย่งแผ่นโพล และตั้งแนวกั้น จนนักกิจกรรมต้องประกาศยุติกิจกรรม

หลังกิจกรรมพนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกนักกิจกรรมและสื่ออิสระรวม 9 คน เป็นเยาวชน 1 ราย โดยหลังทั้งหมดทยอยเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ยกเว้นทานตะวันที่พนักงานสอบสวนเข้าแจ้งข้อกล่าวหาขณะถูกควบคุมตัวในอีกคดี ทนายความต้องยื่นประกันตัวต่อศาลในชั้นฝากขัง ภายหลังใบปอและเนติพรยังถูกศาลถอนประกันเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2565 และถูกคุมขังตลอดมา  

อ่านข้อมูลคดีเพิ่มเติม >>> คดี 112-116 นักกิจกรรม-เยาวชน 9 ราย หลังทำโพลล์สำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ 

.

อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งฟ้อง ก่อนอัยการผู้เชี่ยวชาญยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 8 เหตุทำโพลขบวนเสด็จ ผิดมาตรา 112, 116 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2565 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้นัดไต่สวนคำร้องขอฝากขังใบปอและบุ้ง โดยมีพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ขึ้นเบิกความต่อศาลว่า ได้รับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา โดยคดีนี้มีฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มีหนังสือสั่งการลงวันที่ 21 ก.พ. 2561 ให้คดีประเภทดังกล่าวอยู่ในอำนาจของอัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาสั่งฟ้อง

อีกทั้ง พนักงานอัยการยังได้แถลงต่อศาลว่า ในการพิจารณาสั่งฟ้องคดีนี้พนักงานอัยการมีหน้าที่เพียงรวบรวมข้อเท็จจริง และส่งสำนวนต่ออัยการสูงสุดเท่านั้น และได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2565 

ต่อมา วันที่ 30 พ.ค. 2565 อรรถพันธ์ ตั้งมโนวุฒิกุล อัยการผู้เชี่ยวชาญ  สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ก็ได้ยื่นฟ้องนักกิจกรรมและสื่ออิสระทั้ง 8 ราย ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ในฐานความผิด “ร่วมกันหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, ร่วมกันยุยงปลุกปั่นฯ, ร่วมกันขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่โดยร่วมกระทําความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป, ร่วมกันดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่ และร่วมกันขัดคำสั่งเจ้าพนักงานฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116, 136, 138, 140 และ 368

โดยในคำฟ้องได้มีใจความสำคัญระบุว่า “จำเลยทั้งแปดกับพวก (เยาวชน) ได้ร่วมกันกระทำความผิด และต่างกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรม กล่าวคือ

จำเลยทั้งแปดกับพวกดังกล่าว ได้ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท โดยการร่วมกันทำแผ่นป้ายกระดาษสีขาวขนาดใหญ่ โดยทำให้ปรากฏข้อความที่ส่วนบนของกระดาษว่า “คุณคิดว่า ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนรำคาญหรือไม่” โดยส่วนด้านล่างของแผ่นกระดาษ ได้ทำการแบ่งออกเป็น 2 ช่อง แล้วทำให้ปรากฏข้อความที่ช่องทางด้านซ้ายมือของผู้อ่านว่า “เดือดร้อน” และที่ช่องทางด้านขวามือของผู้อ่านว่า “ไม่เดือดร้อน” ออกเผยแพร่แสดงแก่ประชาชนทั่วไป

และได้แจกสติ๊กเกอร์สีเขียวเพื่อให้ประชาชนผู้สัญจรผ่านไปมาในบริเวณดังกล่าว และในละแวกใกล้เคียงที่ประสงค์แสดงความคิดเห็น นำสติ๊กเกอร์ดังกล่าวไปติดที่ช่องที่เลือก อันเป็นการสื่อความหมายเป็นการโจมตีเรื่องขบวนเสด็จ ซึ่งเป็นโบราณราชประเพณีสืบต่อกันมาในการถวายความปลอดภัยให้กับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์ 

โดยเจตนาจะสื่อไปถึงสถาบันกษัตริย์ว่า ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ ซึ่งเป็นการทำให้ปรากฏข้อความ หนังสือ แก่ประชาชน อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ และมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนละเมิดกฎหมายแผ่นดิน”

ทั้งนี้ อัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งแปดในระหว่างพิจารณา โดยระบุให้อยู่ในดุลพินิจของศาล

.

