27 พ.ค. 2565 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง “ใบปอ” (นามสมมติ) และ “บุ้ง” เนติพร (สงวนนามสกุล) นักกิจกรรมกลุ่ม “ทะลุวัง” ผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 กรณีทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จที่บริเวณห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 ในผัดที่ 8 อีก 5 วัน (28 พ.ค. -1 มิ.ย. 2565) แม้ทนายยื่นคัดค้านฝากขัง
การไต่สวนคำร้องขอฝากขังมีขึ้นเวลา 13.30 น. โดยใบปอและเนติพรไม่ได้ถูกเบิกตัวมาร่วมฟังการไต่สวนที่ศาลด้วย เนื่องจากศาลไม่อนุญาต ให้เหตุผลว่าเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ทำให้ทั้งสองต้องเข้าร่วมผ่านการวีดิโอคอนเฟอเรนซ์จากทัณฑสถานหญิงกลาง
บรรยากาศภายในห้องพิจารณาคดี 502 ซึ่งในวันนี้มีญาติของผู้ต้องหา 2 คน และประชาชนที่ติดตามกลุ่มทะลุวังอีก 2 คน ได้เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย ทั้งหมดได้เห็นใบปอและเนติพรผ่านหน้าจอโทรทัศน์ในชุดผู้ต้องขังสีน้ำตาล และสวมหน้ากากอนามัยสีฟ้า โดยไม่ได้คลุมด้วยชุด PE ตามมาตรการป้องกันโควิด – 19 ของกรมราชทัณฑ์อย่างเคย โดยทนายความเปิดโอกาสให้ทั้งหมดได้พูดคุยกันก่อนการไต่สวนเริ่มขึ้น
ศาลเริ่มการไต่สวนคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย ของพนักงานอัยการ โดยอัยการได้เบิกความว่า ได้รับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา โดยคดีนี้มีฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มีหนังสือสั่งการลงวันที่ 21 ก.พ. 2561 ให้คดีประเภทดังกล่าวอยู่ในอำนาจของอัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาสั่งฟ้อง
ต่อมา ทนายผู้ต้องหาได้ถามพนักงานอัยการว่า ในการพิจารณาสั่งฟ้องจะมีพนักงานอัยการเป็นผู้ลงความเห็นใช่หรือไม่ ซึ่งพนักงานอัยการได้ตอบว่า ตนเองมีหน้าที่เพียงรวบรวมข้อเท็จจริงและส่งสำนวนต่ออัยการสูงสุดเท่านั้น และได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2565 แล้ว
ทนายความได้แถลงต่อศาลว่า ที่ถามพนักงานอัยการ เนื่องจากต้องการจะทราบว่าสำนวนการสอบสวนทั้งหมดได้เสร็จสิ้นลงแล้วหรือไม่ ซึ่งพนักงานอัยการก็ได้ตอบว่า เบื้องต้นไม่มีคำสั่งให้สอบสวนพยานเพิ่มเติม ทนายถามอัยการต่อว่า ในกรณีหากศาลไม่ให้ฝากขัง ก็ไม่ได้มีผลต่อสำนวนคดีที่เสร็จสิ้นไปแล้วใช่หรือไม่ อัยการตอบว่า อาจมีปัญหาในการติดตามตัวมานัดฟังคำสั่งอัยการ
ทั้งนี้ คำร้องคัดค้านการฝากขังได้ระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และไม่ได้มีพฤติการณ์ในการหลบหนีแต่อย่างใด
เมื่อเสร็จการไต่สวน ผู้พิพากษาได้ขอตัวออกนอกห้องพิจารณา เพื่อเข้าปรึกษากับคณะผู้บริหารศาล ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนจะเดินกลับเข้ามาในห้องพิจารณาคดี
ต่อมาในเวลา 15.30 น. ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังใบปอและเนติพร “พิเคราะห์คำร้องขอฝากขัง เอกสารประกอบคำร้องและคำคัดค้านของทนายผู้ต้องหาแล้ว เห็นว่าผู้ร้องมาเบิกความยืนยันต่อศาลว่า ได้รับสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2565 ซึ่งผู้ต้องหาได้กระทำความผิดที่มีฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมอยู่ด้วย
ซึ่งอัยการสูงสุดได้มีหนังสือสั่งการลงวันที่ 21 ก.พ. 2561 วางแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการทำความเห็นคำสั่งในคดีประเภทดังกล่าว ให้พนักงานอัยการส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมบันทึกความเห็นให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาสั่ง ผู้ร้องจึงได้สรุปข้อเท็จจริงนำเสนออัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาสั่งในวันที่ 25 พ.ค. 2565 ขณะนี้อยู่ระหว่างรอฟังคำสั่งจากคณะทำงานของอัยการสูงสุด
กรณีมีเหตุจำเป็นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 คำคัดค้านของทนายความ ผู้ต้องหา ไม่ต้องตามข้อกฎหมายดังกล่าว จึงอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาต่อไปอีก 5 วัน” ลงนามคำสั่งโดย วีรัช วรรธนะวงษา
หลังจากศาลมีคำสั่งให้ฝากขัง ทนายความจึงได้คำร้องขอยื่นประกันใบปอและเนติพรเป็นครั้งที่ 2 หลังถูกศาลเพิกถอนประกันเมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา ต่อมา ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
ปัจจุบันใบปอและเนติพรได้ถูกฝากขังอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลางมาเป็นระยะเวลา 25 วันแล้ว หลังถูกศาลเพิกถอนประกัน หากนับระยะเวลาที่ทั้งสองถูกฝากขังหลังเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2565 จะครบ 84 วัน ตามที่กฎหมายอนุญาตให้ฝากขังในชั้นสอบสวน ในวันที่ 1 มิ.ย. 2565 หากถึงวันที่ 1 มิ.ย. พนักงานอัยการยังไม่ยื่นฟ้องต่อศาล ใบปอและเนติพรก็จะได้รับการปล่อยตัว
ฐานข้อมูลคดี
คดี 112-116 นักกิจกรรม-เยาวชน 9 ราย หลังทำโพลล์สำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง