จับตาสถานการณ์ศาลนัดไต่สวน “ถอนประกันตัว” 4 นักกิจกรรมคดี ม.112 

ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งจากนายประกันของผู้ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 รวม 4 คน กรณีที่ศาลมีการนัดไต่สวนข้อเท็จจริงและไต่สวนคำร้องขอถอนประกันตัว จำนวน 3 คดี ได้แก่ คดีของ “ลูกเกด” ชลธิชา โพสต์จดหมาย #ราษฎรสาส์น, คดี “ตะวัน” ไลฟ์สดก่อนมีขบวนเสด็จ และคดี “ใบปอ” และ “เนติพร” ทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ  ชวนจับตาสถานการณ์การไต่สวนของศาล

.

.

ศาลอาญานัดไต่สวนข้อเท็จจริงกรณี “ลูกเกด” โพสต์เข้าพบรองผู้ช่วย รมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ

กรณีแรก ได้แก่ คดีของ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมจากกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) ได้รับแจ้งจากศาลอาญาว่าในวันที่ 23 มี.ค. 2565 เวลา 13.30 น. ศาลจะนัดไต่สวนข้อเท็จจริง สืบเนื่องจากกรณีการโพสต์เฟซบุ๊กของชลธิชาเกี่ยวกับการเข้าพบรองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา

ชลธิชาได้เผยแพร่โพสต์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2565 ระบุว่าได้พบกับ เมลิสซา เอ. บราวน์ รองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา จึงได้แลกเปลี่ยนสถานการณ์การบังคับใช้มาตรา 112 รวมทั้งเงื่อนไขการประกันตัวที่ละเมิดหลักการสิทธิมนุษยชน ไม่ต่างอะไรกับการที่ศาลมีคำพิพากษาไปแล้วว่ามีความผิด ทั้งที่ในสิทธิผู้ต้องหาควรถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ โดยได้มีการแสดงการชาร์จกำไล EM ให้ดูด้วย

ทั้งนี้คดีที่เธอถูกนัดไต่สวนนี้ เป็นคดีที่ชลธิชาถูกกล่าวหาจากการโพสต์ข้อความถึงสถาบันกษัตริย์ในการเคลื่อนไหว “ราษฎรสาส์น” เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 โดยมีนายนพดล พรหมภาสิต เป็นผู้กล่าวหา เธอถูกฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2565 

ศาลให้ประกันตัวในวันดังกล่าว โดยให้วางหลักทรัพย์ 90,000 บาท พร้อมกำหนดให้ใส่กำไล EM,  ห้ามกระทำกิจกรรมที่มีลักษณะเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหา, ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นการกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์, ห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 20.00-05.00 น. และให้มารายงานตัวต่อศาลทุก 15 วัน เป็นเวลา 3 เดือน

ทั้งที่ คดีนี้เป็นคดีมาตรา 112 คดีแรก ที่ชลธิชาถูกฟ้องต่อศาล โดยเธอไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี และยังไม่เคยถูกยื่นขอฝากขังมาก่อน แต่ศาลกลับกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวใกล้เคียงกับแกนนำหลายคนที่ได้รับการประกันตัวก่อนหน้านี้ 

>> อัยการสั่งฟ้อง ม.112 “ลูกเกด” เหตุโพสต์ “ราษฎรสาสน์” ศาลให้ประกัน แต่ให้ใส่ EM พร้อมอีก 4 เงื่อนไข

.

ภาพจากเพจไข่แมวชีส

.

ศาลอาญานัดไต่สวนถอนประกัน “ตะวัน” กรณีไลฟ์สดก่อนมีขบวนเสด็จ

กรณีที่สอง ได้แก่ คดีของทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมวัย 20 ปี จากกลุ่มมังกรปฏิวัติ ได้รับแจ้งว่าพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการประกันตัวในคดีมาตรา 112 ที่เธอถูกกล่าวหาจากการไลฟ์สดก่อนมีขบวนเสด็จบริเวณตรงข้ามองค์การสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2565 โดยศาลอาญาได้นัดไต่สวนการถอนประกัน ในวันที่ 5 เม.ย. 2565 เวลา 10.00 น. 

คดีนี้ ทานตะวันถูกจับกุมเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2565 โดยถูกตำรวจพาตัวไปที่ บช.ปส. ภายในสโมสรตำรวจ ซึ่งไม่ใช่ท้องที่เกิดเหตุ ในวันแรกยังไม่ได้มีการแจ้งข้อหามาตรา 112 แต่วันถัดมา เธอยังถูกควบคุมตัวไว้ พร้อมแจ้งข้อหานี้เพิ่มเติม พร้อมถูกส่งขอฝากขังต่อศาลอาญา ในวันที่ 7 มี.ค. 2565

ศาลอาญาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางหลักทรัพย์ 100,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้ผู้ต้องหากระทำในลักษณะแบบเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ หรือเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และกิจกรรมหรือการกระทำใดๆ ในอันที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมกับให้ติดอุปกรณ์ EM 

>> ตร.จับ “ตะวัน” ไลฟ์สดก่อนมีเสด็จ คุมตัวแจ้ง ม.112 อ้างกล่าว “ด้อยค่า” กษัตริย์ ซ้ำแจ้งเพิ่มอีกคดี กรณีทำโพลความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ

.

.

ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดไต่สวนถอนประกัน “ใบปอ-เนติพร” คดีทำโพลขบวนเสด็จ

กรณีที่สาม ได้แก่ คดีการทำโพลสำรวจความเดือดร้อนหรือไม่เดือดร้อนจากขบวนเสด็จ พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้ยื่นคำร้องขอถอนประกัน ‘ใบปอ’ และ ‘เนติพร’ 2 นักกิจกรรมที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ โดยศาลอาญากรุงเทพใต้ได้นัดไต่สวนคำร้องดังกล่าวในวันที่ 19 เม.ย. 2565 เวลา 9.00 น.

คดีนี้มีนักกิจกรรมและประชาชนรวม 9 คน ถูกกล่าวหาในข้อหาหลักตามมาตรา 112 และ 116 เหตุจากการทำโพลขบวนเสด็จ ที่บริเวณห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 ในจำนวนนี้ มีเยาวชนอายุ 15 ปี หนึ่งราย โดยข้อกล่าวหาไม่มีความชัดเจนว่าพฤติการณ์ใดในกิจกรรมนี้ที่เข้าข่ายความผิดดังกล่าว

คดีนี้ ตำรวจมีการนำตัวไปขอฝากขัง แม้ผู้ต้องหาจะเข้าพบตามหมายเรียกตั้งแต่ครั้งแรก และแม้ทนายความจะยื่นคัดค้านการฝากขัง ขอให้มีการไต่สวน แต่ศาลอาญากรุงเทพใต้ยังอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา ต่อมาศาลอนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางหลักทรัพย์ถึงรายละ 200,000 บาท พร้อมให้ติดกำไล EM และกำหนดเงื่อนไขห้ามทำกิจกรรมหรือการกระทำใดที่อาจเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์, ห้ามโพสต์เชิญชวน ปลุกปั่น ยั่วยุ ชักจูงประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมในสื่อโซเชียลมีเดีย หรือร่วมชุมนุมที่อาจก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล

>> ตร.แจ้ง ม.112-116 ต่อ 5 ประชาชน-1 เยาวชน เหตุทำโพลความเดือดร้อนขบวนเสด็จ ศาลรับฝากขัง เรียกเงินประกันรวม 1,020,000 บาท ภายใต้เงื่อนไข

.

ในสองคดีหลังนี้ ยังต้องจับตาว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างเหตุใดในการร้องขอเพิกถอนประกันตัว และการใช้คดีและกระบวนการเช่นนี้ต่อนักกิจกรรมทางการเมืองจะดำเนินต่อไปเช่นใด

.

X