อนุญาตให้ต่อประกันจำเลย 6 คน แต่ไม่ให้ประกันตัวใบปอ – บุ้ง (เนติพร)

ภายหลังศาลอาญากรุงเทพใต้รับฟ้องแล้ว ได้นัดสอบคำให้การจำเลยทั้งแปดในวันนี้ (2 มิ.ย. 2565)  โดยศาลได้เบิกตัวใบปอและเนติพรจากทัณฑสถานหญิงกลางมาสอบคำให้การด้วย ทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 18 ก.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

จากนั้น ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งหมดระหว่างพิจารณาคดี โดยกรณีของใบปอและเนติพร ซึ่งถูกถอนประกันไปในชั้นฝากขัง ทนายความได้ยกเหตุผลประกอบที่สำคัญคือ ใบปอต้องไปดำเนินการขอเข้าสอบย้อนหลังเพื่อไม่ให้พ้นสภาพนักศึกษา ส่วนเนติพรมีเหตุจำเป็นในการเลี้ยงดูและดูแลแม่ซึ่งมีโรคประจำตัว ประกอบกับตัวเนติพรเองมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง ต้องทานยาและปรึกษาแพทย์ โดยทั้งสองยิมยอมหากศาลจะกำหนดเงื่อนไขจำกัดการเดินทางเพื่อป้องกันจำเลยทั้งสองจะไปกระทำความผิดซ้ำ และขอแต่งตั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และพี่สาวของเนติพรเป็นผู้กำกับดูแลให้จำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาล 

เวลา 14.53 น. มนัส ภักดิ์ภูวดล รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลย 6 คน ยกเว้นใบปอและเนติพร โดยใช้หลักประกันเดิมในชั้นฝากขัง เป็นเงินสดคนละ 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมให้ติด EM และกำหนดเงื่อนไขเช่นเดียวกับชั้นฝากขัง คือ ห้ามทำกิจกรรมหรือกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้อง อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์, ห้ามโพสต์ข้อความปลุกปั่น ยั่วยุ หรือชักชวนให้มีการเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมในสื่อโซเชียลมีเดีย หรือเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล 

กรณีใบปอและเนติพร ซึ่งศาลยังคงไม่อนุญาตให้ประกันตัว ได้ระบุเหตุผลว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่าศาลเคยให้โอกาสปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 2 – 3 ในระหว่างพิจารณาแต่จำเลยที่ 2 – 3 กระทำผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนด โดยความยินยอมของจำเลยที่ 2 – 3 ที่จะปฏิบัติตาม จะเป็นเหตุให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขอปล่อยตัวชั่วคราว เมื่อวันที่ 3 พ.ค 2565 ดังนั้นหากศาลปล่อยตัวชั่วคราว จึงเกรงว่าจำเลยที่ 2 – 3 จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ตามคำร้องประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราวจึงไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้ยกคำร้อง” 

ปัจจุบันใบปอและบุ้งได้ถูกฝากขังอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลางมาเป็นระยะเวลา 31 วันแล้ว หลังถูกศาลเพิกถอนประกัน 

.

หนึ่งในจำเลยเคยแถลงต่อศาล การสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เป็นการทำไปเพื่อให้เห็นถึงความสุจริตใจ และเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองที่พึงมี

ในการไต่สวนถอนประกันใบปอ – บุ้ง เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2565 หนึ่งในจำเลยได้แถลงเบิกความต่อศาลอย่างชัดเจน ถึงข้อเท็จจริงด้านการศึกษาของตนที่มีความเกี่ยวข้องกับการสำรวจความคิดเห็นและปัญหาของประชาชน เพื่อนำไปพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่อไป โดยการทำโพลต่างๆ ที่ปรากฏต่อสาธารณชนนั้นเป็นการเรียนรู้และเป็นประโยชน์ในเชิงวิชาการในการศึกษาและการทำงานของตัวผู้ต้องหาเอง ซึ่งผู้ต้องหาได้แถลงว่า “การสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันฯ แต่เป็นการทำไปเพื่อให้เห็นความสุจริต และเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองที่พึงมี ซึ่งสามารถกระทำได้ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย”

ตลอดจนทนายความได้แถลงต่อศาล โดยยกพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งทรงตรัสไว้ว่า
“หากขบวนเสด็จได้สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน ขอให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายอำนวยความสะดวกให้ประชาชนด้วย” และได้ถามกับผู้ร้องว่า การทำกิจกรรมของผู้ต้องหาจะเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ได้อย่างไรในเมื่อกษัตริย์ทรงได้ตระหนักรู้และตรัสไว้เช่นเดียวกันแบบนั้น

อีกทั้งในการทำกิจกรรมสำรวจความคิดเห็นทั้งสองครั้งที่พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน อ้างถึง ก็ไม่ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีจาก สน.พญาไท และ สน.ลุมพินี  ซึ่งเป็นท้องที่ที่ผู้ต้องหาเข้าไปทำกิจกรรมอีกด้วย

.

อ่านบันทึกการไต่สวน >>> ไต่สวนถอนประกัน “ใบปอ – เนติพร” พงส.อ้างทำโพลอีก 2 ครั้ง-แชร์โพสต์ “ทะลุวัง” ผิดเงื่อนไขประกัน ศาลเข้าปรึกษาผู้บริหารก่อนเลื่อนฟังคำสั่งไปอาทิตย์หน้า

.

X